|
SSI ยันไม่ปิดรง.ชั่วคราว-เลิกจ้างผู้บริหารยอมหั่นเงินเดือนอุ้มพนง.
ผู้จัดการรายวัน(11 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
" บริษัทฯไม่มีนโยบายที่จะปลด พนักงาน หรือหยุดผลิตชั่วคราวแต่เพื่อชะลอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพนักงานระดับปฏิบัติงาน ผู้บริหารบางคนเสนอไอเดียว่า ฝ่ายบริหารควรยอมรับความเจ็บปวดก่อนโดยการลดเงินเดือนลง"
จากวิกฤตการเงินที่ลามไปทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วนธุรกิจ ทำให้บริษัท ยักษ์ใหญ่ของโลกต่างประกาศปรับลดพนักงานลงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งบริษัทในไทยก็มีการเลิกจ้างคนงานจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ
นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนรายใหญ่ของประเทศ ให้สัมภาษณ์ 'ASTVผู้จัดการรายวัน' ถึงแนวทางการ รับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกเพื่อประคับประคองให้บริษัทฯอยู่รอดได้ว่า สหวิริยาสตีลฯมีการควบคุมค่าใช้ จ่ายเข้มงวดอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นธุรกิจ ที่มีการแข่งขันสูง แต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รุนแรงและลึกกว่าที่คิด ในช่วงเวลา 4 เดือน ที่ผ่านการซื้อขายเหล็กปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน แทบจะเรียกว่าหยุดชะงักทั้งตลาดในประเทศและส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อไม่มีเงินซื้อ
ทำให้คำสั่งซื้อสินค้ามีน้อยมาก จนต้องหยุดโรงงาน หันไปปิดซ่อมบำรุงแทน และผลิตสินค้าเดือนละเพียง 7-10 วัน ล่าสุด พฤศจิกายนที่ผ่านมา แทบไม่ได้ผลิตเลย เพราะสินค้าคงคลังล้น ผลิตแล้วขายไม่ได้
นายวิน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้หลายบริษัทฯเริ่มมีนโยบายปลดพนักงาน หรือหยุดกิจการชั่วคราว แต่สหวิริยาสตีลฯไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น จึงได้หารือในระดับผู้บริหารถึงสถานะของบริษัทและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงาน
จากการประชุมฯครั้งนั้น ได้ข้อสรุปว่า ขณะนี้บริษัทฯไม่มีนโยบายที่จะปลดพนักงานหรือหยุดผลิตชั่วคราว แต่เพื่อชะลอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพนักงาน ระดับปฏิบัติงาน ผู้บริหารบางคนเสนอไอเดียว่า ฝ่ายบริหารควรยอมรับความเจ็บปวดก่อนโดยการลดเงินเดือน ลง ซึ่งตามข้อบังคับกฎหมายแล้วทำไม่ได้ เว้นแต่สมัครใจ
จึงได้มีการประชุมร่วมกันระดับผู้บริหารของบริษัททั้งที่สำนักงานกรุงเทพฯและโรงงานที่บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผู้บริหารทั้งหมดกว่า 100 คน เห็นพ้องและเซ็นชื่อเข้าร่วมโครงการปรับลดรายได้ลงชั่วคราว 5-10% เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงินจำนวน 2.2 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการบริษัทฯพร้อม ใจมีมติลดเบี้ยประชุมลงเป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่ม.ค.-มิ.ย. 2552 เช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าเสียสละ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบริษัทในสังคม
ซึ่งวงเงินที่ประหยัดได้จะไม่มากเมื่อเทียบกับยอดขายของบริษัทฯ และไม่สามารถปรับปรุงฐานะของบริษัทได้มากนัก แต่ความเสียสละของฝ่ายบริหารจนถึงระดับผู้จัดการส่วน กลับสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานเพิ่ม ขึ้นในการฝ่าฟันวิกฤตให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรณรงค์ลดค่าใช้จ่าย 300 ล้านบาทในปี 2552 ทั้งการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การปรับเปลี่ยนสัญญาจ้างเหมา ระงับการรับพนักงานใหม่ การโอนย้ายกำลังพลไปยังหน่วยงานที่จำเป็น โดยเปิดโอกาสให้พนักงานเสนอความคิดเห็นและแนะนำเพื่อมาปรับปรุงพัฒนามาตรการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายวิน กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯยังคาดหวังว่าสถานการณ์ราคาเหล็กโลกน่าจะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกต่างมีมาตรการอัดฉีดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่นายบารัคโอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ออกมาประกาศที่จะมีแผนทุ่มเงินก้อนใหญ่ในการลงทุนสร้างสาธารณูปโภค และการจ้างงาน ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2552
ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่และได้ผลอย่างจริงจัง จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทุ่มเงินลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้เกิดการจ้างงานขึ้นทันที สร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ ทำให้กล้าตัดสินใจที่จะลงทุนขยายงาน ส่วนมาตรการด้านภาษีเงินไม่ได้ไปถึงมือประชาชนหรือเกิดการว่าจ้างงานได้ทันทีต่างจากการลงทุน
ยอมรับว่าตัวเลขการว่างงานของไทยยังมองไม่ชัดเจน เนื่องจากแรงงานดังกล่าวถูกฝังอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาอันดับแรกๆ ที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งแก้ไข
นายวิน กล่าวว่า ความต้องการใช้เหล็กของไทยในครึ่ง ปีแรก 2552 น่าจะแย่กว่าปีนี้ แต่ครึ่งปีหลังยังประเมินไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและนโยบายของ รัฐบาลใหม่ แต่บริษัทฯตั้งเป้าหมายปีหน้าจะผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนได้ตามปกติที่เดือนละ 2 แสนตัน จากปีนี้ที่คาดว่าจะผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนได้เพียง 1.2 ล้านตัน หรือคิดเป็น 30% ของกำลังการผลิต เพราะเชื่อว่าตัวเลข การผลิตรถยนต์ในไทยยังสูงระดับ 1 ล้านคันในปีหน้า
ด้านราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในตลาดโลกเริ่มทรงตัวแล้ว หลังจากผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่และเหมืองแร่เหล็กได้ลดกำลังการผลิตลง 35% ทำให้ลูกค้าเริ่มหันมาสั่งซื้อ คงมีบางรายที่ยังขาดความมั่นใจ เชื่อว่าราคาน่าจะทรงตัวระดับนี้ไปถึงต้นปีหน้าอยู่ที่ระดับ 500-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยราคาไม่น่าจะปรับลดต่ำลงกว่านี้
ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กครบวงจร ทางบริษัทฯไม่มีแผนจะชะลอโครงการแต่อย่างใดภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบคำชี้แจงอีไอเอจาก สผ.อยู่ คาดว่าจะเสนอได้ภายในเร็วๆ นี้ ส่วนการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอนั้น ยังไม่ได้มีการยื่นใหม่ เพราะอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อศึกษาความเป็นได้ในการลงทุนที่เวียดนามหรือจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศเหล่านี้ทางรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านระบบสาธารณูปโภคอย่างชัดเจน ต่างจากรัฐบาลไทยที่ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการลงทุนเองทั้งหมด และยังมีข้อติดขัดในบางเรื่องที่เอกชนทำเองไม่ได้ ต้องให้หน่วยงานรัฐอนุมัติ
อย่างไรก็ตาม โครงการโรงถลุงเหล็กมีผลตอบแทนการลงทุนที่ดีแม้ว่าช่วงราคาเหล็กตกต่ำก็ตาม และยังช่วย ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเหล็กด้วย ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ไทยนำเข้าเหล็กคิดเป็นมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จะก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงานในช่วงก่อสร้างถึง 1 หมื่นคน และในระหว่างการผลิต 5 พันคน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|