ก.ล.ต.โชว์แผนดันไทยสู่สากล-เร่งเปิดเสรีค่าคอมฯ


ผู้จัดการรายวัน(9 ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต เปิดแผนการดำเนินงานปี2552- 2554 เน้นพิ่มศักยภาพของตลาดหุ้นไทยเทียบเท่าระดับโลก พร้อมเปิดเสรีการซื้อขายหลักทรัพย์ปี2555 โดยไฟเขียวประเดิมซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี2553 ก่อน ก่อนแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯและยกเลิกการผูกขาด เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดอื่น ยกระดับความเป็นสากล ลั่นกุมภาพันธ์นี้ "โกลด์ ฟิวเจอร์ส"เข้าเทรดแน่

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2552 – 2554 นั้น ก.ล.ต.จะมุ่งเน้นด้านการเอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมในตลาดทุน (foster business innovation) โดยจะส่งเสริมสินค้าทางการเงินใหม่ ๆ และนำสินทรัพย์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดทุน (new asset class) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่มีระดับการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ก.ล.ต.เตรียมจะพิจารณาแยกกลุ่มผุ้ลงทุนมีฐานะดี( high net worth) ออกจากผู้ลงทุนทั่วไป เนื่องจากผู้ลงทุนในกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนทรัพย์สินอยู่ในปริมาณสูง และมีความสามารถในการดูแลตนเองในการประเมินความเสี่ยงได้มากกว่านักลงทุนทั่วไป และเป็นอีกช่องทางในการระดมทุนของโครงการหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง

สำหรับการส่งเสริมการแข่งขัน (Promote Competition) ทาง ก.ล.ต. ตั้เงเป้าให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนให้แก่ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย และได้เสนอให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงเพื่อเปิดเสรีใบอนุญาติหลักทรัพย์เป็นการทั่วไป โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 พร้อมเตรียมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการล่วงหน้า อีกทั้งจะเริ่มในการซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในปี 2553 เพื่อเป็นการปรับลดต้นทุนการประกอบธุรกิจและการทำรายการซื้อขาย จึงคาดว่าจะสามารถเปิดเสรีทั้งหมดในปี 2555

" ในการเตรียมการดังกล่าว ถือว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งในตลาดทุนโลก โดยทาง ก.ล.ต.มีแผนจะแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ (demutualization) และยกเลิกการผูกขาดในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งการชำระราคาและส่งมอบ รวมถึงให้ตลาดหลักทรัพย์เปิด trading access ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกเดิม และสนับสนุนการเชื่องโยงกับตลาดอื่นได้"

ส่วนบทบาทและหน้าที่ของทาง ก.ล.ต. กำลังจะปฏิรูปการกำกับดูแล กระบวนการทำงาน และกฏเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการวิชาชีพ และผู้ลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากขึ้น(self regulatory organization) ตลอดจนเตรียมจะพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ลงทุนในการใช้สิทธิของตนเสนอปรับปรุงแก้ไขกฏระเบียบเพื่อให้สิทธิผู้ลงทุนเป็นหลักสากล

อย่างไรก็ตาม ทาง ก.ล.ต. ยังคงให้ความสำคัญกับด้านดูแลรักษาความเป็นระเบียบร้อยของตลาด (maintain orderly market)และด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน (ensure investor protection) เนื่องจากเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา

"เป้าหมายในระยะต่อไปของตลาดทุนไทย คือการปรับสัดส่วนการกำกับดูแลของทั้งสามส่วนให้มีน้ำหนักเท่ากัน อันได้แก่ กฏระเบียบของทางการ การดูแลตนเองของผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรม และการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อปกป้องประโยชน์ของตนเอง โดยมีปัจจัยองค์ประกอบที่จำเป็น ได้แก่ การให้ความรู้และประสิทธิภาคในการใช้สิทธของผู้ลงทุน การบังคับใช้กฏหมาย จรรยาบรรณของผู้ประกอบการ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของก.ล.ต. โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้" นายธีระชัยกล่าว

นอกจากนี้ ในปี2552 กลต. เตรียมออกผลิตภัณฑ์ gold furtures ซึ่งจะเปิดซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายทองคำสามารถขอเป็นตัวแทนหรือมีส่วนร่วมในธุรกิจดังกล่าวได้หลายรูปแบบ รวมทั้งได้มีการออก พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสินค้าใหม่ ซึ่งกฏหมายดังกล่วจะมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ยังได้มีการแก้ไขกฏหมายหลักทรัพย์ในประเด็นที่ยังหย่อนไปจากมาตราฐานสากล อาทิ การคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้น การคุ้มครองทรัพย์สินลูกค้า ระบบการชำระและส่งมอบหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการป้องปรามการทุจริต

รวมทั้ง จากวิกฤตการเงินโลก ที่ส่งผลต่อตลาดทุนไทยมีความผันผวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีการออกมาตราเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว อาทิ การยกเลิกจำนวนหุ้นขั้นต่ำ (10% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด) ที่ต้องทำคำเสนอซื้อกรณีเสนอซื้อแบบบางส่วน (partial tender offer) และปรับปรงุขั้นตอนและกระบวนการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นต้น

ขณะที่ผลงานที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ทางก.ล.ต. ได้ดำเนินการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับการทำธุรกิจได้อย่างครงวงจร เพิ่มความคล่องตัวและสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการจัดโครงการทำธุรกิจเช่น ผ่อนปรนให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถแต่งตั้งผู้บริหารไขว้ในบริษัหลักทรัพย์อื่นได้ เพื่อเป็นการเตียมความพร้อมในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนโลกในปีหน้า อีกทั้งได้สนับสนุนให้เกิด Single stock futures ซึ่งเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ที่เริ่มเปิดการซื้อขายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.