|
ขอ.แพ้คดีเสี่ยงภัยนกแอร์
ผู้จัดการรายวัน(18 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดฉากคดีแรก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค ศาลแพ่งพิพากษา “กรมการขนส่งทางอากาศ ” จ่าย 5 หมื่นบาทชดใช้ “เจิมศักดิ์” ค่าความหวาดกลัวต่อการเสี่ยงภัย หลังใช้สิทธิยื่นฟ้องที่สนามบินนครศรีธรรมราชบกพร่องไม่ตั้งเครื่องตรวจค้นวัตถุระเบิดและโลหะผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ส่วน “นกแอร์” ให้ยกฟ้องไม่ต้องร่วมรับผิด ชี้มีหน้าที่แค่เตรียมเครื่องบินให้บริการ
วันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 416 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ ผบ.1/2551 ที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด และกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการสนามบินนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 กรณีที่ไม่ได้จัดให้มีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและโลหะหนัก เพื่อตรวจค้นตัวผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช ในเที่ยวบินสายการบินนกแอร์ ที่ DD 7811 วันที่ 16 ส.ค.51 ซึ่งโจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ใช้บริการดังกล่าวเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพฯ โดยเมื่อโจทก์สอบถามเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอยืมเครื่องตรวจวัตถุระเบิดไป และยังไม่ได้นำมาคืนในวันดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจัดให้มีการตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนอย่างเคร่งครัดในทุกๆ สนามบิน หากขาดเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะต้องยุติการให้บริการจนกว่ามาตรการความปลอดภัย และเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะทำงานอย่างครบถ้วน และขอให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ต่อความเสี่ยงภัยที่จะต้องได้รับอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยคำนวณเป็นค่าขาดรายได้โจทก์ จำนวน 4.5 ล้านบาท และค่าที่ภรรยาโจทก์จะต้องขาดไร้อุปการะ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 5.5 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ 2 ฝ่ายนำสืบแล้ว ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากเห็นว่าตามกฎหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องดูแลสนามบินในฐานะหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการให้บริการท่าอากาศยาน เป็นผู้ดูแลและจัดเตรียมความพร้อมต่อการรักษาความปลอดภัยสนามบิน ซึ่งถือเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ขณะที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนผู้ให้บริการสายการบิน มีหน้าที่ดูแลให้ความสะดวกต่อผู้ใช้บริการในการบินโดยมีหน้าที่ต้องเตรียมเครื่องบินให้พร้อมบริการเท่านั้น ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ที่ต้องเกิดความวิตกกังวลว่าจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย เป็นเงิน 50,000 บาท ที่บกพร่องไม่นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดฯ มาติดทันทีเมื่อได้รับคืนจาก ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบว่า หลังจากมหาวิทยาลัยยืมเครื่องตรวจวัตถุระเบิดไปใช้ดูแลความปลอดภัยในงานวันรับปริญญาบัตรแล้วได้ส่งคืนเมื่อวันที่ 15 ส.ค.51 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยังทิ้งเวลาไว้อีกจึงนำเครื่องมาติดตั้งในวันที่ 17 ส.ค.51 ส่วนคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้มีการตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนอย่างเคร่งครัดในทุกๆสนามบิน นั้น เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ดำเนินการ ขณะที่ทางนำสืบไม่ปรากฏว่าสนามบินแห่งอื่นได้พบข้อบกพร่องเช่นเดียวกันนี้ จึงมีให้ยกคำขอดังกล่าว
ภายหลัง นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกพอใจต่อผลคำพิพากษาที่จะเป็นบรรทัดฐานให้สนามบินต้องดูแลเข้มงวดเรื่องการดูแลความปลอดภัยเพื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดี ตนยังติดใจกรณีของสายการบินนกแอร์ที่เห็นว่าควรต้องร่วมรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการสายการบินในฐานะผู้บริโภคที่จ่ายค่าตั๋วให้บริษัท นกแอร์ฯ แล้ว บริษัทได้นำเงินส่วนหนึ่งจ่ายให้กรมการขนส่งที่ใช้บริการสนามบินด้วย ซึ่งในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ตนเคยใช้บริการ พบว่า นอกจากสนามบินจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยแล้ว สายการบินเองยังมีจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยตรวจผู้โดยสารก่อนจะขึ้นเครื่องด้วย ดังนั้น ตนจะพิจารณาและหารือกับมูลนิธิผู้บริโภคว่าควรจะอุทธรณ์ในประเด็นที่ต้องการให้สายการบินนกแอร์ ร่วมรับผิดชอบในการจัดอุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิดเพื่อดูแลความปลอดภัยผู้ใช้บริการหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับสายการบินต่างๆ ด้วย โดยการยื่นฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่ตนต้องการให้ทั้งสายการบิน และสนามบินดูแลเรื่องความปลอดภัย
นายเจิมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการยื่นฟ้องคดีของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค ด้วยว่า เมื่อผู้บริโภคมีช่องทางตามกฎหมายที่จะรักษาสิทธิแล้ว ก็น่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยกฎหมายนี้ในการยื่นฟ้องผู้บริโภค ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และการพิจารณาคดีใช้เวลาไม่นาน ตัวอย่างคดีของตนศาลใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ขณะที่เมื่อฟ้องคดีแล้วจะเป็นภาระของฝ่ายผู้ประกอบการที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐาน โดยการนำสืบนั้นศาลยังสามารถที่จะเรียกพยานมาไต่สวนได้เองด้วย ดังนั้น กฎหมายนี้จึงสร้างความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้นายเจิมศักดิ์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่ยื่นฟ้องตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 หลังจากกฎหมายฉบับนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.51 โดยการฟังคำพิพากษาวันนี้ฝ่ายบริษัท นกแอร์ฯ และกรมการขนส่งทางอากาศ ได้มอบอำนาจให้ตัวแทนเดินทางมาศาล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|