ปฏิหาริย์ปั้นเศรษฐกิจขยายตัว5% พลังรองรับแรงงานไม่ต้องเตะฝุ่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

คาดเดากันแล้วว่าปี 2552 แรงงานไทยตกงานเดินเตะฝุ่นอย่างต่ำล้านคน สถิติดังกล่าวเห็นแล้วค่อนข้างเสี่ยวสันหลัง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่รับจ้างผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เพราะยังไม่พ้นปี 51 แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยในภาคอุตสาหกรมดังกล่าวก็เดินเตะฝุ่นแล้ว นักวิเคราะห์ บอกถ้าจะซับน้ำตาแรงงานไทย รัฐบาลต้องปั้นจีดีพีให้ขยายตัวถึง 5% สถานการณ์เช่นนี้คงเป็นได้ยาก เพราะนโยบายการคลังไม่เดินหน้าจากพิษการเมืองในประเทศ ส่วนนโยบายการเงินที่ไม่ใช่ยาหลักก็มีผลต่อการปลุกเศรษฐกิจได้เพียงน้อยนิด

ในเทศกาลแห่งความสุข กลับต้องเจือด้วยไอทุกของแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องเดินเตะฝุ่นไร้งานทำ หลังเศรษฐกิจประเทศไทยได้รับแรงกระเทือนเพียงน้อยนิดจากวิกฤตการเงินสหรัฐ แม้ผลกระทบจะน้อยนิดหากแต่การลุกลามของปัญหานั้นมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้นภาพการปลดพนักงานจึงเริ่มทยอยออกมาให้เห็นเป้นระยะก่อนจบเทศกาลสุขปนเศร้า

รัฐบาลที่เดินเข้ามาปฏิบัติภารกิจในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไร้น้ำยาในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะมัวแต่มุ่งเน้นไปเล่นเกมการเมืองแทน ทำให้นโยบายที่ควรออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนโยบายทางการคลังที่มีบทบาทสำคัญมากในสถานการณ์ดังกล่าว

ผลพวงของเกมการเมืองภายในประเทศบวกกับสถานการณ์เลวร้ายจากต่างประเทศทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างไม่รู้ตัว ภาคธุรกิจมาสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้เพราะนโยบายไม่ชัดเจน การสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกก็ไร้ประสิทธิภาพ ท้ายสุด แรงงานกลายเป็นผู้รับกรรมต้องถูกปลดออกท่ามกลางพายุร้ายทางวิกฤตเศณษฐกิจ

ปัญหานี้ต่างจากปี 2540 ซึ่งแรงงานที่เคยตกงานสามารถปรับไปสู่ภาคเกษตรกรได้โดยเดือดร้อนไม่มากนัก หากแต่สถานการณ์ปี 2551 ต่างออกไป นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ ให้ความเห็นว่า เพราะราคาสินค้าเกษตรในปีนี้และปีหน้ามีแนวโน้มที่ต่ำลง ดังนั้นแรงงานที่กลับคืนสู่ภาคเกษตรกรรมจะได้รับความเดือดร้อนมากกว่า วิกฤตต้มย้ำกุ้งปี 2540ด้วยซ้ำไป

และถ้าคิดจะซับน้ำตาแรงงานไทย ภาคอุตสาหกรรมไทย รัฐบาลคงได้แต่รอปฏิหาริย์เท่านั้น เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะต้องอยู่ในระดับ 5% ถึงจะรองรับแรงงานไทย ทั้งเก่า และแรงงานใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยได้ แต่ตรงข้าม เพราะนักวิชาการ สำนักพยากรณ์ต่างออกมาให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าเศณาฐกิจไทยไม่มีทางขยายตัวได้ถึง 5% แน่นอน อย่างมากปี 2552 เศรษฐกิจไทยก็คงขยายตัวในระดับ 2-3% เท่านั้น

ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อช่วยแรงงาน และเศรษฐกิจไทยนั้นเป็นที่รู้ๆกันอยู่ ตั้งแต่กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศด้วยการหาทางกระจายเงินไปสู่ชุมชน และชาวบ้าน การเร่งลงทุนของภาครัฐ เพื่อนให้มีเม็ดเงินกระจายไปสู่ภาคธุรกิจ เกิดการจ้างงานตรงนี้สำคัญที่สุด และถือเป็นนโยบายการคลังที่ต้องเร่งปฏิบัติ หากแต่ที่ผ่านมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ท้ายสุดจึงต้องมาพึ่งนโยบายการเงิน ด้วยการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 1%จาก3.75% สู่ 2.75%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยและมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในการประชุมขอคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.)ในรอบนี้นั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงรุกเพื่อรองรับความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างชัดเจนมากขึ้นแล้วในขณะนี้

และยังมองว่าปัญหาทางการเมืองที่ยังคงไม่นิ่งอาจส่งผลทำให้แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังต่อเศรษฐกิจมีความล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นโจทย์หนักในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกและความซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศจากปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้ อาจตกไปอยู่ที่บทบาทของนโยบายการเงินเป็นหลัก ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากนั้นได้กลายมาเป็นปัจจัยที่เอื้อให้กนง.มีพื้นที่มากพอสมควรในการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลในทางปฏิบัติของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อภาคเศรษฐกิจจริงนั้นยังคงต้องรอเวลาพิสูจน์ต่อไป เนื่องจากกลไกการส่งผ่านอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการจากสถาบันการเงินที่ต้องประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้อย่างรอบคอบ เนื่องจากแม้ว่าปัญหาทางการเมืองบางส่วนได้ผ่อนคลายลงหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ระดับของความเสี่ยงทางการเมืองยังคงมีความเข้มข้นและเป็นปัจจัยลบของเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในระยะถัดไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.