สารธารใหม่แห่งธาราสยาม


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ย่ำค่ำของคืนวันที่ 6 มิถุนายน ที่ห้องพิมานแมนโรงแรมรีเจนท์ บริษัทธาราสยามเลี้ยงเปิดตัวบริษัทใหม่ในเครือพร้อมกันทีเดียวสองบริษัทคือธาราวิดเนลล์ และธาราเคเอฟพีซี

ธาราสยามเป็นบริษัทที่ปรึกษาให้คำแนะนำทางด้านการวางกลยุทธ์การตลาด การเงิน การบริหาร ตลอดจนข้อมูลเฉพาะที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งมีจอห์น จอห์นวสโตน เป็นกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการบริหาร (อ่านเรื่องราวของธาราสยาม ผจก. ฉบับที่ 63)

บริษัทใหม่ทั้งสองเป็นบริษัทร่วมทุน ธาราวิดเนลล์ร่วมทุนกับกลุ่มวิดเนลล์จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีบริษัทลูกทั่วโลกกว่า 60 แห่งส่วนธาราเคเอฟบี ร่วมทุนกับกลุ่มเคเอฟพีซี ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสวีเดนเป็นกลุ่มที่มีบริษัทในเครือเป็นบริษัทที่ปรึกษาอยู่หลายบริษัทมีพนักงานกว่า 6 หมื่นคน ทั้งสองแห่งธาราสยามถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์

ธาราวิดเนลล์ มีความเชี่ยวชาญด้าน COST CONSULTANT ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง บริษัทจะช่วยวางแผนทางด้านงบประมาณสำหรับโครงการใหญ่ ๆ รวมทั้งวางแผนด้านต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้เป็นไปตามงบประมาณ

ในกรณีที่มีปัญหาว่าต้นทุนการก่อสร้างเกิดกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามากสำหรับเจ้าของโครงการในปัจจุบัน BRIAN B. WALKER FRICS ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของธาราวิดเนลล์กล่าวว่า "เราจะเข้าไปดูว่ามีอะไรแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้บ้าง เช่นอาจจะเปลี่ยนแปลงแบบเพื่อให้สามารถใช้วัสดุชนิดอื่นได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลดมาตรฐานของอาคารหรือโครงการนั้น เข้าไปร่วมกับผู้ออกแบบเพื่อดูว่าการออกแบบนั้นเกินงบประมาณหรือเปล่า เช่นค่าก่อสร้างกำแพงควรจะตก 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด ถ้าเกินก็ต้องคุยกับผู้ออกแบบว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ไหมนี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง"

สำหรับธาราเคเอฟพีซีก็มองเห็นช่องว่างจากการที่บริษัทและองค์กรธุรกิจหลาย ๆ แห่งมีการเติบโตในอัตราเร็วที่สูงมาก และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวไปอีกมากในอนาคต แต่ก็มีปัญหสำคัญในการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีฝีมือและการจัดการที่มีประสิทธิภาพที่จะตอบสนองการเติบโตได้ทัน

สิ่งที่ธาราเคเอฟพีซีคิดว่าจะสามารถช่วยได้อย่างน้อนสองด้านคือการวางผนช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่ง มีประสิทธิภาพที่สุดและมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด ด้วยปรัชญาการบริหารที่เรียกกว่า "LOGISTIC MANANGEMENT" ซึ่ง TERRY A ADAMS SERVICE CONSULTANT แห่งธาราเคเอฟพีซีได้อรรถาธิบายความหมายของปรัชญานี้ว่า

"เป็นการรวบรวมหน่วยงานที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในองค์กรมาไว้ด้วยกันตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่ง แผนกคอมพิวเตอร์อาจจะอยู่ทั้งในแผนกสินค้าคงคลังหรือแผนกขาย แผนกสินค้าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงงาน หรือส่วนหนึ่งของฝ่ายการตลาดก็ได้ เราจะรวบรวมพวกนี้มาอยู่ด้วยกันให้เป็นสายงานที่เป็นอันเดียวกัน แล้วบริหารสายงานนี้เพียงจุดเดียวคือการดึงหน่วยงานพวกนี้มาทำงานร่วมกัน ให้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อเพิ่มคุณภาพด้านบริหารและลดต้นทุน"

ด้านที่สองการช่วยบริษัทที่มีปัญหาด้วยการวาแผนระยะสั้นระยะปานกลาง เช่น บริษัที่มีสต็อกอยู่ในคลังสินค้ามากจะต้องมีการจัดโครงการสร้างใหม่ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น หรือบริษัทมีรถบรรทุกมากก็อาจจะช่วยในแง่การคิดคำนวณต้นทุน การจัดระบบบริหารการใช้รถเหล่านี้เพื่อให้มีต้นทุนต่ำที่สุด

กิจการที่เคเอฟพีซีให้บริการปรึกษานั้นอยู่ใน 4 แขนงใหญ่ ๆ คือ

หนึ่ง - กิจการด้านค้าปลีกเพื่อช่วยเหลือคนที่ทำกิจการค้าปลีกเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และคนที่ต้องการจะเข้ามาในธุรกิจค้าปลีกนี้ ให้คำแนะนำเช่นควรจะตั้งร้านที่ไหน จะขายสินค้าอะไรบ้าง จะใช้พื้นที่โชว์รูมเท่าไหร่ สำหรับโกดังเท่าไรจะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการขาย ณ จุดขาย จะใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ช่วยหรือไม่หรือจะใช้คอมพิวเตอร์

สอง - การจัดจำหน่ายสินค้า สำหรับบริษัทที่ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงมาก คนที่อยู่ในธุรกิจนี้ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้บริษัทข้ามชาติที่ขายน้ำมันเครื่องเป็นลูกค้าของบริษัทนี้อยู่ นอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงหน่วยราชการต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น

สาม - ด้านอุตสาหกรรมการเกษตร กลุ่มเคเอฟพีซีเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมแปรรูปการบรรจุภัณฑ์ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารด้วย เช่นอุตสาหกรรมแปรรูปผักาและผลไม้สำหรับการส่งออก "เราจะช่วยในการขายตลาดต่างประเทศด้วยโดยผ่านเครือข่ายของเคเอฟพีซี เกษตรกรไทยปลูกข้าวและมันสำปะหลังกันมาก รัฐบาลกำลังชักจูงให้หันไปปลูกผักและผลไม้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลติผลที่มีอนาคตมากแต่ปัญหาคือโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม เช่นยังไม่มีตลาดต่างประเทศเพียงพอ ยังขาดแคลนโรงงานแปรรูปและบรรจุอาหารที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งผลิตซึ่งเราสามารถช่วยได้" อดัมส์ กล่าว

สี่ - เทคโนโลยีเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูล เพื่อสนับสนุนกิจการสำหรับสามประเภทข้างต้นที่ธาราเคเอฟพีซีจะนำเข้ามาคือคอมพิวเตอร์มือถือ ซึ่งมีความสามารถเท่ากับพีซีซึ่งเขาเน้นขายโนว์ฮาวมิใช่เครื่องหรือฮาร์ดแวร์

ธุรกิจการให้การปรึกษาแบบทั้งสองบริษัทนี้แทบจะยังไม่มีใครทำมาก่อนโดยเฉพาะบริษัทธาราเคเอฟพีซีนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ คำถามคือความเป็นไปได้ของธุรกิจในเมืองมีมากน้อยแค่ไหน เจ้าของกิจการบางคนตั้งข้อสังเกตผ่านผู้จัดการว่าบริษัทที่ปรึกษจะรู้ปัญหาดีกว่าผู้ประกอบการในธุรกิจนั้น ๆ จริงหรือ

ประเด็นนี้อดัมส์ ชี้แจงว่า "เรามีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับที่เขาทำอยู่ มิได้มีแต่ความรู้ทางด้านทฤษฎี เรารู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ธุรกิจของคุณกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนคนของคุณไม่มีเวลามานั่งคิดเรื่องพวกนี้ อย่างที่สองคือคุณอยู่ในธุรกิจนี้ คุณย่อมไม่สนใจหรือไม่มีเวลาที่จะมองไปรอบ ๆ ตัวให้ไกลไปกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ และดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศผู้เชี่ยวชาญอย่างเราช่วยเหลือคุณได้ เรามีสต๊าฟทั้งจากเคเอฟพีซีและคนไทย และเราได้ข้อมูลสนับสนุนจากบริษัทธาราสยามด้วย"

ธุรกิจที่ปรึกษาเฉพาะด้านอย่างธาราวิดเนลล์และธาราเคเอฟพีซีนั้นใหม่มาก ๆ สำหรับเมืองไทย เป็นแนวโน้มของสังคมสมัยใหม่ที่เน้นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ธุรกิจเหล่านี้จะไปได้ไกลเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถของเขาในการก่ออรรถประโยชน์แก่ลูกค้าถ้าทำได้ดีธุรกิจก็ไปได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.