เบื้องหลัง ยงเกียรติ หลุดจากมิตรเกษตร

โดย บุญธรรม พิกุลศรี
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

เข้าทำนองคนมันดวงตก ความวัวพึ่งจะหาย ความควายก็เข้ามาแทรกแทนที่ ฤดูกาลเปิดหีบ 2531/2532 กำลังจะคืบคลานเข้ามาทุกๆขณะ ใบหน้าของ วิเทศ ว่องวัฒนะสิน พึ่งจะได้ลิ้มรสรอยยิ้มของงตัวเองที่ได้กลับคืนสู่สถานะเถ้าแก่น้ำตาลดั่งเดิม และกำลังจะกลับไปดูอีกโรงงานที่หนึ่งของเขาคือ โรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร ที่ทิ้งมันมานานกว่า 3 ปี เช่นกันในช่วงที่เขาหายหน้าไป

โรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร ซึ่งวิเทศให้ยงเกียรติ เกียรติธารา ขึ้นบริหารเต็มในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนเขาตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา วิเทศกำลังจะคิดที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารงานกันเสียใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่ายงเกียรติจะต้องออกไปจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

และก็เป็นช่วงที่จังหวะที่วาระการประชุมสามัญประจำปี 2532 มาถึงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา วิเทศเสนอให้กรรมการทั้ง 12 คนลาออกแล้วเลือกตั้งกรรมการใหม่ทั้งหมด โดยให้เลือกเข้ามาใหม่ เพียง 7 คนก็พอ เพื่อเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นๆเข้ามาบริหารบ้างซึ่งไม่ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาคัดค้านในที่ประชุม

จะว่าไปแล้วกลุ่มผู้บริหารเดิมที่ไม่ทันได้รู้ตัวมาก่อน ก็แทบจะหงายหลังเอากลางที่ประชุม เพราะว่าหุ้นใหญ่กว่า 50% อยู่ในมือของ วิเทศ คำพูดของเขาจึงเหมือนกับการประกาศปลดกรรมการทั้งคณะออกอยู่แล้วในตัว แต่เมื่อไม่มีใครคัดค้านจึงถือว่าทุกคนยอมรับและทำการเลือกตั้งกรรมการขึ้นมาใหม่ 7 คนซึ่งเป็นคนในครอบครัววิเทศและตัววิเทศเองรวมเป็น 4 คน ส่วนอีก 3 คนเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งมีชื่อยงเกียรติอยู่ด้วย และก็ ฝา เจนลาภวัฒนกุล ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานอยู่เดิม และก็ ชิน เรืองจินดา

แต่ปรากฏว่า 3 คนหลังได้ขอเวลานอกเพื่อปรึกษาหารือกันนอกห้องประชุมและกลับเข้ามาใหม่พร้อมกับคำตอบที่ยงเกียรติเป็นคนตอบว่าเขาทั้ง 3 คงไม่สามารถจะเป็นผู้จัดการได้ต่อไปจึงได้ขอถอนตัว

วิเทศบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเขาก็ได้เสนอคนใหม่เข้ามาแทน 3 คนที่ถอนตัวออกไปซึ่งได้แก่ กวงยิ้ม เซียงหว่อง อนนต์ แก้วพฤกษาพิมล และ แก้ว รุจิประชากร แต่ปรากฏว่าทั้ง 3 คน ที่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่ในรอบ 2 ก็ถอนตัวออกไปอีก แล้วก็พลอยทยอยเดินออกนอกห้องประชุมไปทีละคนสองคน

จะว่าไปแล้วทั้ง 6 คนที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ทั้ง 2 รอบนั้นก็ล้วนแต่เป็นกรรมการเดิมใน 12 คนเก่าแก่อยู่ด้วยกันมานานนับ 10 กว่าปีที่ตั้วบริษัทมา และเคยเป้นอันหนึ่งอันเดียวกันมาโดยตลอด ซึ่งบางคนก็บอกว่ามันไม่ได้อยู่ที่คนใหม่คนเก่าจะเข้ามา แต่อยู่ที่สัดส่วนกรรมการใหม่นั้นได้กลายเป็นฝ่ายวิเทศคนเดียวเสีย 4 ต่อ 3 ฉะนั้น 3 คนหลังถูกเลือกเข้ามาจึงมองไม่เห็นความหมายอะไรของการเป็นกรรมการมากกว่า

ปัญหามีว่าแล้ววิเทศทำเช่นนั้นเพื่ออะไรกัน!?

"เมื่อเป็นเช่นนั้น เพื่อให้การประชุมดำเนินต่อไป ผมก็เลยเอาฝ่ายของผมเข้าไปเป็นกรรมการทั้งหมด เพ่อการบริหารจะได้ดำเนินต่อไปได้และนำรายงานการประชุมที่เปลี่ยนแปลงใหม่นั้นไปจดทะเบียนต่อไป" วิเทศเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ยังไม่ทันที่จะนำรายงานการประชุมไปยื่นจดทะเบียนที่พาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรี วันที่ 22 ตุลาคมหรืออีก 3 วันต่อมา ยงเกียรติ เกียรติศรีธารา ก็ถูกยิงตายไปเสียก่อน

มีคนพยายามอธิบายว่า การตายของยงเกียรติมีความเกี่ยวพันกับการอมเงินในบัญชีสองของบริษัทอุตสาหกรรมมิตรเกษตรซึ่งเขาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ คนที่มีความเห็นเช่นนั้นระบุว่าการประกอบธุรกิจโรงงานน้ำตาลโดยทั่วไปจะมีการทำบัญชี 2 บัญชี โดยบัญชีแรกเป็นบัญชีลงรายได้จากการขายน้ำตาลในตลาดปกติ แต่อีกบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีรายได้จากการขายน้ำตาลในตลาดมืด

เงินในบัญชี 2 นั้นกล่าวกันว่ามีเงินอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ และวิเทศเองไม่รู้จำนวน 90 ล้านบาท และกำลังจะเข้าไปเคลียร์บัญชีนี้อยู่พอดี จึงมีการสงสัยกันว่าคงจะมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเงินที่หายไปนั้นเข้าไปเคลียร์บัญชีลับกับยงเกียรติเสียก่อน!!

และก็ระบุไปอีกว่าวิเทศนั้นไม่เห็นด้วยที่ยงเกียรติที่จะนำบริษัทเดอะไทยชูการ์เทอมิเนิ้ล คอเปเรซั่น ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมมิตรเกษตรถือหุ้นใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ข้อสงสัยนี้สุนทร โภคาชัยพัฒน์ ในฐานะคนใกล้ชิดกับวิเทศกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าวิเทศนั้นจริงๆแล้วเป็นคนทันสมัยและยอมรับความคิดเห็นใหม่ๆอยู่เสมอ การนำหุ้นเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของไทยซูการ์นั้นเป็นเรื่องที่วิเทสเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนบัญชี 2 จะมีหรือไม่นั้นไม่มีใครยืนยัน แต่ถ้าถามวิเทศเขาก็จะตอบว่าการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลในยุคปัจจุบันนั้น ถูกควบคุมทุกขั้นตอนจากสำนักงานกลาง โอกาสที่น้ำตาลจะรั่วไหลและเกิดบัญชี 2 ขึ้นนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก

เหตุผลของเขาที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนการบริหารงานภายในบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลมิตรเกษตรนั้น เพราะต้องการนำระบบการบริหารสมัยใหม่เข้าไปใช้ในกิจกรรมให้มากขึ้น และที่สำคัญสามปีที่ต้องหลบหน้าหายหน้าไปจากกิจการนี้ก็เพราะเขามีปัญหาเรื่องโรงงานน้ำตาลไทย แต่เมื่อโรงงานน้ำตาลไทยได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปแล้ว เขาจะกลับมาบริหารมิตรอีกครั้งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ชอบธรรมในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

"คือการที่คุณวิเทศออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในมิตรเกษตรในขณะนั้น ก็เพราะกิจการอีกซีกหนึ่งคือโรงงานน้ำตาลไทยมันมีปัญหา เพื่อให้มีการแยกตัวออกจากกันโดยชัดเเจ้งในกิจการทั้งสองอัน ระหว่างอันที่มีปัญหากับอันที่ไม่มีปัญหาเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แต่เมื่อการแก้ปัญหามันจบลงแล้ว คุณวิเทศจะกลับเข้ามาบริหารอีกเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรแปลก" อำนวย ปะติเส พูดเสริมขึ้นมาในระหว่างที่ "ผู้จัดการ" สัมภาษณ์วิเทศอยู่

สุนทร โภคาชัยพัฒน์ กับ อำนวย ปะติเส ซึ่งใกล้ชิดกับวิเทศมานานกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เป็นทำนองเดียวกันว่าโดยนิสัยส่วนตัวแล้ววิเทศเป็นคนที่มีนิสัยอ่อนน้อมมาก และก็เป็นคนที่ไม่ชอบความรุนแรง มีความคิดก้าวหน้าพยายามจะให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารงานภายในให้ทันสมัยตั้งแต่สมัยเชิญ ดร.ทะนง ลำไย เข้ามาเป็นที่ปรึกษาบริษัทเพื่อวางระบบการบริหารใหม่เมื่อปี 2524 และก็ทำอยู่นานถึง 4 ปี วิเทศไม่เคยทำอะไรที่เป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่า

"ผมว่าคุณวิเทศเป็นคนใจเย็นมาก ไม่เคยมีปากเสียงกับใครแบบแรงๆสักที" สุนทร โภคาชัยพัฒน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ยงเกียรติ เกียรติศรีธารา เข้ามาอาณาจักรของวิเทศตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งเป็นปีที่วิเทศเริ่มขยายโรงงานมิตรเกษตรและเตรียมการก่อตั้งโรงงานที่สองคือโรงงานน้ำตาลไทยใหม่ๆ และก็เป็นช่วงที่วิเทศเร่งขยายธุรกิจอย่างมากในเวลาต่อมา แต่ขาดคนช่วยเหลือดูแล

วิเทศบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ายงเกียรติเป็นญาติกับเขา แม้จะไม่ใช่โดยสายเลือดก็ถือว่าเป็นญาติร่วมน้ำสาบานกันเลยทีเดียว ยงเกียรติจึงเป็นคนที่เขาไว้วางใจในความซื่อสัตย์และความสามารถ จึงได้ให้เข้ามาเป็นผู้ช่วยงานและก็ให้เป้นรองกรรมการผู้จัดการในบริษัทอุตสาหกรรมมิตรเกษตร โดยวิเทศแบ่งหุ้นให้ถือประมาณ 2% ในขณะที่ ฝา เจนลาภวัฒนกุล ก็เปรียบเสมือนญาติที่เริ่มต้นตั้งโรงงานมาด้วยกันและฝาก็เป็นหัวหน้าโควตาอยู่ก่อนก็เลยให้ฝาเป็นผู้จัดการโรงงาน

คนใกล้ชิดและรู้เรื่องครอบครัว "ว่องวัฒนะสิน" ดีคนหนึ่งบอกว่ายงเกียรติเป็นลูกเลี้ยงของแม่เลี้ยงวิเทศ ฉะนั้นยงเกียรติก็เปรียบเสมือนน้องชายคนหนึ่งของวิเทศนั่นเอง

"ก่อนปี 2529 วิเทศไปไหนก็มักจะเอายงเกียรติติดสอยห้อยตามไปด้วยเสมอๆ และวิเทสแกมีจุดอ่อนอยู่ที่พูดภาษาไทยไม่ค่อยชัดและเป็นคนที่พูดกระโดดไปกระโดดมา ถ้าคนที่ไม่คุ้นเคยกับแกจริงๆแล้วจะฟังแกพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง พอคุณยงเกียรติเรียนงานได้ระดับหนึ่ง คุณวิเทศก็ให้เขาเป็นคนประสานงานแทนทุกเรื่อง บริษัทเกือบทุกแห่งของวิเทศจะมีชื่อยงเกียรติเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยเสมอ ที่สำคัญอย่างไทยซูการ์ เพราะมิตรเกษตรเข้าถือหุ้นอยู่ด้วยก็ถถึงขนาดสางยงเกียรติไปเป็นกรรมการผู้จัดการ และอีกอย่างยงเกียรติเป็นคนคล่องตัวมากในเรื่องการค้าการขาย ก็ถือว่าเป็นแรงสำคัญของวิเทศทีเดียว" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับคนทั้งสองเล่าให้ฟัง

การตายของยงเกียรติย่อมเป็นเรื่องที่วิเทศไม่สบายใจอย่างยิ่ง เขาจะเป็นผู้ถูกสงสัยอยู่ด้วย เขาบอกว่ายิ่งถ้าผลการสืบสวนออกมาได้เร็วเท่าไหล่ยิ่งจะทำให้เขาสบายใจขึ้นมาเท่านั้น

ยงเกิยรติขึ้นมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมมิเกษตรเมื่อปี 2529 ซึ่งเป็นช่วงที่วิเทศเริ่มประสบกับวิกฤติการณ์ทางธุรกิจ ข่าวบางกระแสระบุว่ายงเกียรติขึ้นมานั่งในตำแหน่งนั้นได้ในขณะที่ถือหุ้นเพียง 2 % นั้นก็เป็นเพราะแรงผลักดันของ ชวน รัตนรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของมิตรเกษตร ที่ต้องการให้วิเทศออกไปพักเสียก่อน

มิตรเกษตรโดยตัวของมันเองไม่ได้ประสบปัญหาเหมือนกับโรงงานน้ำตาลไทย มูลค่าที่ประเมินในปัจจุบันของมิตรเกษตรสูงถึงประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในการขยายกำลังในครั้งล่าสุด ในขณะนี้เหลือหนี้สินคงค้างอยู่ 400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่คุ้มหนี้และคาดว่าจะมีกำลังพอที่จะชำระหนี้ได้หมดเพราะโรงงานแห่งนี้มากำลังการผลิตถึง 12,000 ตันอ้อยต่อวัน

เมื่อมีกระแสข่าวว่าโรงงานน้ำตาลของวิเทศมีปัญหาเรื่องการเงิน ชวน รัตนรักษ์ ในฐานเจ้าหนี้รายใหญ่ก็อยากให้วิเทศถอยห่างออกไปก่อน โดยให้ยงเกียรติขึ้นเป็นผู้จัดการดูแลแทน ทั้งนี้เพื่อต้องการให้แยกส่วนธุรกิจออกจากกันโดยชัดเจนระหว่างมิตรเกษตรกับโรงงานน้ำตาลไทย

" ที่ชวนเลือกยงเกียรติก็เพราะว่าเขาอาจจะเห็นความสามารถของเขาที่เข้าไปบริหารไทยซูการ์ประสบชความสำเร็จค่อนข้างดี อีกอย่างหนึ่งเขาเป็นคนที่เข้ากับชวนได้แนบสนิทในระยะหลัง ๆ นี้ จากการที่ไปติดต่องานวิเทศบ่อย ๆ " แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดวิเทศเล่าให้ฟัง

เมื่อโรงงานน้ำตาลไทยมีปัญหามากขึ้น ชวนก็กลัวว่าหลักทรัพย์ในส่วนของตนจะไม่พอใช้หนี้ก็เลยขอร้องให้วิเทศนำหลักทรัพย์ที่ปลอดจำนองที่อยู่ในโรงงานมาจดจำนองกับแบงก์กรุงศรี ฯ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับกาสรที่มีข่าวว่าแบงก์กรุงศรีฯ ยื่นโนติสยื่นฟ้องโรงงานน้ำตาลไทยจนการเจรจากับหน้าหนี้รายอื่นไม่เป็นผล เพราะต่างก็หวาดระแวงกันทั่วหน้า

วิเทศตอบชวนไปว่าเขาคงทำตามที่เขาขอมาคงไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้คนอื่นเขาคงไม่ยอมแน่ ๆ และก็อาจจะรุมฟ้องโรงงานน้ำตาลไทยกันทุกคนในที่สุดก็ไม่เหลืออะไรเลย

" จุดนี้เริ่มทำให้ชวนไม่พอใจวิเทศเอามาก ๆ แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าวในขณะที่หาทางแก้ปัญหา ให้แก่โรงงวานน้ำตาลไทยเมื่อต้นปี 2531 ของ สุนทร โภคาชัยวัฒน์ กับอำนวย ปะติเสนั้น ฝ่ายฝา เจลาภวัฒนกุล ผู้ร่วมเป็นรวมเป็นร่วมตายกับวิเทศมานานกับมิตรเกษตรใหม่ ก็จับมือกรับยงเกียรติปฏิบัติการอันน่าสงสัยอยู่ไม่น้อย

ทั้งสองตั้งบริษัทขึ้นมา 2 บริษัทและเข้าประมูลซื้นหุ้นของโรงงานน้ำตาลไทยของธนาคารไทยพาณิชย์บังคับจำนำขายทอดตลาด ในขณะที่วิเทศเองก็กำลังหาทางดิ้นรนในการฟื้นฟูและเข้าแข่งขัในการปรีะมูลในครั้งนั้นด้วย และก็ไม่รู้มาก่อนว่าทั้งสองก็เข้าประมูล วิเทศมารู้เอาช่วงโค้งสุดท้ายจึงขอคัดค้านการขายทอดตลาดและให้เปิดประมูลใหม่

คนใกล้ชิดของวิเทศเริ่มที่จะรู้ระแคะระคายว่ายงเกียรติกับว่าคิดอะไรกับวิเทศ และมองว่าทั้งสองคนคงหวังที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลไทยเสียเอง แทนที่เขาจะช่วยวิเทศในการกอบกู้สถานการณ์

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่วิเทศอยากจะให้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารอุตสาหกรรมมิตรเกษตรเสียใหม่ เมื่อเขาได้กลับมาอีกครั้งในการประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่าน

วิเทศ ว่องวัฒนสิน ได้มิตรเกษตรคืนมา แต่ก็ต้องแลกไปด้วยการสูญเสียเพื่อนร่วมธุรกิจมาด้วยกันยาวนานมาหลายคน แม้แต่เจ้าหนี้รายใหญ่อย่างธนาครากรุงศรีอยุธยาซึ่งในจณะนี้ยังไม่มีการพบปะกันระหว่างวิเทศกับชวนว่ายังจะคงสนับสนุนทางการเงินต่อเขาหรือไม่

" ถ้ากรุงศรีฯ ไม่เอา สำคัญมิตรเกษตรแล้วเดินเข้าขอแบงก์ไหนใครก็ให้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีการหาลือเท่านั้นเอง" อำนวย ปะติเส ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ วิเทศเป็นคนตอบคำถามนี้ของ "ผู้จัดการ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.