บาร์โค้ด ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ของสุทธิเกียรติ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าคุณได้มีโอกาสไปชอปปิ้งที่สิงคโปร์หรือฮ่องกงถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นรหัสตัวเลขปะติดกับสินค้าที่คุณซื้อมาอยู่แทบทุกชิ้น ซึ่งบางคนไม่ใช่เป็นคนช่างสังเกตก็ไม่สนใจว่ามันคืออะไร

แต่ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจหรือสนใจแวดวงธุรกิจ คุณจะรู้ทันทีว่ามันคืออะไรมีประโยชน์อย่างไร

ใช่มันหมายถึง "บาร์โค้ด" ที่บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ทั่วโลก ต่างต้องนำมันมาปะติดไว้ที่ภาชนะบรรจุภัณฑ์สินค้า

บาร์โค้ดเป็นระบบข้อมูลที่ถูกแปลเป็นรหัสแท่ง เพื่อที่จะสามารถให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถรับทราบข้อมูลได้ด้วยการอ่านผ่านทางเครื่องอ่านที่เราลากผ่านรหัสแท่ง ซึ่งเครื่องจะแปลจากรหัสแท่งเป็นตัวเลขเพื่อบันทึกเป็นข้อมูลทางธุรกจิอีกทีในหน่วยความจำ ซึ่งจะสามารถลดการอ่านที่และบันทึกข้อมูลที่ผิดพลาดของคนได้อีกทั้งเป็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมด้วย

แต่การที่นำระบบบาร์โค้ดมาใช้ในธุรกิจระดับที่เป็นระหว่างประเทศจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรที่จะทำหน้าที่ในการประสานงาน เพื่อที่จะสามารถทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยแต่ละประเทศจะมีตัวแทนขององค์กรในการหาสมาชิกที่เป็นบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ระบบบาร์โค้ด ซึ่งประเทศไทยเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกระบบบาร์โค้ดขององค์กรระหว่างประเทศที่เรียกว่าระบบ EAN เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนี่เอง

ระบบ EAN เป็นระบบที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาจากประเทศในยุโรป 12 ประเทศเมื่อปี 2522 เพื่อที่จะเป็นสื่อกลางในการค้าที่จะต้องอาศัยตัวเลขในการทำความเข้าใจสื่อสารกันผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว โดยบริษัทที่เป็นสมาชิกโดยผ่านทางบริษัทตัวแทนในแต่ละประเทศจะได้รับหมายเลขรหัสประจำตัวในการที่จะทำการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตัวเลขนี้จะเป็นสิ่งที่บอกถึงประเทศและบริษัทเจ้าของสินค้าที่ผลิต ซึ่งนับได้ว่าเป็นสินทรัพย์ทางการค้าที่สำคัญของบริษัทชิ้นหนึ่งทีเดียว

บริษัททีพีเอ็นเอ (TPNA) เป็นบริษัทที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกของ EAN เพื่อที่จะเป็นตัวแทนในประเทศไทยในการให้บริการทางด้านบาร์โค้ดระบบ EUROPEAN ARTICLE NUMBERING CODE ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายกว่าระบบอื่นเพราะมีสมาชิกรวม 45 ประเทศทั่วโลก

ความริเริ่มที่ทางทีพีเอ็นเอมีขึ้นนั้นอาจจะเนื่องมาจากหนึ่งในจำนวนผู้ก่อตั้งบริษัทนั้นมี สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารห้างเซ็นตทรัลที่เป็นกิจการห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และยังเป็นผู้ผลิตสินค้าอีกนับร้อยอย่างซึ่งย่อมเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญทางด้านการค้าที่ต้องอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้ความถูกต้องและรวดเร็วมากกว่าคนอื่น ประกอบกับการที่สุทธิเกียรติรู้จักกันดีกับ สมกิจ ไพรัชพิบูลย์ ในฐานะที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการตั้งห้างเซ็นทรัลสาขาสีลม สมกิจคนนี้มีประสบการณ์การทำงานมาทางด้านต่างประเทมาก่อน และได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ของ EAN ประจำมาเลเซีย ลู่ทางการเป็นตัวแทนระบบ EAN ในประเทศไทยจึงเกิดขึ้น โดยตั้ง บริษัททีพีเอ็นเอ ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะเป็นการร่วมลงทุนกันระหว่างสมกิจและสุทธิเกียรติ

การเข้าเป็นตัวแทนของทีพีเอ็นเอจำเป็นที่จะต้องเสียค่าสมาชิกแรกเข้าเป็นจำนวนเงิน 5 แสน 7 หมื่นฟรังก์เบลเยียมคิดเป็นเงินบาทก็ประมาณ 375,060 บาทและก็ต้องเสียค่าสมาชิกรายปีอีก 5 แสนฟรังก์หรือ 329,000 บาทเป็นอัราที่คิดจากบริษัทแม่ที่บรัสเซลส์โดยมีวิธีการคิดที่อิงตามรายได้ประชากร และจำนวนประชากรในประเทศไทย

หลังจากนั้นทางทีพีเอ็นเอก็ต้องมาทำหน้าที่ของตัวแทนของ EAN โดยพยายามหาสมาชิกเพื่อที่จะเสียค่าสมาชิกให้กับทางทีพีเอ็นเอในอัตราต่าง ๆ คิดตามยอดขายของบริษัทระหว่าง 10,000 บาทถึง 30,000 บาทต่อปี ทีพีเอ็นเอจำเป็นที่จะต้องหาสมาชิกให้มากเพื่อที่จะได้คุ้มกับทุนทีได้ลงไปกับค่าสมาชิกที่ต้องเสียให้กับบริษัทแม่ ซึ่งแนวโน้มจากสถิติที่ผ่านมาในประเทศที่เป็นตัวแทนในประเทศอื่น ๆ จะมีอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างมากเมื่อมีการเริ่มต้นใช้กันในระยะแรกแล้ว

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มมีการใช้ระบบ EAN ในปี 2522 มีสมาชิกในประเทศเพียง 6 รายเท่านั้นแต่ในปีต่อมาบริษัทสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเป็น 42 แห่ง และเป็นร้อยกว่าบริษัทภายใน 3 ปี

ในปัจจุบันบริษัทที่เป็นสมาชิกของทีพีเอ็นเอมีประมาณ 13 แห่งเหตุผลเป็นสมาชิกของบริษัทต่าง ๆ นั้นไม่ได้เป็นการพิจารณาถึงเรื่องค่าแรงในประเทศเท่านั้น แต่มองถึงเรื่องในเชิงการตลาดด้วยเช่นทางด้านการบริหารสินค้าคงคลัง การตรวจเช็กความเป็นไปได้ของสินค้า ความเคลื่อนไหวและการไหวเวียนขิงสินค้าที่บริษัทสมาชิกผลิตหรือจำหน่าย ซึ่งต้องการข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้อง เพราะด้วยวิธีการที่ใช้พนักงานในการตรวจเช็กในหลายครั้งเกิดจากการผิดพลาดและในบางครั้งในตลาดที่ใหญ่มากขึ้นต้องอาศัยเวลานานกว่าจะรู้ผล การมีระบบบาร์โค้ดทำให้การตรวจเช็กเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิเช็กเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

"ผมเชื่อมว่าแนวโน้มของการใช้ระบบ EAN จะมีเพิ่มมากขึ้นแน่และอาจจะเป็นประมาณ 5 ปีก็คงจะใช้กันในทั่วไป" สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทยูนิชาร์ม กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งเป็นลูกค้ารายที่ 7 ในบรรดา 13 รายที่เป็นสมาชิกของทีพีเอ็นเอในปีนี้

ในโลกนี้นอกจากบาร์โค้ดระบบ EAN แล้ว ยังมีอีกระบบหนึ่งที่เรียกว่า UPC (UNIVERSAL PRODUCT CODE) ก็เป็นบาร์โค้ดที่ใช้กันมากในทวีปอเมริกาเหนือเป็นระบบที่จัดตั้งในสหรัฐอเมริกาในปี 2516 เกิดก่อนระบบ EAN 4 ปี แต่เนื่องจากระบบ EAN มีตัวเลข 13 ตัว ซึ่งมากกว่าระบบ UPC ซึ่งมีอยู่เพียง 6 ตัว จึงทำให้ระบบ EAN สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าระบบ UPC จึงเป็นระบบที่ทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม แนะนำให้ระบบนี้เป็นระบบมาตรฐานสำหรับประเทศไทย

"เลข 13 ตัวของระบบ EAN มันจะระบุรหัสชื่อบริษัทประเทศ และชนิดของสินค้าไว้อย่างละ 4 ตัว ทำให้ง่ายต่อการสื่อสารธุรกิจแก่ผู้ค้าในต่างประเทศ ขณที่ระบบ UPC จะมีตัวเลข 6 ตัวที่บอกถึงประเทศและสินค้าเท่านั้น มันไม่ละเอียด" แหล่งข่าวใน ส.ม.อ. เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงเหตุผลที่ส.ม.อ. สนับสนุนให้ใช้ระบบ EAN

การได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกิจการของทีพีเอ็นเอใการเป็นตัวแทนของทีพีเอ็นเอในการเป็นตัวแทนระบบนี้ในประเทศไทย และหากแนวโน้มในการใช้ระบบ EAN ในต่างประเทศเป็นไปในลักษณะเดียวกับในประเทศไทย ระบบการค้าที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพระบบข้อมูลทางการตลาด จะมีความถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้นก็จะเกิดขึ้นเป็นประโยชน์โดยรวมกับแก่บริษัทห้างร้านในประเทศไทย

โดยมีผู้ที่ยิ้มออกมากกว่าใครเพื่อนก็คือบริษัททีพีเอ็นเอตัวแทนลิขสิทธิ์ระบบ EAN แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของเสียสุทธิเกียรตินั่นเอง

ไม่ใช่ใครอื่น เพราะรับทรัพย์จากการขายระบบและไปเลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.