ฉากแล้วฉากเล่า…ภาพแล้วภาพเล่า…ที่สถาบันการเงินต่างชาติเดินทางเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุนในประเทศไทยนั้นต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า
สิ่งดึงดูดใจที่สำคัญสำหรับพวกเขาไม่ใช่อะไรอื่นไกลนอกไปจากการขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มายฮาร์ด คาร์สเตนเซ่นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเดรสด์เนอร์ แบงก์ เอจี กล่าวประโยคสำคัญหนึ่งไว้ในโอกาสเดินทางเข้ามาเปิดสำนักงานตัวแทนธนาคารเดรส์เนอร์ในไทยว่า
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 81% ในช่วงครึ่งแรกของปี
2532 นี้เท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้กับตลาดหลักทรัพย์ในเยอรมนีตะวันตกที่มีอัตราการเติบโตเพียง
10% ในช่วงเดียวกัน
และนี่มิพักต้องพูดถึงดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯที่พุ่งพรวด ขึ้นมาเป็น
606.21 เมื่อสิ้นครึ่งปีแรกหรือเพิ่มขึ้น 214.98 จากเมื่อต้นปีที่ยังอยู่ที่ระดับ
391.23 มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 992.08 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของเมื่อปี
2531 ที่มีเฉลี่ยวันละ772.85 ล้านบาท
หากจะดูการซื้อขายหลักทรัพย์ของชาวต่างชาติในรอบครึ่งปีแรกนี้ ปรากฏว่มีมูลค่าการซื้อขายรวม
32,600 ล้านบาทหรือคิดเป็น 13.35% ของมุลค่าการซื้อขายทั้งหมด เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีมูลค่า
21,556 ล้านบาทหรือคิดเป็น 11.32%
อัตราการเติบโตและการทำกำไรอย่างยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ของตลาดหลักทรัพย์ไทยเช่นนี้จึงเป็นที่ยั่วยวนใจนักลงทุนชาวต่างชาติยิ่งนัก
ดังนั้น การเข้ามาเปิดสำนักงานตัวแทนในไทยของธนาคารเดรสด์เนอร์ อันเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากดอยท์ช
แบงก์ เอจี ของเยอรมนีตะวันตกจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด แม้ว่าก้าวของเดรส์เนอร์จะล้าหลังกว่าดอยท์ช
แบงก์ที่มีสำนักงานสาขาในไทยไปแล้ว หรือกระทั่งช่วงจังหวะเวลาที่กระทรวงการคลังกำลังเลือกสรรให้ใบอนุญาตเปิดสำนักงานสาขาแก่ธนาคารต่างชาติเพิ่มจากที่มีอยู่
แต่ธนาคารเดรสด์เนอร์กลับไปเปิดเป็นสำนักงานตัวแทนก่อนก็ตาม
ทั้งนี้และทั้งนั้นก็มีเหตุผลเบื้องหลังที่ว่ายเพียงนิดเดียวคือธนาคารเดรสด์เนอร์ประสงค์จะทำธุรกิจด้านหลักทรัพย์นำกองทุนเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย
โดยมอบหมายให้บริษัทธอร์นตัน (THORNTON MANAGEMENT (ASIA) LTD.) เป็นผู้จัดการกองทุน
บริษัทจัดการกองทุนแห่งนี้ไม่ใช่ผู้แปลกหน้าที่ไหนเพราะมีเดรสด์เนอร์ แบงก์
เอจี ถือหุ้นใหญ่อยู่ถึง 74% บริษัทแห่งนี้ทำหน้าที่จัดการกองทุนต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ
1,000 ล้านปอนด์ในตลาดหลักทรัพย์แถบเอเชีย-แปซิฟิก
ธอร์นตัน กรุ๊ปก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2527 มีสำนักงานปฏิบัติการสำคัญ
4 แห่งคือ ฮ่องกง ลอนดอน โตเกียว และซิดนีย์ มีชื่อเสียงในทางเป็นผุ้เชี่ยวชาญที่สำคัญรายหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์เอเชียและเป็นบริษัทจัดการกองทุนบำนาญและกองทุนรวมที่สำคัญรายหนึ่งในอังกฤษด้วย
ธุรกิจการเงินกลุ่มนี้มีปรัชญาความเชื่อว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะมีอัตราการเติบโตเข้มแข็งมากว่าสหรัฐฯ
เงินเยนจะมีค่าแข็งกว่า เงินดอลลาร์สหรัฐ และจะเข้าแทนที่เงินดอลลาร์ในฐานะเป็นเงินสกุลมาตรฐานของโลก
ซึ่งผลกระทบของมันจะช่วยทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเคลื่อนย้ายการลงทุนทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมายังเอเชีย-แปซิฟิกจะทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทที่โดดเด่นทางเศรษฐกิจมากขึ้นและมีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของตนเองด้วย
ธอร์นตัน กรุ๊ปจะนำกองทุนและหน่วยลงทุนรวม 3 รายเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้แก่
THORNTON TIGER FUND โดยลงทุนประมาณ 6.7% ของวงเงินที่ดูแลอยู่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนหน่วยลงทุน THORNTON ASIAN EMERGING MARKETS INVESTMENT TRUST (TAEMIT)
ซึ่งมีวงเงินมูลค่าประมาณ 200-300 ล้านมาร์คและลงทุนอยู่ในตลาดอังกฤษและเยอรมนีนั้น
ก็จะนำเงินกลับมาลงทุนตลาดหลักทรัพย์ไทยประมาณ 15% หรือคิดเป็น 45 ล้านมาร์ค
ตัวเลขวงเงินเหล่านี้แลดูน่าตกใจ เพราะหากคำนวณกันจริง ๆ แล้วก็คิดเป็นเงินไทยกว่า
800 ล้านบาท ไล่ ๆ กับมูลค่าการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันของตลาดหลักทรัพย์ไทย
ปัญหาก็คือหากธนาคารเดรสด์เนอร์และธอร์นตัน กรุ๊ป นำเงินทุนและหน่วยลงทุนเหล่านี้เข้ามาจริง
ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความสามารถที่จะรองรับเงินทุนเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด
เกอฮาร์ด ไบเออร์ ผู้อำนวยการแผนกลงทุนและค้าหลักทรัพย์ประจำสำนักงานใหญ่เดรสด์เนอร์
แบงก์ เอจี กล่าวปรารภถึงการขาดแคลนสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับที่นักลงทุนชาวต่างชาติหลายคนเคยวิเคราะห์ไว้
นอกจากนี้เขายังวิจารณ์ระเบียบข้อจำกัดที่ห้ามนักลงทุนชาวต่างชาติซื้อหุ้นสถาบันการเงินเกินกว่า
25% และหุ้นบริษัทอุตสาหกรรมเกินกว่า 49% ว่าเป็นอุปสรรคในการลงทุนของชาวต่างชาติ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีอุปสรรคในตลาดหลักทรัพย์ฯแต่คนเหล่านี้ก็หวังว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขคลี่คลายไปในที่สุด
ดรงคริสตอฟ ฟอน เดอร์ เด็คเค่น หนึ่งในกรรมการบริหารของเดรสด์เนอร์ แบงก์
เอจีและเป็นประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทเดรสด์เนอร์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
จำกัด ในสิงคโปร์กล่าวว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทย
ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการเปิดสำนักงานตัวแทนของธนาคารขึ้นในไทย
ดร.ฟอน เดอร์ เด็คเค่นอธิบายถึงบทบาทของสำนักงานตัวแทนว่าจะทำหน้าที่ 3
ด้านด้วยกันคือ ส่งเสริมการค้าแบบทวิภาคีระหว่างไทย-เยอรมนีและระหว่างไทย-เยอรมนีและระหว่างไทยกับประเทศอื่น
ๆ ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่โครงการสำคัญต่าง ๆ และทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน
ซึ่งปรากฏว่าภายในปี 2532 นี้ จะมีนักลงทุนเยอรมนีเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทยรวม
7 ราย
บทบาทของสำนักงานตัวแทนธนาคารเดรสด์เนอร์ทำได้เพียงการจัดหาข้อมูลและให้คำปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนเท่านั้น
ไม่สามารถทำหน้าที่รับฝากเงินและการนำเงินเข้า-ออกต่าปงระเทศได้ดังนั้นที่มาแห่งรายได้ของสำนักงานตัวแทนนี้จึงมีเพียงค่าธรรมเนียมเล็ก
ๆ น้อย ๆ จากการจัดหาข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนอุตสาหกรรม
ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ย่อมไม่ใช่สิ่งหมายปองของธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเยอรมนีตะวันตกเป็นแน่
และถึงจะไม่เปิดสำนักงานตัวแทนขึ้นในไทยเดรสด์เนอร์ แบงก์ เอจีก็มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจการเงินกับไทยได้
โดยในปี 2521 บริษัทเครือข่าย เดรสด์เนอร์ แบงก์เอจีเป็นผู้แนะนำกระทรวงการคลังไทยเข้าสู่ตลาดพันธบัตร
DM-EUROBOND ทำการออกพันธบัตรเงินมาร์คในตลาดเงินเยอรมันเพื่อระดมเงินทุนจากต่างประเทศและในปี
2531 ก็เป็นหนึ่งในบริษัทผู้จัดการกองทุนเพื่อการออกพันธบัตร EUROBOND มูลค่า
200 ล้านมาร์ค จนต่อ ๆ มาเขยิบขึ้นมาทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนเพื่อการออกพันธบัตรให้รัฐบาลไทยอีกหลายครั้ง
ว่าไปแล้วเดรสด์เนอร์แบงก์ เอจี จึงไม่ใช่แขกแปลกหน้าของกระทรวงการคลังแต่อย่างใด
แต่สิ่งที่แปลกคือเดรสด์เนอร์สามารถช่วงชิงความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แนบแน่นนี้ไว้ได้
ทั้งที่ไม่มีสำนักงานตัวแทนอยู่ในไทยก่อนหน้านี้
ดังนั้นการมีหรือไม่มีสำนักงานอยู่ในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญมากมายอะไรสำหรับเดรสด์เนอร์
แต่สำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นคงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเข้ามาดูแลกองทุนทั้งหลายอย่างใกล้ชิด
ซึ่งความหมายก็คือ ธอร์นตัน กรุ๊ป ก็จะต้องออนุญาตแบงก์ชาติเปิดสำนักงานวิจัยในกรุงเทพฯ
เคียงคู่กับสำนักงานตัวแทนธนาคารอย่างแน่นอน
นี่เป็นสัญญาณที่บอกกันชัด ๆ ถึงความตั้งใจมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยของธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเยอรมนีตะวันตก
ซึ่งป่านฉะนี้ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการบริหารตลาดฯคงจะได้รับทราบเป็นอย่างดีจากการได้รับเชิญไปดูงานด้านธนาคารและระบบตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมันแล้ว
ก็หวังว่าความตระหนักในการเปิดตัวของธนาคารเดรสด์เนอร์ ในวงการธุรกิจการเงินไทยจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยตระหนักถึงปัญหาที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และพยายามหาทางแก้ไขต่อไป