ทีดีแซดและเค.เค.ย้ง กับเสือตัวที่ห้าที่ต้องออกนอกถ้ำ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

หากใครมาชวนคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของกิจการอุตสหากรรมขนาดเล็กและขนาดกลางออกไปลงทุนตั้งโรงงานที่เมืองนอก คงเป็นเรื่องน่าแปลกไม่น้อย เพราะมันค่อนข้างสวนทางกับความรู้สึกของคนไทยที่อยากให้ชาวต่างประเทศมาลงทุนในเมืองไทนเอามาก ๆ แต่เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ

นโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐนอร์ทเทิน แทรี่โทรี่ของออสเตรเลียเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว ผู้บริหารของรัฐกำหนดให้เมืองดาร์วินเป็นเขตพัฒนาการค้า (TRADE DEVELOPMENT ZONE) หรือทีดีแซดเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว

นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเมืองดาร์วินนี้คล้างคลึงกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย นโยบายนี้มีสาเหตุมาจากความต้องการพัฒนารัฐนอร์ทเทิน แทรี่โทรี่ให้ทัดเทียมกับรัฐในเขตทางใต้ของออสเตรเลียซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น แต่รัฐนอร์ทเทิน แทรี่โทรี่เป็นรัฐทางเหนือในเขตมรสุมเมืองร้อนมีประชากรเบาบาง เช่น เมืองดาร์วินซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมีพลเมืองเพียง 70,000 คน การพัฒนาของรัฐนี้จึงเป็นไปได้ช้ากว่ารัฐทางใต้ และเนื่องจากเขตที่ตั้งใกล้ชิดกับประเทศในเอเชียมากกว่า ผู้บริหารของรัฐนอร์ทเทิน แทรี่โทรี่จึงมุ่งหวังพลเมืองในเอเชียที่มีศักยภาพเพียงพอเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพื่อการพัฒนา

ออสเตรีเลียมีครบเกือบทุกอย่าง แต่เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเป็นของตนเองนั้นยังสู้กับประเทศยุโรปหรืออเมริกาไม่ได้เทคโนโลยีของเขาก็พอ ๆ กับเมืองไทยนั่นแหละ

นอกเหนือไปจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่คล้ายคลึงกับของไทยแล้ว เขตพัฒนาการค้าในเมืองดาร์วินยังมีสิทธิพิเศษหลายประการที่ฟังดูแล้ว เหมือนกับว่าทางออสเตรเลียแทยขะ "อุ้ม" คนไทยและเอเชียเข้าไปลงทุนที่นั่นเองทีเดียว เช่น ช่วยเหลือในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและกำหนดแผนงานปฏิบัติ มีที่ดินและโรงงานแบบเบ็ดเสร็จให้เช่าหรือขายหรือถ้าเช่า 5 ปีแรกแล้วจะซื้อทางดาร์วินก็จะคืนค่าเช่าในช่วง 5 ปีแรกให้

ขนาดของโรงงานก็มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ แต่ขนาด 300 ตารางเมตร ในราคาค่าเช่า 1 ตารางเมตรต่อ 600 บาท หรือถ้าเอาแค่ที่ดินและสร้างโรงงานเอง ทางดาร์วินจะช่วยค่าก่อสร้าง 10% หรือแม้แต่พื้นที่ขนาด 4x8 เมตรเพื่อทำกิจกาเจียระไนพลอยก็ยังมี

อีกทั้งยังไม่เก็บภาษีวัตถุดิบไม่มีภาษีซ้ำซ้อน เช่น ภาษีการค้า ภาษีอากรแสตมป์ มีแต่ภาษีจากกำไรสุทธิ ซึ่งสามารถนำต้นทุนจากบริษัทแม่ไปหักได้ด้วย นอกจากนั้นยังหาแหล่งเงินกู้ให้และยังช่วยค่าดอกเบี้ยให้ 3% ในช่วง 2 ปีแรก และสามารถนำเงินกลับประเทศแม่ได้ 100%

"เราต้องการนักลงทุนระดับเล็กมาก ๆ เพื่อการขยายไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่" เรย์แมคเฮนรี่ ประธานเขตพัฒนาการค้ากล่าว

เรย์ต้องเดินทางเทียวไปเทียวมาระหว่างออสเตรเลียกับประเทศในเอเชีย เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนจากเอเชียสนใจเมืองดาร์วิน แต่โดยลำพังคนออสเตรเลียจากเมืองดาร์วินเองจะมาลุยหานักลงทุนโดยตนเองั้นย่อมเป็นปัญหาในการแสวงหากลุ่มเป้าหมายพอสมควร ดังนั้นทีดีแซดจึงต้องอาศัยบริษัทที่ปรึกษาอย่างเค.เค.ย้ง เพื่อช่วยในการประสานงานนักลงทุนในเอเชีย

เค.เค.ย้ง เป็นนักธุรกิจฮ่องกงและเป็นเจ้าของ K K YEUNG MANAGEMENT CONSULTANTS LTD. ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารที่ให่ญที่สุดในฮ่องกง การให้คำปรึกษาของเขาครอบคลุมกว้างขวางตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การแสวงหาแหล่งเงินทุน การวางแผนขยายกิจการวางแผนร่วมทุนหรือควบกิจการบริษัทอื่น และการขยายธุรกิจในระดับนานาชาติ

เขาก่อตั้งบริษัทในปี 2526 แต่สามารถขยายสาขาออกไปได้อย่างรวดเร็วมาก นอกจากจะมีสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกงแล้วบริษัทของเขายังมีสาขาในสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ปักกิ่ง และกำลังจะมาตั้งสาขาในไทย

สาเหตุที่เขาสามารถ ขยายตัวได้รวดเร็วมากในช่วง 6 ปีนั้น นอกจากความเอื้ออำนวยของฮ่องกง ในสถานะศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งหนึ่งของโลกแล้ว ยังเป็นเพาะสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ประการแรกเป็นเพราะ การที่จีนแผ่นดินใหญ่เปิดประกาศ นักลงทุนจากอเมริกา ยุโรปและเอเชียต่างแห่กันเขข้าไปลงทุนในจีน ซึ่งล้วนต้องผ่านฮ่องกงเป็นด่านแรกนั่นเป็นโอกาสของเขาที่จะเข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการต่าง ๆ ของนักลงทุนเหล่านั้น ในฐานะเป็นบริษัทที่ปรึกษาท้องถิ่นที่มีความชำนาญในพื้นที่แถบนั้นเป็นอย่างดี และอีกประการหนึ่ง นักลงทุนชาวฮ่องกงกำลังจะหันเหออกมาลงทุนในต่างประเทศ เพราะความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของเกาะฮ่องกงหลังปี 2540 ซึ่งอังกฤษจะต้องคืนฮ่องกงแก่จีน ดังนั้นบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นชาวฮ่องกง เช่น เค.เค.ย้ง ย่อมได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวฮ่องกงด้วยกันเองในการให้คำปรึกษาทิศทางการลงทุนในอนาคตของชาวฮ่องกงเหล่านั้น ดังนั้นธุรกิจของ เค.เค.ย้ง จึงขยายตัวมีสาขาในต่างประเทศเพื่อรองรับทิศทางดังกล่าว

ด้วยความสัมพันธ์กับชาวฮ่องกงและชาวเอเชียเช่นนี้เองที่ทำให้ เค.เค.ย้ง เข้ามาเกี่ยวข้องกับทีดีแซดในฐานะตัวแทนประจำประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เพื่อแสวงหานักลงทุนไปลงทุนในดาร์วิน

ในประเทศไทย เค.เค.ย้งไม่ได้มาคนเดียว เค.เค.ย้งอาศัยบริษัทเหรียญทองคู่ จำกัดของเปรม ผาณิตพจมาน เป็นข้อต่อเชื่อมเข้าสู่วงธุรกิจแบบไทย ๆ

บริษัทเหรียญทองคู่เป็นบริษัทเก่าแก่กว่า 30 ปี ผลิตเสื้อยืดรองเท้าตราเหรียญทองคู่ ขายในประเทศ ในช่วง 5-6 ปีหลังพจนีย์ ผาณิตพจมาน ลูกสาวคนโตของตระกูลเริ่มขยายกิจการค้าไปสู่ธุรกิจนำเข้าส่งออกและบริษัทรับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศ ซึ่งด้วยธุรกิจประการหลังนี้เอง ประกอบกับความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ทำให้บริษัทเหรียญทองคู่ โยพจนีย์และ เค.เค.ย้งตัดสินที่จะทำธุรกิจร่วมกัน

เค.เค.ย้งเป็นนักธุรกิจฮ่องกงที่มีสายตายาวไกลทางด้านการลงทุนระดับนานาชาติ เมื่อมาร่วมกับพจนีย์แห่งบริษัทเหรียญทองคู่ซึ่งมีความสัมพันธ์อันเก่าแก่กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเชื้อสายจีนในไทย จึงเป็นคู่หูที่น่าสนใจและเหมาะสมสำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบทีดีแซดไม่น้อยทีเดียว

ผลงานของคู่หูคู่นี้ในช่วงเวลาสั้น ๆ 1-2 ปีที่ผ่านมาคือ การเชื้อเชิญผู้ประกอบการการค้าด้านอุตสาหกรรมร่วมสัมมนากับทีดีแซด จัดกรุ๊ปเพื่อไปทัศนศึกษา ณ เมืองดาร์วิน ซึ่งจัดมาได้ 5-6 กลุ่มแล้ว และล่าสุดผลจากการชักชวนของพจนีย์และเค.เค.ย้ง ดาร์วินกำลังจะมีโรงงานอุตสาหกรรมพลาสติกจากไทยเข้าไปตั้งในไม่ช้านี้

"มันอาจจะสวนกับความรู้สึกของคไทยที่อยากจะให้ต่างชาติมาลงทุนในไทยมาก ๆ แต่คุณต้องพิจารณาในแง่ว่า ถ้าคุณอยากจะให้ประเทศของคุณเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย คุณต้องออกลงทุนต่างประเทศ ซึ่งคุณจะสามารถหาตลาดของคุณได้เอง คุณคิดดู เวลาต่างประเทศเขามาลงทุนในไทย เขามีแต่เงินลงทุนมาให้ แต่เขายังยึดกุมตลาดไว้อยู่ในมือของเขา ซึ่งนั่นจะเป็นข้อเสียเปรียบอย่างมากสำหรับคุณที่จะต้องพัฒนาประเทศไปแบบพึ่งคนอื่นอยู่ตลอดเวลา หากคุณสามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ คุณก็สามารถพัฒนาสินค้าของคุณเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง" เค.เค.ย้ง อธิบายถึงแนวคิดของเขา

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือโรงงานพลาสติกที่เข้าไปตั้งในดาร์วินนั่นเอง เพราะนอกจากจะเอาโรงงานไปตั้งแล้ว ตลาดใหญ่ที่สุดของโรงงานแห่งนี้คือออสเตรเลียนั่นเอง

ทั้งนี้ผู้ประกอบการคนไทยที่อยากออกไปตั้งโรงงานที่ดาร์วินก็คงต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสิทธิพิเศษที่พึงได้ระหว่างไทยกับดาร์วิน ทั้งเรื่องราคาที่ดิน ภาษี ค่าครองชีพ และค่าแรงงานเป็นต้น ก่อนที่จะไปตั้งรกรากอย่างเป็นจริงเป็นจัง

หากเขตพัฒนาการค้า ณ เมืองดาร์วิน ประสบความสำเร็จ มีนักลงทุนทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวันและไทยไปลงทุนกันมาก ๆ บางทีรัฐบาลไทยโดยเฉพาะบีโอไออาจจะต้องมานั่งวาดแผนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของคนไทย เช่นไทยได้ออกไปกระโดดในเวทีนานาชาติอย่างมีทิศมีทางบ้างก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.