โตโยต้าซิว3แชมป์ชัวร์ อีซูซุ-ฮอนด้าไร่บี้จนหยดสุดท้าย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

โค้งสุดท้ายตลาดรถยนต์ปี 51 โตโยต้าเตรียมฟาดแชมป์แบบเลือดชิบ หลังต้องฝ่ากระแสความท้าทายรอบด้าน ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจการเมือง และคู่ปรับจากอีซูซุที่พลิกกลยุทธ์การตลาดแบบรอบด้าน ส่งผลให้ยอดขายรถปิคอัพขนาด 1 ตันตี้ตื้นด้วยตัวเลขห่างกันแค่ 4 พันคัน และในเซ็กเมนท์รถยนต์นั่งเองก็ที่เคยแข็งแกร่งก็ถูกฮอนด้าท้าชิงความเหนือในตลาดซับคอมแพค

ในที่สุดความพยายามในการผลักกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเข้มข้นขอค่ายอีซูซุก็เป็นผลเมื่อยอดขาย 11 เดือนผลปรากฏว่ายอดขายรถปิกอัพขนาด 1 ตันที่ออกมานั้น ตัวเลขรวมทั้งสิ้น 114,335 คัน ตามหลังโตโยต้าที่ขายได้ 118,753 คัน ห่างกันแค่ 4,418 คัน โดยปัจจัยที่ทำให้การรุกไล่ของอีซูซุเป็นผลขึ้นมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากแผนการตลาดที่ไล่ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง จากเดิมในปีที่ผ่านมาได้มีการออกโปรดักส์ใหม่ในรุ่น โกล์ด ซีรีส์ รุ่นพิเศษที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นการฉลองการดำเนินงานครบรอบกว่า 50 ปีในประเทศไทย และเพื่อต่อยอดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ในรุ่นดังกล่าว ในปีนี้อีซูซุจึงมีการออกโปรดักส์ใหม่ขึ้นมาและให้ชื่อรุ่น แพลททินัม ซึ่งถือเป็นรุ่นพิเศษที่อีซูซุมองว่ามีความหรูเหนือระดับสำหรับรถปิคอัพ

ขณะเดียวกันกลยุทธ์ในการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค ได้มีการคัดเลือกดารา นักร้องอย่าง ก๊อท โดม ปีเตอร์ มอส มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของอีซูซุที่มีการใช้พรีเซ็นเตอร์ชื่อดังมาร่วมส่งเมจเสจแก่ผู้บริโภค ซึ่งทางอีซูซุเผยว่า กลยุทธ์ดังกล่าวมีผลในการทำให้ยอดขายเพิ่ม และยังเป็นแยกเซ็กเม้นต์ของรถยนต์ในแต่ละรุ่นแต่ละแบบให้ชัดเจนและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้

ในแง่ของเกมการตลาด โดยเฉพาะกิจกรรมโรดโชว์ อีซูซุก็มีการเพิ่มความถี่ในการจัดมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการขยายกลุ่มเป้าหมายที่แต่เดิมจะเน้นการจัดตามโชว์รูม ก็เปลี่ยนเป็นสถานที่ที่กว้างขวางขึ้น เพื่อสามารถรองรับลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมที่อีซูซุจัดขึ้นและมีชื่อเสียงมากที่สุด คือ อีซูซุ เฟสติวัล รวมถึงกิจกรรมล่าสุด ราคาวานคอนเสิร์ต หม่ำ ประทะ โปงลางสะออน ที่ผ่านไป

เรียกได้ว่าค่ายอีซูซุนั้น พร้อมรบทุกด้านเพื่อชิงแชมป์อันดับหนึ่งของตลาดรถปิคอัพ อย่างไรก็ตามระยะห่างที่มีเพียงแค่ 4 พันคัน กับช่วงระยะเวลาที่เหลืออีกแค่ 1 เดือนที่เหลือของปีนี้ ท่ามกลางวิกฤติทางการเงิน ทั้งภายในและนอกประเทศ บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่ง เหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแย่งชิงบัลลังก์อันดับ 1 ของอีซูซุจากโตโยต้านั้นไม่ง่ายเลย

โตโยต้านั้นต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาดรถปิคอัพจากคู่แข่งสำคัญอย่างอีซูซุ ตลาดที่ใหญ่และสำคัญไม่แพ้กันอย่างตลาดรถยนต์นั่งก็มีอันต้องสะเทือน เมื่อฮอนด้าเริ่มสร้างความแข็งแกร่งและสามารถชิงยอดขายของรถยนต์ในกลุ่มตลาดซับคอมแพคไปครอบครอง ไม่เพียงเท่านั้นฮอนด้ายังมีอัตราการเติบโตในตลาดรถยนต์นั่งที่สูงกว่าค่ายอื่นๆรวมไปถึงค่ายผู้นำอันดับ 1 ด้วย

ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมานั้น เนื่องจากการมีโมเดลใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ฮอนด้า แอคคอร์ด,ฮอนด้า แจ๊ซ และ ฮอนด้า ซิตี้ ซึ่งการเปิดตัวรถยนต์ทั้ง 3 รุ่นในรูปโฉมใหม่ ส่งผลให้ฮอนด้ามีการปรับเป้า จากเดิมที่มีการตั้งเป้ายอดขายไว้เพียง 70,000 คัน ก็มีการปรับเพิ่มเป็น 85,000 คัน เติบโตขึ้นอีก 20%เทียบกับปีที่ผ่านมา ถือเป็นการสวนกระแสสภาพตลาดที่มีการหดตัวลง อย่างไรก็ตามฮอนด้ายังเชื่อมั่นว่ายอดขายที่เหลืออีกราว 5,000 คันน่าจะเป็นไปตามที่ได้วางไว้ เนื่องจากมองว่าผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจรถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

"ยอดขายรถยนต์นั่งทุกรุ่นของฮอนด้ามีการเติบโตมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดจะเป็นสิ่งยืนยันว่าสินค้าของเราได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในตลาดเรามีส่วนแบ่งจำนวน 14.38 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เรามี 10.05 % ขณะที่ส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์นั่งจากเดิมทำได้ 30.75 % ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 35.40 % ตัวเลขที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆทำให้เรามั่นใจว่าเป้าหมายที่วางไว้คงไม่ยากเกินไป"เคนจิ โอตะกะ ประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)จำกัด กล่าว

ฮอนด้าวางเป้าหมายในตลาดรถยนต์นั่งไว้ว่า จะเป็นผู้นำ โดยเริ่มต้นจากเซ็กเม้นต์ซับคอมแพค ที่พวกเขามีฮอนด้า แจ๊ซ และ ฮอนด้า ซิตี้ เป็นหัวหอกทะลวงยอดขาย ซึ่งทั้งสองรุ่นก็สามารถทำยอดขายออกมาจนเป็นที่น่าพอใจ และส่งให้ภาพรวมยอดขายของพวกเขาในช่วงที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดดเหนือแบรนด์อื่นๆ

อย่างไรก็ตามในส่วนของรถยนต์นั่งเซ็กเม้นต์อื่นๆอย่างรถยนต์นั่งขนาดกลางที่ซีวิคจะต้องประชันกับอัลติส ก็ต้องบอกว่าเป็นงานหนัก เนื่องจากโตโยต้ามียอดขายของรถในกลุ่มนี้เป็นอันดับมาโดยตลอด ประกอบกับการขายฟลีต ทำให้ยอดขายของรถรุ่นนี้สูงกว่าค่ายคู่แข่งอื่นๆและที่เป็นปัญหาของซีวิคอีกประการคือการส่งมอบรถได้ไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลให้ผู้บริโภคอาจจะตัดสินใจซื้อรถยนต์แบรนด์อื่นๆแทน

ด้านกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง ที่ฮอนด้า มั่นใจในตัวแอคคอร์ด แต่เมื่อมองถึงภาพรวมกว้างๆแล้ว ก็ดูจะเป็นการยากหากจะต่อกรกับเบอร์หนึ่งอย่างคัมรี ที่มีรูปลักษณ์ และชื่อชั้นของแบรนด์ที่เหนือกว่า

เรียกได้ว่าหนทางสู่แชมป์ไม่ง่าย แม้ฮอนด้าจะสามารถเป็นที่1ในตลาดซับคอมแพคได้ แต่เมื่อมองภาพรวมของตลาดรถยนต์นั่งทั้งหมดแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแชมป์เก่าอย่างโตโยต้านั้นยังคงมีเขี้ยวเล็บอยู่เสมอ หรือหากฮอนด้าฝันถึงแชมป์จริงๆก็น่าจะรออีกสักปีสองปี เมื่อโครงการอีโคคาร์คลอด เพราะพวกเขาถือเป็นค่ายที่มีความพร้อมเหนือค่ายอื่นๆดังนั้นหากโครงการนี้ชัดเจนจริงๆมีหวังบัลลังก์แชมป์เบอร์ 1 โตโยต้าคงจะสะเทือฯขึ้นมาอีกระลอก

โดยตัวเลขยอดขายรวม 11 เดือนพบว่ามีจำนวน 556,267 คัน ลดลดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 566,905 คัน หรือคิดเป็น 1.88 % ซึ่งค่ายโตโยต้ารั้งอันดับ 1 ด้วยจำนวนยอดขาย 236,227 คัน ลดลง 6.14 % ครองส่วนแบ่ง 42.47 % อันดับ 2 อีซูซุ 122,000 คัน ลดลง 8.80 % ครองส่วนแบ่ง 21.93 % และอันดับ 3 ฮอนด้า 80,000 คัน เติบโต 40.45 % ครองส่วนแบ่ง 14.28 %

เมื่อมาดูยอดขายในกลุ่มรถปิคอัพ ซึ่งถือเป็นเซ็กเม้นต์ที่มียอดขายสูงกว่าตลาดอื่นๆ พบว่าในกลุ่ม 1 ตัน มียอดขายรวม 297,627 คัน ลดลดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 344,350 คัน หรือคิดเป็น 14.73 % โดยค่ายโตโยต้ามียอดขาย 118,753 คัน ลดลง 14.61 %ครองส่วนแบ่ง40.44 % ตามมาด้วยอีซูซุ 114,335 คัน ลดลง 7.36 % ครองส่วนแบ่ง 38.94 % และ นิสสัน 21,462 คัน ลดลง 11.88 % ครองส่วนแบ่ง 7.3 %

ด้านตลาดรถยนต์นั่ง พบว่าในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามียอดขายที่เติบโตเหนือตลาดอื่นๆ โดยยอดขายรวมพบว่ามีจำนวน 202,980 คัน เติบโต 28.39 % โดยอันดับหนึ่งยังคงเป็นของโตโยต้า ที่มีรถยนต์นั่งจำนวน 7 รุ่น ประกอบด้วย วีออส, ยาริส, อัลติส, คัมรี่, อแวนซ่า, อินโนว่า และ วิช โดยทำยอดขายไว้ที่ 96,721 คัน เติบโต 14.08 % ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 47.65 %

ขณะที่ค่ายอันดับ 2 อย่างฮอนด้า ที่มีรถยนต์นั่งในรุ่น ซีอาร์วี - รถอเนกประสงค์,แอคคอร์ด รถยนต์นั่งขนาดกลาง,ซีวิค รถยนต์นั่งในกลุ่มคอมแพค ,และรถยนต์นั่งในกลุ่ม ซับ คอมแพค รุ่น แจ๊ซ และ ซิตี้ นั้น สามารถทำยอดขายได้ 71,851 คัน เติบโต 47.81 % ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 35.40 %

ภาพรวมการแข่งขันใน 2 ตลาดหลักคือตลาดรถปิคอัพ และ ตลาดรถยนต์นั่ง ส่งผลให้โตโยต้าที่แม้ว่าจะเตรียมตัวฉลอง 3 แชมป์ทั้งตลาดรวม – ตลาดรถปิคอัพ และ ตลาดรถยนต์นั่ง จะต้องทำการบ้านหนัก เพราะโดนขนาบทั้งซ้าย – ขวา จากคู่แข่งคนสำคัญทั้งอีซูซุ และ ฮอนด้า และแม้ว่าทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีหน้าอาจจะต้องชะลอตัว อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจการเงินที่มีปัญหากระทบกันทั้งในและต่างประเทศ แต่เชื่อว่าผู้นำอันดับ 1 อย่างโตโยต้า ยังคงต้องเดินหน้ารักษาบัลลังก์แชมป์ของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น งานนี้จึงส่งผลให้การแข่งขันของตลาดรถยนต์ในปีหน้าจะต้องเป็นเป็นไปอย่างดุเดือด เพราะงานนี้มีบัลลังก์อันดับ 1 เป็นตัวประกันอีกเช่นเคย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.