|
แบงก์กดดบ.ฝากติดดิน หุ้นกู้เริ่มเสี่ยง-พันธบัตรรับโชคจ่อคิวขาย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดเงินส่อเค้าติดหล่ม หลังแบงก์พร้อมใจกดดอกเบี้ยฝากตามนโยบายรัฐ ผลักผู้มีเงินฝากหาแหล่งเงินออมใหม่ แม้หุ้นกู้เอกชนดอกเบี้ยสูง แต่สัญญาณเริ่มไม่ดีจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทางกว้างเปิดสู่พันธบัตรรัฐที่จ่อคิวขาย นักการเงินเตือนอย่าปล่อยให้เอกชนไร้ทางออกจะซ้ำเติมคนตกงานมากขึ้น
หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรลงแรงถึง 1% เมื่อ 3 ธันวาคม 2551 ส่งผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวลงมาอยู่ที่ระดับ 2.75% นับว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากลงมาที่ราว 0.5% โดยเริ่มที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีผลเมื่อ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา และธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย กสิกรไทยและธนาคารทหารไทยก็ได้ปรับลดตามมา
จนทำให้อัตราเงินฝากประจำ 3 เดือนปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.35-1.5% ขึ้นไป และดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี(MLR) เหลือที่ 6.75-7% จากเดิม 7.25%
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งนี้เป็นผลมาจากสภาพของวิกฤติการเงินของโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศ ที่กระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในปี 2552 ที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจของไทยอาจโตน้อยกว่า 3% หรือบางแห่งมองถึงไม่มีการเติบโตเลย รวมถึงปัญหาการปิดตัวลงของธุรกิจบางแห่งที่อาจส่งผลต่อการเลิกจ้างงานที่อาจสูงถึง 1 ล้านคน
แม้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ย นับว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้เศรษฐกิจของไทยถดถอยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น ช่วยบรรเทาภาระของภาคธุรกิจและบุคคลที่ยังมีภาระในการผ่อนชำระหนี้ต่าง ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งแล้วการลดอัตราดอกเบี้ยย่อมส่งผลกระทบผู้ฝากเงินไม่น้อย
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในประเทศไทยเมื่อปี 2540 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเริ่มทยอยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด เพิ่งจะกระเตื้องขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการแข่งขันกันระดมเงินออมของธนาคารพาณิชย์และการเสนอขายพันธบัตรภาครัฐ รวมถึงพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝากมีผลบังคับใช้
วิกฤตการเงินในสหรัฐที่ลามไปยังประเทศในแถบยุโรป ส่งผลให้เกิดการถอนเงินลงทุนออกจากทุกประเทศ ทำให้ทุกประเทศประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่สูงกว่าผลตอบแทน 1 ปีก็เป็นตัวบ่งบอกได้ว่าปัญหานี้ยังคงอยู่
เร่งสร้างความมั่นใจ
“สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในทางจิตวิทยาแล้ว เมื่อผลตอบแทนจากการฝากเงินมีน้อย ผู้คนก็มักจะนำเอาเงินฝากเหล่านั้นมาลงทุนหรือจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วผลอาจไม่เป็นอย่างที่ประเมินกันไว้เสมอไป หากสถานการณ์แวดล้อมอื่นไม่เอื้ออำนวย” นักการเงินรายหนึ่งกล่าว
ตราบใดที่มีการคาดการณ์กันถึงตัวเลขการว่างงานและเศรษฐกิจแทบจะไม่เติบโตเลยนั้นจะเป็นตัวขวางไม่ให้ผู้คนนำเงินที่มีอยู่มาใช้หรือลงทุนมากนัก เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ในวันหน้าว่าสถานภาพการทำงานของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ดังนั้นดีที่สุดคือการใช้จ่ายอย่างประหยัดและไม่พยายามก่อหนี้ใหม่หรือลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งภาครัฐบาลใหม่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเพื่อให้เศรษฐกิจของไทยเดินหน้าต่อไปได้
จากนี้ไปการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์แม้จะมีความมั่นคง หลังจากที่รัฐบาลพลังประชาชนได้ยืดระยะเวลารับประเงินเงินฝาก 100% ออกไปอีก 3 ปี แต่ผลตอบแทนที่ระดับ 1.5% สำหรับฝากประจำนั้นถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ ผู้มีเงินฝากคงต้องมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่เป็นอยู่
หุ้นกู้ผลตอบแทนสูง-เสี่ยง
แน่นอนว่าขณะนี้จะมีแหล่งลงทุนในลักษณะเดียวกับการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ และให้ผลตอบแทนสูงกว่ามีเพียงหุ้นกู้ภาคเอกชนที่เสนอขายกันอย่างต่อเนื่อง ผลตอบแทนค่อนข้างสูงเช่นปีละ 5% สำหรับการถือ 3 ปี แต่จากนี้ไปผลตอบแทนของหุ้นกู้ย่อมต้องปรับลดลงตามดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่คงสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์แน่
ผู้ที่ต้องการจะหนีจากเงินฝากไปลงทุนในหุ้นกู้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง ควรทำความเข้าใจกับหุ้นกู้ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวรัฐบาลไม่ค้ำประกันเหมือนกับเงินฝาก หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีปัญหาด้านการเงินผู้ลงทุนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงกันเอง
สำหรับสถานการณ์ของหุ้นกู้ในระยะนี้ไม่สดใสนัก หลังจากมีบางบริษัทที่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม สายการบินและกลุ่มอื่น ๆ สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงของโอกาสในการได้รับการชำระหนี้
เห็นได้จากผู้บริหารของกองทุนรวมที่ได้เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนในหุ้นกู้จากเดิมที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับ BBB ขึ้นมาเป็นตั้งแต่ระดับ A ขึ้นไป ดังนั้นหากผู้ลงทุนใช้หลักการเดียวกับกองทุนรวมย่อมเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนไปได้ไม่น้อย
ทั้งนี้เพราะในปีหน้าประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นย่อมมีผลต่อสถานะของผู้ออกหุ้นกู้ได้เช่นกัน
ปูทางพันธบัตร
อย่างไรก็ตามทางออกของผู้มีเงินออมยังมีตัวเลือกที่ปลอดภัยมากกว่าหุ้นกู้ นั่นคือพันธบัตรรัฐบาลเพียงแต่ต้องรอการเสนอขายอย่างเป็นทางการ ซึ่งอัตราผลตอบแทนย่อมต่ำกว่าหุ้นกู้เอกชนเนื่องจากมีความมั่นคงมากกว่า
เชื่อว่าในปีหน้าพันธบัตรรัฐบาลน่าจะได้รับความนิยมจากผู้มีเงินออมค่อนข้างมาก ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้ออำนวยทั้งในเรื่องผลตอบแทนที่ต่ำจากการฝากเงินและความมั่นคง ขณะที่หุ้นกู้เอกชนเองที่ประสบปัญหาจากการที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่ออาจต้องปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจนักลงทุน นั่นหมายถึงต้นทุนของเงินย่อมสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวบริษัทนัก
หากปล่อยให้อัตราผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้และพันธบัตรมีส่วนต่างกว้างมาก จนทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถระดมเงินต้นทุนต่ำได้ จนก่อให้เกิดการปิดกิจการก็จะไปซ้ำเติมปัญหาการว่างงานอีก
นี่คือสิ่งที่จะเป็นปัญหาในอนาคตหากภาครัฐไม่เข้ามาดำเนินการให้เกิดความสมดุลในภาคตลาดเงิน ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมภาวะภาวะเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|