|
‘สิงค์โปร์-เวียดนาม’ฉวยซ้ำเติมเชื่อมั่นไทยดึงทุนนอกหนี-‘อมตะ’ เชื่อปี’52 สาหัส
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
“ก.แรงงาน” เผยแรงงานถูกลอยแพ 2 แสนรายจากวิกฤติทั้ง “ภายใน-ภายนอก” ขณะที่ “อมตะ” ชี้“ทุนนอก” ส่ายหน้าเข้าไทย เหตุเสถียรภาพ “การเมืองภายใน-ศก.โลก” กดดันหนัก แถมถูก“เวียดนาม-สิงคโปร์” โจมตีหวังเบนต่างชาติหนีเมืองไทย ขณะที่ผู้ประกอบการในนิคมฯรัดเข็มขัดเพื่ออยู่รอด หวั่น “เวียดนาม-อินเดีย” ดูดเม็ดเงินลงทุนแทนไทย ด้าน BOI เดินหน้าดึงเม็ดนอกหวังปี’52 ปีแห่งการลงทุน-ส่วนเม็ดลงทุนปีนี้ดิ่งเหวต่ำกว่าเป้าหมาย 3แสนล้าน
แม้สถานการณ์การเมืองภายในเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกับสวนทางกันเพราะก่อนเริ่มปี 2552 เพียงไม่กี่วันมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรงงานเริ่มปิดตัวไปแล้วโดยเฉพาะที่เป็นข่าวครึกโครมคือเลิกจ้างแรงงานกว่า 1,000 คนของบริษัท เอ็มแอนด์เจ เทคโนโลยี จำกัด ที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ แต่ที่น่าห่วงกว่า มีโรงงานหลายแห่งกำลังจ่อปิดตัวหลังปีใหม่จำนวนมากทั้งจากพื้นที่ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)และนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน
ดังนั้นปัญหาใหญ่ในปีหน้าคือการขยายตัวของภาคการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศคงจะยากลำบากกว่านี้หลายเท่านัก ธุรกิจขายที่ดินหรือให้เช่าที่ดินในนิคมฯอุตสาหกรรมต่างๆคงจะหดลดลงน้อยกว่าปีนี้หรืออย่างมากก็ใกล้เคียงกับปีนี้ก็ดีพอแล้ว
เกือบ 2 แสนคนตกงานแล้ว
จากรายงานของกระทรวงแรงงานระบุว่า การเลิกจ้างแรงงาน ข้อมูล ณ 30 กันยายน2551 มีสถานประกอบกิจการที่เลิกกิจการ จำนวน 14,023 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 147,340 คนส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1- 9 คน โดยมีสัดส่วนร้อยละ 87.73 (12,302 แห่ง) ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 26,530 คน หรือร้อยละ18.01 ของจำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด โดยประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างสูงสุด คือ ประเภทการค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ จำนวน1,944 แห่ง หรือร้อยละ 13.86 รองลงมาคือประเภทร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด การค้าอื่น ๆ จำนวน1,636 แห่ง หรือร้อยละ 11.67 และร้านขายอาหารโรงแรม ห้องเช่า จำนวน 1,306 แห่งหรือร้อยละ 9.31
โดยข้อมูลล่าสุดของกระทรวงแรงงาน พบว่า มีสถานประกอบการต้องหยุดกิจการแล้ว 555 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 46,638 คน และมีสถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะเลิกกิจการอีก 225 แห่ง ซึ่งมีลูกจ้างกว่า 15,000 คน โดย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 องค์การ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมการค้าภายใน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เป็นต้น พร้อมร่วมกันเพื่อหาทางรับมือภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง
อมตะฯชี้ทุกนิคมรากเลือด.!
“สมหะทัย พานิชชีวะ” ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่นิคมอุตสาหกรรมในเมืองไทยที่มีนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี , นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมที่ประเทศเวียดนาม ระบุว่า แทบจะทุกนิคมอุตสาหกรรมในเมืองไทยขณะนี้ดำเนินการธุรกิจลำบากมากเพราะนักลงทุนต่างชาติไม่เข้ามาเมืองไทยโดยเหตุผลหลักนอกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้วเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของไทยที่ง่อนแง่นและมีความวุ่นวายทำให้นักลงทุนไม่มีความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองของไทย
ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันผู้ประกอบการในนิคมฯอมตะยังไม่มีเรื่องปิดโรงงานแต่ผู้ประกอบการปรับตัวรับมือวิกฤติการณ์โดยลดจำนวนวันทำงานของพนักงานเหลือ 3 วันต่ออาทิตย์ , ลดทำงานล่วงเวลา (โอที) ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรองรับต่อการประกอบธุรกิจในอนาคต
“ตอนนี้ที่ผู้ประกอบการกลุ่มนิคมฯเจ็บปวดมากคือกรณีที่ประเทศสิงคโปร์และเวียดนามออกข่าวโจมตีเมืองไทยตลอดว่าไม่มีความเชื่อถือด้านการลงทุนถือว่าซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก ขณะที่การเมืองไทยแม้ได้ตัวนายกรัฐมนตรีแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามจะหยุดหรือไม่ ไม่ว่าตัวนายกฯจะมาจากฝ่ายใด”
เชื่อปี’52 นิคมฯ กระอักพิษศก.แน่.!
นอกจากนี้แล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นกลุ่มหลักในการซื้อที่ดินในช่วงปีที่ผ่านมาแต่นักลงทุนใหญ่ๆเหล่านี้ได้ชะลอการลงทุน โดยนักลงทุนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของอมตะฯ 4 ราย คิดเป็นพื้นที่ลงทุนราว 1,000 ไร่ชะลอแผนการลงทุนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังมีนักลงทุนรายใหม่ที่ก่อนหน้านั้นสนใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของอมตะฯก็ชะลอการตัดสินใจเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดีนิคมฯอมตะประเมิณว่าปีนี้ยอดขายที่ดินน่าจะได้ประมาณ 1,000 ไร่ขยายตัวที่ 20% จากต้นปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,200 -1,300ไร่ขยายตัวที่ 25 % ก็ตามขณะที่ภาพรวมในปีหน้า (2552) ทั้งธุรกิจคาดว่าจะขยายตัวเพียง 5-10% เท่านั้นเพราะได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ
‘เวียดนาม-อินเดีย’คู่แข่งดึงทุนนอก
ขณะที่คู่แข่งในปีหน้าที่จะมาดึงนักลงทุนแทนประเทศไทยคือประเทศเวียดนามและอินเดียโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ค่อนข้างจะให้ความสนใจประเทศเหล่านี้อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และหากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไม่ดีขึ้นคาดว่ากลุ่มนักลงทุนเหล่านี้จะไปลงทุนที่ประเทศเหล่านี้แทน
สำหรับรายได้ของปีนี้ของอมตะคาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ราว 4,000 ล้านบาท แต่ในปี 2552 คาดว่าหากขยายตัวได้เท่าเดิมก็เก่งแล้ว
ลงทุนกระอักดิ่งกว่าร้อยละ 30%
ขณะที่ ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า 11 เดือนของปีนี้ตั้งแต่ ม.ค. –พ.ย. 2551 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 787 โครงการเพิ่มขึ้นจากปีร้อยละ 2.2 ปริมาณเงินลงทุนทั้งสิ้น 290,456 ล้านบาทลดลงกว่าร้อยละ 38.7 โดยนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดยังเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น รองลงมาคือสิงคโปร์ ส่วนปริมาณเงินลงทุนมากที่สุดยังเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วพบว่ามีการขอยื่นรับส่งเสริมลงทุนขนาดใหญ่ลดลง 14 โครงการซึ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอจำนวน 307 โครงการมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 97,646 ล้านบาทโดยมีปริมาณเงินลงทุนลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนจากจีนที่ก่อนหน้านี้สนใจลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ปีนี้ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนเพียง 20 โครงการลดลงจากปีที่แล้ว 10 โครงการด้วยมูลค่าการลงทุน 1,476 ล้านบาทลดลงหลายเท่าตัวจากปีที่แล้ว
ลงทุน ‘มะกัน-อินเดีย’ ตกฮวบ.!
นอกจากนี้การลงทุนจากลุ่มประเทศยุโรปพบว่ามีการยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนทั้งสิ้น 152 โครงการมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 63,889 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และปริมาณเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.6 จากปีที่แล้วแต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแหล่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มากจากประเทศเนเธอร์แลนด์, เยอรมัน และอังกฤษ ขณะที่นักลงทุนจากกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 116 โครงการลดลงร้อยละ 2.5 ปริมาณเงินลงทุนรวม 45, 930 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ซึ่งแหล่งเงินลงทุนที่สำคัญมาจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
ด้านกลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและอินเดียเป็นอีกกลุ่มที่ลดปริมาณการลงทุนอย่างมากในปีนี้คือกลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐฯยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนเพียง 33 โครงการมูลค่าการลงทุนรวม 45, 930 ล้านบาทลดลงจากปีที่แล้วทั้งจำนวนโครงการและปริมาณการลงทุนขณะที่นักลงทุนจากอินเดียยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 20 โครงการเพิ่มขึ้น 1 โครงการแต่มูลค่าลงทุนเพียง 1,545ล้านบาทจากปีที่แล้วที่สูงถึง 2,686ล้านบาท
BOI ยันปี’52 เป็นแห่งการลงทุน
ขณะที่ “อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยืนยันว่า บีโอไอยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามนโยบายปีที่ต้องการผลักดันปี 2551-2552 เป็นปีแห่งการลงทุนต่อไป ล่าสุด BOI ได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2552 นี้ รวมถึงการประสานกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินชั้นนำ เพื่อช่วยสร้างสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อ ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย
นอกจากนี้จะเร่งจัดโรดโชว์ไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมาย และเร่งเปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งตามแผนยังเหลือที่จะเปิดอีก 5 แห่ง (โซล ซิดนีย์ ปักกิ่ง กวางโจว และ สาธารณรัฐจีน)โดยจะทยอยเปิดให้ครบทั้ง 5 แห่งภายในไตรมาส 3 ปี 2552 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจของกลุ่มนักลงทุนใหม่ ๆ ในการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2552 เพื่อให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนได้มากขึ้น
โบรกฯชี้ปีหน้าหุ้นนิคมฯไร้ปัจจัยหนุน
ด้านบริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ มองว่า การลงทุนในประเทศไทยจะชะลอตัวต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยเป็นปัจจัยในหนุนให้ยอดขายที่ดินเพิ่มขึ้น อย่างบริษัท ทาทามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดได้ชะลอแผนซื้อที่ดินอุตสาหกรรมสำหรับตั้งโรงงานอีโคคาร์ ด้านบริษัทยักษ์ใหญ่จีเอ็มก็ได้ประกาศปิดโรงงานชั่วคราว 2 เดือน พ.ย.-ธ.ค. 51 เพื่อจัดการปัญหาสินค้าส่วนเกินจากการชะลอของความต้องการรถยนต์ของ โตโยต้า ทั้งเลื่อนแผนโครงการอีโคคาร์ออกไปด้วย
ขณะที่ความต้องการที่ดินในปี 2552 นั้น “เคจีไอ” วิเคราะห์ว่า จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออก และปัญหาการเมืองภายในยังผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ ทำให้ความต้องการที่ดินในปีหน้าลดลงอย่างแน่นอน
ดังนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเผาจริงหรือไม่ เค้าลางบอกเหตุเริ่มแล้วตั้งแต่ปลายปีนี้ซึ่งหากคิดจะฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศต้องผลักดันพร้อมๆกันทั้ง 4 ด้านทั้งส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว-บริโภคภายใน แต่เท่าที่ปรากฏทั้ง 4 ด้านที่ว่าล้วนซึมพิษเศรษฐกิจทั้งนั้น?
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|