โรงแรมแห่งแรกของชนัตถ์ ปิยะอุย ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังไม่มีการบูมของธุรกิจการโรงแรม
การท่องเที่ยว เนืองจากกรุงเทพฯ ยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางที่เป็นประตูสู่เส้นทางการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้
ความต้องการของห้องพักมากเหมือนวันนี้ จึงไม่มี
โรงแรมแห่งนั้นมีอายุยืนยาวเกือบ 20 ปี แล้วชนัตถ์ก็ตัดสินใจขายไป
วันเปิดโรงแรม 6 พฤษภาคม 2492 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาเสด็จมาเป็นประธานเปิดงาน
เปิดโรงแรมซึ่งชนัตถ์ให้ชื่อว่า "THE PRINCESS HOTEL" ถือว่าเป็นความหลังที่น่าประทับใจที่สุดอย่างหนึ่งของเขา
ถึงมันจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักแต่มันก็เหมือนรักครั้งแรกที่ฝังใจเขาอยู่
ไม่มีใครคาดคิด แม้แต่ตัวชนัตถ์เองว่า….อีก 40 ปีต่อมาในวันเดียวกันนั้น
6 พฤษภาคม 2532 THE PRINCESS HOTEL จะถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ขายไปเมื่อ
20 ปีที่แล้ว
THE PRINCESS HOTEL ครั้งนั้นตั้งอยู่ที่เจริญกรุง 20 ปีให้หลังมันก็ถูกขาย
พร้อมกับเหตุผลที่ว่าชนันถ์ต้องการจะเปิดโรงแรมใหมให้ใหญ่โตโอ่โถงมากที่สุดในยุคนั้นดุสิตธานี
นำความสำเร็จ ความสมหวังมาให้อย่างที่เขาตั้งใจจนทุกวันนี้โรงแรมที่เขาลงทุนเองมีถึง
11 แห่ง นับเป็นเวลาอีก 20 ปี ชนัตถ์จึงเปิด THE PRINCESS HOTEL ขึ้นใหม่อีกครั้ง
THE PRINCESS HOTEL แห่งใหม่นี้เดิมทีเป็นโรงแรมราชศุภมิตร ของอาจิณ ทั้งสินเจ้าของเดียวกันกับโรงแรมแม่น้ำได้ทำการขายให้กับชนัตถ์
ด้วยต้องไปบริหารโรงแรมแม่น้ำอย่างจริงจัง ผนวกกับไม่สามารถต่อสัญญาเช่าที่ดินตรงนั้นจากตระกูลบูรานานนท์ได้
กลุ่มดุสิตธานีของชนัตถ์จึงซื้อเอาไว้พร้อมที่ดินตรงนั้นเมื่อ 2 ปีก่อน ทั้งหมดเป็นราคาประมาณ
88 ล้านบาท
วรพงศ์ วรรณกร นั่งในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของ THE PRINCESS HOTEL เขาถูกทาบทามให้เข้ามาบริหารกลุ่ม
THE PRINCESS ในฐานะเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการโรงแรมมาแสนนาน และที่สำคัญเขาเคยร่วมงานกับชนัตถ์มาแล้วครั้งหนึ่ง
ในสมัยแรก ๆ ของดุสิตธานี เคยเห็นฝีมือกันอยู่จึงเกิดความมั่นใจ เขาเล่าให้ฟังว่า
"ก่อนนั้นเคยทำงานให้คุณชนัตถ์ เดี๋ยวนี้มาทำงานให้คุณชนินทร์ ซึ่งเป็นลูกชายชนัตถ์เป็นคนมาทาบทามผม….ผมมันชอบอะไรท้าทายนะ
ก็รับปาก"
แนวคิดของโรงแรม เดิมทีนั้นคือโรงเรียน-โรงแรม เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการโรงแรมและออกมาฝึกการปฏิบัติที่โรงแรม
วรพงศ์กล่าวว่าเขาได้ให้ความเห็นต่อกลุ่มผู้บริหารว่ามันไม่เหมาะ ถ้าจะให้โรงแรมเป็นที่ฝึกภาคปฏิบัติของนักเรียนในโรงเรียน
"คือเมื่อเกิดการผิดพลาด เช่นการให้การบริการกับแขก มันจะทำให้เสียภาพพจน์ของโรงแรม"
เขาว่าตามประสบการณ์ที่เคยทำงานมาให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
และสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้แนวของโรงแรมต้องเปลี่ยนไป คือ การเปิดโรงเรียน-โรงแรม
ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ เมื่อมาดูสถานที่ปรากฎว่าพื้นที่เล็กเกินไปสำหรับที่จะทำให้โรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่ในส่วนหลังของโรงแรมนั้นมีอยู่เพียง
1.5 ไร่ แต่ความเหมาะสมอยู่ที่ 3-5 ไร่
โรงเรียน-โรงแรม ตามแนวคิดเดิมจึงไม่เกิดขึ้น แนวความคิดใหม่ของกลุ่มดุสิตธานี
คือโรงแรมที่มีบรรยากาศแบบสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่หรูหราวรพงศ์บอกกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ตอนแรก ๆ ก็ไม่ยอมรับนะ แต่มาบังเอิญที่จะทำเป็นโรงเรียน-โรงแรมแบบเก่านั้นก็ไม่ได้…ตอนหลังก็…โอ.เค."
THE PRINCESS HOTEL วันนี้พิสูจน์อะไรหลาย ๆ อย่างน้อยใครที่บอกว่า สถานที่ตั้งของโรงแรมไม่เหมาะสมก็คงจะพูดเช่นนั้นไม่ได้อีกเพราะสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว
5 นาทีก็ถึงราชดำเนินภูเขาทอง โลหะปราสาท วัดพระแก้ว ซึ่งอยู่ในแนวเขตชั้นในของกรุงรัตนโกสินทร์
มันสะดวกที่สุด
"แขกที่มาพัก ถัวเฉลี่ยอยู่กับเรา 3.5 วัน สูงกว่าโรงแรมในกทม.อื่นซึ่งถัวเฉลี่ยตก
2.5 วันเท่านั้น" เขากล่าวถึงผลสำเร็จของสถานที่ตั้งที่ใกล้แห่งท่องเที่ยว
แต่ที่จริงจุดขายของโรงแรมนั้นอยู่ที่ F&B หรือแผนกอาหารและเครื่องดื่มที่ทำกำไรสุทธิได้
30% ของยอดขาย แขกที่เดินเข้าออกตรงจุดนี้ ไม่ใช่ชาวต่างชาติ แต่เป็นคนไทยที่มีทั้งนักธุรกิจ
และข้าราชการ รวมไปถึงบุคคลสำคัญท่านอื่น ๆ
วรพงศ์เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า "ตอนกลางวันนะบางที่แขกเราไม่มีที่นั่ง…เจ้านายใหญ่
ๆ โต ๆ มานะที่นี่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มา มารับรองแขก" เขาใช้เงินเพื่อปรับปรุงโรงแรมทั้งโรงแรม
220 ล้านบาท ถ้าคิดรวมค่าซื้ออีก 88 ล้านบาท ตกเป็นเงินประมาณ 308 ล้านบาท
งบประมาณกับความสำเร็จที่แสนคุ้ม แต่วรพงศ์บอกว่ามันไม่ได้อยู่แค่นั้น
"ผมให้ความสำคัญกับคุณภาพของการบริการมากบริการต้องดี อาหารต้องดี
ผมว่าอย่างนี้…แล้วเดี๋ยวแขก็มากันเอง" เขาตอบคำถาม เมื่อถูกถามว่าบริการอย่างไรจึงทำได้อย่างทุกวันนี้
วรพงศ์ ไม่เคยเรียนวิชาการบริหารโรงแรมจากที่ไหน เขาหาเรียนจากประสบการณ์ชีวิตที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานค่อย
ๆ เรียนรูไปทำไป ตั้งแต่อายุราว 15-16 มีโอกาสไปอยู่ที่นิวยอร์ก เพราะพี่ชายทำงานอยู่ที่นั่น
เขาเล่าว่าได้มีโอกาสเห็นบรรยากาศในโรงแรมต่าง ๆ รู้สึกชอบบรรยากาศแบบนั้น
เป็นความประทับใจมา แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะทำงานโรงแรม "จริง ๆ แล้วเดี๋ยวนี้ผมก็ยังชอบที่จะเป็นนักธุรกิจ
นักลงทุนมากกว่า"
ก่อนหน้าที่เขาจะมารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของ THE PRINCESS HOTEL เขาเดินเข้าออกตลาดหุ้นอยู่ประมาณ
3 เดือน "ก่อนหน้านั้น ผมอยู่ที่สิงคโปร์มา 12 ปี" เขาได้มีโอกาสสร้างชื่อเก็บไว้ในเรคคอร์ดให้วงการโรงแรม
ภัตตาคาร ร้านอาหาร ในสิงคโปร์ให้เป็นที่รู้จัก ผลงานชิ้นโบแดงคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงแรมเมอร์รินที่สิงค์โปร์
จนประสบความสำเร็จขึ้นมา เขามีความชำนาญมากทางด้านภัตตาคาร ร้านอาหาร ดิสโก้บาร์
หรือแม้แต่สถานที่จัดเลี้ยงเพราะฉะนั้น F&B แผนกอาหารและเครื่องดื่มที่
THE PRINCESS HOTEL จึงเป็นจุดขายที่สำคัญเป็นที่รู้จักกันโดยปากต่อปาก
ความชำนาญผสมความโชคดี ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงการโรงแรม คือเจ้าของโรงแรมเกิดเป็นเจ้าของแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์
UNITED OVERSEA BANK เพราะฉะนั้นงานอื่น ๆ จึงตามเขามา จนชื่อเสียงโด่งดัง
ตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะกลับมาเมืองไทยคือผู้จัดการใหญ่โรงแรมมีชื่อแห่งของสิงคโปร์
"THE PLAZA HOTEL"
เรื่องของความชำนาญ เรามักจะยกไว้ให้สำหรับผู้ที่ผ่านประสบการณ์มามาก วรพงศ์เองก็เป็นคนหนึ่ง
ถึงแม้วาเขาจะบอกว่า "ผมทำอะไร ผมไม่ใช่อดีตเลย ผมจะดูจากคนทำงานของผม"
ไม่ว่าจะเป็นอะไร วรพงศ์ก็ยังคงยืนยันว่า เขาไม่ได้ใช้วิชาการบริหารอะไรทั้งสิ้น
จะมีก็แต่การเน้น การบริการ ความพิถีพิถันของอาหาร และบรรยากาศที่หรูหราเท่านั้นจริง
ๆ เจ้าหญิงนิทราของชนัตถ์จึงถูกปลุกให้ตื่นและคึกคักอยู่อย่างวันนี้