|
‘บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล’เข้มรับลูกค้าใหม่ ชี้ 5 กลุ่มเสี่ยงหมดสิทธิ์อนุมัติวงเงิน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ประกอบการบัตรเครดิตรับปีหน้าสาหัส ต้องเกาะติดข้อมูลทุกด้าน ลูกค้าใหม่อนุมัติยากขึ้น หลีกเลี่ยงกลุ่มเสี่ยงตกงาน เผยเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำบางแห่งขยับขึ้น 1.8-2 หมื่นบาทต่อเดือน หันกลับไปจับฐานลูกค้าเดิมงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบกระตุ้นใช้จ่าย วอนรัฐบาลเร่งเข้ามาแก้ปัญหาความเชื่อมั่นให้คนกล้าจับจ่ายใช้สอย เพื่อร่วมกันฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ
ในช่วงปลายปีเช่นนี้บรรดาห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เร่งออกโปรโมชั่นเพื่อส่งเสริมยอดขายกันทุกแห่ง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยของผู้คน ทั้งซื้อเพื่อเป็นของขวัญให้กับตัวเองและคนในครอบครัว รวมถึงซื้อเพื่อฝากญาติผู้ใหญ่ ดังนั้นห้างเหล่านี้จึงต้องงัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้มากที่สุด เนื่องจากยังมีผู้คนในวัยทำงานบางองค์กรที่ได้รับโบนัสอยู่
ขณะที่เมื่อพ้นจากช่วงเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว ยอดขายอาจจะทำได้ไม่ดีเหมือนกับปี 2551 หลังจากที่วิกฤติการเงินของสหรัฐเริ่มกระทบกับประเทศไทยมากขึ้น จำนวนคนตกงานอาจจะสูงถึงหลักล้านคน ดังนั้นการช่วงชิงกำลังซื้อที่ยังเหลืออยู่ในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งทำ
ในการจับจ่ายใช้สอยยุคปัจจุบัน บัตรเครดิตได้เข้ามามีส่วนสำคัญช่วยให้การตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการทำได้อย่างรวดเร็ว เมื่ออยู่ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งหลายจึงไม่พลาดที่จะเข้ามาจับมือร่วมกับห้างดังต่าง ๆ ที่มอบส่วนลดหรือบัตรกำนัลให้เพิ่มเติม จึงดูเหมือนการซื้อสินค้าหรือบริการแต่ละครั้งนั้นได้มาในราคาที่ถูกกว่าราคาขายปกติ
ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธุรกิจให้บริการด้านบัตรเครดิตจึงอยู่ในภาวะที่ต้องประคับประคองตัวไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่น
KTC เกาะติดข้อมูล
ธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า ในปีหน้าผู้ให้บริการบัตรเครดิตทุกรายต้องระมัดระวังในเรื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทางเราต้องติดตามข้อมูลเหล่านี้เป็นรายวัน
“ทั้งเรื่องการเลิกจ้างงาน หรือธุรกิจด้านท่องเที่ยว โรงแรม รวมถึงกลุ่มสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) เราเก็บข้อมูลโรงงานที่ปิดกิจการ และโรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ จนถึงกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”
ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้เพื่อการวางแผนในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยลูกค้ารายใหม่เราคงต้องลงไปดูและต้องคัดเลือกลูกค้ามากขึ้น เชื่อว่าผู้ให้บริการทุกรายก็ระมัดระวังในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งบางแห่งมีการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำของผู้ที่จะทำบัตรเครดิตจาก 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนเป็น 1.8-2 หมื่นบาทต่อเดือนก็มี
สำหรับลูกค้าเดิมเราจะเข้าไปดูแลลูกค้าว่ามีปัญหาอะไรบ้าง บางแห่งอาจใช้วิธีการลดวงเงินใช้จ่าย ซึ่งเราเห็นว่าควรต้องพิจารณากันเป็นราย ๆ โดยจะใช้หลักการยืดหยุ่นกับลูกค้าให้มากที่สุด
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทางเคทีซีได้พยายามเจาะลูกค้าในระดับบนมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าในกลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อสูง และไม่มีปัญหาในเรื่องการชำระ ทำให้เป็นการลดความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจไปในตัวและเราก็จะเจาะลูกค้าในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ในส่วนของตัวองค์กรเองก็ต้องมีการควบคุมในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่าง หากยังไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้
ลูกค้าเก่าสำคัญที่สุด
แม้ว่าที่ผ่านมาราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นสูงและลดลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาราว 2-3 เดือน แต่ประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับปัญหาเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกที่เริ่มกระทบต่อภาคการผลิตและปัจจัยทางการเมืองที่ช่วงเวลาดังกล่าวยังไร้ทางออกและส่อเค้าอาจเกิดความรุนแรง
แหล่งข่าวจากวงการบัตรเครดิตอีกรายกล่าวว่า ธุรกิจประเภทนี้เรื่องความมั่นใจทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ หลายหน่วยงานออกมาให้ข่าวในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้เกิดภาวะทางจิตวิทยาที่ผู้คนไม่มั่นใจในเศรษฐกิจในปี 2552 อาจทำให้เกิดความระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย
สำหรับสถานการณ์ของบัตรเครดิตเขามองว่าบัตรใหม่อีก 1-2 ปีคงโตไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้ถือบัตรเป็นจำนวนมากแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของผู้ออกบัตรเองที่ต้องการควบคุมความเสี่ยง เพราะถ้าอนุมัติบัตรใหม่ออกมาโดยไม่ได้คัดกรองลูกค้า ก็อาจจะเสี่ยงต่อยอดการใช้จ่ายของลูกค้ารายใหม่ที่อาจอยู่ในข่ายของการถูกเลิกจ้างงาน
“ดังนั้นใครที่จะขอบัตรเครดิตใหม่นับจากนี้ การอนุมัติคงต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่มากขึ้น ไม่ง่ายเหมือนในช่วงที่ผ่านมา”
เขาไม่ปฏิเสธว่าการหาผู้ถือบัตรใหม่เพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มรายได้ให้กับทางบริษัทผู้ออกบัตร แต่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้บัตรใหม่ที่ได้มาคงไม่ช่วยอะไรต่อผู้ออกบัตรมากนัก เพราะการออกบัตรใหม่ถึงอย่างไรก็ต้องมีต้นทุนเพิ่ม อนุมัติไปแล้วก็ต้องมากังวลว่าลูกค้ารายนั้นกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยหรือไม่ หากโชคร้ายอนุมัติไปได้ระยะหนึ่งแล้วเขาต้องตกงานตรงนี้ก็จะมีผลต่อหนี้เสียของผู้ออกบัตร
ลูกค้าที่ทำงานในกลุ่มรับจ้างผลิตตามโรงงานอุตสาหกรรมที่ลูกค้าหลักอยู่ในสหรัฐและยุโรป เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์กลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อภาวการณ์ตกงาน กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มโอทอปที่อาจมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องและกำลังซื้อในประเทศตกต่ำ รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศเขาและความไม่มั่นใจจากสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น ดีที่สุดคือการต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าเดิมให้อยู่กับเราและยอมใช้จ่าย เพราะรายได้ของผู้ออกบัตรมาจากส่วนลดที่ได้จากร้านค้าและดอกเบี้ยจากการผ่อนชำระ
“การมีลูกค้าที่จ่ายครบตามกำหนดมากไปก็ไม่ดี มีลูกค้าผ่อนชำระมากไปก็ไม่ดี ทางบริษัทจึงต้องสร้างความสมดุลให้กับลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ให้ดี เพราะลูกค้าที่จ่ายครบก็จะมีรายได้เพียงทางเดียว ส่วนลูกค้าที่เลือกผ่อนชำระก็จะมีรายได้จากดอกเบี้ยเข้ามาอีกทางหนึ่ง”
ช่วยลูกค้าลดเสี่ยง
เขากล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าสถานการณ์ปีหน้าไม่น่าจะเลวร้ายไปมากกว่าช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% แม้ว่าลูกค้าที่ถือบัตรอาจต้องถูกลดเงินเดือนหรือเลิกจ้างงานก็ตาม เพราะทุกคนคาดการณ์กันได้ ผู้ถือบัตรเองก็ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ผู้ออกบัตรเองก็เตรียมการไว้รองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าผู้ออกบัตรบางรายที่ประเมินถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย เมื่อเห็นว่าลูกค้ากำลังมีปัญหาก็เสนอทางออกด้วยการย้ายจากบัตรเครดิตมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลแทน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะลูกค้าไม่ต้องชำระขั้นต่ำที่ 10%
หลายคนอาจมองว่านี่เป็นวิธีการหากินของผู้ประกอบการ เนื่องจากการย้ายการผ่อนชำระจากบัตรเครดิตมาเป็นสินเชื่อบุคคลนั้นจะทำให้ระยะเวลาในการเป็นหนี้ยาวนานออกไป ได้ดอกเบี้ยมากขึ้น จริง ๆ แล้วในมุมของผู้ประกอบการการยืดหนี้ออกไปนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้กับผู้ถือบัตร ส่วนดอกเบี้ยที่ได้นั้นอาจจะดูสูง แต่ผู้ออกบัตรเองก็มีความเสี่ยงจากการผิดนัดของลูกค้ามากตามไปด้วย คงไม่มีผู้ออกบัตรรายใดที่อยากแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากไม่ช่วยเหลือลูกค้าแล้วความเสี่ยงก็จะเกิดขึ้นโดยตรงและเต็มจำนวน
ขอใหม่ไม่ง่าย
ในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมา 3,567.7 ล้านบาทหรือราว 1.99% สวนทางกับการใช้จ่ายโดยรวมที่เดือนตุลาคม 2551 ที่ลดลง ทั้ง ๆ ที่เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ผู้ใช้จ่ายต้องผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% ซึ่งยอดสินเชื่อคงค้างควรลดลงจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว สะท้อนได้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ใช้บัตรเครดิตเริ่มลดลง
แม้การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก แต่ถ้าพิจารณาตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลประกอบจะพบว่ายอดสินเชื่อคงค้างรอบ 10 เดือนเพิ่มขึ้นถึง 18,569 ล้านบาทหรือ 18.57%
“การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบุคคลที่มากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการย้ายยอดค้างชำระของบัตรเครดิตมา อีกส่วนหนึ่งเป็นธุรกรรมตามปกติของผู้ให้บริการ”แหล่งข่าวกล่าว
เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเจอปัญหาราคาน้ำมันแพง ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ขึ้นราคาจึงทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรสูงขึ้น หรือบางคนมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินเพื่อนำมาแก้ปัญหาค่าครองชีพในขณะนั้นก็ต้องมาพึ่งบริการสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่รายได้ยังเท่าเดิมทำให้บางคนประสบปัญหาในการผ่อนชำระ
ตอนนี้การขอบัตรใหม่หรือขอสินเชื่อใหม่ ทำได้ยากกว่าเดิม การอนุมัติต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบเพราะปีหน้าธุรกิจเราจะเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ นี่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด
แต่เรื่องนี้คงปล่อยให้เป็นภาระของภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วย เพราะไม่ใช่นั้นสิ่งที่รัฐต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศย่อมไม่มีทางเป็นไปได้
ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐจะต้องเข้ามาเร่งฟื้นฟู เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม อีกทั้งคนจะท่องเที่ยวได้ย่อมต้องมีความมั่นใจว่าพวกเขาไม่ต้องกังวลในเรื่องรายได้ในอนาคต และการจับจ่ายใช้สอยก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจของบัตรเครดิตมีความเสี่ยงน้อยลงตามไปด้วย
คิดก่อนใช้
แหล่งข่าวกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้ค่าของกสิกรไทยค่อนข้างมาแรงในทุกผลิตภัณฑ์ เฉพาะบัตรเครดิตก็เสนอโปรโมชั่นทั้งรับคะแนนสูงเมื่อสมัครใหม่ หรือให้สิทธิพิเศษในการซื้อตั๋วเครื่องบินเป็นต้น ถามว่าท่านเดินทางได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ หากทำได้ก็คุ้ม ส่วนค่ายที่ต้องทำในลักษณะประคองตัวไปคือค่ายที่มีบริษัทแม่มาจากต่างประเทศ ที่ยังต้องรอให้บริษัทแม่มีความแข็งแกร่งมากกว่านี้ก่อน
สำหรับการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตเขาให้คำแนะนำว่า ช่วงปลายปีเช่นนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลมักทำตลาดร่วมกับห้างสรรพสินค้าหรือสถานบริการต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องมีกลยุทธ์เพื่อจูงใจ หรือการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรของแต่ละค่ายนั้น ผู้ที่สนใจควรต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเราต้องการใช้สิทธิประโยชน์ที่ผู้ออกบัตรเสนอให้หรือไม่
ส่วนโปรโมชั่นคืนเงินในอัตราที่สูงนั้น ท่านต้องถามตัวเองว่าทำได้ตามเงื่อนไขหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำตามเงื่อนไข ที่สำคัญคือเมื่อทำแล้วตัวท่านเดือดร้อนหรือไม่ สามารถชำระเต็มจำนวนได้หรือไม่ หากต้องผ่อนชำระยอดผ่อนต่อเดือนสูงเกินไปหรือเปล่า และมั่นใจว่าจะผ่อนได้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
หลายคนอาจคิดว่าหากผ่อนชำระไม่ไหวก็หยุดส่ง เรื่องนี้ต้องคิดให้ดีว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ และวิธีการติดตามหนี้ของผู้ออกบัตรก็มีหลากหลายวิธี ดังนั้นก่อนตัดสินใจควรต้องมั่นใจในตัวเองก่อนที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือใช้บริการของสินเชื่อบุคคล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|