ธุรกิจกับศิลปะ เรื่องของกรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจกับศิลปะเป็นสองสิ่งซึ่งโดยเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญของแต่ละฝ่ายแล้วไม่น่าที่จะต้องมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแต่อย่างใด ด้วยความที่ธุรกิจนั้นเป็นเรื่องของเงินๆทองๆ ที่รู้กันในรูปของผลกำไร ขาดทุน ในขณะที่ศิลปะเป็นเรื่องของผลงานสร้างสรรค์จากจินตนาการที่จะสัมผัสเข้าถึงได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึก

แต่ชีวิตไม่ได้มีเพียงด้านเดียว นักธุรกิจย่อมมีอารมณ์สุนทรีย์ในการเสพงานศิลปะ ได้เช่นเดียวกับที่ศิลปินผู้สร้างงานก็ไม่ปฏิเสธเงินทองที่เป็นค่าตอบแทนแลกเปลี่ยนกับผลงานความคิดของตน

ธุรกิจกับศิลปะจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกันบนพื้นฐานความต้องการที่สอดคล้องกันทั้งสองฝ่าย

งานศิลปะทุกวันนี้มีสภาพที่กลายเป็นสินค้าขายคล่องมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ หลายแห่งหันมาสนใจสะสมงานศิลปะกันมากขึ้น จะเพียงแค่ตบแต่งภาพพจน์ให้ดูเป็นผู้มีรสนิยมมากขึ้น หรือจะเป็นความสนใจชื่นชมอย่างแท้จริงก็ตาม แต่แนวโน้มก็เป็นนิมิตหมายอันดีกับวงการศิลปินบ้านเราที่จะได้ขยายตลาดผู้บริโภคงานศิลปะให้กว้างขวางขึ้น

ฝ่ายผู้ผลิตงานศิลปะเองก็ยอมรับในบทบาทด้านนี้ของธุรกิจที่ทำให้ศิลปินมีกำลังใจสร้างสรรค์งานออกมา

"สมัยที่ผมเรียนอยู่ ใครขายงานได้ชิ้นหนึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้อแงเลี้ยงแลองกันทั่วทั้งมหาวิทยาลัย" ศสิลปินละแวกหน้าพระลานท่านหนึ่งย้อนความหลังกลับไปในยุคที่กลุ่มผู้เสพงานศิลปะยังจำกัดอยู่ในแวดวงแคบๆ

ศิวะพร ทรรทรานนท์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ เป็นผู้หนึ่งที่นิยมชมชอบในงานศิลปะ และไม่ลังเลใจกับการควักกระเป๋าซื้องานชั้นเยี่ยมมาสะสมไว้ จนทำให้ทิสโก้ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่รวบรวมงานศิลปะของศิลปินชั้นแนวหน้าไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งไม่แพ้ชื่อเสียงการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำ

แต่งานศิลปะจะซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ก็ยังมีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปที่ผู้ซื้อเมื่อซื้อไปแล้วจะนำไปใช้สอยอย่างไรก็เป็นสิทธิโดยเด็ดขาดของผู้ซื้อแต่เพียงฝ่ายเดียวสำหรับงานศิลปะนั้น ศิลปินยังได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายในเรื่องของลิขสิทธิ์อยู่ ถึงแม้ว่าจะได้ขายกรรมสิทธิ์ของงานชิ้นนั้นไปแล้ว เว้นแต่จะได้มีการโอนสิทธิกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

งานศิลปะหลายชิ้นที่ศิวะพรซื้อเอาไว้ ถูกนำมาใช้เป็นแบบในการโฆษณาทิสโก้ ทั้งในรูปของสิ่งตีพิมพ์และโฆษณาทางโทรทัศน์ หนึ่งในจำนวนที่เป็นแบบโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นผลงาานของปรีชา เถาทอง ศิลปินที่มีผลงานด้านจิตรกรรมไทยเป็นที่ยอมรับกันทั้งในและต่างประเทศ

เดือนสิงหาคม 2532 ปรีชาทำหนังสือไปถึงศิวะพรทักท้วงในเรื่องการนำงานของตนไปโฆษณาทางทีวี โดยปรีชาอ้างว่าการกระทำของศิวะพรนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ว่ากันว่าศิวะพรนั้นเสียความรู้สึกเอามากๆ กับการทักท้วงของปรีชา เพราะถือว่าตนนั้นซื้องานมาโดยถูกต้องก็น่ามีสิทธิ์ที่สมบูรณ์ไม่ควรจะต้องเสียเงินสำหรับการนำไปใช้ทำโฆษณาให้กับปรีชาอีก และยิ่งเสียความรู้สึกยิ่งขึ้นอีกเมื่อรับรู้มาว่า งานที่ปรีชาขายให้ตนในราคา 8,000 บาทนั้น เป็นงานไม่ได้เป็นงานที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียว หากแต่ปรีชายังได้ทำออกมาอีกหลายกอบปี้ขายให้กับคนอื่นๆ

งานชิ้นดังกล่าวเป็นงานภาพพิมพ์ที่มีชื่อว่า วัด 2530 ซึ่งต้นแบบเป็นส่วนหนึ่งของงานจิตรกรรมซึ่งเป็นผลงานของปรีชาที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในการประกวดงานศิลปะแห่งชาติครั้งที่ 23 และได้ตัดเอาส่วนนำมาเป็นแบบในการทำภาพพิมพ์ชิ้นดังกล่าว ศิวะพรซื้องานชิ้นนี้มาเมื่อปีที่แล้ว

"ศิลปินมีสิทธิทำได้ เขารับทราบแล้วก่อนที่จะซื้อขายกัน" ปรีชาพูดถึงงานก๊อบปี้งานชิ้นนี้ออกมาหลายๆ ชิ้นว่า เป็นลักษณะของงานภาพพิมพ์ที่ศิลปินจะพิมพ์ภาพออกมากี่ชิ้นก็ได้สำหรับงานชิ้นนี้นั้นมีอยู่ 50 ก๊อบปี้ ขายให้กับญี่ปุ่นไป 20 ก๊อบปี้ ที่เหลือขายในเมืองไทยและเหลือเก็บเอาไว้เอง 2 ก๊อบปี้ ดังนั้นจะมีคนที่มีกรรมสิทธิ์ในภาพพิมพ์เดียวกับศิวะพรอีก 47 คน

สำหรับเรื่องของการทักท้วงเรื่องลิขสิทธิ์นั้น ปรีชาบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดในเรื่องระหว่าง "กรรมสิทธิ์" กับ "ลิขสิทธิ์"

กรรมสิทธิ์นั้นหมายถึงสิทธิ์ในการครอบครอง เป็นเจ้าของงานศิลปะที่ได้ซื้อไป ส่วนลิขสิทธิ์นั้นเป็นแนวความคิดที่ศิลปินค้นคว้าสร้างสรรค์มาซึ่งจะตกอยู่กับตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้น การซื้องานศิลปะเป็นการซื้อกรรมสิทธิ์ไป เอาไปเก็บไว้ชื่นชม แต่ผู้ซื้อไม่ได้ลิขสิทธิ์นั้นไป เว้นแต่จะได้มีการโอนลิขสิทธิ์ไปด้วย โดยการระบุเป็นลายลักษณ์อักษร

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มีบทคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้สร้างงานศิลปะไว้ โดยถือว่าการนำงานนั้นไปโฆษณา ทำซ้ำจำหน่ายจ่ายแจก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

"ผมไม่ได้เรียกร้องเอาเงินทอง แต่ที่ทำเป็นเรื่องของความถูกต้อง ท่านผู้ซื้ออาจจะไม่ทราบ ผมก็ทักท้วงไปว่าควรจะให้เกียรติกันบ้างโดยขอให้ทิสโก้ลงข่าวในหนังสือพิมพ์ชี้แจงทีมาของโฆษณา โดยรวมเอาประวัติ แนวคิดของแต่ละท่านลงไปด้วยและให้ใส่ชื่อเจ้าของงานและที่มาของแนวคิดลงไปในโฆษณานั้นด้วย ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินทองเลย" ปรีชาตบท้ายอรรถาธิบายในเรื่องกรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ไว้อย่างนี้พร้อมกับเสนอทางออกว่า ควรจะมีการทำสัญญาโอนมอบลิขสิทธิ์กันให้เรียบร้อยไปเลย

ปกติแล้วโฆษณาที่เป็นสิ่งตีพิมพ์ของทิสโก้จะระบุชื่อศิลปินเจ้าของงานและชื่องานลงไปด้วยทุกครั้ง แต่สำหรับโฆษณาทางโทรทัศน์นั้น ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการโฆษณาท่านหนึ่งอธิบายว่า อาจจะติดขัดที่เทคนิคการผลิต

เรื่องนี้จบลงด้วยการที่ทิสโก้ถอนโฆษณาชิ้นนี้ออกไป เหลือไว้แต่ความหมางใจเล็กๆระหว่างบุคคลทั้งสองซึ่งเกิดขึ้นมาเพราะความไม่รู้มากกว่าที่จะมีเจตนาเป็นอย่างอื่น

สังคมธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้นพลอยทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างเช่นการซื้องานศิลปะที่หลายแห่งทำนานมาแล้ว และหลายแห่งเริ่มทำตามมีความซับซ้อน และแง่มุม รายละเอียดเพิ่มขึ้นไปจากเดิมด้วย ดังเช่นกรณีนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.