เชียรช่วงเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์อันยาวนานในการศึกษาและทำงานในสหรัฐอเมริกา
แล้วหวนกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนในฐานะมันสมองคนหนึ่งของธุรกิจเอกชนไทย เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์โอเรกอน
ในสาขาวิศวกรรมวางระบบและบริหารงานผลิต ก่อนที่จะเข้าไปทำงานในฐานะวิศวกรรมผู้วางระบบการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ย่านซิลิคอนแวลเล่ย์
แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
สมัยอยู่สหรัฐฯ เขาภาคภูมิใจในงานออกแบบ CAD/CAM ให้กับบริษัท OMARK ที่โอเรกอนมาก
เพราะถือว่าผลงานนี้เป็นจุดเปลี่ยนฐานะอาชีพให้คนอเมริกันยอมรับในความสามารถของคนไทย
ซึ่งมีผลดันให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นเป็น PROJECT ENGINEER / TASK MANAGER
ในบริษัท GTE SYLVANIA ที่ยิ่งใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย
ความเป็นมืออาชีพในฐานะนักวางระบบและออกแบบงานผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเติบโตอย่างขีดสุดในสหรัฐฯ
ทำให้เขาหมุนเวียนเปลี่ยนแหล่งทำงานในหลายบริษัทแถบแคลิฟอร์เนียจาก GTE เขาไปทำที่บริษัท
VARIAN ที่พาร์โล อัลโต ในฐานะ PROGRAM MANAGER ผู้วางระบบและประยุกต์งานผลิต
AUTOMATED MANUFACTURING
ในปี 1987 เขาก็ตัดสินใจร่วมเป็นหุ้นส่วนกับนักธุรกิจอเมริกันในบริษัท CIMATION
/ THOR ที่ซาน ลีอัลโด ในตำแหน่ง PRESIDENT แต่ก็อยู่ได้เพียงปีเดียวก็ออกไปหุ้นส่วนกับ
US PACIFIC RIM CORP. ที่แฟร์ม็องต์ ผลิตสินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ แต่หุ้นส่วนแตกคอกัน
ทำให้การเป็นหุ้นส่วนกับอเมริกันมีระยะเวลาสั้น ๆ มาก
เชียรช่วงกลับเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว เหตุผลไม่ใช่เพราะล้มเหลวในหุ้นส่วน
หากเพราะเขาต้องการให้อุตสาหกรรมผลิตอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นในเมืองไทยเหมือนเช่นที่เป็นมาแล้วในฮ่องกงและไต้หวัน
"ฮ่องกงและไต้หวันมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่โตมาก กระบวนการผลิตของมันสามารถกระจายแหล่งผลิตไปยังครัวเรือนต่าง
ๆ ได้มากมาย เฉพาะที่ไต้หวันมีแหล่งผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เกือบ
2,500 บริษัท สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มันเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคสมัยใหม่นี้ทุกอย่าง
และที่สำคัญกว่านั้น สามารถส่งออกไปยังตลดาใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐฯ และยุโรป ทำเงินตราเข้าประเทศมากมายมหาศาล"
เขาแสดงคุณค่าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์อันยาวนานแล้วให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
เขาไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใครในเมืองไทย หากต้องการเป็น VENTURE CAPITALIST
กับนักอุตสาหกรรมคนไหนก็ได้ที่เข้าใจปรัชญาและอุดมการณ์ของเขา บริษัท PEMCO
ก่อตั้งขึ้นเมื่อกลางปีนตี้ร่วมหุ้นระหว่างเขากับทอมมี่ ยังส์ นักธุรกิจสัญชาติฮ่องกงที่เข้ามาทำธุรกิจ
TRADING ในเมืองไทยเป็นเวลา 19 ปีแล้ว ในนามบริษัท THAI TRADE CENTER ทอมมี่มีพี่ชายและเพื่อนนักธุรกิจอยู่ที่ฮ่องกงมีสายสัมพันธ์กับผู้นำธุรกิจฮ่องกงที่มีชื่อเสียงหลายคน
เช่น โรเบิร์ต ลี (ROBERT LI) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฮ่องกง
"เป้าหมายตลาดของ PEMCO อยู่ที่ดึงนักอุตสาหกรรมฮ่องกงเข้ามาลงทุนร่วมกับนักอุตสาหกรรมไทย
โดยมีผลเป็นตัวเชื่อมและ PEMCO เป็นหุ้นส่วนจำนวนหนึ่ง" เชียรช่วงพูดถึงเป้าหมายตลาดของบริษัท
PEMCO ให้ฟัง
เชียรช่วงและทอมมี่ทราบดีว่า กลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำของฮ่องกงที่เขามีเส้นสายติดต่ออยู่กำลังเตรียมแหล่งลงทุนใหม่นอกฮ่องกง
ซึ่งกำลังจะตกเป็นของจีนในปี 1997 เขาจึงไม่รีรอปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
แต่ปัญหามีอยู่ว่า จะเอาอุตสาหกรรมอะไรเข้ามาลงทุนในไทย และจะเอาพื้นที่อุตสาหกรรมที่ใดเป็นแหล่งตั้งโรงงาน
?
จนกระทั่งเขาได้พบและมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านเรากับสงครามชีวประวัติ
ดำรง นักอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งบริษัท จงสถิตย์ ปัญหาที่มีอยู่ในเรื่องสถานที่ก็แก้ตกไปได้
เมื่อสงครามมีที่ดินขนาดใหญ่ 600 ไร่อยู่ที่บางบอน เขตบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี
จุดนี้คือที่มาของโครงการเมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในสวนอุตสาหกรรมจงสถิตย์
ที่เชียรช่วงและสงครามได้เปิดการแถลงข่าวไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เอง
เมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นความฝันของเชียรช่วงมานานแล้ว เหตุผลหนึ่งเขาเป็นนักวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ระดับมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในอาชีพนี้มานาน
สอง - เขามีข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะไต้หวันและฮ่องกงที่ใช้สิทธิ
GSP ของสหรัฐฯ ส่งเข้าไปขายในตลาดสหรัฐฯ ปีละหลายพันล้านดอลลาร์ โดยที่ประเทศไทยโดยคนไทยเองกลับใช้สิทธิอุตสาหกรรมนี้น้อยมาก
ปล่อยให้ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ที่มาตั้งอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
เช่น IC และ PCB ในบ้านเราใช้สิทธินี้แทน และสาม - เขาต้องการให้คนไทยมีความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจนี้เนื่องจากเขามีความเชื่ออย่างมากว่า
อนาคตธุรกิจอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตอย่างมาก และจะช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิตให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล
"อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ในบ้านเราเวลานี้
ผมกล้าพูดได้เลยว่า 80% นำ CKD จากต่างประเทศเข้ามาประกอบในบ้านเราด้วยค่าจ้างแรงงานราคาถูกและสิทธิประโยชน์ส่งเสริมจาก
BOI ผมเห็นว่า วิธีการแบบนี้ไม่ถูกต้อง เราต้องลด CKD ลงให้เหลือ 20% เพื่อ
80% ที่เหลือจะสามารถส่งเสริมให้คนไทยมีโอกาสได้ผลิตของป้อนให้อย่างที่ไต้หวันและฮ่องกงทำเวลานี้ประเทศทั้ง
2 แห่งนี้มีหน่วยผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่ทั่วประเทศนับพัน
ๆ แห่ง" เชียรช่วงพูดถึงเหตุผลในการนำอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทย
เมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรม 4 กลุ่ม คือ
ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเด็กเล่น นาฬิกา และชิ้นส่วน และ FOREIGN
TRADE ZONE ธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ PEMCO จะมีส่วนเข้าไปถือหุ้นด้วยจำนวนหนึ่งทุกโครงการอย่างน้อยโครงการละ
10%
เชียรช่วงเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า แนวคิดตัวแบบสวนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบนี้
เขาจำลองมาจากสวนอุตสาหกรรมที่ไต้หวัน "ซิน ตู ไซพาร์ค" คือ ผู้พัฒนาที่ดินอุตสาหกรรมจะร่วมลงทุนด้วย
ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ขายกำไรจากที่ดิน
ที่ดินสวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นของสงคราม แต่อยู่ในรูปบริษัทที่ชื่อ THAILAND
ELECTRONIC CITY CO., LTD. (TEC) โดยมี PEMCO ถือหุ้นร่วมกับกลุ่มบริษัทจงสถิตย์ของสงครามและธนาคารกสิกรไทย
วันนี้ของเชียรช่วง คือ วันที่เขาสามารถพูดได้เต็มปากว่า เขาเป็น VENTURE
CAPITALIST เต็มตัวแล้ว
เพียง 3 เดือนที่เขาปั้น PEMCO ร่วมกับทอมมี่ เขาสามารถจับกลุ่มสหพัฒน์ลงทุนร่วมกับกลุ่ม
SWISS HI-TECH ผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาส่งออก และสหพัฒน์ร่วมกับแซมซุงผลิต PCB
ส่งออกคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาทแล้ว
เขาเพียงแต่ปั้นโครงการ TEC ให้เต็มโครงการเท่านั้น เขาก็จะเป็นคนไทยคนแรกที่สร้างสวนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นจริง
และ THAILAND : THE FIFTH TIGER OF ASIA ที่เป็นสโลแกนของ TEC ก็จะปรากฎเป็นจริง