ธปท.จับตาNPLทะลัก!


ผู้จัดการรายวัน(12 ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

บิ๊กแบงก์ชาติออกโรงป้องแบงก์ เผยหลัง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 1% พบแบงก์พาณิชย์มีการตอบสนองลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากดี แม้จะลดดอกเบี้ยฝากมากกว่าดอกเบี้ยกู้ เผยปีหน้าผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญความต้องการเงินกู้มากกว่าต้นทุนดอกเบี้ย เผยกำลังติดตามสาขาธุรกิจส่อผิดนัดชำระเงินหนี้ต่ำกว่า 3 เดือน เผย ก.ย.เอ็นพีแอลพุ่ง ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่ออุปโภคบริโภค เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้เอ็นพีแอลมากขึ้น

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา โดย ธปท.ได้มีการติดตามและพอใจกับผลที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีธนาคารพาณิชย์จำนวน 14 แห่งได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากไปแล้ว ส่วนที่เหลือขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา ถือว่าธนาคารพาณิชย์ไทยในระบบสามารถตอบสนองได้เร็วต่อการปรับทิศทางนโยบายการเงิน แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีประสิทธิภาพและความสามารถปรับตัวได้ดี

ทั้งนี้ ธปท.ไม่ได้ห่วงว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยมองว่ากระแสการปรับดอกเบี้ยดังกล่าวต้องพิจารณาหลายมิติ ได้แก่ 1.เรื่องของเวลา เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะส่งผลดีให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์ แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีผลเกิดขึ้นจริงเมื่อครบกำหนดอายุการฝากเงินที่มีผลต่อแรงกดดันต่อธนาคารพาณิชย์พอสมควร 2.ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยหากปีหน้าเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญการได้รับสินเชื่อมากกว่าพิจารณาจากต้นทุนในช่วงปีหน้า

“ไม่ใช่หมายความว่าปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะแพง แต่ผู้ประกอบการคิดว่าการแพงดีกว่าถูกและไม่มี เพราะจะช่วยให้แบงก์พาณิชย์รองรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจจะมีมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อปีหน้าได้ ดังนั้น เศรษฐกิจชะลอตัวและสภาพคล่องที่มีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้ปริมาณการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจจะมีความสำคัญกว่าต้นทุนที่เป็นดอกเบี้ย ซึ่งความจริงแล้วจริงๆ แล้วด้านต้นทุนจะมีหลายหลายไม่เฉพาะต้นทุนที่เกิดจากดอกเบี้ยอย่างเดียว”

3.ด้านการแข่งขัน เพราะมองว่าในช่วงต่อไปแรงกดดันอัตราดอกเบี้ยขาลงต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะมีมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเหตุผลสำคัญจากสภาพคล่องตึงตัวขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ห่วงว่าจะกระทบต่อสภาพคล่องของตัวเอง จึงมีความเป็นไปได้ที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกับเงินฝากจะแคบลงมาก ทั้งนี้ในปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีรายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิที่หักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยแล้วประมาณ 3.2% ในไตรมาสที่ 3 และ 3.1% และ 3.3% สำหรับไตรมาส 2 และ 1 ตามลำดับ

“การที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากแคบลงจะส่งผลให้เกิดการแข่งขัน 2 ตลาด คือ ธนาคารพาณิชย์รายใดที่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลงได้มากจะสามารถดึงลูกค้าประเภทบริษัทขนาดใหญ่ได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ได้น้อยจะได้ลูกค้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น ฉะนั้นการแข่งขันจะขับเคลื่อนกลไกให้แบงก์พาณิชย์สามารถรองรับความต้องการปล่อยสินเชื่อที่มาจากธุรกิจขนาดใหญ่และเล็กได้ตามสภาพดอกเบี้ย”

เอ็นพีแอลเดือน ก.ย.ทะยาน

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ล่าสุดในเดือนก.ย.เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวในปริมาณที่สูง ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า 3 เดือนในขณะนี้ธปท.เริ่มติดตามดูเป็นรายสาขาธุรกิจอยู่

ทั้งนี้ ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในระบบส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทาง คือ 1.อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำช่วยส่งเสริมอุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุนภาคธุรกิจ การบริโภคประชาชน ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.สภาพคล่องในตลาดเงินของประเทศยังสูง ซึ่งช่วยสนับสนุนต่อการขยายตัวสินเชื่อต่อไป 3.ลดภาระหนี้ของภาคธุรกิจที่สถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ทำให้ต้นทุนธุรกิจลดลง รวมถึงภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายที่น้อยลง และ4.ช่วยบรรเทาปัญหาเอ็นพีแอล ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในปีหน้า จึงส่งผลดีต่อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และสถาบันการเงิน

สำหรับกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส(เอสแอนด์พี) ฟิทซ์ เรตติ้งส์ และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศปรับมุมมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ไทยจากที่มีเสถียรภาพมาเป็นติดลบนั้นมองว่าการปรับมุมมองดังกล่าวเป็นผลจากความไม่แน่นอนการเมืองจนกระทบภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่เชื่อว่าไม่กระทบต่อการทำงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และภาคการเงินของไทยยังสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ เนื่องจากแม้ขณะนี้สภาพคล่องเริ่มตึงตัวบ้าง แต่ไม่เป็นปัญหาต่อระบบ โดยขณะนี้ฐานะการเงินไทยยังดีอยู่ และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส เรโช) ก็อยู่ในระดับสูงถึง 15.7% รวมถึงเอ็นพีแลในระบบยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกเอ็นพีแอลที่หักกันสำรองแล้ว (เอ็นพีอแอลสุทธิ) อยู่ที่ 3.3%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.