"กะล่อน รอบจัด เชื่อไม่ได้ ชอบค้าความ ชอบยุยงให้ชาวบ้านเขาทะเลอะเบอะแว้งกันอยู่เป็นนิจ
ขี้เมาหัวราน้ำ เล่นการพนัน และไม่มีความมั่นคงในอาชีพการงาน" บรรดาเถ้าแก่และพ่อแม่ผู้มีลูกสาวคนสวยทั้งหลายจะบอกอย่างนี้
เมื่อถูกถามว่าคุณมีความเห็นอย่างไรต่อพวกทนายความ และถ้าถามบรรดาสาวเจ้าทั้งหลายก็มักจะมีความเห็นค่อนข้างจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่าเขี้ยวลื่นเหมือนปลาไหล
ไม่มีทางตามเขาได้ทัน"
ซึ่งมันก็คงมีส่วนจริงและไม่จริงอยู่บ้างในความเห็นทั้งหมด โดยเฉพาะในสภาวการเริ่มต้นพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจและการเมืองอย่างบ้านเรา
มีคนกล่าวว่าในประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดนั้นแพทย์จะถูกเรียกร้องหามากที่สุด
ต่อเมื่อประเทศเริ่มพัฒนาวิศวกรจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และสุดท้ายเมื่อการพัฒนาถึงขั้นอิ่มตัวผู้คนถึงจะหันมาดูและหาทางคุ้มครองสิทธิของตนเองให้ความสำคัญใช้บริการทนายความ
แต่ปัจจุบันบ้านเมืองสยามกำลังจะพุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พระราชบัญญัติสภาทนายความพึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งรัฐเมื่อปี
2529 หรือเพียง 2 ปีเศษที่ผ่านมา องค์กรที่เป็นตัวแทนของอาชีพนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับคนก็พึ่งจะหัดพูดอ้อๆแอ้ๆ
เท่านั้นเอง นับว่าล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่มีคำคำว่าทนายความเกิดในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติการปกครอง
พ.ศ. 2475
มีทนายความที่จดทะเบียนรับอนุญาตว่าความไว้กับสภาทนายความในปัจจุบันเกือบ
30,000 คนแม้จะดูน้อยนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศที่มีถึง 50 กว่าล้านคน
ซึ่งหลากหลายอาชีพและอยู่ภายใต้กฎหมายแห่งรัฐนับหมื่นฉบับรวมถึง ประกาศ ระเบียบ
คำสั่งของกระทรวงทบวงกรมต่างๆอันใช้บังคับเช่นกฎหมาย
และในขณะที่กฎหมายนั้นกำหนดให้ทุกคนต้องรู้กฎหมาย เพราะความไม่รู้กฎหมาย
จะมาอ้างเป็นข้อยกเว้นไม่ได้
และยิ่งดูน้อยลงไปอีกถ้าเชื่อตามที่มีคนกล่าวกันว่าในบรรดาทนายความที่จดทะเบียนไว้ทั้งหมดนั้นนั้นมีคนที่มีกิจกรรมทางอาชีพจริงๆเพียงไม่ถึง
5,000 คน และถ้าจะกล่าวเข้ามาให้แคบเข้าเรื่อยๆ ก็มักจะได้ยินชื่อทนายความหรือสำนักงานกฎหมายเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาของประชาชนในวงกว้าง
ถ้าเป็นสำนักงานของคนไทยจริงๆและอยู่ในแวดวงธุรกิจก็มักจะมีเพียง ดร.อุกฤษ
มงคลนาวิน สนอง ตู้จินดา ชมพู อรรถจินดา มารุต บุญนาค คนึงและปรก มานะ พิทยาภรณ์
ประพนธ์ ศาตะมาน ประธาน ดวงรัตน์ และคำนวณ ชโลปภัม นอกนั้นก็อยู่ในระดับจำชื่อจำนวนสกุลกันยังถูกๆผิดๆกันอยู่
ในจำนวนที่มีชื่อกันอยู่น้อยนิดนี้ก็มักจะไม่ค่อยได้ยินชื่อสำนักงานชัยพัฒน์ทนายความหรือขื่อของ
สุนทร โภคาชัยพัฒน์กันเท่าใดนัก
แต่ก็พอให้เห็นอีกภาพหนึ่งของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความจริงๆที่แอบรวยอยู่เงียบๆ
และก็พอสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาอีกด้านหนึ่งของวิชาชีพนี้ว่าคำกล่าวข้างต้นนั้นหกำลังจะถูกเบี่ยงเบนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย
"ผู้จัดการ" พึ่งจะได้สัมผัสกับ สุนทร โภคาชัยพัฒน์ จริงๆเมื่อไม่นานมานี้
ด้วยงานศึกษาค้นคว้าของเรามักจะพบชื่อของเขาอยู่บ่อยๆ นั้น เป็นมูลเหตุจูงใจอยากจะรู้จักเขามากขึ้น
สุนทร โภคาชัยพัฒน์ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความจริงๆในความหมายที่แม้วันนี้วัยของเขาจะล่วงเลย
50 ปีไปแล้ว เขาก็ยังไปขึ้นศาลว่าคดีและเตรียมงานทุกอย่างด้วยตัวเอง และไม่หันไปลงทุนทางด้านอื่นๆเช่นบางคน
ซึ่งไม่ว่าจะลงขันกันตั้งค็อกเทลเลานจ์ทำคอนโดมิเนียม ทำธุรกิจบ้านพักตากอากาศ
หรือเก็งกำไรค้าขายที่ดิน กระทั่งเป็นนายหน้าชาวต่างประเทศในการทำธุรกิจต่างๆ
ไม่ถือหุ้นและเป็นกรรมการในบริษัทข้ามชาติต่างๆหรือแม้แต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
วุฒิสมาชิก หรือที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งที่โอกาสก็เปิดให้เขาไม่น้อยครั้งทีเดียว
หรือจะเรียกว่าคนที่รวยจากอาชีพทนายความจริงๆ นั้นยังมีน้อย!
"ผู้จัดการ" พบชื่อของเขาเป็นที่ปรึกษาในบริษัทใหญ่ๆเกือบจะทุกกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งเจ้าตัวขอร้องให้เปิดเผยชื่อบริษัทนั้น
ไม่ว่าจะเป็นหลุ่มธุรกิจบรรเทิงขนาดใหญ่ที่ไดดดด้รับสัมปทานทำโทรทัศน์ของรัฐ
กลุ่มธุรกิจค้าเหล้า กลุ่มธุรกิจค้าอ้อยและน้ำตาล กลุ่มธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงินและบริษัทประกันภัย
กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจข้ามชาติ
"ตอนนี้มีทรัพย์สินเงินทองถึง 100 ล้านได้ไหมครับ" สุนทรก็ได้แต่ยิ้มไม่รับและไม่ปฏิเสธเมื่อ
"ผู้จัดการ" ถามเอาตรงๆเพราะเมื่อดูจากภาวะงาน รายชื่อของลูกค้า
และทุนทรัพย์ที่เขาดูแลอยู่ ประกอบกับที่เขาบอกว่าเขาเป็นทนายความที่ไม่เห็นด้วยกับการคิดค่าทนายถูกๆ
ก็ไม่น่าคลาดเคลื่อนจากตัวเลขนี้นัก
สำนักงานชัยพัฒน์ทนายความไม่ถึงกับตั้งอยู่บนอาคารใหญ่ๆขนาดความสูง 20-30
ชั้นเหมือนสำนักกฎหมายของชาวต่างประเทศ แต่ยังคงอยู่ในห้องแถวเก่าแก่บนถนนตะนาวย่านศาลเจ้าพ่อเสือ
อันเป็นย่านที่ชุกชุมและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสำนักงานทนายความ
แต่สิ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะความเป็นสำนักงานที่ไม่ใช่ทนายห้องแถวของ "ชัยพัฒน์ทนายความ"
นั้นจะเห็นก็ต่อเมื่อเดินเข้าไปในสำนักงานแล้วเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายใน
และระบบออฟฟิศออโตเมชั่น ตลอดทั้งการจัดการภายใน ซึ่งสุนทรเองบอกว่าเขาให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มาก
สุนทรยอมรับว่าเขาถึงจุดอิ่มตัวในแง่ของฐานะความมั่นคง แต่ในแง่ของวิชาชีพเขาไม่เคยอิ่มตัวเลย
โดยเฉพาะเรื่องความรู้และข่าวสาร เขาจะต้องทำตัวให้ทันมันตลอดเวลา
"ผมเป็นสมาชิกข่าวสารทั้งที่เป็นข่าวสารด้านความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายโดยตรง
และข่าวสารความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกือบทุกอย่าง ไม่งั้นผมจะช่วยลูกความไม่ได้มาก"
สุนทรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
สุนทร โภคาชัยพัฒน์ เติบโตมาจากลูกคนจีนแถวค้าขายย่านเวิ้งนครเกษมธรรมดาๆครอบครัวหนึ่งพ่อส่งเขาเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเผยอิง
อันเป็นที่นิยมส่งลูกเข้าเรียนภาษาจีนของพ่อแม่คนในเมืองไทยสมัยนั้น (2494)
ซึ่งนักเรียนรุ่นเดียวกับเขาที่เผยอิงก็คือดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครหลวงไทยในปัจจุบัน
ณ ที่เผยอิงนี่เองที่สุนทรบอกว่าทำให้เขาได้เปรียบทนายคนอื่นๆ ซึ่งพูดภาษาจีนไม่ได้เพราะเป็นที่รู้จักกันอยู่ว่าพ่อค้านักธุรกิจในเมืองไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นคนจีน
หลังจากนั้นครอบครัวของเขาก็อพยพลงไปอยู่นราธิวาส และเขาก็ได้เรียนภาษาจีนกลางเพิ่มเติมอีก
จนถึงระดับมัธยมเขาจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ และสอบเทียบ ม.6
ได้ก่อนจึงไปเข้าที่โรงเรียนพาณิชย์พระนครและก็สอบเทียบ ม.8 ได้อีกจึงสมัครเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในรุ่น
2501
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นนี้ล้วนแต่เป็นใหญ่เป็นโตในปัจจุยบันเช่น
ชวน หลีกภัย สมัคร สุนทรเวช หรืออย่าง มีชัย ฤชุพันธ์ และอีกหลายคน
"แต่อาชีพการงานของผมไม่ค่อยจะมีเรื่องรบกวนพรรคพวกเท่าไหร่ ภาระของแต่ละคนก็รัดตัว
จึงไม่ค่อยได้พบปะเสวนากันนัก" หัวหน้าสำนักงานชัยพัฒน์ทนายความกล่าว
เมื่อจบกฎหมายธรรมศาสตร์ในปี 2504สุนทร โภคาชัยพัฒน์ก็เข้าทำงานเป็นทนายความประจำสำนักงานทนายความชมพู
อรรถจินดา ซึ่งเขาบอกว่า ณ ที่แห่งนี้ได้ให้อะไรมากมายแก่เขา ท้งในแง่ของวิชาความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพตลอดทั้งความสัมพันธ์กับลูกความกลุ่มต่างๆ
สมัยนั้นสำนักงานทนายความชมพู อรรถจินดา จัดว่าเป็นสำนักงานทนายความในระดับแนวหน้าในแวดวงการค้าธุรกิจเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับสำนักงานทนายความมนูกิจของ ประสิทธิ กาญจนวัฒน์ และสำนักงานกฎหมายสะพานเหลืองของวรรณ
ชันซื่อ สำนักงานเหล่านี้ล้วนกว้างขวางในกลุ่มพ่อค้าคนจีนในยุคนั้น
"อาจารย์ชมพูท่านก็ไว้ใจผมมาก ท่านคงเห็นว่าผมชอบคดีทางแพ่งและเป็นคนใจเย็นรอบคอบ
ท่านจึงมอบหมายงานให้ผมทำมาก ผมต้องรับผิดชอบคดีธนาคาร 4 แห่งในบรรดาธนาคารที่เป็นลูกความของสำนักงานอยู่ทั้งหมด
16 แห่งเป็นทนายดูแลคดีบริษัทประกันภัยอีก 3 แห่ง บริษัทรถยนต์อีก 2 แห่ง
และบริษัทน้ำมันอีกแห่งหนึ่งและคดีใหญ่ๆท่านก็มักจะโยนให้ผมเป็นคนรับผิดชอบ"
สุนทรพูดถึงอดีตการเริ่มต้นเป็นทนายให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
หัวหน้าสำนักงานชัยพัฒน์ทนายความกล่าวว่าการที่เขาได้รับความไว้วางใจให้ทำคดีใหญ่ๆของสำนักงานอยู่เรื่อยๆนั้น
ทำให้เขามีโอกาสศึกษาค้นคว้ามาก และได้เรียนรู้ประสบการณ์จากทนายรุ่นพี่ๆซึ่งเป็นทนายมีชื่อเสียงและได้มาเป็นทนายยยฝ่ายตรงข้ามกับเขา
"ผมเป็นคนที่เตรียมคดีนานมาก ถ้าจะเร่งผมให้ทำเร็วๆผมคงทำไม่ได้ เพราะผมต้องการค้นคว้าอย่างรอบคอบและรอบด้าน
อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผมเสียเปรียบ ทนายคู่กรณีน้อยมาก" สุนทรกล่าว
สุนทรอยู่กับสำนักงานชมพู อรรถจินดา นานถึง 13 ปี ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่เดือนละ
600 บาท และรายได้อีกส่วนหนึ่งจากส่วนแบ่งทำคดีแต่ละคดี เขาพอจะสมทบทุนได้บ้างจึงแยกตัวออกมาตั้งสำนักงานขงอตัวเองกับเพื่อนอีก
6 คนเมื่อปี 2519 ซึ่งก็คือสำนนักงานชัยพัฒน์ทนายความในปัจจุบันเพื่อนรุ่นเดียวกันก็คือ
ศิริ อาบทิพย์ ซึ่งปัจจุบันได้แยกตัวออกไปตั้งสำนักงานเองแล้ว และเพื่อนรุ่นน้องอีก
4 คนคือ สัมฤทธิ์ มีวงค์โคตร ปัจจุบันแยกออกไปตั้งสำนักงานเองเช่นกัน และทำสยามจดหมายเหตุด้วยในปัจจุบัน
ส่วนรุ่นน้องอีกคนคือ ไทย สุภาณิชยรภาธน์ ยังอยู่ด้วยกันมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงโอกาสที่ทำให้สุนทรสร้างเนื้อสร้างตัวมาถึงทุกวันนี้ สุนทรบอกว่าเขาแย่กว่ารุ่นพี่ที่ดังๆหลายคนซึ่งบางงคนอาจจะเป็นทนายดูแลทรัพย์สินให้แก่ขุนนางใหญ่ๆหรือกลุ่มธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ร่ำรวยกันแล้ว
แต่สำหรับเขานั้นต้องทำงานหนัก ลูกความที่ได้มาก็ถูกแนะนำกันมาเป็นทอดๆ จึงกระจายออกไปกว้างขวางทุกกลุ่มอุตสาหกรรมตัวเขาเองก็ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาก่อน
หรือแม้แต่ฐานะทางสังคมที่จะต้องเข้าไปเป็นกรรมการสมาคมต่างๆก็ไม่เคย
แต่บางคนก็บอกว่าลักษณะที่ลูกความกระจายอย่างเขา ยิ่งดีกว่าคนอื่นๆที่กระจุกอยู่แต่ในกลุ่มเดียว!
"ปัจจุบันผมก็ไม่เคยออกสังคม กะว่าชีวิตจะได้สบายขึ้นได้พักผ่อนบ้าง
แต่ก็มีเรื่องยุ่งเกิดขึ้นกับลูกความเราอยู่เรื่อย ซึ่งเรื่องแต่ละเรื่องต้องใช้เวลาการทำงานกันเป็นปีๆ
นี่พอเรื่องช่อง 3 เพิ่งเสร็จ เรื่องบริษัทน้ำตาลไทยก็เข้ามาแทน เรื่องน้ำตาลกำลังว่าจะเรียบร้อย
กำลังจะมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นอีกแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเหมือนกัน"
สุนทรพูดถึงงานของเขา
งานของสุนทร โภคาชัยพัฒน์แม้จะหนักไปทางด้านให้คำปรึกษาและวางแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
โดยหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องกันให้มากที่สุดเท่าที่จะควบคุมได้ แต่เรื่องไหนจำเป็นจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
สุนทรก็ขึ้นว่าความที่ศาลด้วยตนเอง
สุนทรบอกว่างานกฎหมายในบ้านเรายังเป็นลักษณะความเชื่อถือเฉพาะตัว การพิจารณาว่าเรื่องไหนจะต้องขึ้นว่าคดีเองหรือไม่นั้นไม่ได้ดูจากค่าจ้าง
แต่จะดูความจำเป็น อย่างคือ หนึ่ง ลูกความเก่าแก่ซึ่งลูกความวิตกกังวนมาก
ต้องขอร้องให้เขาเป็นคนทำเองทั้งๆ ที่บางเรื่องในสายตาของเขาไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงก็ตาม
สอง ความซับซ้อนของปัญหาและเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งถ้าทนายคนอื่นทำอาจจะพลาดได้
สาม เรื่องที่ท้าทาย ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่ปิดตายแพ้ แต่เขาจะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างช้าๆ
ตามสไตล์ของเขาและ สี่ ซึ่งอันนี้ถือเป็นมารยาทเลยก็คือว่าลูกความเก่าที่เขาเคยรุ่งโรจน์มาก่อน
แต่เมื่อเขาต้องตกอับ มันเป็นเรื่องขวัญและกำลังใจของลูกความด้วยทรี่เขาจะต้องทำด้วยมือของเขาเอง
"หลักของผมที่ยึดถือมากก็คือ ความเป็นกลาง ไม่ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายจะมีทนายความหรือไม่ก็ตาม
ผมจะต้องให้เรื่องมันจบลงโดยที่ทุกฝ่ายพอใจ" สุนทรกล่าว
สำนักงานชัยพัฒน์ทนายความขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่แยกตัวมาตั้งเองใหม่ๆเพียง
3 ปีต่อมาเขาก็มีทนายความประจำซึ่งกินทั้งเงินเดือนและส่วนแบ่งจากการทำคดีถึง
36 คนซึ่งเป้นตัวเลขทีสุนทรบอกว่าเขาจะจำกัดจำนวนทนายความไว้เพียงระดับนี้
เขาบอกว่าเหนื่อยที่จะต้องดูแลคนมากๆและอยากจะให้ทนายของเขามีงานรับผิดชอบและรายได้อย่างเพียงพอในเกณฑ์ที่ดี
"บางทีผมก็คิดจะลงทุนทำธุรกิจอื่นอยู่เหมือนกัน แต่คิดไปคิดมางานในสำนักงานก็ทำไม่ค่อยจะทันอยู่แล้ว
ความที่จะต้องรับผิดชอบงานในวิชาชีพให้ดีที่สุดก็เลยไม่สามารถจะไปทำอย่างอื่นได้ส่วนเรื่องจะไปมีหุ้นกับลูกค้านั้นผมถือเป็นมารยาทเลยว่าไม่ให้มี
เพราะไม่เช่นนั้นจะขาดความเป็นกลางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ" สุนทรกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
ปัจจุบัน สุนทร โภคาชัยพัฒน์ จึงใช้ชีวิตอยู่กับงานที่ยุ่งๆ แต่เงียบๆ โดยมีศรภรรยาเป็นเลขาฯคู่ใจลูกชายคนโตที่จบปริญญาโทด้านเศรษฐกิจก็ทำงานอยู่กับทิสโก้
ส่วนลูกอีกสามคนก็กำลังเรียนปริญญาตรีและโทอยู่สหรัฐอเมริกากันทุกคน แต่ปรากฎว่าไม่มีคนเรียนทางด้านกฎหมายเลยสักคน
ในหนึ่งสัปดาห์เขาจะให้เวลากับการออกสังคมเพียง 2 วันเท่านั้น ซึ่งนั่นจะต้องเป็นงานที่สำคัญจริงๆ
ส่วนที่เหลือจะให้แก่ครอบครัว ซึ่งก็คือภรรยาและลูกชายคนโต โดยทำอาหารเย็นด้วยกันในบ้านหลังราคาหลายล้านบาทที่หมู่บ้านเลคไชค์วิลล่า
สุนทร โภคาชัยพัฒน์ อาจจะไม่ใช่ตัวอย่างเดียวของผู้ประกอบวิชาชีพธุรกิจทนายความในยุคปัจจุบัน
ในเมื่อโลกธุรกิจกำลังเจริญรุดหน้าไปอย่างมากๆ เช่นทุกวันนี้ แล้วคนก็หันมาสนใจกติกาทางการค้ามากขึ้น