ตากไมน์นิ่ง : สินทรัพย์อีกตัวหนึ่งของจีเอฟ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ปกติเป้าหมายธุรกิจของกลุ่ม จี.เอฟ. ไฟแนนซ์ แอนด์ ซีเคียวริตี้ จะอยู่ในสายธุรกิจการเงิน ค้าหลักทรัพย์และพัฒนาที่ดินอสังหาริมทรัพย์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่น่าสนใจมาก นับตั้งแต่การจัดตั้งองค์กรในรูปแบบโฮลดิ่งคอมปะนี ในนาม G. F. HOLDING ที่ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มสุวิทย์ -เสรี โอสถานุเคราะห์ การเข้าผนวกกิจการบังหลวงประกันภัยที่ประสบปัญหา โดยประมูลซื้อจากสำนักงานประกันภัยที่เข้าควบคุมกิจการ การร่วมลงทุนธุรกิจ MERCHANT BANKING กับมอร์แกน เกรนเฟล ของอังกฤษ การร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในจีเอฟ ไฟแนนต์ แอนด์ ซีเคียวริตี้ กับกลุ่มธนาคาร เอ เอ็น แซค เพื่อเปิดธุรกิจการเงินค้าปลีก

การเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ทิศทางธุรกิจของกลุ่มนี้ที่มี ชินเวศ สารสาส ลูกเขยคนหนึ่งของคนในตระกูลโอสถานุเคราะห์อย่างชัดเจนว่าต้องการขยายธุรกิจในเครือข่ายบริการทางการเงินให้ครบวงจร ตั้งแต่หลักทรัพย์การเงินเพื่อการบริโภค คอร์ปอเรท ไฟแนนต์ และประกันภัย

ชินเวศเป็นคนรุ่นใหม่ที่เร่าร้อนในการบริหารธุรกิจการเงินแบบอเมริกันเขารู้ดีว่า การขยายตัวธุรกิจการเงิน ที่ได้ผลทั้งในแง่พัฒนาสินทรัพย์และภาพพจน์อย่างรวดเร็ว ต้องใช้กลไกความเป็นมืออาชีพของผู้บริหาร และกล้าได้กล้าเสียในการร่วมลงทุนกับต่างชาติผู้ชำนาญการที่มีสินทรัพย์และเครือข่ายธุรกิจกว้างขวาง

สุธี สิงห์เสน่ห์ ณรงค์ชัย อัครเศรณี และพิศาล มูลศาสตรสาทร บุคคลทั้งสาม เหล่านี้ เคยมีบทบาทใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญในวงจรธุรกิจระดับสูงทั้งในต่างประเทศและในประเทศ หรือแม้แต่ในวงราชการอย่างพิศาล มูลศาสตรสาทร ที่เคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย

บุคคลทั้ง 3 นี้ ชินเวศ เชื้อเชิญเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ในกลุ่ม สุธี เป็นประธานมอร์แกน เกรนแฟล (ไทย) พิศาลเป็นประธานตากไมน์นิ่ง ณรงค์ชัยเป็นประธานบริหาร จี เอฟ กรุ๊ป

" เป้าหมายการดึงบุคคลผู้ใหญ่ ทั้ง 3 คน อยู่ที่การรู้จักใช้คนที่ถูกกับกลยุทธ์ของบริษัท" คนในวงการเงินให้ขอสังเกต

ก็คงไม่ผิดนัก ณรงค์ชัยมาเส้นสายกว้างไกลกลุ่มธุรกิจในออสเตรเลียที่เขาเคยเรียนหนังสืออยู่ที่นั้น พิศาลเคยเป็นปลัดมหาดไทยที่มีอิทธิพลในจังหวัดตาก ที่มีประโยชน์ในการทำงานธุรกิจสำรวจและผลิตแร่

จุดที่น่าสนใจคือ ธุรกิจของตากไมน์นิ่งเป็นการขยายสายธุรกิจออกนอกกลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์ของจี เอฟ แห่งแรก

ตากไมน์นิ่ง เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง จี เอฟ โฮลดิ้ง กับ เมตัล เกลเซลชาร์พ ( METALL GELSELLCHAFT แห่งเยอรมนี สำรวจแร่ที่อ. แม่สอด จ. ตาก พืนที่สัมปทานที่ได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณี 20,000 ไร่

ธุรกิจแร่และทรัพยากรเหมืองแร่ เฟื่องฟูขึ้นมากนับตังแต่บริษัทผาแดงได้กำเนิดขึ้น และพัฒนาเติมใหญ่จนเป็นหุ้นยอดนิยมในตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในหุ้นตัวนี้

ปัจจุบันหุ้นเหมืองแร่ในตลาด มี 4 บริษัท คือ ทุ่งคาฮาเบอร์ ผาแดง เหมืองบ้านปู และอ่าวขามไทย แต่ดูเหมือนว่าผาแดงจะเป็นที่ ACTIVE ที่สุด ราคาปิด ณ วันที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 700 จุด ตก 1,882 บาท ณ ราคาที่ 776 จุด ตก 2,114 บาท กล่าวอีกนัยหนึ่ง เพียงแค่ 1 เดือน ราคาหุ้นผาแดงพุ่งมาสูงถึง 12% (232 บาท )

แหล่งข่าวในบีโอไอ กล่าวกับ "ผู้จัดการ " ว่าบริษัทตากไมน์นิ่งกำลังได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการบีโอไอ ในเร็วๆนี้ในโครงการแปรรูปสังกะสีซัลไฟด์ที่สำรวจได้จากพื้นที่ได้รับสัมปทาน

บริษัทตากไมน์นิ่งที่ยื่นขอส่งเสริมจากบีโอไอจะเพิ่มทุนจาก 6 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท วงการค้านักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ความเห็นว่า ถ้าตากไมน์นิ่งเข้าตลาด หุ้นก็จะเป็นหุ้นที่น่าลงทุนอีกตัวหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง หุ้นตัวนี้มีจีเอฟเป็นกลุ่มในเครือข่าย และสองธุรกิจแร่สังกะสีมีอนาคตดีมานด์ตลาดโลกดีมาก

เป็นไปได้ ? ที่ตากไมน์นิ่งจะอยู่ใน OPTION ที่กลุ่มจีเอฟลงทุนเพื่อหวังอนาคตในหุ้นตัวนี้ เหมือนที่เป็นอยู่ในผาแดงเวลานี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.