|

S&Pลดเครดิต 6 บริษัทไทย โบรกฯชี้แค่กระทบจิตวิทยาช่วงสั้น
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
6 ธุรกิจพลังงานไทยความเสี่ยงเข้าขั้นโดนใจ S&P ถูกจัดชั้นความย่าเชื่อถือตราสารหนี้สู่เชิงลบ ด้านโบรกฯประเมินกระทบแค่จิตวิทยา ส่วนผลดำเนินงานไม่ระคายผิวจากฐานะการเงินแข็งแกร่ง พร้อมแนะ PTTEP-PTT หุ้นเด่นน่าลงทุน ฟื้นตัวเร็วหลังเศรษฐกิจเข้ารูปเข้ารอย
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ประกาศทบทวนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศของบริษัทไทย 6 แห่ง ลงสู่ “เชิงลบ” คือ กฟผ(EGAT)., PTT, PTTEP, PTTCH, TOP และ PTTAR หลังจากปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศของไทยลงสู่ “เชิงลบ”ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ปัจจัยที่ S&P ต้องมีการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของ 6 บริษัทขนาดใหญ่มาจากแนวโน้มเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการคาดการณ์ที่ว่า เหตุการณ์ในระยะนี้มีความเป็นไปได้น้อยลงที่ระบบการเมืองของไทยจะกลับมามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนในระยะอันใกล้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางของประเทศ โดยพัฒนาการเหล่านี้ผนวกกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่างก็เป็นแรงกดดันในทางลบต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้อันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. และบริษัทในเครือของ PTT ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ด้วยเหตุที่บริษัทมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อนโยบายพลังงานของรัฐบาลไทย ตลอดจนมีบทบาทด้านนโยบายสาธารณะที่สำคัญ และด้วยเหตุที่รัฐบาลมีอิทธิพลอย่างสูงในบริษัทเหล่านี้
ขณะเดียวกัน PTTCH, TOP และ PTTAR ได้รับการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์จาก PTT และมีความเกี่ยวดองกันอย่างมากกับ PTT ดังนั้น อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทกลุ่มนี้จึงมีความอ่อนไหวต่ออันดับความน่าเชื่อถือและแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า การประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศของบริษัทในเครื่อ PTT นั้น มองว่าจะส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อการลงทุนหุ้นในเครือ PTT ในช่วงสั้นๆเท่านั้น
ทั้งนี้มองว่าการทบทวนความน่าเชื่อถือในส่วนของตราสารทั้งสกุลเงินบาท และต่างประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการออกหุ้นกู้ หรือการรีไฟแนนซ์หนี้ของบริษัทในเครื่อ PTT ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพราะกลุ่มบริษัทในเครือ PTT มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยการรีไฟแนนซ์หนี้ระยะยาวทางเครือ PTT ได้มีการออกหุ้นกู้ไปหมดแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
ส่วนหนี้ระยะสั้น มีบ้างในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น คือ PTTAR ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25-0.50% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกลั่นเพิ่มสูงขึ้น หรือคิดเป็น 2-4% ของกำไรของ PTTAR อีกทั้งอาจจะส่งผลให้การหาแหล่งเงินกู้ เพื่อนำมาใช้ในการขยายกิจการ หรือการเพิ่มสภาพคล่องของ PTTAR ในอนาคตอาจจะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นได้
ขณะที่บริษัทในเครือ PTT ที่มีแผนการขยายธุรกิจ และมีความจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ เพื่อนำมาใช้ในการรีไฟแนนซ์หนี้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านั้นมีอยู่ 2 บริษัท คือ PTTEP ซึ่งมีการดำเนินการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในแหล่ง M9 ที่ประเทศเวียดนามเพิ่มเติม แต่จากสภาพคล่อง และกระแสเงินสดในมือของ PTTEP ที่มีสูงถึง 36,000 ล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้ หรือกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระยะเวลาอันสั้นนี้
นอกจากนี้ PTTCH ก็มีการขยายการลงทุนเช่นกัน แต่ได้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้วประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท จากวงเงินทั้งหมดที่ขอออกหุ้นกู้ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หุ้นกู้เหลือเพียง 5,000 ล้านบาท โดยมองว่าไม่ส่งผลกระทบหากการปรับเครดิตลดลง
ดังนั้นหากมองในแง่ของลยุทธ์การลงทุนหุ้นในเครือ PTT ยังคงน่าสนใจลงทุน โดยเน้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานต้นน้ำ เช่น PTTEP และ PTT เป็นตัวเด่น เพราะจะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อสภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศมีความชัดเจน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับประมาณการณ์ราคาเป้าหมายของ PTTEP ใหม่ จากราคาเป้าหมายเดิม 122 บาท ส่วน PTT ให้ราคาเป้าหมาย 268 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|