M.D. บริษัททีเอซี ตัวแปรอยู่ที่เกษม


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

"เลื่อน" ชื่อของเขามักจะถูกยกขึ้นมากล่าวขานคู่คี่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญขององค์กรรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ ๆ อย่างน้อยก็สองครั้งด้วยกัน

เมื่อสองปีก่อน เขาเป็นตัวเต็งที่จะขึ้นมารั้งเก้าอี้ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แทน ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ผู้มีอันต้องพ้นตำแหน่งไป เพราะครบวาระ 2 เทอมที่อยู่ติดต่อกันมาแล้วแปดปี

แล้วเขาก็ยังคงต้องนั่งเก้าอี้ตัวเดิมที่ตึกลิ้มเจริญ วิภาวดีอย่างเก่า

ถึงคราวที่โชติชัย อรรถวิภัชน์ ลาออกจากผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เขาก็ได้รับการกล่าวขวัญว่า จะมาเป็นผู้ว่าการ กนอ. จนเป็นข่าว

เพราะต่างเล็งกันว่า การที่เขาได้เข้าเป็นบอร์ดคนหนึ่งของ กนอ.นั้น คงจะเป็นการเริ่มต้นสำหรับการเข้าไปเป็นผู้ว่าการเต็มตัว

ทว่า เขายังคงนั่งเก้าอี้ตัวเดิม แต่เป็นตึกใหม่ ปตท.ที่ลาดพร้าว

"เลื่อน กฤษณกรี" รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติก๊าซธรรมชาติ หนุ่มใหญ่ผิวเข้มฉายา "สิงห์ทมิฬ" ซึ่งเพิ่งจะโยกมาจากตำแหน่งรองผู้ว่าด้านการตลาดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ครานี้ ชื่อ "เลื่อน" ที่บรรดานักข่าวมักจะเรียกติดปากว่า อาจารย์ ได้กลายเป็นตัวเต็งกระแสแรงอีกครั้งหนึ่งกับตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" ของบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (THE AROMATICS (THAILAND) COMPANY LIMITED) หรือใช้ชื่อย่อว่า "ทีเอซี"

ทีเอซี เป็นบริษัทที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการโรงงานอะโรเมติกส์ โดยจะผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานในโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 2 อย่างครบวงจร

ทีเอซีเกิดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 125 ล้านบาท โดยมีบริษัท ไทยออยล์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% บริษัทเอ็กซอน เคมิเคิลอีสเทอร์น จำกัด 35% และ ปตท. 25%

การดำเนินงานในขณะนี้บริหารโครงการในรูปของคณะกรรมการ อันประกอบด้วยผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย และแยกคณะกรรมการเป็น 4 ฝ่าย ดังนี้

ฝ่ายเทคนิคโครงการมี เกษม จาติกวณิช กรรมการอำนวยการและประธานกรรมการไทยออยล์เป็นประธาน

ฝ่ายบริหารกิจการ มีจุลจิตต์ บุณยเกตุ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการของไทยออยล์เป็นประธาน

ฝ่ายการเงินมี LEONARDUS CUSELL จากเอ็กซอนฯ เป็นประธาน

ฝ่ายการพาณิชย์ มีพละ สุขเวช รองผู้ว่าการ ปตท. ด้านวิชาการและวางแผนเป็นประธาน

โครงสร้างการบริหารของ ทีเอซี จะมี ดร.อาณัติ อาภาภิรม ผู้ว่าการ ปตท. เป็นประธานกรรมการ ส่วนตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" นั้น ยังเป็นห้วงเวลาของการสรรหาและซาวเสียงอยู่ว่า ใครจะมารั้งเก้าอี้ตัวนี้จึงจะเหมาะสมที่สุด

แล้วชื่อของ "เลื่อน กฤษณกรี" ก็ได้รับการเสนอขึ้นในที่ประชุมบอร์ด ปตท. ในเชิงของการหยั่งเสียง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องที่จะให้ "เลื่อน" ไปดำรงตำแหน่งใหม่นี้ "เลื่อน" จึงกลายมาเป็นเต็งหนึ่งอีก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกเหนือจากภาพของคนมีฝีมือของ "เลื่อน" แล้ว ภาพสำคัญอีกฉากหนึ่งที่ทำให้ชื่อ "เลื่อน" ออกมาเป็นตัวเต็งในตำแหน่งสำคัญแต่ละครั้งนั้นมาจากสไตล์การทำงานที่อยู่คนละมุมกับดร.อาณัติ ผู้ว่าการ ทำให้กลายเป็นภาพของความขัดแย้งที่ดูจะเข้มข้นนัก

แม้ว่า ดร.อาณัติและเลื่อนจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิศวะที่ จุฬาฯ ด้วยกัน แต่คนละกรุ๊ป "เลื่อน" จึงสนิทกับ ดร.ทองฉัตร กรุ๊ปเดียวกันมากกว่า จนวันนี้ก็ยังเป็นเพื่อนที่เรียกขานชื่อ ดร.ทองฉัตร ว่า "ฉัตร" เหมือนเดิม

ส่วนตัว "เลื่อน" เองก็ยอมรับว่า วิธีการทำงานของตนไม่เหมือนกับ ดร.อาณัติที่มีสไตล์การทำงานที่ต้องดูหน้าดูหลัง ดูซ้ายดูขวา จนมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์จึงลงมือ ทำนองว่า ลั่นกระสุนแล้วนกต้องร่วง ขณะที่ "เลื่อน" เป็นคนเร็ว ทำอะไรเด็ดขาด ได้เสียก็ว่ากันไปเลย ซึ่งแต่ละคนก็เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ที่ต่างกัน

กระแสข่าวของ "เลื่อน" กับตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" ทีเอซีที่เล็ดลอดออกมานั้นย่อมมีมูลที่เป็นจริง เช่นเดียวกับที่ไหนมีควัน ที่นั่นย่อมมีไฟ

สาเหตุที่แท้จริง ส่วนหนึ่งมาจากการพูดคุยของระดับสูงใน ปตท. ที่มีความเห็นว่า ปตท.น่าจะมีตัวแทนเข้าไปนั่งตำแหน่งนี้ ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทน้ำมันของชาติควรเข้าไปมีบทบาทและกำกับด้านนโยบายได้ใกล้ชิดที่สุด

ปตท. แม้จะมีหุ้นในทีเอซีเพียง 25% แต่ก็ถือหุ้นในไทยออยล์ 49% จึงรู้สึกว่า น่าจะหมายถึงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยออยล์ในการดำเนินกิจการอื่น ๆ ด้วย

แต่ในภาพกลับกัน โดยระเบียบของ ปตท. เองได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า หน่วยงานใดที่ ปตท.เข้าไปถือหุ้นกว่า 50% จึงจะระบุว่า ให้ผู้ว่าการหรือประธานบอร์ด ปตท. ไปเป็นประธาน แต่การที่ ปตท.มีตัวแทนไปเป็นประธานนั้น เนื่องจากทางไทยออยล์ ผู้ถือหุ้นใหญ่เห็นว่า ควรจะให้ ปตท.รับไปดีที่สุด

ความเสียเปรียบของ ปตท.จึงอยู่ที่ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ จึงทำให้หวั่นกันว่า หากทางไทยออยล์ หรือ เกษม โต้โผใหญ่จะเสนอใครสักคนเข้าไปแล้วได้เสียงหนุนจากเอ็กซอนฯ ปตท.ก็คงหมดสิทธิ และแล้วข่าวว่า "จุลจิตต์" มือขวาของเกษมจะเข้ารั้งตำแหน่งก็แพลมออกมา

"จุลจิตต์" จึงกลายเป็นแคนดิเดตของ "เลื่อน" ในวงลึก โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะหากเกษมเสนอขึ้นมา ทาง ปตท. ก็คงต้องพัง และเป็นที่ยอมรับว่า เกษมยังคงเป็นคนที่มีฝีมือ และบารมีอยู่สูง

เรื่องของเรื่องเกิดจากว่า "จุลจิตต์" หรือผู้ที่มีรหัสประจำตัวในออฟฟิศว่า "เจเจ" นั้นได้รับมอบหมายจากเกษม ให้เป็นประสานงานโครงการตั้งแต่แรกในฐานะที่ไทยออยล์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งกรรมการออกเป็นฝ่าย

"จุลจิตต์" เป็นคนเจรจาต่อรองกับตัวแทนของเอ็กซอนฯ ซึ่งไม่คุ้นกับการลงทุนในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นแบบไทยกว่าที่ฝ่ายไทย คือ ไทยออยล์จะได้เป็นคนดำเนินการด้านเทคนิคและให้ทางเอ็กซอนฯ ดูแลเป็นหลักในเรื่องการเงินนั้น เรียกว่าต้องใช้เทคนิค และมีลูกล่อลูกชนไม่เบา

เล่ากันว่า เกษมได้เปรยเรื่องกรรมการผู้จัดการของทีเอซีกับจุลจิตต์จริง ตามสิทธิของผู้ถือหุ้นใหญ่ และประสาคนรักลูกน้อย เมื่อเห็นว่ามีฝีมือก็อยากส่งเสริม

แต่ "จุลจิตต์" ได้ย้ำกับ "ผู้จัดการ" อย่างหนักแน่นต่อประเด็นนี้ว่า "ผมไม่เป็น และไม่อยากไป ผมอยู่ที่นี่ (ไทยออยล์) มา 20 ปี พอใจ ภูมิใจ กับงานในขณะนี้ และไทยออยล์ก็เป็น 1 ใน 5 ของบริษัทชั้นนำของประเทศ"

ขณะที่ทาง ปตท.เห็นว่า "เลื่อน" น่าจะทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ได้ เพราะเคยผ่านงานบริหารด้านตลาดและด้านปฏิบัติการมาแล้ว ทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานที่เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายปลีก ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด น่าที่จะใช้ประสบการณ์ด้านนี้มาประยุกต์ใช้ได้ดี

จากการพูดคุยกับแหล่งข่าวระดับสูงในวงการพลังงานและปิโตรเคมี ต่างยอมรับว่า "เลื่อน" เป็นคนมีฝีมือ แต่อาจจะติดที่โผงผางไป หากปรับจุดนี้ลงได้ ก็จะไปโลด เพราะตำแหน่งนี้เป็นงานที่ประสานต่อผลประโยชน์

ด้านเอ็กซอนฯ นั้น ย่อมต้องอาศัยเวลาในการปูฐานอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมีให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น คงจะยืดหยุ่นในการโหวตได้ เพราะทีมงานที่ร่วมทุนด้วยกันล้วนแต่เป็นระดับยักษ์ทั้งนั้น

ตัวแปรสำคัญ หากทาง ปตท. เจรจากับทางไทยออยล์ คือ เกษม ได้ก็คงหมดปัญหา

กลางปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงของการเปิดประกวดราคาสร้างโรงอะโรเมติกส์ และจำเป็นต้องมีแกนบริหารเป็นทางการแล้ว ก็จะรู้ว่า "เลื่อน" จะได้เลื่อนสมชื่อหรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.