มือปราบ "ธุรกิจอาชญากรรม"

โดย นพ นรนารถ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

นับวันอาชญากรรมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินจะทวีความเข้มข้นและซับซ้อนขึ้นทุกขณะ ตำรวจชุดเฉพาะกิจปราบปรามคดีเหล่านี้จึงได้รับการจัดตั้งเป็นกรณีพิเศษ แต่ดูเหมือนว่า ความคืบหน้าและความเติบโตของชุดเฉพาะกิจนี้จะเตาะแตะเต็มที่ อย่างไรก็ตามปลายปีนี้ทุกอย่างค่อนข้างจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ข้อสงสัยที่ตามมาก็คือ เหล่านักธุรกิจผู้สุจริตทั้งหลายจะพึ่งพา "มือปราบ" ทีมนี้ได้สักเพียงไหน

ช่วงปี 2525 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2528 เป็นห้วงเวลาที่เมืองไทยประสบกับความ ระส่ำระสายทางเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างหนัก นับแต่กรณี "ราชาเงินทุน" ไล่เรื่อยไปถึง "พัฒนาเงินทุน" "เอเชียทรัสต์" ลามไปถึงวงการแชร์อย่าง "ชม้อย ทิพย์โส" "แชร์ชาร์เตอร์" และ "เสมาฟ้าคราม"

สิ่งที่ตามมาหลังจากวิกฤติการณ์ดังกล่าวคือการไล่ล่าจับกุมผู้บริหารทรัสต์เจ้ามือแชร์และผู้ประกอบการสถาบันการเงินแห่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องและมีเค้าแห่งการสงสัยว่าจะฉ้อโกงประชาชนผู้ฝากเงินทั้งหลาย

ห้วงเวลานั้นเองที่ผู้บริหารระดับสูงในวงการตำรวจตระหนักว่า "ธุรกิจอาชญากรรม" ที่ปรากฎขึ้นนั้นสลับซับซ้อนเกินไปกว่าที่จะมองคดีเหล่านี้ว่าเป็นเหมือนคดทั่วไปเช่นคีดอาชญากรรมธรรมดา ๆ เสียแล้ว

ความพิเศษของ "ธุรกิจอาชญากรรม" อยู่ที่ หนึ่งผู้ที่จะก่ออาชญากรรมประเภทนี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พิเศษเฉพาะด้านที่ตนจะดำเนินการเป็นอย่างดี เช่น ต้องมีความรู้ด้านการเงิน การบัญชี การธนาคาร ฯลฯ ซึ่งแน่นอนที่ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงตำรวจ ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสเงินเป็นสิบล้านร้อยล้านแบบผู้ฉ้อฉลพวกนั้น ย่อมไม่มีสันทัดจัดเจนในเรื่องการเงินการบัญชีเช่นเหล่าอาชญากรเช่นนั้นอย่างแน่นอน

สองความซับซ้อนของคดีมีมากกว่าคดีอาชญากรรมทั่วไป

"คดีหลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ คุณเห็นชัดเจนว่ามีเจ้าทุกข์ มีของกลาง ชี้ตัวจำเลยได้ง่ายแต่คดีทางเศรษฐกิจมันไม่ใช่แบบนั้น ผมเคยได้รับมอบหมายให้ทำคดีหนึ่ง มีกระดาษมาเป็นหลักฐานชิ้นเดียว แล้วไปเริ่มต้นเอาเอง มันก็ต้องค่อย ๆ คลำ ๆ กันไป" พ.ต.อ. สมพงษ์ บุญธรรม รองผู้กำกับปราบปราม ผู้มากด้วยประสบการณ์ในคดีเช่นนี้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในช่วงที่มไมีหน่วยงานใดรับผิดชอบคดีธุรกิจอาชญากรรมโดยตรง คดีเหล่านี้จะถูกระจัดกระจายไปตามหน่วยต่าง ๆ เช่นกองปราบปราม กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร รวมไปถึงสถานีตำรวจท้องที่ต่าง ๆ

ปัญหาก็คือแต่ละหน่วยงานมีภาระหน้าที่ล้นหลามอยู่แล้ว เช่น ที่กองปราบปรามมีคดีใหม่ ๆ และเป็นที่สนใจของผู้ใหญ่และสื่อมวลชนแทบทุกวัน เช่น คดีสังหารเจ้าพ่อ แก๊งมาเฟีย แก๊งยาเสพติด เป็นต้น ทำให้บางครั้งต้องพักงานซึ่งมีความสลับซับซ้อน ละเอียดอ่อนและต้อใช้เวลานาน เช่น คดีธุรกิจอาชญากรรมนี้ไป หรือตามสถานีตำรวจท้องที่ที่รับร้องทุกข์แจ้งความก็ไม่มีอำนาจกว้างขวางเพียงพอ เพราะเจ้าทุกข์มีเป็นร้อย ๆ ราย และอยู่กระจัดกระจายหลายท้องที่ การติดตามสืบสวน สอบสวน จึงทำด้วยความลำบากเพราะติดด้วยระเบียบราชการ จนดูไปว่าตำรวจไม่ให้ความใส่ใจ

ปี 2528 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องการปรับปรุงภารกิจและการแบ่งส่วนราชการของกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรมาให้กรมตำรวจพิจารณา เพื่อพิจารณาปรับปรุงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีธุรกิจอาชญากรรม ซึ่งต่อมากรมตำรวจได้มอบหมายให้คณะกรรมการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารงานของกรมตำรวจพิจารณา

ระหว่างที่ส่งเรื่องกลับไปกลับมาระหว่างหน่วยราชการด้วยกันนี้เอง กรมตำรวจในสมัยอธิบดีพล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ พิจารณาเห็นว่า ขั้นตอนในการปรับปรุงโครงสร้างกองทะเบียนคนต่างด้าว และภาษีอากรเป็น "กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจ" จะต้องผ่านขั้นตอนและอาศัยเวลานานพอสมควร เพราะต้องผ่านการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี แล้วจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขปรับปรุงส่วนราชการกรมตำรวจต่อไป ซึ่งถ้าขืนรอจนป่านนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะหมักหมมและไม่ทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง พล.ต.อ.ณรงค์ก็เลยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2530 จัดตั้ง "หน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน" ขึ้น โดยมีพล.ต.ท.แสวง ธีระสวัสดิ์ ผู้ช่วย อ.ตร. ฝ่ายปราบปราม (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

"ผมว่าเหมาะสมมากที่ท่านมารับผิดชอบในหน้าที่นี้ เพราะท่านจบนิติศาสตร์ท่านใส่ใจในคดีทำนองนี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีมากในเวลานั้น และจนกระทั่งปัจจุบัน" ผู้ใหญ่ในกรมตำรวจท่านหนึ่งกล่าว

หน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 คณะกรรมการกำหนดนโยบายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจและการเงิน ประกอบด้วยอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ซึ่งก็คือ พล.ต.ท.แสวงและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกรมกองต่าง ๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมศุลกากร, กรมสรรพากร ฯลฯ

ส่วนที่ 2 ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินส่วนนี้ถือเป็นหน่วยปฏิบัติงานหลัก มีที่ทำการใหญ่อยู่ที่กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรโดยมีพล.ต.ต.จงรักษ์ แสงทวีป เป็นผู้อำนวยการคนแรก และพล.ต.ต.อัสนี มกรานนท์ ผู้บังคับการกองทะเบียน เป็นผู้อำนวยการศูนย์คนปัจจุบัน

ส่วนที่ 3 ชุดปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน ประกอบด้วยนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับผู้กำกับการขึ้นไปเป็นหัวหน้าชุดซึ่งมีทั้งสิ้น 5 ชุด หัวหน้าชุดและกำลังพล ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร

สาเหตุที่กำลังพลของหน่วยเฉพาะกิจส่วนใหญ่หรือแม้แต่ผู้อำนวยการศูนย์จะเป็นตำรวจจาก กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร เพราะโดยสายงานแล้วกองทะเบียนฯมีภาระหน้าที่ด้วยกัน 2 ด้าน คือ ด้านแรกคือเรื่องคนต่างด้าว อีกด้านคือเรื่องภาษีอากร ซึ่งงานส่วนนี้เองที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีทางด้านการเงินและการบัญชีอยู่บ้าง หน่วยเฉพาะกิจจึงมีความเหมาะสมที่จะตั้งอยู่ ณ กองทะเบียนฯ นอกจากนั้น ทางกรมตำรวจก็ยังยืมตัวหรือแต่งตั้งตำรวจจากองปราบปรามมาเป็นระดับรองผู้อำนวจการศูนย์ด้วย เช่น พ.ต.อ.สมพงษ์ บุญธรรม ซึ่งเคยติดตามสืบสวนคดีชม้อยและแชร์ชาร์ของกลุ่มเอกยุทธ์ อัญชัญบุตร

นับแต่ก่อตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมา คีดสืบสวนจับกุมในช่วงต้น ๆ มักเป็นเรื่องบัดตรเครดิต ทั้งนี้เป็นไปตามความมุ่งหมายของพล.ต.ท.แสวงในช่วงนั้น เพราะคดีบัตรเครดิตเป็นความผิดที่เห็นชัดเจนหลักฐานมีครบ และเป็นคดีที่ทำความเสื่อมเสียมาสู่ประเทศไทยในสายตาชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

มาในช่วงปี 2532 หน่วยเฉพาะกิจได้โชว์ฝีมือสืบสวนจับกุมคดีสำคัญได้หลายคดี ดังที่จะเห็นได้จากสรุปผลการจับกุม

ปัญหาสำคัญของหน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินมีด้วยกันหลายประการคือ

หนึ่ง - ปัญหาบุคลากร ถ้าดูจากจำนวนตัวเลขอัตรากำลังพลอาจจะเห็นว่า หน่วยเฉพาะกิจนี้มีชุดปฏิบัติการถึง 5 หน่วยหน่วยละ 12 นาย รวม 60 นาย แต่เอาเข้าจริง พ.ต.อ.นภดล สมบูรณ์ทรัพย์รองผู้อำนวยการศูนย์กล่าวว่า ล้วนนายตำรวจที่ยืมตัวมาหรือมีชื่อไว้เท่านั้น แต่ตัวตนจริงนั่งอยู่ที่อื่น ดังนั้นกำลังพลจริงอาจจะเหลือไม่ถึงครึ่งเท่านั้น แต่กำลังคนจะว่ามากหรือน้อยอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ ความสันทัดจัดเจนในการสืบสวนสอบสวนคดีเหล่านี้ ซึ่งจะต้องเป็นนายตำรวจที่ความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องการเงิน การบัญชีมากพอสมควร แต่ในความเป็นจริง นายตำรวจที่มีความรู้ด้านมีไม่มากนัก รวมไปถึงความรู้ด้านต่างประเทศ เพราะหลายคดีต้องติดต่อกับ กรมตำรวจหรือบริษัทต่างประเทศเพื่อสืบสวนหาเครือข่ายโยงใย แต่กรมตำรวจก็ยังยาดแคลนนายตำรวจที่มีความชำนาญด้านนี้

แรก ๆ ของการก่อตั้งหน่วยเฉพาะกิจทางพล.ต.ท.แสวงก็ตระหนักถึงปัญหานี้ดีจึงได้จัดอบรมเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยเชิญวิทยากรจากสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องมาบรรยาย เช่น จากธนาคารแห่งประเทศไทย ศุลากร บริษัทบัตรเครดิตผู้เชี่ยวชาญจากตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นพื้นฐานที่ดีมาก แต่ในแง่ความเป็นจริง การสร้างความชำนาญที่ดีที่สุดก็คือ การทดลองลงมือปฏิบัติจริงกับคดีต่าง ๆ และค่อยสะสมไป และอาศัยเวลานานพอสมควร ดังนั้นนายตำรวจหลายคนจึงยังกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัญหานี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ของหน่วยงานนี้ และอาจเป็นอุปสรรคต่อไปในการทำคดีที่สลับซับซ้อนหรือคดีที่ต้องค่อย ๆ แกะรอยติดตามไปเรื่อย ๆ

สอง - อำนาจการสอบสวน เนื่องจากตำรวจหน่วยนี้เป็นเพียงหน่วยเฉพาะกิจอำนาจการติดตามสืบสวนสอบสวนและจับกุมจึงต้องขออนุมัติตามขั้นตอน ตั้งแต่ผู้อำนวยการศูนย์ ผ่านประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบาย จนถึงกรมตำรวจทำให้ล่าช้ามาก จนผู้แจ้งความหรือเจ้าทุกข์บางรายเข้าใจไปว่าหน่วยนี้ไม่เอาจริง หรือไม่ใส่ใจ จึงหันเหไปทางกองปราบปรามกันหลายราย เพราะกองปราบปรามมีอำนาจการจับกุมที่กระชับรัดกุมและรวดเร็วกว่าหรือหลายคดีก็เกิดความซ้ำซ้อนกับกองปราบปราม เช่น คดีแชร์ฉางทอง ซึ่งมีเจ้าทุกข์มากมาย ต่างแห่กันไปร้องทุกข์กับทั้งสองหน่วยงานพร้อม ๆ กัน ซึ่งในที่สุดกรมตำรวจก็อนุมัติให้ทางกองปราบปรามดำเนินการเพราะกระทำได้รวดเร็วกว่า

สาม - การติดตามสืบสวนสอบสวนคดีต่าง ๆ จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเพราะเรื่อทำนองนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องโดยไม่เจตนา

"ช่วงที่มีทรัสต์ล้มบ่อย ๆ ผมเข้าไปสอบสวนกับผู้บริหารทรัสต์แห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นมีเพียงเค้าเงื่อนงำน่าสงสัยอยู่บ้างเท่านั้น วันนั้นมีนายตำรวจแต่งชุดเต็มยศเข้าไปหลายคนเพื่อสอบถามหลักฐานบางอย่างกับผู้บริหารของทรัสต์นั้น ปรากฎว่ามีคนมามุงดูที่ประตูทาทงเข้าหน้าออฟฟิศเต็มไปหมด แล้วก็ลือไปต่าง ๆ นานา จนมีคนมาแห่ถอนเงินกันอลหม่านก็วุ่นไปพักหนึ่งเหมือนกันกว่าจะสงบ" นายตำรวจท่านหนึ่งกล่าว

"ก็อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า ผู้กระทำผิดคดีทำนองนี้จัดว่าเป็นระดับ WHITE-COLLAR หรือที่ขนานนามกันว่า พวกโจรในชุดสูทนั่นแหละ ดังนั้นการติดตามหรือการกระทำการใด ๆ ต้องระมัดระวังมาก นอกจากจะไม่ให้เสียหายต่อสถาบันการเงินที่เขาบริหารอยู่โดยไม่ตั้งใจแล้ว ต้องระวังไม่ให้เสื่อมเสียหายเขาไม่ได้กระทำผิดจริงหรือเราหาหลักฐานมายืนยันได้ไม่ครบถ้วน มิฉะนั้นเราอาจะถูกฟ้องกลับได้ คดีแบบนี้จึงต้องระวังมาพ" พ.ต.อ.นพดลกล่าว

ดังนั้นคดีหลายคดีที่หน่วยเฉพาะกิจติดตามจับกุมมาได้หลายคดีมาจากการติดตามของเจ้าทุกข์เช่น ธนาคารชาติมาก่อนเช่นคดี เช็คเดินทางปลอมของธนาคารแห่งอเมริกา คดีแลกเปลี่ยนเงินตราเถื่อนที่ธนาคารชาติติดตามมานาน คดีคอมมูดิตี้หลายแห่ง ซึ่งไพศาล กุมาลย์วิสัยก็กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทางธนาคารชาติก็มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตนเองเหมือนกันเพื่อร่วมมือกับกรมตำรวจจัดการกับธุรกิจประเภทนี้ แต่เป็นการกระทำอย่างลับ และไม่เปิดเผยตัว

"ปัจจุบันเราพยายามติดตามคดีที่เราคิดว่าเราเกี่ยวข้องเองโดยตรง เช่นมีคดีฆ่าชาวต่างประเทศตาย และมีหลักฐานว่าผู้ต้องสงสัยลักเอาบัตรเครดิตไป มีหลักฐานการใช้เป็นเงินจำนวนมากมหาศาล เราก็จะเข้าไปร่วมสืบสานด้วยในส่วนของบัตรเครดิต ซึ่งจะช่วยทำให้คดีนี้เสร็จเร็วขึ้นเพราะเรามีความชำนาญในเรื่องนี้ รู้แหล่งรู้เครือข่ายโยงใยดี" พ.ต.อ.นพดลกล่าว

เมื่อ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ก้าวขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ก็เป็นที่คาดหมายว่า หน่วยเฉพาะกิจจะได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ ซึ่งคาดว่าภายในปลายปีนี้ หน่วยเฉพาะกิจนี้น่าจะได้รับการจัดตั้งเป็น "กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจ" ทั้งนี้เป็นการยกฐานะของกองทะเบียนตรวจคนต่างด้าวและภาษีอากรขึ้นมา โดยแยกงานทะเบียนคนต่างด้าวไปไว้ที่กองตรวจคนเข้าเมือง และเหลืองานภาษีอากรไว้กับเพิ่มงานอื่นเข้าไปจนเป็นกองบังคับการ

นอกจากนี้ผู้บังคับการกองคนแรกก็คงเป็นพล.ต.ต.อัสนี มกรานนท์ ซึ่งก็คือผู้อำนวยการศูนย์คนปัจจุบัน โดยมีพ.ต.อ.นภดล สมบูรณ์ทรัพย์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่จะเป็นคีย์สำคัญในหน่วยงานนี้ เนื่องจากได้รับการอบรมทางด้านนี้มาโดยตรงและเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศ อีกทั้งในช่วงหลัง พ.ต.อ.นพดลก็มีบทบาทในการเข้าจับกุมคดีสำคัญ ๆ หลายครั้ง

กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยลดปัญหาที่เคยเป็นมาสมัยเป็นแค่หน่วยเฉพาะกิจไปเป็นอันมาก เช่น อำนาจการสอบสวนที่กระชับและรวดเร็วขึ้น เช่นขออนุมัติสืบสวนจับกุมตอนเช้า อาจกระทำได้เลยในตอนบ่าย เหมือนดังกองปราบปรามงบประมาณและกำลังพลที่มีให้อย่างแน่นอนภาระหน้าที่และบทบาทที่ต่อเนื่องและชัดเจนและถ้าไปดูที่บทบาท และอำนาจของกองบังคับการแห่งใหม่นี้จะพบว่า ล้วนเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างสูงต่อวงการธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แต่ปัญหาก็คือด้านบุคลากร กองบังคับการแห่งใหม่นี้จะมีความพร้อมมากมายเพียงใด

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนายกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัญหา ในเรื่องความพร้อมทางด้านบุคลากรคงเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงต้นของการก่อตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะเรื่องความรู้ ความชำนาญในเรื่องการเงินการบัญชี หรือคดีแปลก ๆ เช่น เรื่องความผิดหรือการฉ้อโกงโดยใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์หากเกิดขึ้นจริง ก็คงต้องศึกษากันอย่างเร่งด่วน หรือคดีการเปิดเผยความลับทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นเรื่องใหม่ตำรวจต้ออาศัยผู้รู้เชี่ยวชราญจากสาขาอื่นมาเป็นที่ปรึกษาไม่ใช่น้อย

แต่นายตำรวจเหล่านั้นยังเชื่อมั่นว่า การตั้งเป็นกองบังคับการอย่างจริงจังจะทำให้เห็นตัวนายตำรวจที่ประจำกองแน่นอนไม่ย้ายเข้าย้ายออกดังที่เป็นมา ดังนั้นการฝึกอบรมที่ต่อเนื่องจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับหน่วยงานนี้ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัญหาข้างต้น

อุปกรณ์ เครื่องมือ โดยเฉพาะศูนย์ข้อมูลที่เป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะศูนย์ข้อมูลสำหรับบันทึกแฟ้มอาชญากร รวมไปถึงความเคลื่อนไหวในวงการธุรกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการก่อรูปก่อร่างของศูนย์นี้ขึ้นมาอย่างใด ทั้งหมดจึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น

"แต่ผมขอเตือนไว้ประการหนึ่งการตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา มีกำลังพลชัดเจนมีบทบาทและขอบเขตของอำนาจที่กว้างขวางและสำคัญยิ่งเชนนี้ อาจเป็นเสมือนดาบสองคม หากทำงานด้วยความบุ่มบ่ามไม่ละเอียดรอบคอบแล้ว จะกลายเป็นตัวทำลายเศรษฐกิจได้เช่นกัน เช่นที่เคยเกิดกับทรัสต์บางแห่งมาแล้ว หรือนายตำรวจที่อยู่หน่วยนี้จะต้องหนกแน่นในเรื่องสินจ้างรางวัลเป็นอย่างมาก เพราะบุคคลที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นบุคคลสำคัญ มีหน้ามีตาในวงสังคม อีกทั้งล้วนเป็นคดีที่เกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น หากเราได้ตรวจที่ไม่ดีไว้ กรมตำรวจก็จะเสียชื่อ และกลายเป็นตัวบ่อนทำลายเศรษฐกิจไปได้" นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ความเห็น

แม้กระนั้นก็ตามก็คงไม่มีใครปฏิเสธถึงความจำเป็นในภารกิจของ "กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจ" แห่งนี้ หลายคนคงตั้งความหวังไว้ไม่น้อยและหลายคนบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า น่าจะจัดตั้งมาตั้งนานแล้วเพราะปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้หนักข้อขึ้นทุกวัน

กรมตำรวจได้เสียเวลาไปเป็นเวลาหลายปีกว่าจะจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้น กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมแห่งนี้ จึงต้องเร่งพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับสถานการณ์และความคาดหวังของประชาชนในอนาคต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.