โธ่……เกษมอีกแล้ว

โดย สมชัย วงศาภาคย์ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

เกษม จาติกวณิช อยู่กับ กฟผ.มา 30 ปี อยู่ ๆ ก็ถูกปลด โดยอำนาจทางการเมืองโดยไม่มีเหตุผลแน่ชัด พร้อม ๆ กับกรรมการ กฟผ.อีก 4 คน เพราะเหตุไร แม้เรื่องจะสงบ ด้วยการประนีประนอมไปพักหนึ่ง แต่หลายคนย่อมรู้ว่า ยุทธศาสตร์ครั้งนี้ พรรคชาติไทยชนะไปแล้วครึ่งหนึ่ง ปริศนาก็คือ หลังพ้นยุคของเกษม อนาคตของ กฟผ. ทั้งในเรื่องการถูกบังคับให้แปรรูป และความเป็นรับวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดกำลังถูกต้อนให้จนตรอก ด้วยอิทธิพลทางการเมือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกษม จาติกวณิช กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความผูกพันกันมานาน 30 ปี ในฐานะที่เกษมเป็นผู้ว่าการคนแรกของกฟผ. เมื่อปี 2512 และเป็นรองผู้ว่าการการการไฟฟ้ายันฮีมาตั้งแต่ปี 2502 ก่อนหน้าที่การไฟฟ้ายันฮีจะถูกผนึกรวมเข้ากับการลิไนต์และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี 2512 ความยาวนานและบทบาทการเป็นผู้นำของเกษมในกฟผ. ทำให้ฐานะของเกษมเปรียดุจเป็นเสาหลักของกฟผ. ที่ปั้นกฟผ.ขึ้นมาจากศูนย์แม้กฟผ.จะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะของตนเองก็ตาม

จึงไม่ผิดนัก ที่จะประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของเกษมในกฟผ.มีคุณค่าสูงเทียบเท่าเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีบารมีเทียบเท่า "ดุจสถาบัน" ในกฟผ.ไปแล้ว

ประจักษ์พยานจุดนี้จะดูได้จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้เอง ที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ของกฟผ.ทุกคนได้ประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาลที่ปลดกรรมการชุดเกษมออกทั้งชุด จนเหตุการณ์ลามปามสั่นสะเทือนความมั่นคงของรัฐบาล และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีต้องขอร้องให้เกษมออกมาปราบผู้ประท้วง ทั้ง ๆ ที่เกษมมีฐานะในกฟผ. เป็นเพียงแค่กรรมการและประธานคณะกรรมการพัฒนาไฟฟ้าของกฟผ.ที่ไม่มีอำนาจบริหารอะไรมากมายนักเหมือนเช่นสมัยเป็นผู้ว่าฯ ในอดีต

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เกษมในทุกวันนี้เขามีแต่บารมี แต่ไร้อำนาจในกฟผ.

เกษมเคยกล่าวว่า กฟผ.ในวันนี้ (ปี 2531) มีสินทรัพย์ตามงบดุล 110,377 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 7,000,000 กิโลวัตต์ มีพนักงาน 30,000 คน 10% เป็นวิศวกร ทำรายได้สุทธิปีละเกือบ 7,000 ล้านบาท ขณะที่มีทุนดำเนินการกว่า 30,000 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจากการทุ่มเทของพนักงานและผู้บริหารทุกคนในอดีตที่เคี่ยวกรำกับกฟผ.มาตั้งแต่ทุนเพียง 600 ล้านบาทและผลิตไฟฟ้าได้เพียงปีละ 75,000 กิโลวัตต์เท่านั้น

แน่นอนความมีประสิทธิภาพในผลการดำเนินงานของกฟผ. แยกไม่ออกจากผลงานของเกษมเขาคลุกฝุ่นร่วมกับพนักงานระดับล่างมาตั้งแต่การพยายาม แก้ปัญหายกหม้อน้ำขนาดสูง 60 เมตรขึ้นไปติดตั้งในโรงไฟฟ้าบางกรวยเมื่อปี 2504 และเป็นคนแรกที่เจรจาเงินกู้ก้อนแรกจำนวน 66 ล้านเหรียญจากธนาคารโลกมาสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อผันน้ำเข้าไปผลิตไฟฟ้า

หรือแม้แต่การเป็นผู้เจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติจากยูโนแคลมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในราคาเพียง 1.04 เหรียญ/ล้านบีทียู เป็นผลสำเร็จในสมัยเป็นร.ม.ต.อุตสาหกรรมรัฐบาลเกรียงศักดิ์ จนทุกวันนี้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุด

กำธน สินธวานนท์ อดีตผู้ว่ากฟผ.และกรรมการกฟผ.ผู้เข้ามาร่วมงานในกฟผ.เมื่อปี 2503 หลังเกษมเพียงปีเดียว เคยกล่าวว่า "การผลิตไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุด" ถ้าหากว่าความข้อนี้เป็นความจริง สิ่งที่เกษมได้กระทำลงไปตลอดการเป็นผู้ว่าฯ และกรรมการมา 30 ปี ย่อมเข้าใจได้ว่าสิ่งที่กฟผ.สร้างหลักปักฐานจนเติบใหญ่และมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม จนสามารถกู้เงินทั้งจากสถาบันการเงินเอกชนในประเทศและต่างประเทศไม่จำเป็นต้องค้ำประกันเลยแม้แต่บาทเดยวนั้น ส่วนหนึ่งย่อมมาจากบารมีของเกษมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

กฟผ.ทำธุรกิจอย่างไรหรือจึงมีความสามารถทำรายได้สุทธิและสินทรัยพ์ได้มากมายก่ายกองล้ำหน้ารัฐวิสาหกิจอื่น ๆ แม้แต่การบินไทย

ในกม.พระราชบัญญัติการไฟฟ้า ปี 2511 ที่ร่างโดยเกษม, ด รงหยุด แสงอุทัย และเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกได้พูดถึงเจตนารมณ์ของกม.ในมาตรา 6 ไว้ชัดเจนว่าให้กฟผ.เป็น "ผู้ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจำหน่าย ซึ่งพลังงานไฟฟ้าอื่นตามก.ม.ว่าด้วยการนั้น ตลอดจนผู้ใช้ไฟฟ้าตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เช่น บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ๆ ปูนซิเมนต์ ถลุงเหล็ก สังกะสี เปโตรเคมีคัล เป็นต้น รวมถึงหน่วยงานผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศใกล้เคียงด้วย"

เจตนารมณ์ของร่างกม.ในมาตรา 6 นี้ แม้จะไม่ได้ระบุไว้ชัดให้กฟผ.เป็นผู้ผูกขาดดำเนินธุรกิจนี้เพียงรายเดียว แต่สภาพความจริงที่อุตสาหกรรมการผลิตนี้ใช้เทคโนโลยีและเงินลงทุนสูง จึงไม่มีเอกชนรายใดเข้ามาร่วมผลิตหรือทำธุรกิจนี้ด้วย

กฟผ.ก็เลยกลายเป็นผู้ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวมาตลอด เมื่อสินค้า คือพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการผลิตและการดำเนินชีวิตประจำวัน อุปสงค์หรือความต้องการพลังงานไฟฟ้าจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดตามสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและการเติบโตของชุมชน

ปัญหาสำคัญของกฟผ.มีอยู่เพียงว่าทำอย่างไรจึงผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำและบริหารปริมาณการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอและสำรองเหลือใช้หรือที่เรียกว่า RESERVE MARGIN ได้ดีที่สุด ซึ่งตามมาตรฐานของธนาคารโลกกำหนดว่าวควรจะอยู่ในระหว่าง 15-30% ของการผลิตรวม

กฟผ.ซื้อก๊าซธรรมชาติจากปตท.ในราคา 70 บาท/1 ล้านบีทียู ขณะที่ปตท.ซื้อจากยูโนแคลในราคาประมาณ 65 บาท/1 ล้านบีทียู

ต้นทุนเชื้อเพลิงจากก๊าซระดับนี้ เมื่อคิดออกเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าต่อ 1 KWH. จะตกประมาณ 61-62 สตางค์/1 KWH. (กิโลวัตต์ชั่วโมง)

ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนจากน้ำจะตกประมาณ 93 สตางค์/1 KWH. ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเกือบ 60% มาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

มองจากแง่นี้ แสดงว่าต้นทุนการผลิตของกฟผ.ต่ำสุดเมื่อเทียบจากการเลือกใช้วัตถุดิบชนิดต่าง ๆ ซึ่งจุดนี้เชื่อมโยงกับบทบาทของเกษมอย่างแน่นอนเพราะเกษมเป็นผู้เจรจากับยูโนแคลให้นำก๊าซมาป้อนให้กฟผ.เป็นผลสำเร็จขณะที่ปตท.ยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป

การเลือกก๊าซเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า เป็นการตัดสินใจที่ถูกของเกษมในยุควิกฤติการณ์ราคาน้ำมันแพงครั้งที่สอง เพราะขณะนั้น (ปี 2523) กฟผ.ใช้น้ำจากเขื่อน น้ำมันเตาและลิกไนต์เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้า เมื่อราคาน้ำมันเตาแพงก็ย่อมกระทบต้นทุนการผลิตของกฟผ.ด้วยการใช้น้ำจากเขื่อนก็เช่นกัน ตั้นทุนการลงทุนสร้างเขื่อนนับวันจะแพงขึ้นและจำกัดด้วยแรงกดดันจากกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ทำให้โครงการสร้างเขื่อนต้องลำบากมากขึ้น ส่วนการนำลิกไนต์มาเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงทำไฟฟ้าก็เช่นกัน การลงุทนเปิดเหมืองหน้าดินต้องใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมูลค่าหลายพันล้านบาท ไม่นับค่าจ้างแรงงานของแรงงานที่ต้องใช้นับพันคน ในการทำลิกไนต์ออกมาใช้แต่ละจุดที่สำรวจพบ ที่ย่อมเกี่ยวพันกับต้นทุนการใช้จ่ายด้านเวนคืนที่ดินและปัญหาการเคลื่อนย้ายชุมชนในชนบท

ต้นทุนเหล่านี้มีราคาแพงมากทั้ง ๆ ที่กระบวนการการสำรวจและนำลิกไนต์มาใช้เป็นเทคนิคขั้นต่ำ

ดังนั้น ความสำเร็จของกฟผ.ที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจึงเท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว และดอกผลของมันก็ส่งมาถึงปัจจุบันที่ฐานะการดำเนินธุรกิจของกฟผ.มั่นคงมาก เพราะหนึ่ง - กฟผ.ไม่สามารถขึ้นราคาค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับกฟน., กฟภ. และอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างปูนซิเมนต์และผาแดงฯได้ง่าย ๆ เนื่องจากราคาไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่ไม่สามารถสะท้อนตามกลไกราคาได้เสรี การเปลี่ยนแปลงราคาไฟฟ้าจึงทำได้ยากและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้นและสอง - กฟผ.มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายกำไรตามข้อตกลงที่ร่วมกันกับธนาคารโลก เจ้าหนี้รายใหญ่ของกฟผ.

"ธนาคารโลกกำหนดให้กฟผ.มีผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อเทียบจากมูลค่าสินทรัพย์ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 8%" แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลังกล่าว ซึ่งกฟผ.สามารถทำได้ 10.11% ในปี 2531 สูงขึ้นจาก 8.27% ในปี 2527

การที่ราคาค่าพลังงานไฟฟ้าถูกควบคุมจากคณะรัฐมตรี ขณะที่ต้นทุนการผลิตของวัตถุดิบบางชนิดเช่น น้ำมันเตา ลอยตัวตามภาวะตลาด "ทุกวันนี้ กฟผ.ซื้อน้ำมันเเตาจากปตท.แพงกว่าราคามาตรฐานถึงลิตรละ 5 สตางค์อยู่แล้วขณะที่อุตสาหกรรมทั่ว ๆ ไปที่บโอไอให้การส่งเสริมสามารถซื้อได้ในราคาแพงกว่าราคามาตรฐานเพียงลิตรละ 1 สตางค์เท่านั้น" แหล่งข่าวระดับสูงในหน่วยงานพลังงานของรัฐเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความลักลั่นที่กฟผ.ได้รับจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยกัน และเป็นหลักฐานยืนยันถึงความถูกต้องที่เกษมได้ลงทุนเจรจาอย่างสุดฤทธิ์กับยูโนแคลที่จะนำก๊าซออกมาใช้ให้ได้

"ลองคิดในมุมกลับ ถ้าเกษมไม่สู้เรื่องก๊าซกับยูโนแคล ก๊าซก็ไม่ถูกนำขึ้นมาใช้อย่างมากมายก่ายกองอย่างทุกวันนี้ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากก๊าซเช่นเปโตเคมี 1, 2 ก็ไม่เกิด กฟผ.ก็ยังคงย่ำต๊อกกับน้ำมันเตาและน้ำเรื่อยไป ฐานะกฟผ.ไม่มีทางทำกำไรได้ปีละ 6,000-7,000 ล้านบาทอย่างทุกวันนี้ได้" แหล่งข่าวในวงการพลังงานเล่าเป็นเชิงข้อสังเกตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ 20 ปีของกฟผ.และเกษมในหน่วยงานแห่งนี้ จะถูกวิจารณ์อยู่บ้างในการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่สร้างความหวั่นวิตกแก่กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ และหนี้สินต่อประเทศชาติในการลงทุน แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเกียรติภูมิของประชาชนที่มีต่อชาวกฟผ.และเกษมเลย

จะมีก็แต่เรื่อง การบริหาปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อความมั่นคงเท่านั้นที่ กฟผ.และเกษมถูกตีหนัก

หน้าที่ กฟผ.ตามกฎหมายเขียนไว้ชัดให้ผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ หรือพูดอีกนัยหนึ่งผลิตโดยไม่ให้ดับ หรือหมิ่นเหม่ต่อไฟดับ

เผอิญในระยะปี 30-32 ที่เชื่อมโยงไปถึงปี 33 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ๆ เกินเป้าหมายที่คณะทำงานพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่มีคนของกฟผ.นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยไปมาก

ขณะที่การลงทุนผลิตไฟฟ้าโดยการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แต่ละแห่ง (ขนาด 300 เมกะวัตต์) มันกินเวลานานถึง 4 ปี

เมื่อตอนแรก ๆ (ปี 29) คณะทำงานพยากรณ์ฯคาดว่า จากแนวโน้มในอดีตอัตราการเติบโตความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีมันเพิ่มแค่อย่างเก่งก็ 6%/ปี เวลาทำแผนลงทุนระยะ 10 ปี สร้างโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนาฉบับที่ 6 (2530-34) ก็เลยยึดตัวเลขพยากรณ์ตัวนั้นเป็นเกณฑ์ ซึ่งคำนวณออกมาแล้ว มันตกประมาณ 68,000 ล้านบาท

พอมาในปี 30 ปรากฏว่า เศรษฐกิจมันโตทรวดพราด ความต้องการเฉลี่ย/เดือน มันสูงถึง 13% ก็มีการปรับเป้าหมายตัวเลขพยากรณ์ใหม่ โดยมีนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมชะนันท์ และดร.พิสิฏฐ์ ภัคเกษม รองเลขาฯสภาพัฒน์ (ขณะนั้น) เป็นกุญแจสำคัญในคณะทำงานฯชุดนี้พร้อมด้วยผู้แทนจากกฟผ.และกฟน.ม กฟภ. ก็นั่งเป็นกรรมการในคณะฯนี้ด้วย

"การปรับเป้าหมายตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า สมมติฐานในการนำมาคำนวณตัวสำคัญเลยดูที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจการลงทุนซึ่งเป็นดัชนีตัวฐานที่ใช้ในการคำนวณ แต่ก่อนสมมติฐานด้านปัจจัยทางภาวะเศรษฐกิจ คณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าชุดก่อน ๆ ละเลยมาตลอด" กรรมการคณะทำงานพยากรณ์ท่านหึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าขอกรรมการชุดใหม่ เมื่อตุลาคม 30 ระบุว่าช่วงตลอดแผน 6 จะเติบโตในอัตราปีละ 9.41% (วัดจากความต้องการฯที่มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง) ทำให้ยอดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในแผน 6 ได้ถูกปรับใหม่จาก 68,000 ล้านบาท เป็น 87,000 ล้านบาท

9 เดือนต่อมา ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 31 ได้พุ่งพรวดเป็น 11% จากปี 30 ที่ตกประมาณ 8.5-9.6% คณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็มีการปรับตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2531 เป็นตลอดช่วงแผน 6 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.7% ทำให้มีการปรับยอดการลงทุนในแผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของกฟผ. ในแผน 6 ใหม่เป็นประมาณ 100,000 ล้านบาท และอีกประมาณ 30,000 ล้านบาทในแผน 7

การที่ภาวะเศรษฐกิจโตพรวดพราดกว่า 10% เป็นตัวสะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่แจ่มชัด รายงานสำหรับผู้บริหารประจำเดือนพฤษภาคม 2532 ได้รายงานว่า "ในวันที่ 4 พ.ค. เวลา 19.30 นง (PEAK LOAD) มีค่า 6,043.40 เมกะวัตต์ สุงกว่าช่วงระยะเดียวกันของปีก่อน 637.28 เมกะวัตต์ แต่ต่ำกว่าค่าเดือนเมษายนปี 2532 ซึ่งถือว่าเป็นค่าความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุดของปีงบประมาณ 2532 นี้ อยู่เพียง 37.60 เมกะวัตต์เท่านั้น"

เหตุภาวะเช่นนี้เองกดให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรอง (RESERVE MARGIN) ของกฟผ.เดือนเมษายนปี 2532 นี้ตกลงเหลือแค่ 4% เทียบกับเมษายนของปีที่แล้ว 20% จนเป็นเหตุหนึ่งที่กรรมการกฟผ.โดยเฉพาะเกษมถูกเฉลิม อยู่บำรุง รมต.สำนักนายกฯ ที่ควบคุมกำกับดูแลกฟผ. หาเหตุโจมตีเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวปลดเกษมและกรรมการกฟผ.ทุกคน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การบริหารปริมาณผลิตไฟฟ้าสำรองเป็นจุดที่เกษมถูกโจมตีมากไม่เพียงแต่เฉลิมเท่านั้น ในวงการนักเทคโนแครต ที่รับผิดชอบพลังงานของรัฐ ก็เห็นจุดบกพร่องในประสิทธิภาพที่อ่อนเปราะของกฟผ.จุดนี้ด้วย

จากแผนภูมิกราฟ จะสังเกตเห็นว่าในมกราคมปี 2531 ปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงเกือบ 30% และในปี 30 29 ปริมาณสำรองเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 40%

สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร นักเทคโนแครตพลังงานผู้หนึ่งให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ว่า มันแสดงถึงการ OVER INVESTMENT ของกฟผ.ในอดีตและจุดที่สำคัญกว่านั้นคือ ในบางช่วงของแผนลงทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ควรเร่งกลับไม่เร่ง และที่ไม่ควรเร่งกลับไปเร่งลงทุนกันมากมาย จนสำรองเหลือนาน ซึ่งถ้าหากเป็นธุรกิจเอกชนที่มีสต็อกเหลือถึง 40-50% นี้เจ๊งไปนานแล้ว

แม้ข้อสังเกตนี้จะมีเหตุผล แต่แหล่งข่าวที่เป็นเทคโนแครตก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า การ OVER INVESTMENT ของกฟผ.ในอดีต ก็ช่วยกู้สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ให้ไฟฟ้าดับ หรือขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าได้

ยิ่งในปี 2533 ทั้งในแหล่งข่าวของกฟผ. และหน่วยงานพลังงานของรัฐก็ยืนยันว่า ไฟฟ้าสำรองจะขยับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปีในระดับเกือบ 10% จะตกรูดลงมาจน -2% ในเดือนเมษายน แล้วค่อย ๆ ขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกือบ 24% เมื่อสิ้นปี 2533 เนื่องจากแรงดันของกำลังผลิตไฟฟ้าในโครงการต่าง ๆ ของกฟผ.ที่กำหนดเสร็จในปี 2533 อีก 570 เมกะวัตต์

และตรงนี้คือ TURNING POINT ของเกษมและกรรมการกฟผ. ทุกคนในสถานการณ์ใหม่ของกฟผ.ที่ไม่เคยประสบมาเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจนเป็นมูลเหตุที่สำคัญอันหนึ่งที่บีบรัดให้ยุทธศาสตร์การผลิตไฟฟ้าของกฟผ.เข้ามุมยอมรับให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตด้วย ตามแนวความคิด ล้มล้างระบบผูกขาดกฟผ.ในการผลิตไฟฟ้าด้วยนโยบายดึงเอกชนเข้ามาร่วมผลิต

แนวความคิดในเรื่องการแปรรูปหรือการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนในกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไม่พออกพอใจกฟผ.เป็นอย่างมาก และเป้าของความรู้สึกดังกล่าวตกอยู่ที่กรรมการของกฟผ.อย่างเกษม จาติกวณิชอย่างช่วยไม่ได้เลย

ว่ากันว่าคนในกระทรวงการคลังพยายามผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่ากระแสความคิดการแปรรูปจะสอดคล้องกับความจำเป็นในการลงุทนของกฟผ.ในช่วงเวลาปัจจุบันพอดี เพราะกฟผ.มีเป้าหมายที่จะลงทุนามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2530-2534 ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนโครงการขยายเมือง โครงการขยายระบบส่งพลังไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 35 โครงการ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 138,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 จำนวน 100,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้จากต่างประเทศ 53,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 38,000 ล้านบาทเป็นงบที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 7

สาเหตุที่กฟผ.ต้องเร่งระดมทุนเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากมายหลายแห่งเช่นนี้ เป็นเพราะความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากความเติบโตของภาวะเศรษฐกิจในช่วงตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ดังกล่าวมาแล้วว่า ในบางช่วง (เมษายน) กระแสไฟฟ้าสำรองตกต่ำเหลือเพียง 4% ซึ่งนับเป็นอันตรายมาก หากโรงไฟฟ้าบางแห่งต้องหยุดเพื่อซ่อมแซม ก็อาจจะต้องมีการดับไฟฟ้าในบางจุด ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างหวาดเสียวไปตาม ๆ กัน หากเกิดกรณีนี้ขึ้นมาจริง ๆ

16 กุมภาพันธ์ 2532 คณะกรรมการนโยบายพลังงาแห่งชาติซึ่งมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียดแผนการลงทุนของกฟผ. และที่สำคัญให้ศึกรวมไปถึงลู่ทางการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับเอกชน

เงินลงทุน 138,000 ล้านบาทเป็นเงินไม่ใช่น้อย ๆ เลย เรื่องของเรื่องก็มาถึงกระทรวงการคลังที่มีหน้าที่หาเงินและควบคุมการใช้จ่ายของกฟผ.และรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไป

กระทรวงการคลังแต่งตั้งอรัญ ธรรมโน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานคณะทำงานศึกษาดังกล่าว กรรมการคนอื่น ๆ ประกอบด้วยพิศิฎฐ์ ภัคเกษม เลขาธิการสภาพัฒนฯ, เผ่าพัชร ชวนะลิขิกร ผู้ว่ากฟผ.ม ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและนิพัท พุกกะนะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กว่าคณะทำงานชุดนี้จะสามารถสรุปทางออกมาได้ วิวาทระหว่างคนจากกระทรวงการคลังและกฟผ.ก็หนักหนาเอาเรื่องทีเดียว ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกับแนวความคิดการแปรรูปอย่างชัดเจน

ทางซีกกระทรวงการคลังจะวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของกฟผ.ในการที่จะลงทุนอีก 138,000 ล้านบาทดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะทำงานจะวิเคราะห์ว่ากฟผ. จะไม่สามรถ่จัดหารรายได้จากการดำเนินงานมาร่วมทุนในสัดส่วน ที่กำหนดไว้ 25% ได้ แม้วาจะลดหลักเกณฑ์นี้เหลือเพียง 20% สำหรับปี 2533-2535 แล้วก็ตาม นอกจากจะไม่สามารถหาเงินของตนเองมาสมทบกับเงินกู้ได้เพียงพอแล้ว ถ้ากฟผ.จะคิดลงทุนต่อไป ฐานะทางการเงินของกฟผ. จะถึงขั้นติดลบ คือขาดเงินที่จะมาใช้หนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นไป ซึ่งภาระดังกล่าวจะกระทบไปถึงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 ซึ่งรัฐอาจจะต้องชดเชยด้วยการเพิ่มทุน ลดภาษีอากร งดเว้นการนำรายได้ส่งรัฐและสุดท้ายจะต้องปรับค่าใช้ไฟฟ้าให้สูงขึ้น

"ถ้าให้เขาดำเนินไปตามแผนโดยลำพัง ไม่ให้เอกชนเข้ามา กฟผ.อาจจะต้องขึ้นค่าไฟฟ้าอีก 13% ภายในปีสองปีนี้" แหล่งข่าวในคณะทำงานกล่าว

ด้วยภาระดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงเห็นวากฟผ.ต้องให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโดยเร็ว เพื่อหาเงินเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสียแต่ตอนนี้ ขณะที่กฟผ.ยืนยันหนักแน่นว่าไม่จำเป็น โดยเผ่าพัชรเป็นตัวแทนของกฟผ. ในคณะทำงานซึ่งเชื่อกันว่า เกษม จาติกวณิชในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาไฟฟ้าของกฟผ.เป็นผู้เสนอแท้จริงร่วมกับกรรมการกฟผ.คนอื่น ๆ

กฟผ.มองว่าตนเองเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นที่เชื่อถือและเป็นตัวอย่างทั่วโลกเพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างหรือให้เอกชนเข้ามา ปัญหาการเงินของกฟผ.ก็มีไม่มากเลี้ยงตัวเองได้และขยายงานได้ดีพอสมควร

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความต้องการไฟฟ้าในช่วงนี้สูงมากผิดปกติ ขณะที่โครงการขยายกำลังการผลิตในอดีตถูกชะลอไว้เนื่องจากการพยากรณ์ของคณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ดังนั้นในช่วงนี้จึงต้องลงทุนมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับให้ทัน ซึ่งพ้นจากระยะนี้ไป การลงทุนของกฟผ.คงต้องลดลง

นอกจากนั้นเรื่องเพดานเงินกู้นั้น กฟผ.ก็มองว่าเนื่อง่จากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากกว่าที่คาดหมายไว้เดิม ดังนั้นเพดานเงินกู้เงินตราต่างประเทศของรัฐก็น่าจะปรับขึ้นไปได้ และโดยฐานะของกฟผ.เองที่ความมั่นคง ดำเนินกิจการดี สมควรอยู่ในเพดานเงินกู้ต่างหากออกไป

"หรือจะให้กฟผ.ออกพันธบัตรเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังมาค้ำด้วย" กรรมการกฟผ.คนหนึ่งให้ความเห็น

ที่สำคัญกฟผ.เองอ้างอยู่เสมอว่า เป็นรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐษนที่สำคัญที่สุด รัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด รัฐควรพิจารณาความเปลี่ยนแปลงอย่างรอบคอบ เพราะเกี่ยวเนื่องกับเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

หลังจากผ่านการถกเถียงเกือบ 2 เดือน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานชุดดังกล่าวก็สรุปรูปแบบและแนววิธีการดำเนินการที่จะขยายบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมทุนหรือดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ 6 รูปแบบคือ

รูปแบบที่ 1 แปลงรูปกิจการของกฟผ.ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นบริษัทจำกัดแล้วขายกิจการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโดยการจำหน่ายหุ้น (SALE)

รูปแบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบการผลิตพลังความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (COGENERATION)

รูปแบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้าง เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเอง (BUILDOWN-OPERATE : BOO) แล้วจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของกฟผ.

รูปแบบที่ 4 เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้าง เป็นเจ้าของ เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเอง แล้วจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบไประยะหนึ่งจึงโอนทรัพย์สินให้กฟผ. (BUILD-OWN-OPERATE-TRANSFER : BOOT)

รูปแบบที่ 5 เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้าง เป็นเจ้าของ และให้เช่าโรงไฟฟ้าแก่กฟผ. เพื่อดำเนินการผลิตเอง (BUILD-OWN-LEASING : BOL)

รูปแบบที่ 6 กฟผ.เป็นผู้ลงทุนสร้างก่อนและขายโรงไฟฟ้าให้กับบริษัทเอกชนที่กฟผ.เป็นผู้จัดตั้งขึ้นโดยร่วมถือหุ้นข้างน้อยด้วยเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า แล้วจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของกฟผ.เอง (SUBSIDIARY COMPANY : SC)

แต่เมื่อคนกฟผ.เห็นรูปแบบทั้งหกนี้เข้าก็มีแต่คนเบ้ปากว่า "ไม่เอา"

รูปแบบที่ 1 ซึ่งก็คือการเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องอีกยาวนาน ทั้งต้องเป็นเรื่องต้องถกเถียงอีกไม่รู้เท่าไร และในแง่ปฏิบัติเองก็ต้องมีการแก้กฎหมายสถานภาพของกฟผ.ก่อนจากองค์การเป็นบริษัทจำกัดและอื่น ๆ ในด้านเทคนิคหลายประการ ซึ่งคงจะใช้อีกหลายปีในขั้นการดำเนินงานว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้

"นั่นคือคุณต้องตกลงให้ได้ตอนนี้ แล้วเริ่มต้นในปัจจุบัน มันจะเป็นผลดีในอนาคตไม่ใช่เตะถ่วง" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังกล่าว

แต่กรรมการกฟผ.เห็นแย้งว่า "วิธีการแปรรูปโดยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่มีความจำเป็นแต่ถ้ารัฐบาลประสงค์กำหนดนโยบายนำรัฐวิสาหกิจที่เป็นธุรกิจแสวงหากำไรก่อน ส่วนรัฐวิสหกิจสาธารณูปโภค เช่น กฟผ. ควรศึกษาให้รอบคอบ"

"คุณต้องระวังเรื่องการตีราคาทรัพย์สิน ซึ่งกฟผ.มีมากมายมหาศาล หากตีราคาต่ำไปก็จะเกิดการกว้านซื้อหุ้นโดยนักการเมือง นอกจากนั้นราคาหุ้นก้จะสูงมาก อาจถึงหุ้นละ 1 ล้านบาท ใครจะกล้ามาลงทุนและอาจจะได้ปันผลน้อยมากหรือไม่ได้เลยเป็นเวลานาน เพราะคลังและกฟผ.ต้องเอาเงินไปลงทุนเพิ่มหรือชำระหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่" กรรมการกฟผ.คนหนึ่งให้ความเห็นถึงอุปสรรค

ส่วนรูปแบบที่ 2 คือระบบโค-เจนเนอเรชั่นเป็นวิธีการที่กฟผ.เห็นด้วยมากที่สุดและประกาศตัวอยู่เสมอว่า เห็นด้วยกับวิธีการนี้มาตั้งนานแล้วแต่ในขั้นตอนการปฏิบัติก็ดูเหมือนจะล่าช้าไม่ใช่น้อย

"กฟผ.ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้เอกชนใช้เชื้อเพลิงหลายรูปแบบ เช่น วัสดุเหลือใช้และน้ำมันเชื้อเพลิง แต่กฟผ.อยากจะให้เอกชนใช้แต่วัสดุเหลือใช้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้สำหรับเอกชน เพราะช่วงใดที่เอกชนไม่มีวัสดุเหลือใช้ เช่น โรงงานน้ำตาลไม่มีชานอ้อยเหลือก็จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งก็จะไม่คุ้มกับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของตนเองกิจการประเภทนี้ก็จะไม่เกิดหรือไม่โตเลย นอกนั้นก็เป็นเรื่องราคาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งกฟผ.กำหนดส่วนต่างซื้อขายในอัตราค่อนข้างสูงถึง 60 สตางค์ต่อ KWH ทำให้ราคาไฟฟ้าสูง เอกชนที่อยากจะลงทุนและซื้อไฟฟ้าจากส่วนนี้ใช้ก็เลยแหยง จนต้องมีการปรับระเบียบและรายละเอียดกันใหม่ พอให้ระบบนี้มันเกิดขึ้นมาได้" แหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกล่าว

จุดที่มีการปรับระเบียบรายละเอียดกันใหม่ก็คือการเสนอรายละเอียดถึงวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีพลังไฟฟ้าที่จะขายให้กฟผ.กินความกว้างไปถึงขยะ ก๊าซชีวภาพ ไม้ฟืน นอกเหนือจากวัสดุทางการเกษตร เช่น แกลบหรือชานอ้อย แต่เพียงอย่างเดียวตามข้อเสนอของกฟผ. อีกจุดหนึ่งก็คือส่วนต่างราคาซื้อขาย (MAGIN) ของกฟผ. ควรจะอยู่ในช่วงอัตรา 10-30 สตางค์/ KWH ก็พอ และจุดสุดท้ายคือการรับผิดชอบความเสียหายของระบบไฟฟ้าอันเนื่องมากจากอุปกรณ์ไฟฟ้าของกฟผ. ไม่ควรให้เอกชนเข้ามารับภาระความเสียหายนั้นด้วย ขณะที่ในร่างระเบียบขอบกฟผ. ได้ระบุให้เอกชนรับผิดชอบความเสียหายจากกรณีอุปกรณ์ของกฟผ.ด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเอกชน

ผลของการปรับปรุงข้อตกลงและระเบียบก็คือกฟผ. ประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมพิจารณาระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนสำหรับระบบโค-เจนเนอเรชั่น เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2532 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างภาคเอกชนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมี พิสิฎฐ์ ภัคเกษมเป็นเลขานุการและโต้โผใหญ่ของงาน

"เขาอ้างว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไม่ทำตามข้อตกลงในเรื่องร่างระเบียบ เขาก็เลยไม่มา แต่ก็ดีแล้วที่ไม่มาเพราะเขาจะถูกรุมจากเอกชนว่าใจแคบในเรื่องนี้ เอกชนหลายคนถึงกับเสนอว่า ถ้ามีระบบนี้เกิดขึ้นจริงก็ขอซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตเลยไม่ต้องผ่านกฟผ." แหล่งข่าวในที่ประชุมกล่าว

เกษมเคยกล่าวบ่อยครั้งว่าเห็นด้วยกับระบบนี้เป็นการผลิตร่วมกันที่ดี แต่ต้องไม่ทำไฟฟ้าขายแข่งกันกฟผ. แต่ด้วยความล่าช้าในขั้นปฏิบัติ เกษมถึงกับกล่าวว่าถ้าระบบโค-เจนเนอเรชั่นเกิดขึ้นได้จริงและสามารถต่อเข้าระบบของกฟผ.ได้ทันกลางปี 2533 ซึ่งกฟผ.จะประสบปัญหากระแสไฟฟ้าสำรองต่ำอีกครั้ง เกษมกล่าวว่าเขาจะทำโล่มอบให้เอกชนรายนั้นเลยเพราะเกษมคาดว่าไม่ทันแน่

"เรื่องมันช้าเพราะกฟผ.เองนั่นแหละ ตอนนี้เรื่องมันกลับมาอยู่ที่ กฟผ.แล้วเพื่อให้เขาพิจารณาในรายละเอียดในฐานะผู้ปฏิบัติ ที่มันช้าเพราะ ข้างในกฟผ.เองก็ยังตกลงเรื่องนี้กันไม่ได้" แหล่งข่าวกล่าว

เป็นเพราะฝ่ายปฏิบัติการเห็นด้วย แต่ฝ่ายร่างนโยบายและบริหารนโยบายคัดค้าน ก็เลยคารังคาซัง

ส่วนรูปแบบที่ 3,4 และ 5 นั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เปิดโอกาสให้เอกชนมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าด้วยตนเอง จะแตกต่างกันก็ตรงหลังจากสร้างเสร็จแล้วจะให้ใครดำเนินการผลิตไฟฟ้าแบบไหนเท่านั้น ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบ กฟผ.แทบจะเปิดประตูรับเอาเสียเลย

เกษมค้านรูปแบบนี้อย่างหนักแน่น เขากล่าวว่า แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเขาก็จะค้านและต่อต้าน เพราะถือเป็นความขัดแย้งทางความคิดเห็นส่วนบุคคล

เกษมและกรรมการกฟผ.ให้เหตุผลคัดค้านว่า หนึ่ง - หนี้ต่างประเทศที่เกิดขึ้นเพราะการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศนั้นจะเปลี่ยนจากหนี้ของัฐมาเป็นหนี้ของเอกชนเท่านั้น เพราะถ้าให้เอกชนเข้ามา เอกชนก็ต้องกู้เงินจากต่างประเทศอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินของประเทศแต่อย่างใด

สอง - ภาคเอกชนที่มีความสามารถที่จะมาลงทุนในระดับแสนล้านหมื่นล้านก็จะเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ในต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นการเสี่ยงถ้าเอากิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญไปตกอยู่ในมือของต่างชาติ

สาม - เอกชนเข้ามาก็ต้องมาแย่งใช้เชื้อเพลิง เช่น ลิกไนต์ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง กฟผ.และรัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน และลงทุนเป็นเงินมหาศาล สมควรถือเป็นทรัพยากรของชาติ จึงไม่สมควรให้เอกชนมาเหมือนกับเป็นการชุบมือเปิบ

สี่ - เอกชนเข้ามาลงทุนจะมีปัญหาในการลงทุนในเรื่องสายส่งและเทคนิค ซึ่งต้องกลงทุนมหาศาลและเอกชนจะไม่ยอมเข้าใปลงทุนในเขตชนบทเพราะไม่คุ้มทุน และราคาค่าไฟฟ้าที่จะจำหน่ายก็อาจจะสูงขึ้นมา

ห้า - กรรมการ กฟผ.ระบุว่า วิธีให้นายธนาคารและกลุ่มพ่อค้าเครื่องจักรมาลงทุนแบบนี้นั้นใช้ได้แต่กับประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งประเทศเหล่านี้บริหารโครงการไม่เป็น และจนมาก ๆ เป็นความคิดของนายทุนที่ต้องการขูดรีดประเทศด้อยพัฒนา

"ระบบให้เอกชนมาสร้างโรงไฟฟ้าเองนี้เหมาะสำหรับประเทศในแอฟริกามากกว่า ที่ไม่มีระบบการบริหารและไฟฟ้าดับอยู่เสมอ" เกษมกล่าว

"คุณเกษมเถียงข้าง ๆ คู ๆ " แหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกล่าวโต้

เหตุผลเพราะว่า เรื่องหนี้ต่างประเทศก็เป็นความเข้าใจผิดของเกษม ไม่มีใครบอกว่าต้องการลดหนี้ต่างประเทศ แต่ต้องการแก้ไขปัญหาเงินกู้เกินเพดานเงินกู้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปค้ำเงินกู้ของกฟผ.ทุกรายการโดยทันที ถ้าปล่อยให้กฟผ.ลงทุนเอง จะต้องมีปัญหาเพดานเงินกู้อย่างแน่นอน

"กฟผ.กลัวว่าในอนาคต บริษัทเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นบริษัทใหญ่ แล้วเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกฟผ. ซึ่งถึงตอนนั้นจะมีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานในทุกด้าน แล้วตอนนั้นจะรู้เองว่า ที่กฟผ.คุยว่าทุกวันนี้ดำเนินงานมีประสิทธิภาพมันจริงหรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนั้น กฟผ.จะประสบปัญหา "มันสมองไหล" อย่างแน่นอน ถ้าภาคเอกชนทำได้ดีกว่า วิศวกรจำนวนมาก็จะไปสู่ภาคเอกชน ส่วนเรื่องราคาค่าไฟฟ้าก็ไม่มีข้อสรุปว่าจะแพงหรือถูกกว่าที่เป็นอยู่เรื่องการลงทุนสายส่งหรือเทคนิคก็ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติว่าจะเอาอย่างไร อยู่ที่การออกระเบียบ ออกมาตรการต่าง ๆ ของ กฟผ.ซึ่งจะกำหนดอำนาจในเรื่องเหล่านี้ตลอดจนเรื่องการควบคุมอย่างไรก็ได้

"เขากลัวว่า พอสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จ เอกชนจะทำไม่ได้แล้วหนี ก็ดีนะสิ เราจะได้ยึดเป็นของเราไปเลย เขาลงทุนให้เราก่อนแล้ว ส่วนเรื่องเชื้อเพลิงพลังงาน ก็เหมือนกัน ทุกวันนี้ กฟผ.ก็ต้องซื้อ ไม่แตกต่างจากเอกชนที่จะเข้ามา เรื่องเหมืองลิกไนต์ก็อยู่ที่ว่า กฟผ.ใจกว้างพอไหมที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมสำรวจและลงทุนร่วม ทุกวันนี้ กฟผ.ผูกขาดการสำรวจลิกไนต์ กฟผ. จะมีสิทธิ์ในเรื่องนี้ก่อนเสมอเรื่องแบบนี้ ใจกว้างพอไหม" แหล่งข่าวคนเดิมตั้งคำถาม

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" พบว่า วิธีการให้เอกชนมาลงทุนในกิจการเช่นนี้มีด้วยกันในหลายประเทศ เช่น สวีเดน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

แนวโน้มของข้อสรุปสำหรับรูปแบบทั้งสามนี้อาจจะเป็นรูปแบบที่ 5 คือ เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างเป็นเจ้าของ และให้เช่าโรงไฟฟ้าแก่ กฟผ. (BOL) ส่วนที่จะเป็นโรงไฟฟ้าใดก่อนนั้นก็อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 ไปแล้ว

ส่วนรูปแบบที่ 6 คือให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนสร้างก่อนและขายโรงไฟฟ้าให้กับบริษัทเอกชนที่ กฟผ.และเอกชนร่วมจัดตั้งขึ้น โดยจะถือหุ้น 49% และบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเองเพื่อให้เข้าระบบ กฟผ.

ลักษณะเช่นนี้ กฟผ.ประนีประนอมรับได้ โดยในขั้นต้นจะมีโครงการทั้งสิ้น 10 โครงการอยู่ในรูปแบบนี้

ทั้ง 10 โครงการ วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 61,612 ล้านบาท แต่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน 30,000 -40,000 ล้านบาท

เป็นที่เชื่อกันว่า รูปแบบที่ 6 นี้เป็นการประนีประนอมของ กฟผ.และเป็นความจำเป็นรีบด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินเสียแต่ตอนนี้ว่าจะหาเงินลงทุนจากที่ไหนสำหรับ 10 โครงการนี้

"มันก็เหมือนกับโครงการอื่น ๆ ที่ กฟผ.เสนอเข้ามา แล้วมักจะบอกว่าไม่ทันแล้ว ๆ ต้องรีบลงทุนตอนนี้ รัฐบาลก็เลยต้องลงทุนเองมาโดยตลอด ทั้งที่กระทรวงการคลังเองอยากจะให้เอกชนมาลงทุนตลอด เพราะคิดว่ามันไม่ทันจริง ๆ ดร.ไพจิต เอื้อทวีกุล ในฐานะกรรมการสภาพัฒนาฯ ยังบ่นว่า จะไม่ยอมให้ลูกหลอกอีกแล้วสำหรับ 10 โครงการนี้รัฐบาลจะไม่ลงทุนเองอีก ต้องให้เอกชนเข้ามา เพราะเรายังเตรียมตัวทัน แม้ว่าจะไม่เต็ม 100% ก็ตาม" แหล่งข่าวกล่าว

ในเวลานี้สำหรับ 10 โครงการ กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาในรายละเอียดและเจรจากับรัฐบาลและสถาบันการเงินต่างประเทศ มี ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีคลังเป็นประธานเอง ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า ผลจะลงเอยอย่างไร เอกชนจะเข้ามาได้จริงหรือไม่

ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา คือห้วงเวลาถกเถียงเรื่องการแปรรูปอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดและเริ่มมีข้อตกลงที่ชัดเจนดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด แต่ถึงกระนั้น เกษมก็ยังออกโรงมาคัดค้านเป็นระยะ ส่วนใน กฟผ.เองยังมีข้อสรุปที่หนักแน่นด้วยการพยายาจะให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาอย่างรอบคอบตลอดเวลา ดังนั้นแม้จะมีหลักการออกมาชัดเจนในขั้นตอนปฏิบัติก็ยังล่าช้าอยู่ดี

"ปัญหาของ กฟผ.คือ การผูกขาด ความคิดของเขาอาจจะก้าวในช่วงก่อสร้างตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาอยู่กับการผูกขาดมานาน ความคิดอาจจะไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบันไปบ้าง" กรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกล่าว ซึ่งแสดงถึงความไม่พอใจอย่างหนักหน่วงต่อท่าทีของกรรมการ กฟผ.ในเรื่องการแปรรูป

หากให้ "ผู้จัดการ" ประเมินการเปลี่ยนแปลงกรรมการ กฟผ.ในช่วงที่รัฐบาล พลเอกชาติชายเข้ามาแตะต้องนั้น ในใจของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหลายคนคงจะพอใจกับกรรมการชุดทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ มากที่สุด เพราะอย่างน้อยก็มีพิสิฎฐ์ ภัคเกษม ซึ่งสามารถคุยเรื่องแปรรูปได้สะดวกโยธินที่สุด

หรืออย่างน้อยการที่เกษม จาติกวณิช ต้องหลุดไปจากกรรมการ กฟผ.อย่างถาวร ก็ทำให้คนหลายคนในกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ปลุกปล้ำกับเรื่องแปรรูป กฟผ.มานาน ได้หายใจได้ทั่วท้องมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

การที่ เฉลิม อยู่บำรุง และ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ปลดเกษม และนายช่างใหญ่ที่เป็นระดับกรรมการอีก 3 ท่านที่ประกอบด้วย จำรูญ วัชราภัย อำนวย ประนิช และทองโรจน์ พจนารถ รวมถึง สนอง ตู้จินดา นักกฎหมายอีก 1 ท่าน รวมเป็น 4 ท่าน ออกจากกรรมการ กฟผ.นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ง่ายนักว่าทำไมกรรมการทั้ง 5 ท่านที่คลุกคลีกับ กฟผ.มาเฉลี่ยคนละ 20 ปีทั้งนั้น และสร้างประโยชน์ลงหลักปักฐานให้กฟผ.มีสถานะความมั่นคงทุกวันนี้ จึงถูกปลดออกโดยที่ไม้แต่ พลเอกชาติชาย ซึ่งลงทุนเป็นคนควบคุมกำกับดูแล กฟผ.แทนเฉลิม ก็ไม่สามารถระบุความผิดของกรรมการทั้ง 5 ท่านนี้ได้

ตำแหน่งกรรมการ กฟผ.มันน่าพิศมัยมากมายเพียงใดหรือ

สนอง ตู้จินดา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น มันและไม่ได้กับหน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาตัดสินงานประมูลหรือจัดซื้ออุปกรณ์ในธุรกิจของ กฟผ.ที่การประชุมแต่ละครั้ง มีเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่วงเงินแทบไม่ต้องพูดถึง เป็นหลายพันล้านบาท

มองจากความข้อนี้ กรรมการของ กฟผ.จึงต้องเป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้จริง ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาพรรคเอาพวก ที่วิ่งเข้ามาหากินกับธุรกิจของ กฟผ.

เกษม จาติกวณิช เขาต้องเป็นเป้าใหญ่ให้เฉลิมโจมตี ในลักษณะชี้ชวน ตามมาตรา 15 (1) ของ ก.ม.การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 2511 ที่ระบุว่า "ห้ามกรรมการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กฟผ.หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กฟผ.ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมเว้นแต่เพียงเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น"

เพราะเกษมมีภรรยา คือคุณหญิงชัชนี จาติกวณิชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทล็อกซเล่ยที่ขายอุปกรณ์และสินค้าหลายสินค้าแก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเอกชนมานานแล้ว

แต่ความจริงคือ ตลอด 10 ปี ที่เกษมเป็นผู้ว่าการฯ ล็อกซเล่ยขายอุปกรณ์ให้ กฟผ.มีมูลค่าเพียง 0.04% ของยอดลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์และจัดจ้างทั้งหมดของ กฟผ. 160,000 ล้านบาท และที่สำคัญการจัดซื้อและจัดจ้างของ กฟผ.กับล็อกซเล่ย์เป็นระบบประมูล ไม่ใช่จัดซื้อและจัดจ้างกันโดยเสน่หา

พิทักษ์ รังษีธรรม ส.ส.ตรัง อดีตเซลส์แมนขายอุปกรณ์ของบริษัทมารู่เบนนีญี่ปุ่นเคยกล่าวถึงเกษมว่าเป็นคนที่ผู้ใหญ่ในบริษัทมารูเบนนีที่ญี่ปุ่นยกนิ้วให้ในเรื่องความซื่อสัตย์ เถรตรงเป็นไม้บรรทัด "เจาะขายของให้ กฟผ.โดยผ่านเกษมยากที่จะสำเร็จยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา"

กรรมการบางท่านอย่างจำรูญ วัชราภัย อดีตวิศวกรใหญ่องค์การโทรศัพท์และผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ ผู้ที่เป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของชาว ทศท.ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม เกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ว่ากันว่าช่วงเป็นกรรมการ กฟผ.ต้องเดินทางจากศรีราชา บ้านพักมาประชุมที่ กฟผ.เดือนละครั้งเป็นประจำ

ถ้าจะหวังเป็นกรรมการเพื่อความร่ำรวย คุ้มกันหรือกับชื่อเสียงเกียรติยศที่จำรูญสร้างมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนวัยชราอย่างทุกวันนี้ การหาคำตอบในข้อสังเกตนี้เป็นเรื่องเข้าใจกันได้

เฉลิม อยู่บำรุง อภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ในวาระถูกอภิปราบไม่ไว้วางใจได้พูดพาดพิงโดยไม่ระบุชื่อกรรมการ กฟผ.ว่า "มีกรรมการท่านหนึ่งในกรรมการ กฟผ.เป็นพี่ชายของผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ซีมา ที่ขาย BOILER ให้แก่ กฟผ.ทั่วประเทศ"

ข้อความอภิปรายตรงนี้ของเฉลิมทำให้กรรมการ กฟผ.ทุกคนถึงกับแปลกใจไปตาม ๆ กัน

"มีการสอบถามกันในหมู่กรรมการกันจ้าละหวั่นว่าเป็นใครกัน ก็หากันจนวุ่น ก็หาไม่พบ เข้าใจได้ว่าเป็นแท็คติกปล่อยข่าวของเฉลิมเท่านั้นเอง" สนอง ตู้จินดา กรรมการ (ผู้ถูกปลดออก) คนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังด้วยน้ำเสียงหัวเราะ

ประเด็นสาเหตุการปลดเกษมและกรรมการอีก 4 ท่าน ของเฉลิม และพลเอกชาติชาย ในมิติด้านการหาผลประโยชน์ของกรรมการบางท่าน จึงไม่มีหลักฐานเฉพาะชัดเจน หรือแม้แต่การที่เกษมและกรรมการ กฟผ.คัดค้านอย่างรุนแรงต่อเนื่องในมาตรการ PRIVATIZATION การผลิตไฟฟ้า แม้จะเป็นสิ่งที่ผ่านการยอมรับเป็นมติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีชุดพลเอกชาติชายนี้ไปแล้วก็ตาม

แต่การคัดค้าน PRIVATIZATION ของเกษมก็ไม่น่าเป็นเหตุการถูกปลด เพราะ "PRIVATIZATION IS A SMOKE-SCREEN" PAUL HANDLEY เขียนวิเคราะห์ไว้ใน THE REVIEWS, 13 JNLY 1989 โดยอ้างแหล่งข่าวข้าราชการอาวุโสระดับสูง และตอกย้ำประเด็นสาเหตุการปลดเกษมและกรรมการอีก 4 ท่านว่าเป็นกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาล (พลเอกชาติชาย และเฉลิม) ที่มีเหตุจูงใจจาก "…IT IS NOTHING MORE THAN A PARCELLING OF INTERESTS"

ผลประโยชน์อะไรหรือที่ชวนให้สงสัยกันว่ารัฐบาลชาติชาย โดยเฉพาะเฉลิมต้องการใน กฟผ.

หัวใจสำคัญของธุรกิจใน กฟผ. คือการลงทุนขยายโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้า

ใน ก.ม.การไฟฟ้า ปี 2511 มาตรา 11 หมวด 3 ว่าอำนาจอนุญาตการสั่งซื้อระบุว่า "พัสดุที่มีราคาไม่เกิน 8 ล้านบาท ผู้ว่าการเป็นผู้อนุญาตได้เลย ส่วนที่เกิน 8 ล้านบาท ต้องให้คณะกรรมการเป็นผู้อนุญาต"

กรรมการท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เป็นเชิงตั้งข้อสังเกตว่า เฉลิมเคยสอบถามความเห็นกรรมการท่านหนึ่งถึงตัวเผ่าพัชร ผู้ว่าการในเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ที่เฉลิมเห็นว่าไม่ดี เป็นจุดบอดของเผ่าพัชร แต่กรรมการท่านนั้นปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับเฉลิม

ตำแหน่งผู้ว่าการของเผ่าพัชร มีความสำคัญแค่ไหนใน กฟผ.เป็นที่เข้าใจรู้ได้ ไม่เพียงแต่มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อพัสดุในวงเงินไม่เกิน 8 ล้านบาท แล้วยังมีอำนาจลงนามในการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อพัสดุด้วย

เฉลิมเคยสั่งปลดมนตรี เจนวิทย์การ ออกจาก ผ.อ.อ.ส.ม.ท. มาแล้ว และเอาราชันต์ ฮูเซ็น เข้ามาแทน

เป็นไปได้ว่า เฉลมิก็คงคิดเหมือนกับที่เขาทำกับมนตรีที่ อ.ส.ม.ท.เหมือนกัน แต่เผอิญกรรมการ กฟผ.ไม่ใช่กรรมการ อ.ส.ม. ชะตากรรมของเผ่าพัชร จึงไม่เหมือนมนตรี

เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่เฉลิมควบคุม กำกับ ดูแล กฟผ. เขาพยายามอภิปรายในสภาฯ เมื่อ 19 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ผู้บริหาร กฟผ.ส่อเจตนาสงสัยไม่น่าไว้ใจในการเปิดประตูราคาเรื่องการเปิดหน้าดินเหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้ท้วงติงตลอดให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการเอง

ความตรงนี้ของเฉลิมเป็นข้อเท็จจริงที่เขาพยายามให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนดำเนินการเปิดหน้าดินเหมืองลิกไนต์มูลค่า 9,000 ล้านบาท แต่จุดสำคัญคือถ้า กฟผ.ลงทุนเอง ต้องลงทุนเพราะค่าอุปกรณ์และเครื่องจักรเปิดหน้าดินอีกไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เผ่าพัชรได้รับโทรศัพท์จากเฉลิมยืนยันเรื่องการจัดหาอุปกรณ์จะเป็นผู้ดำเนินการให้ ซึ่งกรรมการในกรรมการท่านหนึ่งได้กล่าวให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เผ่าพัชรได้นำความเรื่องนี้มาบอกให้ที่ประชุมกรรมการทราบเช่นกัน

การหาผลประโยชน์โดยอาศัยสื่อช่องทางในการกำกับดูแลที่ฟังดูตามหลักการน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และรักษาผลประโยชน์ให้กรรมการอย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการปิดชอ่งทางทุจริตของเจ้าหน้าที่ เป็นแท็คติกชั้นสูงในการเดินเกมทางการเมืองเหนือขุมประโยชน์อันมหาศาลของ กฟผ.

ถ้าหากกรรมการ กฟผ.ชุดเกษม ยังอยู่ต่อไปยุทธศาสตร์การเข้ามาใน กฟผ.ของการเมืองย่อมยากลำบาก เพราะ หนึ่ง-กรรมการชุดนี้แต่ละคน เก่าคร่ำครึกับ กฟผ.มานาน จนรู้ใจและสามัคคีกันแน่นแฟ้นมากเปรียบดังผนังทองแดง กำแพงเหล็ก สอง-กรรมการชุดนี้ กรรมการแต่ละท่าน ส่วนใหญ่เป็นกำลังที่วางหลักปักฐานให้ กฟผ.มาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งมักจะมีความคิดฝัน "หลงใหลกับความสำเร็จในหนทางที่เดินมาในอดีต" อย่างแน่นหนา จนยากต่อการปรับให้ยอมรับความคิดใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการแยกสลายโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ และจารีตของ กฟผ.การคัดค้านนโยบาย PRIVATIZATION เป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดสุด และ สาม-กรรมการชุดนี้มีองคมนตรี 2 ท่าน คือ ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ กับ น.ต.กำธน สันธวานนท์ นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย การกระทำอะไรลงไปโดยมีเป้าหมายเฉพาะย่อมอาจส่งผลกระทบต่อฐานะขององคมนตรีทั้ง 2 ท่านนี้ได้

ความยากลำบากด้วยเงื่อนไขดังว่านี้ เป็นสภาพการณ์ที่ฝ่านการเมืองใช้กลยุทธ์ตีเฉพาะเกษม ผู้ซึ่งครบเกษียณอายุตาม ก.ม. กฟผ. 65 ปีใน ต.ค. ปี 2533 และครบเทอม 3 ปี การเป็นกรรมการใน 3 เดือนข้างหน้านี้

ทำไมเฉลิมและรัฐบาลชาติชายจึงพุ่งเป้าตีและแยกสลายเกษมจากกรรมการ เหตุผลเพราะทราบดีว่าเกษมเป็นผู้มีบารมีสูงสุดใน กฟผ.และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างไม่เป็นทางการในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาการไฟฟ้า "เขาสำคัญขนาดเกษียณอายุจากผู้ว่าการฯแล้ว กรรมการยังตั้งคณะกรรมการพัฒนาไฟฟ้าฯขึ้นมาให้เขาเป็นประธาน คล้าย ๆ กับยังไม่อยากให้เกษมหลุดจาก กฟผ.ไปเลย" แหล่งข่าวในวงการพลังงานเล่าให้ฟัง

กรรมการชุดใหม่ที่ชาติชายแต่งตั้ง ไม่มีเกษมสนอง ตู้จินดา อำนวย ประนิช ทองโรจน์ พจนารถและจำรูญ วัชราภัย ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกรรมการพัฒนาไฟฟ้าด้วย (ยกเว้นสนอง) มองจากแง่นี้เป็นความสำเร็จ่ของรัฐบาลชาติชาย ที่เป้าหมายบรรลุผลสำเร็จแล้ว นั่นคือจำกัดเกษมและอิทธิพลของเขาจาก กฟผ.

การเมืองเหนือ กฟผ.ในอนาคต จะออกมาในรูปแบบใด หลังพ้นยุคเกษม เป็นประเด็นสำคัญอีกจุดหนึ่งที่บ่งบอกถึงแนวโน้มพฤติกรรมในองค์กร กฟผ.

มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ที่คนใน กฟผ.ต้องเผชิญหน้ากับภาวะแวดล้อมที่ต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ….

หนึ่ง - พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้รักษาการกำกับควบคุมดูแล กฟผ.ด้วยตนเองแทนเฉลิม อยู่บำรุง กฟผ.หน่วยงานที่มีกำลังแรงงานร่วม 30,000 คน ผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 7,000 เมกะวัตต์ มีวิศวกรเกือบ 10% ในองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ด้วยลักษณะงานธุรกิจที่ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ โดยไร้คู่แข่งขัน จึงดูเป็นองค์กรที่ไม่มีลักษณะพลวัต ขณะที่ระบบบริหารยังคงติดยึดอยู่กับระเบียบแบบแผนราชการในฐานะรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นจัดซื้อจัดจ้างตำแหน่งขั้นเงินเดือน การบริหารทุนภายใต้การกำกับดูแลจากกระทรวงคลัง

สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขที่ทำให้พฤติกรรมองค์กร กฟผ. โดยเนื้อแท้ หยุดนิ่ง และเริ่มประสบปัญหามันสมองที่เป็นวิศวกรไหลออกสู่อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ในภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรมเปโตรเคมี

ขณะเดียวกันในระดับสูงคือ กฟผ.ทุกคนมาจากข้าราชการทั้งสิ้น กระบวนการตัดสินใจจึงอยู่ในอาณาจักรของคิดแบบข้าราชการที่ไม่ยืดหยุ่นทันต่อโลก ขณะที่คนกำกับดู่แลคือนายฯชาติชายวิธีคือและการบริหารการตัดสินใจเขาสังกัดอยู่กับเอกชนเต็มตัว

สิ่งนี้เป็นปมเงื่อนไขที่ขัดแย้งกันอยู่ พฤติกรรมองค์กรใน กฟผ.ย่อมหลีกเลี่ยงการปะทะกับอำนาจการเมืองภายนอกไปไม่พ้น

สอง-พลเอกชาติชาย มีนโยบายแจ่มชัดในการ PRIVAIXATION กฟผ.และเขาเชื่อมมั่นในพลังของทุนเอกชนว่าจะสามารถลงทุนและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เครื่องกีดขวางในโครงการ PRIVATIZATION เช่น CO-GENERATION SCHEME ที่ผู้บริหารใน กฟผ.รวมถึงกรรมการ กฟผ.พยายามเตะถ่วงหรือตั้งแง่อย่างเต็มที่จะยืดเวลาออกไปได้ไม่เกินปี 2534 เพราะกรรมการชุดเกษม เช่น ดร.เชาวน์, กำธน, ครบเทอมเป็นกรรมการพอดี ซึ่งถ้าหากชาติชายหรือรัฐบาลจากผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายใน กฟผ.ไม่ว่าจะเป็นวิโรจน์ นพคุณ ผ.อ.ฝ่ายนโยบายพลังงาน หรือแม้แต่ เผ่าพัชร ชวนะลิขิกร ผู้ว่าการ ก็จะหมดพลังไปเอง

และนั่นก็คือ โครงการดึงเอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้ากับ กฟผ.ตามรูปแบบ 6 แบบ ก็จะเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่สะดวก

สาม - การดึง กฟผ.เข้ากระจายหุ้นสู่ตลาดหลักทรัพย์บางส่วน (25%) ย่อมเป็นไปตามทิศทางการลงทุนและสถานะการลงทุนของ กฟผ.ที่แปรเปลี่ยนไป

การกระจายหุ้น กฟผ.สู่ตลาดหลักทรัพย์มีผลให้ฐานะ กฟผ.เป็นบริษัทจำกัด ไม่ใช่องค์กรรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ระเบียบบริหารงานบุคคล การจัดซื้อย่อมเป็นแบบธุรกิจไม่ใช่ราชาการอย่างทุกวันนี้

อาการมันสมองไหลออกจาก กฟผ.จะหยุดไปเนื่องจาก กฟผ.เป็นธุรกิจที่ดำเนินงานแบบเอกชนจึงไม่มีความจำเป็นต้องออกไปอยู่เอกชนด้วยกัน

นอกจากนี้การระดมทุนเพื่อทำโครงการลงทุนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นออกหุ้นเพิ่มทุน หรือกู้จากตลาดการเงิน ก็สามารถปลดเปลื้องภาระการค้ำประกันจากรัฐโดยปริยาย

และ สุดท้าย - กฟผ.ได้มาถึงจุด TURNING POINT ที่จะทดสอบดูว่าประสิทธิภาพในกรอบของการแข่งขันจากภาคเอกชนเป็นตัวเทียบเคียง ที่กฟผ.ไม่เคยประสบมาก่อนในการวัดแบบนี้ จะเป็นจริงหรือไม่เพราะเท่าที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปี กฟผ.ผูกขาดผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ามาตลอด กำไรจากธุรกิจแบบนี้จึงไม่ใช่ตัววัดประสิทธิภาพที่แท้จริง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ กฟผ.ได้มาถึงยุคการพิสูจน์ประสิทธิภาพของตัวเองจริง ๆ แล้ว

4 เรื่องใหญ่ที่คนใน กฟผ.ตั้งแต่กรรมการลงมาถึงระดับล่างจะต้องประสบนับจากเวลา

นี้ไป น่าจะดำเนินไปภายใต้บรรยากาศการแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองภายนอกมากขึ้น

เกษม จาติกวณิช ได้จบประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของตัวเองไปแล้วใน กฟผ.หลังจากเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานให้กฟผ.มาอย่างมั่นคง เป็นเวลา 30 ปี

แน่นอน…ลึกลงไปแล้วเขาย่อมอาลัยในการจากมาองค์กรนี้อย่างไม่มีเหตุผลชอบธรรมเท่าไรนัก แม้จะรู้ว่าการเมืองได้เข้าเล่นงานเขาอีกเป็นครั้งที่ 3 นับจากกรณีแบงก์สยามและปุ๋ยแห่งชาติ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.