ไทยเป็นประเทศที่ 5 ของเอเชียที่ลงทุนจัดประชุมแบงก์โลกในเดือนตุลาคม 2534
เป้าหมายเพื่อ SYNERGY ที่จะได้กับประเทศไทย…นิพัทธ์ พุกกะณะสุต ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังคือบุคคลทีอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้
แต่หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า การขาดแคลนคนบริหารงานประชุมขนาดใหญ่สุดยอดของโลกครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลไทยขายขี้หน้าก็เป็นได้…
มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่คณะกรรมการสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ
จะลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอของไทยที่จะเป็นผู้ขอจัดการประชุมประจำปีธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟขึ้นในปี
2534ทีกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 46 นับตั้งแต่มีการเปิดประชุมประจำปีมาตั้งแต่
2489
สาเหตุก็เพราะว่า ตลอดการประชุมที่มีการจัดมา 45 ครั้ง ชาติเอเชียมีโอกาสได้จัดเป็นเจาภาพเพียง
4 ชาติเท่านั้น คือ อินเดียในปี 2501 ญี่ปุ่นในปี 2507 ฟิลิปปินส์ในปี 2519
และเกาหลีในปี 2528 นอกนั้นส่วนใหญ่จัดในกรุงวอชิงตันดีซี และประเทศทางแถบยุโรป
หลังปี 2495 เป็นต้นมา คณะกรรมการสภาผู้ว่าธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟได้ตกลงร่วมกันที่จะให้มีการประชุมประจำปีธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ
นอกกรุงวอชิงตัน ทุก 3 ปี โดย 2ปีต่อกันจะจัดในกรุงวอชิงตัน และปีที่ 3 จะจัดในประเทศสมาชิกหมุนเวียนสลับกันไป
ตามภูมิภาคต่างๆ (ดูตารางสถานที่ประชุม)
ประเทศสมาชิกธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ มีอยู่ 152 ประเทศตอนปี 2527 กระทรวงการคลังในสมัยของ
สมหมาย ฮุนตระกูล เป้นรัฐมนตรีการคลังเคยเสนอให้คณะสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ
พิจารณาประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในปี 2531 มาแล้วโดยให้นิพัทธ์ พุดดะณะสุต
ซึ่งเวลลานั้นอยู่วอชิงตันในฐานะบริษัทเศรษฐกิจประจำสถานทูตไทย เป็นผู้ดำเนินการประสานงานติดต่อ
สถานที่จัดประชุมขณะนั้น ทางสมหมายพิจารณาไปที่โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัล เพราะมี
CONVENTION HALL และ EXHIBITION HALL ที่ใหญ่พอและความพร้อมทางด้านบุคลากรที่รองรับงานได้
เพราะมีคนของไฮแอทที่เคยมีประสบการณ์บริหารซุปเปอร์โดมที่สหรัฐฯมาก่อนชื่อโรเบิร์ต
แฟนเดอมาร์ค มาเป็นผู้บริหาร CONVENTION SSERVICE ที่ไฮแอทเซ็นทรัล กรุงเทพฯ
และตอนเปิดบริการเป็นครั้งแรกเมื่อพฤศจิกายน ปี 2526 โรเบิร์ตก็บริหารงานประชุมนานาชาติรังสีวิทยาภูมิภาคเอเชียน-โอเชียนนิคจำนวน
2,000 คน ได้อย่างเรียบร้อย
แต่ขอจัดเสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมปี 2531 ของไทย ไม่ประสบผลสำเร็จ แพ้ข้อเสนอรัฐบาลท้องถิ่นของนครเบอร์ลินตะวันตก
"ที่แพ้เพราะตั้งแต่ปี 2513 ที่เดนมาร์กเป็นเจ้าภาพ ยังไม่มีกลุ่มประเทศใดในยุโรปอีกเลยที่ได้จัด
และอีกประการหนึ่งตามโปรแกรมปี 2528 เกาหลีก็ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดอยู่แล้ว
ดังนั้นจะให้ไทยได้จัดอีกในปี 2531 มันก็จะเป็นการกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชียมากเกินไป
ซึ่งไม่ใช่เป็นนโยบายของคณะสภาธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ" แหล่งข่าวในภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจจัดประชุมนานาชาติเล่าถึงสาเหตุที่ไทยไม่ได้จัดใก้
"ผู้จัดการ" ฟัง
นครเบอร์ลินดาตะวันตก มีศูนย์แสดงสินค้า และการประชุมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่โตมาก
เทศบาลนครเบอร์ลินตะวันตกเป็นเจ้าของและบริหารศูนย์แห่งนี้ปีหนึ่งๆ นครเบอร์ลินตะวันตกจะมีการแสดงสินค้าและการจัดประชุมนานาชาติอยู่ตลอดทั้งปี
จนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า รายได้หลักของนครเบอร์ลินตะวันตกอยู่ที่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจัดประชุมนานาชาติ
ด้วยเหตุนี้ การประชุมประจำปีธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟที่เทศบาลนครเบอร์ลินตะวันตก
เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนั้นจึงเป็นเพียงการจัดประชุมนานาชาติโปรแกรมหนึ่งในหลายโปรแกรมๆ
ที่มีอยู่ตลอดทั้งปี ดังนั้นความพร้อมทางด้านสถานที่ ประสบการณ์ทางด้านบุคลากรที่จัดประชุมนานาชาติจึงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะอยู่ในวิสัยจัดประชุมขนาดคน
12,500 คน อย่างธนาคารโลกฯได้
นอกจากนี้ ในปี 2531 นครเบอร์ลินมีอายุครบ 700 ปีพอดี ทางเทศบาลนครเบอร์ลิน
ก็เลยจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ พอทางเบอร์ลินดาเสนอตัวเข้ามาแข่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมธนาคารโลกพร้อมไทย
จึงได้งานประชุมนี้ไปอย่างง่ายดาย
ดูเหมือนความพยายามของรัฐบาลไทยจะไม่หมดไป ปี 2529 นิพัทธ์ ซึ่งกลับมาประจำที่กระทรวงคลังแล้วก็ได้เสนอโครงการจัดประชุมธนาคารโลกฯประจำปี
2534 ให้ ร.ม.ต.สุธี สิงห์เสน่ห์ พิจารณาอีก ก็พอดีทางธนาคารโลกฯก็ติดต่อผ่านมาทางวิบูลย์
อังสนันท์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารประจำกลุ่มไทยในธนาคารโลกฯถึงความสนใจที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมธนาคารโลกฯอีกหรือไม่?
สุธี สิงห์เสน่ห์ รมต.คลังขณะนั้น พนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงคลัง และ
นิพัทธ์ ก็ยื่นหนังสือเป็นทางการแก่คณะสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟว่าไทยสนใจจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงเทพฯ
ในปี 2534 ขณะเดียวกันทางสิงคโปร์ โดยรัฐบาลนาย ลี กวน ยิว ทางรมต.คลังสิงคโปร์
ก็ได้ยื่นข้อเสนอจะเป็นเจ้าภาพแข่งกับไทยด้วย แต่ถอนตัวออกไปในเดือน มกราคม
ปี 2530
"ที่สิงคโปร์ต้องถอนตัวหลังจากทราบท่าทีที่แน่ชัดจากรัฐบาลไทยในความมุ่งมั่นที่จะจัดประชุมก็เพราะว่าวิงคโปร์รู้ตัวดีงว่าเป็น
COLONY ของอังกฤษ ถึงอย่างไรก็แพ้ไทยอยู่แล้ว เนื่องจากมาได้เป็นสมาชิกธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ"
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจจัดประชุมนานาชาติกล่าว
เมื่อคณะทำงานด้านสถานที่ของธนาคารโลกฯมาดูสถานที่ในไทย ทางนิพัทธ์ก็พามาดูตามโรงแรมชั้น
1 ต่างๆที่มี CONVERTION HALL ขนาดใหญ่ๆเช่นเซ็นทรัล โอเรียลเต็ล รอยัล อคิด
เชอราตัน ดุสิตธานี ในที่สุดก็มาพอใจที่เซ็นทรัล โดยมีเงื่อนไขให้ปรับปรุง
EXHIBITION HALL และชั้น 2 ของโรงจอดรถเป็นสำนักงานขนาด 600 ห้อง หรือไม่ก็ใช้ส่วนพื้นที่โรงแรมจำนวน
300 ห้อง และบางส่วนของธนาคารบริเวณชอปปิ้งพลาซ่า ปรับปรุงมาเป็นสำนักงานขนาด
600 ห้อง
ข้อเสนอของธนาคารโลกฯเช่นนี้ ทางสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ก็ตอบตกลง ก็มีความเป็นไปได้อยู่มากที่รัฐบาลไทยอาจจะไม่มีโอกาสจัดประชุมได้
เพราะสถานที่จัดประชุมไม่พร้อม
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทางกระทรวงการคลังมีข้อตกลงกับทางเซ็นทรัลอย่างไรบ้างเพื่อให้สัมฤทธิ์ยอมตกลงให้ใช้สถานที่เพ่อปรับปรุงตัวอาคารลานจอดรถทำเป็นอาคารสำนักงาน?
ประการแรก ทางสัมฤทธิ์ ยินดีให้กระทรวงการคลังใช้สถานที่ลานจอดรถปรับตัวเป็นอาคารสำนักงานตามที่ธนาคารโลกฯเสนอ
โดยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตัวอาคารสำนักงานการสื่อสารโทรคมนาคม เฟอร์นิเจอร์
ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบทำความเย็น ซึ่งทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ทางกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ประการที่สอง ทางสัมฤทธิ์คิดค่าเช่าสถานที่ตระเตรียมความพร้อม 1 เดือน และหลังประชุมเลิก
1 สัปดาห์
ประการที่สาม ทรัพย์สินต่างๆที่คลังลงทุนก่อสร้างตัวสำนักงานทั้งหมดจะตกเป็นของคลังทุกชิ้น
พูดง่ยๆว่าข้อตกลงนี้อยู่ในกรอบที่ว่าเซ็นทรัลเป็นเพียงเพื่อให้เช่าสถานที่ทำสำนักงานเท่านั้น
โดยมีคลังเป็นผู้เช่าและลงทุนสร้าง!
เมื่อเป็นดังนี้ ในเดือนตุลาคม ปี 2530 ทางเซ็นทรัลก็ส่งคนของตัวไปดูงานประชุมธนาคารโลกฯที่วอชิงตันดีซี
มีดนัย วันสม พอล อีเลียต สุทธิเกียรติและอาภัสรา จิราธิวัฒน์ ร่วมสมทบไปกับคณะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังอีก
10 กว่าคน และในปี 2531 ก็ส่งคนไปดูงานธนาคารโลกฯ ที่เบอร์ลินตะวันตกอีก
ว่ากันว่าทั้งหมดที่เซ็นทรัลส่งไปดูงานประชุม 2 ครั้ง สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ
1 ล้านบาท!
การเตรียมการจัดประชุมดูจะเรียบร้อยไม่มีปัญหา แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมาจนได้
เมื่อสุทธิเกียรติ น้องชายสัมฤทธิ์ เสนอเงื่อนไขใหม่ให้คลังพิจารณา โดยบอกว่าเซ็นทรัลยินดีสร้างตึกใหม่เพื่อรองรับสำนักงานขนาด
600 ห้อง สำหรับการประชุมนี้ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนเกือบประมาณ 1,000 บาท แต่มีเงื่อนไขให้ทางรัฐบาลอุดหนุน(SUBSIDY)
บ้าง เช่นการขอขยายเวลาเช่าที่ดินขนาด 40 ไร่ จากการรถไฟออกไปอีก 30 ปี โดยเสียค่าเช่าเป็นเงินก้อนเป็นจำนวน
60 ล้านบาท ขณะที่สัญญาเช่าที่เซ็นทรัลเช่าที่ดินจากการรถไฟตลอด 30 ปี จะเสียค่าเช่าหน้าดินปีละ
5 ล้านบาท และค่าหน้าดินอีก 16 ล้านบาท
"เวลานี้ราคาค่าเช่าพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกปีละ 200 ล้านบาท และค่าหน้าดินอีก
24 ล้านบาทแล้ว" แหล่งข่าวในการรถไฟกล่าวถึง ราคาค่าเช่าปัจจุบันที่ดินตรงเซ็นทรัลลาดพร้าวให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ถ้าหากการรถไฟไม่ต่อสัญญา เมื่อครบอายุ 30 ปี ในอีก 17 ปีข้างหน้า เฉพาะอาคารทรัพย์สินที่ปลูกสร้างตามราคาปัจจุบัน
ซึ่งตกประมาณ 2,000 ล้านบาท จะตกเป็นของการรถไฟทันที
ข้อเสนอของสุทธิเกียรติตรงประเด็นนี้ เมื่อขึ้นสู่บอร์ดคณะกรรมการจัดเตรียมงานประชุมธนาคารโลกที่มี
ประมวล สภาวสุ เป็นประธาน ก็ต้องตกม้าตาย เพราะเห็นว่า ทางสุทธิเกียรติใช้เทคนิคต่อรองขอมากไปได้คืบแล้วจะเอาศอก
โดยใช้เงื่อนไขเวลาที่ไล่กระชั้นเข้ามา ทั้งๆที่ข้อเสนอนี้สัมฤทธิ์เองก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่
แต่เมื่อสุทธิเกียรติทำไปเองก็เลยตามเลย
จุดนี้คือที่มาของเหตุผลการตัดสินใจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับประมวลให้รัฐบาลลงทุนก่อสร้างอาคารประชุม
และสำนักงานธนาคารโลกเสียเองแม้จะใช้เงินสูงถึงเกือบ 1,500 ล้านบาทก็ตาม
เหมือนเช่นมาร์กอสตัดสินใจก่อสร้างหอประชุมสำหรับธนาคารโลกฯ เมื่อปี 2517
ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ปี 2519
ทั้งๆที่เวลานั้นการรถไฟเองก็ยังไม่ตกลงใจปฏิเสธข้อเสนอของสุทธิเกียรติเสียเลยทีเดียว
รัฐบาลตัดสินใจลงทุนก่อสร้างศูนย์อาคารประชุมและสำนักงานเอง มีเหตุผลในตัวมันเอง
มองในแง่เหตุผลทางการตลาด การมีหอประชุมนานาชาติของรัฐบาลที่เคยผ่านการจัดงานประชุมธนาคารโลกฯ
ย่อมได้รับความเชื่อถือในการจัดประชุมนานาชาติอื่นๆได้ เนื่องจากประชุมธนาคารโลกถือเป็นสุดยอดของการจัดประชุมแล้ว
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว 3 ชาติในเอเชีย คือเกาหลี สิงคโปร์
และฮ่องกงได้รายงานโปรแกรม และจำนวนผู้คนที่จะเข้ามาร่วมประชุมใน 3 ประเทศดังกล่าว
ตั้งแต่ในช่วงปี 2533-2540 เฉพาะโปรแกรมงานประชุมที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 1,000
คนขึ้นไปว่ามี 32 โปรแกรม รวมผู้เขาร่วมประชุมทั้งสิ้น 141,652 คนนี้ 80%
เป็นชาวต่างชาติที่จะพากันหลั่งไหลไปยังเกาหลี ฮ่องกง และสิงคโปร์
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจจัดประชุมนานาชาติกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า ตลาดประชุมนานาชาติยังเปิดกว้างมาก เท่าที่ผ่านมาเฉพาะปี 2531 การประชุมระดับเกิน
500 คน ไทยมีสถิติการจัดเพียง 4 ครั้งเท่านั้น มีจำนวนผู้เข้าประชุม 3,414
คนเท่านั้น
เหตุนี้ตลาดประชุมนานาชาติที่มีดีมานด์สูงและโอกาสที่ประเทศไทยจะแย่งชิงมาได้นั้นหน่วยงานของรัฐบาล
คือกระทรวงคลัง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวย่อมมองเห็นโอกาสนี้
ยกตัวอย่าง การประชุมของกลุ่มคณะแพทย์รังสีโลก ซึ่งเป็นภาคเอกชน กลุ่มสมาคมแพทย์รังสีของไทยมีความพยายามหลายครั้งที่จะดึงงานประชุมสมาคมรังสีโลกที่มีคนเขจ้าประชุมถึง
15,000 คนมาจัดที่ประเทศไทยให้ได้ แต่ไม่สำเร็จ ครั้งแรกกลุ่มสมาคมแพทย์รังสีไทยเสนอตัวเข้าแข่งกับฝลรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว
แต่ก็แพ้เพราะฝรั่งเศสเสนอใช้พระราชวังแวร์ซายส์เป็นสถานที่จัดเลี้ยงประกอบฝรั่งเศสกำลังมีงานฉลองครบ
200 ปี ปฏิวัติจากระบอบกษัตริย์ ปีหน้า (1990) ก็แพ้สิงคโปร์อีก ดังนั้นการจัดประชุมธนาคารโลกฯปี
2534 นี้ จึงเป็นเครดิตที่ไทยอาจจะดึงการประชุมรังสีโลก 15,000 คนนี้มาที่ไทยได้
"สิงคโปร์ทียอมถอนตัวแข่งกับไทยออกไปตอนประมูลขอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมธนาคารโลกฯเขาไม่สะเทือนหรอก
เพราะถึงอย่างไรเสีย โปรแกรมและคนที่เข้าประชุมที่สิงคโปร์ก็มากอยู่แล้ว
ตั้งแต่ปี 2533-2540 เขามีโปรแกรม (ระดับเกิน 1,000 คน)รออยู่แล้ว 14 โปรแกรม
(มีประชุมรังสีโลก 2533 อยู่แล้ว) มีคนเข้าร่วมประชุม 41,000 คน เหตุผลที่เขายื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการเจาะตลาดประชุมนานาชาติขึ้นไปอีกต่างหาก"
แหล่งข่าวในการที่องเที่ยว (ท.ท.ท.) เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ท.ท.ท.เคยสำรวจตัวเลขการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติในไทยเมื่อปี
2531 พบว่าแต่ละคนจะใช้จ่ายประมาณ 3,300 บาท/วัน ถ้าปรับตัวเลขใช้จ่ายในปีนี้อีก
15% ( เพราะค่าที่พักแพงขึ้นเฉลี่ย 15% ) ก็จะตกประมาณ 3,800 บาท/วัน เป็นอย่างน้อย
นั่นหมายความว่า การประชุมในธนาคารโลกฯที่เมืองไทยปี 2534 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม
8,000-9,000 คนพร้อมผู้ติดตามอีก 3,500 คน รวม 12,500 คนจะมีการใช้จ่ายสูงถึงเกือบ
500 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย
ยังไม่นับรวมผลประโยชน์ที่ยังมองไม่เห็นที่จะตกกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ และการจัดงานแสดงสินค้า ที่จะตามมาในอนาคตหลังงานประชุมธนาคารโลกฯอีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้โครงการเงินกู้จากธนาคารโลกฯที่หน่วยงานรัฐบาลไทยคือกระทรวงการคลังไปกู้มาใช้ในโครงการต่างเช่น
การพัฒนาปิโตรเลียม สร้างถนนทางหลวงต่างๆ ทางด่วน ชลปทานก็จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกฯและผู้แทนสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนทั่วโลกได้มาเห็นดอกผลโครงการนั้นๆ
ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพพจน์ (CREDIT RATING) ให้กับประเทศไทยได้อีก
"พูดอีกนัยหนึ่งเป็นการลงทุนจัดที่ได้ดอกผลแบบ SYNEERGY แก่รัฐบาลไทย"
คนในแบงก์ชาติกล่าว
เหตุผลเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังลงทุนจัดการประชุมเองนั้นคงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นการตัดสินใจที่มองการณ์ไกล
เครดิตตรงนี้ยกให้ นิพัทธ์ เพราะนิพัทธ์เป็นคนเดียวที่รู้เรื่องรยละเอียดของงานนี้มากที่สุดตั้งแต่แรกเริ่ม
ด้วยเหตุนี้นิพัทธ์จึงกลายเป็นผู้อำนวยการสำนักงานจัดงานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ
ประจำปี 2534 นี้ โดยคำสั่งแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีจากการเสนอของประมวล รมต.คลังและมีชัย
มะระกานนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงาน
ทั้ง 2 คนเวลานี้ถือเป็น KEY FIGURE ที่สำคัญที่สุดเท่าในการประสานงานบริหารจัดประชุมและงานก่อสร้างกับธนาคารโลกฯมีสำนักงานเฉพาะกิจอยู่ชั้น
7 ตึก สศค.กระทรวงการคลัง
ซึ่งถ้าหากว่างานจัดประชุมครั้งนี้ออกมาเละทั้ง 2 คนก็อาจเสี่ยงสูงต่อชื่อเสียงเพราะเป็นคนทำงานส่วนพนัส
สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลังซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการเตรียมงานการประชุมนั้นลอยตัวอยู่แล้ว
เนื่องจากไม่ใช่เป็นคนทำงานระดับปฏิบัติ
มันเป็นเรื่องน่าหวาดเสียวเมื่อย้อนดูจากประสบการณ์ที่คลังแบงก์ชาติจัดประชุม
ADB
ทั้งนิพัทธ์และเริงชัยเคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ตอนกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม
ADB BANK ที่ดุสิตธานี เมื่อปี 2528 การประชุมครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมประมาณเกือบ
2,000 คน
การจัดประชุมครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นการซ้อมครั้งใหญ่ของประเทศเจ้าภาพก่อนหน้าริอ่านจะจัดประชุมธนาคารโลกฯก็ว่าได้
เพราะ ADB BANK เป็นหนึ่งในหลายแขนขาของธนาคารโลกฯที่ดูแลกิจการด้านเอเชียแปซิฟิก
มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์
ผู้มีประสบการณ์จัดประชุมนานาชาติรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่ามันเละไม่มีดีเพราะกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเตรียมงานนี้จริงแค่ 2-3
เดือนเท่านั้นทั้งที่อย่างน้อยควรจะเป็น 1 ปี "รถบัสที่ใช้มีหลายสีไปหมด
ไกด์ที่ใม่ใช่ไกด์มืออาชีพที่ทำงานเฉพาะการประชุมก็ไปจ้างมาจากไหนก็ไม่รู้เด็กท้ายรถก็เอามาเป็นเด็กประจำรถ
นุ่งกางเกงยีนส์มาต้อนรับผู้แทนที่เข้ามาร่วมประชุม"
ประสบการณ์แบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทางกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติไม่มีความพร้อมในการบริหารงานประชุม
ซึ่งจะให้เกิดขึ้นอีกกับการประชุมธนาคารโลกฯในปี 2534 ไม่ได้อีกเด็ดขาด
ปัญหามีอยู่ว่าทั้งนิพัทธ์และเริงชัยจะบริหารงานประชุมที่ละเอียดอ่อนและมีขนาดใหญ่นี้ได้อย่างไร?
ในหนังสือคู่มือการจัดการประชุมธนาคารโลก/ไอเอ็มเอฟ ที่ออกมาเมื่อกุมภาพันธ์
2532 ได้ระบุกลไกต่างๆ ถึง 22 จุดที่ที่จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานประชุม
ที่นิพัทธ์และเริงชัยจะต้องจัดทีมประสานงานให้สอดคล้องกับคณะเจ้าหน้าที่ทำงานด้านจัดประชุมของธนาคารโลกฯ
(ดูรายละเอียด FUNCTION งานต่างๆ ในล้อมกรอบ)
นอกจากนี้ในคู่มือยังระบุให้เจ้าภาพคือคลังและแบงก์ชาติจัดเตรียมบุคลากรเพื่อรับผิดชอบและทำหน้าที่ใน
FUNCTION ต่างๆ ของงานประชุมอีก 13 จุด (ดูล้อมกรอบ) ซึ่งคงได้มีการระดมคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆในกรมศุลกากร
ต.ม. คมนาคม กรมตำรวจ มาปฏิบัติงาน เนื่องจาก FUNCTION งานเกี่ยวพันกับหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ
"ที่เบอร์ลินตะวันตกเป็นเจ้าภาพเทศบาลนครเบอร์ลิน ได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ของเทศบาล
212 คนเป็นผู้ช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกฯใน FUNCTION ทั้ง
22 จุด โดยมีคุณสมบัติต้องพูดภาษาอังกฤษและเขียนได้" เอกสารฯคู่มือระบุไว้เช่นนั้น
(ดูตารางจำนวนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ)
เช่นนนี้แล้วนิพัทธ์และเริงชัยจะเอาเจ้าหน้าที่ระดับข้าราชการที่ไหนซึ่งพอจะมีความรู้ความชำนาญในงานนั้นๆ
ช่วยและประสานงานกับคนบริหารงานประชุมของธนาคารโลกฯ
ทางเลือกดูเหมือนมี 2 ทาง คือ หนึ่ง - เปิดประมูลให้บริษัทโรงแรมต่างๆ ที่มีประสบการณ์จัดบริหารงานประชุมมาแล้วอย่าง
เชอราตัน ฮิลตัน (ซึ่งเคยจัดมาแล้วที่วอชิงตันและเกาหลีใต้) เข้ามา BID งานนี้ไปเลย
หรือ สอง-ฝึกฝนอบรมเจ้าหน้าที่ข้าราชการคนไทยขึ้นมาเองใช้เวลาปีเศษๆ
ความขาดแคลนในบุคลากรที่มีความรู้ หรือประสบการณ์ในการร่วมบริหารงานประชุมระดับนานาชาติยักษ์ให่ของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในการจัดการประชุมครั้งนี้
ผู้รู้ในวงการจัดการประชุมนานาชาติท่านหนึ่งให้ข้อคิดกับ "ผู้จัดการ"
ว่าตัวสถานที่จัดประชุมซึ่งมีเวลาเหลืออีก 17-18 เดือน ไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่เพราะอย่างไรเสียก็คงจะเสร็จทัน
แต่จุดใหญ่อยู่ที่ตัว SOFTWARE คือ คน ที่จะเข้ามาประสานงานบริหารงานประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกฯใน
FUNCTION ต่างๆ ซึ่งในภาคราชการเราไม่มีซักคนเลย
"มันเป็นความรู้เฉพาะด้าน ใช้ภาษาเฉพาะของมันตรงนี้ข้าราชการไทยทุกกระทรวง
ทบวง กรมไม่เคยมีใครรู้เรื่องเอากันแค่หน้าที่ความรับผิดชอบ?เฉพาะตำแหน่งงานที่เรียก
CONVENTION SERVICE MANAGER ทั้งนิพัทธ์และเริงชัยไม่มีทางทำได้เพราไม่มีความรู้ชำนาญพอ"
แหล่งข่าวยกตัวอย่างเทคนิคการบริหารงานประชุมประกอบ
ตรงนี้มีแนวโน้มเป็นไปได้มากกว่า นิพัทธ์คงเลือกทางเปิดประมูลให้บริษัทโรงแรมต่างๆ
ที่มีประสบการณ์จัดบริหารงานประชุมนานาชาติเข้ามาประมูลการบริหารงานนี้มากกว่า
เพื่อตัดปัญหาความไม่พร้อมด้านบุคลากรของทางราชการไป ซึ่งเสี่ยงเกินไปที่จะเอาปัญหานี้ไว้แลกกับชื่อเสียงและหน้าตาประเทศ
เหตุเพราะ หนึ่ง -โดยเนื้อแท้แล้ว กระทรวงการคลังเพียงแต่ต้องการเป็นกลไกควบคุมการจัดประชุมให้ดำเนินการเรียบร้อยไปเท่านั้น
ไม่ต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยวในการปฏิบัติการเลยเพราะรู้ตัวเองดีว่าไม่มีความชำนาญ
สู้ภาคเอกชนไม่ได้ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล แชงกรี-ลา ฮิลตัน รอยัล ออคิด
เชอราตัน มีบุคลากรพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้อยู่แล้วตั้งแต่ระดับ CONVENTION
SERVICE MANAGER ไปจนถึงพนักงานบริการ สอง -หน้าที่ความรับผิดชแบหลักของคลังในฐานะเป็นผู้ติดต่อโดยตรงกับธนาคารโลกแต่เพียงผู้เดียว
อยู่ที่งานด้านจัดอำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองศุลกากรการขนส่งสื่อสาร
การักษาความปรอดภัย ซึ่งเป็น FUNCTION งานที่อยู่นอกส่วนงานงานประชุมทั้งสิ้น
งานเหล่านี้กระทรวงการคลังต้องประสานให้ดีกับกรมตำรวจ การท่าอากาศยานและอีกหลายหน่วยงานของราชการ
ซึ่งยุ่งยากมากพอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้การประชุมธนาคารโลกฯปี 2534 ประมวล นิพัทธ์ พนัส กำจร และเริงชัย
จึงเป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่สุดในการวางนโยบายและจัดการบริหารโครงการประชุมนี้จะขายขี้หน้า
หรือรับเสียงตบมืออย่างที่ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เคยจัดประชุมรัฐสภาโลกคน 2,000
คน เมื่อปลายปี 2529 และได้รับเสียงตบมือว่าจัดได้เยี่ยมยอดหรือไม่?
ตุลาคม 2534 นี้ชี้ชะตา!