SEC ผู้คุมกฎตลาดหุ้น

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

กฎกระทรวงให้แยก ธุรกิจเงินทุนกับหลักทรัพย์ ออกจากกันเด็ดขาด เป็นประเด็นที่มีการพูดกันมานานแล้ว กระทรวงการคลังยังเก็บเงียบ เหมือนกับเป็นประเด็นไม่รีบด่วนที่ต้องตัดสินใจ ไม่ต่างกับประเด็นร่างกม.จัดตั้งคณะกรรมาธิการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์หรือ SEC ที่ผ่านการ พิจารณากันมานานจากเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ประเด็นทั้ง 2 นี้มีความหมายต่ออนาคตตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจหลักทรัพย์ที่กำลังบูมอย่างมาก

ความคิดที่จะให้มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ และผู้ประกอบการในธุรกิจหลักทรัพย์หาใช่เพิ่งจะมีขึ้นในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ฯฟื้นตัวกลับในระลอกหลังนี้ไม่ แต่มีมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯก่อนปี 2518

ครั้งที่ศาสตราจารย์ซิดนีย เอ็ม รอบบินส์ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาการเงินจากมหาวิทยาลัยโค

ลัมเบีย สหรัฐฯถูกว่าจ้างเข้ามาทำการศึกษา เพื่อก่อตั้งตลาดทุนในไทยนั้น ศาสตราจารย์รอบบินส์ได้เสนอความเห็นเรื่องการมี SEC เอาไว้ด้วย โดยมองว่ายังไม่สมควรจะมีในเวลานั้น

ทั้งนี้ศาสตราจารย์รอบบินส์กล่าวว่าการมี SEC ในรยะแรกอาจจะกลายเป็นภาระยุ่งยากและทำให้ตลาดทุนพัฒนาชักช้าโดยไม่จำเป็น การดำเนินงายภายใต้กฎหมายและโครงสร้างองค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วก็จะช่วยควบคุมพัฒนาตลาดทุนไปได้ดังนั้น "จึงสมควรให้ตลาดทุนใช้วิธีการควบคุมตนเองให้มากที่สุด เพื่อจะให้เป็นภาระแก่คณะทำงาน (จัดตั้งตลาดทุน) น้อยที่สุด"

นี่คือวิธีกาที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กยุคกแรกก่อนที่จะมีการตั้ง SEC ขึ้นในปี 1934 (2477)

ศาสตราจารย์รอบบินส์นำเอาประสบการณ์จากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์มากปรับใช้โดยยึดหลักการที่ว่า "คณะทำงานจะต้องมอบความรับผิดชอบให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ทางราชการเพียงช่วยส่งเสริมให้เอกชนช่วยกันหามาตรการทำงานสร้างสรรค์โดยแนะแนวทางให้ แต่ต้องพร้อมที่จะติดตามดูแลทุกขั้นตอนถ้าจำเป็น"

ความเห็นของศาสตราจารย์รอบบินส์เมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมายังนับว่าเป็นข้อคิดเห็นที่ใช้ได้อยู่เป็นอย่างดี เพาะมันเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงประการหนึ่งของธุรกิจค้าหลักทรัพย์ นั่นคือผู้ประกอบธุรกิจซึ่งก็คือบรรดานักลงทุนในภาคเอกชนทั้งหลาย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันธุรกิจนี้ให้เติบโตขยายตัว ขณะที่ภาครัฐบาลนั้นมีบทบาทในด้านของการควบคุมตรวจสอบให้การดำเนินธุรกิจนี้เป็นไปอย่างถูกต้องยุติธรรม

การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะแรกนั้น อยู่ภายใต้การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในโครงการพัฒนาตลาดทุน ครั้นต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 แล้ว กระทรวงการคลังจึงเข้ามารับผิดชอบแทนโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์คอยควบคุมดูแล

คณะกรรมการฯชุดนี้มีรวม 9 คน มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี 4 คน จากสมาชิกเลือกตั้ง 4 คนและผู้จัดการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอีก 1 คน ทำหน้าที่ควบคุมนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ฯและการซื้อขายหลักทรัพย์ แต่ในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งหลาย ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522

ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในธุรกิจค้าหลักทรัพย์จึงมีถึง 3 หน่วยคือกระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมาก ๆ อย่างนี้ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินงาน เช่น เรื่องการพิจารณารับหลักทรัพย์เข้าใหม่ ซึ่งหลังจากผ่านคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ยังจะต้องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีก หรือการดูแลบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซึ่งมีอยู่รวมแล้วเกือบร้อยแห่งนั้น ก็สร้างปัญหาหนักอกให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ไม่น้อย

ความคิดที่จะจัดระเบียบ แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบกันให้ชัดเจน ระหว่าง 3 หน่วยงานนี้เกิดขึ้นมานานแล้วโดยมีความพยายามที่จะผลักดันใน 2 เรืองคือการแยกบริษัทเงินทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ออกจากกัน และการจัดตั้ง SEC ขึ้นมาควบคุมดูแลตลาดทุน

ในส่วนแรกนั้นเป็นข้อเสนอจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล หัวหน้าส่วนกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่ามูลเหตุที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอร่างกฎกระทรวงให้แยกกิจการทั้งสองประเภทออกจากกันก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุน

นั่นหมายความว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบการทั้งด้านเงินทุน และหลักทรัพย์อยู่ร่วมกันนั้นสามารถระดมเงินทุนและหลักทรัพย์อยู่ร่วมกันนั้นสามารถระดมเงินทุนจากประชาชนได้ในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ด้วย บริษัทเหล่านี้สามารถเอาเงินฝากจากประชาชนมาใช้เล่นหุ้นให้ตัวเอง (PRTFOLIO) ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ในวงเงินจำนวนหนึ่ง

แต่โอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่าวงเงินที่กฎหมายอนุญาตก็มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะในรายที่ผู้บริหารมีลักษณะกล้าได้กล้าเสีย

และนั่นจึงเป็นความเสี่ยงอย่างมโหฬารของธุรกิจนี้ และเป็นการยากที่ธนาคารชาติจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง

นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้วยังมีเรื่องของการขัดแย้งในผลประโยชน์ซึ่งดร. ประสารยกตัวอย่างในกรณีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่งได้ทำการประกันการจำหน่ายหุ้น (UNDERWRITE) แต่แล้วบริษัทนั้นเองก็ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ามาซื้อหุ้นนั้น ๆ ไป แทนที่จะให้โบรกเกอร์หรือนักลงทุนอื่น ๆ มาซื้อตามธรรมเนียมที่ควรจะทำกัน

ประการสุดท้ายเป็นเรื่องของการสร้างกฎเกณฑ์ความมีระเบียบ ทั้งนี้บรรดาผู้ออกกฎระเบียบทั้งหลายก็อยากที่จะมีหน่วยงานที่กำกับตรวจสอบอย่างเป็นศูนย์กลาง หรือ SEC นั่นเอง

หมายความว่าหากร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศใช้ ธนาคารชาติก็จะยกความหนักอกในเรื่องการควบคุมบริษัทหลักทรัพย์หรือกิจการที่เกี่ยวตลาดทุนพ้นตัวไปได้ คงเหลือแต่บริษัทเงินทุนให้รับผิดชอบเท่านั้น

ขั้นตอนที่จะแยกกิจการทั้งสองประเภทออกจากกันนั้นอาศัยวิธีการออกกฎกระทรวงให้มีการอนุมัติออกใบอนุญาตค้หลักทรัพย์ใหม่ หลังจากนั้นก็ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งหลายตั้งนิติบุคคลเพื่อขอใบอนุญาตใหม่นี้ พร้อมกับคืนใบอนุญาตเก่าที่มีอยู่ก่อนหน้าแล้วให้กับกระทรวงการคลัง และให้ใช้ใบอนุญาตใหม่ทำธุรกิจต่อไป โดยกระบวนการนี้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่พร้อมและสมัครใจ

ในการแยกธุรกิจเงินทุนกับหลักทรัพย์ออกจากกันนี้ ปรากฎว่ามีเสียงจากฝ่ายผู้ประกอบการหลายส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย โดยมองจากอีกจุดยืนหนึ่งที่ต่างออกไปจากฝ่ายธนาคารชาติ

โยธิน อารี กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทรกล่าวว่า "ผมยังคิดว่าตลาดทุนยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างจะเร็วไป โดยเฉพาะตลาดหุ้นบ้านเรานี่อายุยังน้อยมาก พื้นฐานอะไรก็ยังไม่แข็งแรง ผู้ลงทุนจริง ๆ ยังมีน้อย ผู้ลงทุนสถาบันยังไม่มี เราไม่สามารถเอามาตรฐานเวลาที่ตลาดบูมมาวัดได้ ต้องดูตอนที่มีการลงทุนตามปกติซึ้งอาจจะต่ำ ไม่สูงมาก ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์จึงอาจจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้เต็มที่ การอยู่ด้วยกันจะทำให้ฐานะของบริษัทที่มีธุรกิจเงินทุนด้วยอาจจะแข็ง เพราะว่าในเมื่อธุรกิจด้านหนึ่งไม่ดีก็อาจจะมีธุรกิจอีกด้านหนึ่งมาเสริม"

อย่างไรก็ดี โยธินกล่าวด้วยว่าปัยหานี้มันอยู่ที่เหตุผลในการมอง เพราะหากต้องการความเป็นสัดส่วนมีระเบียบแน่ชัดอย่างที่ธนาคารชาติมองนั้น ก็สามารถทำได้ด้วยการแยกกิจการทั้งสองออกจากกัน

แต่สำหรับมุมมองในฐานะผู้ประกอบการอย่างเขานั้น โยธินคิดว่ายังไม่ถึงจุดที่เหมาะที่จะแยกกิจการทั้งสอง เพราะการพัฒนาตลาดทุนของไทยนั้นไปเน้น และฮือฮากันที่ตลาดรองหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่าตลาดแรกหรือตลาดหลักทรัพย์ออกใหม่ และถึงกระนั้นตลาดรองก็ยังไม่มีความมั่นคงดีพอ

โยธินกล่าวว่า "ที่ผมว่าตลาดยังไม่สมบูรณ์ดีพอนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้สมบูรณ์ 100% แต่เราก็น่าจะต้องดูพอสมควร ผมเองไม่เห็นข้อคัดค้านอะไรที่จะแยก แต่ในเมื่อเวลานี้ตลาดทุนยังไม่เข้มแข็งพอ ถ้าแยกขึ้นมาแล้วบริษัทหลักทรัพย์ต้องเกิดปัญหา เริ่มด้วยการตกต่ำในเรื่องรายได้ บริการต่าง ๆ ก็ถดถอย จนถึงเกิดปัญหาทางการเงินขึ้นมาได้ เพราะว่าไม่มีธุรกิจอะไรมาป้อนให้มีรายได้"

การกล่าวว่าตลาดแรกยังไม่พัฒนามากพอนั้น ออกจะเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว ทั้งนี้ในปี 2531 มีบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตเพิ่มมากถึง 36 บริษัทเปรียบเทียบกับปี 2530 มีเพียง 21 บริษัท และสิ้นปี 2532 คาดว่าจะมีรวม 35 บริษัทตัวเลขเหล่านี้เป็นการบ่งชี้ว่ากิจกรรมในตลาดแรกขยายตัวกว้างขวางขึ้น

ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟธนาคมและบริษัทหลักทรัพย์เฟิร์สแปซิฟิคเอเชีย ก็บ่งชี้ให้เห็นว่าการดำเนินกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์โดยแยกออกจากกันนั้นสามารถทำได้และอยู่ในขั้นที่ดีด้วย

โดยเฉพาะบริษัทเงินทุนเอกธนกิจนั้นกลายเป็น "ดาวเด่น" ในกิจกรรมด้านอินเวสเม้นท์แบงกิ้ง บริษัทหลักทรัพย์สามแห่งดังกล่าวข้างต้นก็เป็นผลงานจากแผนกอินเวสเม้นท์ แบงกิ้ง (ไอบีดี) ของเอกธนกิจ

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสามซึ่งแม้จะเพิ่มเริ่มทำการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างจริงจังเพียงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่าเอกธำรงสามารถทำปริมาณการซื้อขายสูงสุดเป็น 1 ใน 10 ของโบรกเกอร์ ส่วนเจเอฟธนาคมนั้นก็เริ่มจะมีความพยายามแสวงหากิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาทำเช่นเรื่องการจัดการกองทุนต่างประเทศเป็นต้น

หรือกระทั่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจที่เพิ่งริเริ่มและประสานงานในการร่วมให้วงเงินออกตั๋วเงินหมุนเวียนจำนวน 5,000 ล้านบาท (DISCOUNT NOTES FACILITIES) ระยะเวลา 10 ปี ให้บริษัทไทยออยล์ จำกัด การพัฒนาตราสารทางการเงินประเภทนี้ก็คือเป็นความริเริ่มในกิจกรรมของตลาดแรกที่ยังสามารถบุกเบิกได้อีกมาก

ปัญหาสำคัญของตลาดแรกที่ยังไม่มีการพัฒนามากพอนั้น น่าจะอยู่ที่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในการคิดค้นบุกเบิก และสร้างให้ตลาดนี้มีความมั่นคงเข้มแข็งไม่แพ้กับที่คนจำนวนมากทุ่มความสนใจให้ตลาดรอง

วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ หันไปให้ความสำคัญและความห่วงใยกับธุรกิจทุนมากกว่าเรื่องหลักทรัพย์ เขากล่าวว่ากลุ่มธุรกิจที่ทำด้านเงินทุนคงต้องลำบาก เพราะมีโอกาสที่จะขยายตัวทางด้านธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจหลักทรัพย์ และยังจะต้องแข่งขันกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งธนาคารมีความได้เปรียบกว่าในแง่ที่มีสาขาและลู่ทางการดำเนินธุรกิจมากกว่ามาก เช่น การที่ธนาคารสามารถทำการซื้อขายเงินตราต่างประเทศไทยได้ หรือทำแอล/ซีได้ ขณะที่บริษัทเงินทุนไม่สามารถออกบริการเช่นนี้ได้ เป็นต้น

"ธุรกิจค้าหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2522 ถึง 2528 เป็นความจริงที่ยังมองไม่เห็นอนาคต ตัวเลข MARKET CAPITALIZATION มันผันผวนขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่แน่นอน ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท แต่พอหลังปี 2528 ไปแล้วมันโตมาก ๆ ขึ้นเป็นเกือบ 150,00 ล้านบาท และสิ้นปี 2532 ไม่หนี 400,00 ล้านบาทแน่ ซึ่งจาฐานข้อมูลการเติบโตนี้ ในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปมันจะโตขึ้นอีก เพราะตลาดหุ้นบ้านเราเวลานี้มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีมาก ๆ ทั้งในแง่ภาพรวมเษรษฐกิจระดับมหาภาคและผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้ลงทุนในหุ้นบริษัทต่าง ๆ โดยสรุปผมเชื่อมั่นในตลาดนี้ว่าจะมีความใหญ่และศักยภาพที่สูงเพียงพอต่อการทำธุรกิจหลักทรัพย์เต็มรูปแบบ" ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ในลักษณะสอดคล้องกับวิโรจน์นวลแข

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ประกอบการ แต่ข้อเสนอของธนาคารชาติเรื่องนี้ถูกส่งมายังกระทรวงการคลังหลายเดือนแล้ว ขณะนี้เรื่องค้างอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เตรียมให้รัฐมนตรีนำเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอที่จะให้แยกกิจการเงินทุนกับหลักทรัพย์ออกจากกันจะได้รับอนุมัติหรือไม่นั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประมวล สภาวสุ เช่นเดียวกับการที่จะให้เกิดคณะกรรมาธิการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดมากกว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าว แต่จะเมื่อไหร่นั้นยังไม่มีคำตอบแน่ชัด

ในการพิจารณาเพื่อทำการยกร่าง พรบ. SEC ขึ้นมานั้น กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการพิจารณาชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยดร.อรัญ ธรรมโน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธาน กรรมการอื่น ๆ ได้แก่ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ วีระยุค พันธุ์เพชร ผู้อำนวยการกองพัฒนาตลาดทุน สศค.เป็นต้น

ในส่วนของกรรมการท่านอื่น ๆ นั้นไม่พบว่ามีคนจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโดยส่วนตัวหรือเป็นตัวแทนจากสมาคมเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยแต่อย่างใด ซึ่งโยธินตั้งข้อสังเกตว่าการตั้ง SEC ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยเลย แม้แต่ทางฝ่ายสมาคมสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ (AMSET) ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในคณะกรรมกาตลาดหลักทรัพย์ฯ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการพิจาณาร่างพรบ. SEC ตลอดเวลาก็ตาม

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของการเป็นกรรมการในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มาหลายยุคหลายสมัย โยธินให้ข้อคิดเห็นอีกว่า "ในตัว SEC ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดนโยบายสำคัญของตลาดทุนนั้น หากมีคนของทั้งรัฐและเอกชนเหมือนในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯก็อาจจะทำให้พูดจากันรู้เรื่องดี ทางด้านนโยบายการเงินต้องการอย่างไร ทางด้านธุรกิจเอกชนต้องการอย่างไรมันก็ผสมผสานกันไป"

"SEC อาจจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย เช่น เรื่องการกำหนดมาร์จิ้น ซึ่งในสหรัฐฯนั้น SEC เป็นผู้กำหนดว่าจะต้องเป็นเท่านั้นเท่านี้ เพราะเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน สมมุติว่า SEC ของไทย…คือทุกอย่างต้องสมมุติทั้งนั้น เพราะว่าผมยังไม่เห็นเรื่อง…ก็อาจจะต้องมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสำคัญที่เกี่ยวกับการพัฒนาตลาดทุน และที่จะกระทบกับระบบการเงินแต่ทีนี้การจะออกนโยบายอย่างนั้นนี่ หาก SEC เป็นราชการฝ่ายเดียว ก็อาจจะมองอะไรด้านเดียว หาก SEC มีองค์ประกอบเหมือน SET มันก็คงออกมาในรูปที่สวยเพราะมีการพูดกันตลอดทั้งสองฝ่าย"

โยธินให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ต่อไปถึงโฉมหน้าของ SEC ว่า "เมืองไทยนี่ถ้าผมดูก็คงหนีไม่พ้นกระทรวงการคลัง โดยมีรัฐมนตรีคลังเป็นประธานฯ เพราะว่ารูปแบบของประเทศในย่านเอเชียนี่รัฐยังจะต้องมีอำนาจอยู่ แล้วคณะกรรมาธิการก็อาจจะอยู่ทางด้านกระทรวงการคลัง ซึ่งหากออกมาตามแนวความคิดนี้ ผมก็เป็นห่วงว่าจะมีช่องว่างระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนได้"

องค์ประกอบของ SEC จะเป็นตามที่โยธินคาดหมายหรือไม่นั้น มันยังเป็น "ความลับดำมืด" ซึ่งมีเพียงคณะกรรมการพิจาณาร่างฯเท่านั้นที่อาจจะรู้ดี อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังได้มีการตระเตรียมการก่อตั้งคณะกรรมาธิการ SEC ไว้บ้างแล้วซึ่งนั่นอาจเป็นทางให้พิจารณาได้ว่ารูปโฉมโนมพรรณของ SEC จะเป็นอย่างไร

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ดำเนินการตั้งกองใหม่ขึ้นมากองหนึ่งอย่างไม่เป็นทางการ แต่เป็นที่รู้กันทั่วในวงการว่ากองนี้จะทำหน้าที่เสมือนกองปฏิบัติงานหรือกองเลขานุการให้กับคณะกรรมาธิการ SEC กองนี้คือกองพัฒนาตลาดทุน ตั้งอยู่ในตึก สศค. มีวีระยุค พันธุ์เพชรเป็นผู้อำนวยการฯรับผิดชอบ เมื่อมีพรบ. SEC ออกมาแล้ว ฐานะและตำแหน่งของกองพัฒนาตลาดทุนจะต้องมีการระบุไว้อย่างแจ่มชัดในกฎหมายนั้น

โฉมหน้า รูปแบบหรือองค์ประกอบของ SEC ตามที่ "ผู้จัดการ" เสาะหาข้อมูลมาจึงอาจจะออกมาในรูปแบบใดแบบหนึ่งระหว่างการเป็นหน่วยงานอิสระมีกฎหมายเฉพาะของตนเอง ซึ่งเปรียบไปก็คล้ายธนาคารชาติในปัจจุบันและคณะกรรมการ SEC ของสหรัฐฯ กับอีกรูปหนึ่งคือการเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งอาจตั้งเป็นกรม, กองหรือสำนักงานสังกัดกระทรวงการคลัง แล้วโอนกองพัฒนาตลาดทุนเข้าไว้

หากออกมาเป็นแบบแรก นั่นหมายความว่าจะต้องมีการขีดเส้นระบุอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนี้ให้แน่ชัด เพราะแม้หลายฝ่ายจะยอมรับในบทบาทการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของธนาคารชาติ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ปฏิเสธกันว่าในหลายครั้งกฎระเบียบของธนาคารชาติก็เป็นตัวสร้างปัญหาให้ธนาคารพาณิชย์เอง

สำหรับกรณีของธุรกิจค้าหลักทรัพย์ด้วยแล้ว ความอ่อนไหวของข่าวสารข้อมูลและกฎระเบียบต่าง ๆ ยิ่งมีมากกว่าในกรณีธนาคารพาณิชย์ เพียงแค่การประกาศเรื่องมาร์จิ้นก็มีผลทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหววูบวาบได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรระวังอย่างยิ่งในการออกกฎระเบียบต่าง ๆ

แต่ถ้ารูปแบบของคณะกรรมาธิการ SEC ออกมาเป็นแบบหน่วยงานราชการก็เป็นเรื่องที่คาดหมายกันได้ว่าจะมีการปฏิบัติงานที่ยึกยักล่าช้าตามสไตล์ระบบราชการไทยสักเพียงใด ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการก่อปัญหาแกว่งการไปอีกแบบ เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปธรรมชาติของธุรกิจหลักทรัพย์มันพลวัตรรวดเร็วมาก และอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมสูง ความรวดเร็ว ฉับไว การตัดสินใจที่เด็ดขาด เป็นคุณสมบัติของธุรกิจนี้

ดังนั้นสิ่งที่คณะกรรมการพิจาณาร่างฯควรคำนึงถึงด้วยอย่างมากคือข้อสังเกตของโยธินเกี่ยวกับองค์ประกอบของ SEC ที่ขอให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเป็นการสะท้อนว่ารูปแบบ SEC ควรออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ และประสานสัมพันธ์กับกลไกของเอกชนที่มีประสบการณ์

ทางด้านดร.วีรศักดิ์ สุขอาณารักษ์รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "จริง ๆ แล้วหากจะเทียบเคียงกับ SEC ของสหรัฐฯนั้น ในเมืองไทยก็มีอย่างไม่เป็นทางการคืออยู่ในรูปของคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคณะที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของตลาดทุน วางแนวนโยบายของตลาดทุนซึ่งตอนนี้ก็มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกำจร สถิรกุลเป็นประธาน"

"อย่างไรก็ตาม คณะที่ปรึกษาชุดนี้ไม่มีการกำหนดบทบาทที่แน่นอนว่าต้องทำอะไร ก็เลยไปแบบไม่มีทิศทางมาก ส่วน SEC พูดง่าย ๆ คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางด้านนโยบายและการควบคุมตลาดฯเท่านั้นจะมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่กำหนดกันออกมา"

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่าร่างพรบ. SEC ที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้มีต้นแบบจาก SEC ของสหรัฐฯแต่ถึงกระนั้น ความทรงอำนาจของหน่วยงานนี้อาจจะแตกต่างไปจากตัวต้นแบบซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีและมีอำนาจในทางกฎหมาสูงเป็นอย่างยิ่ง

ต่อประเด็นนี้ ดร.วีรศักดิ์ให้ความเห็นว่า SEC ในเกาหลีหรือญี่ปุ่นค่อนข้างมีการควบคุมน้อย คือค่อนข้างที่จะปล่อยเพราะคาดหวังในเรื่องของการเติบโต แต่ SEC ในสหรัฐฯค่อนข้างมีการควบคุมมากซึ่งหากมากเกินไป ก็จะมีผลอันตรายต่อการเติบโตขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นก็ต้องแล้วแต่คณะกรรมการที่พิจารณา

สำหรับ SEC ในไทยนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า "คณะกรรมาธิการจะทำหน้าที่ดูแลปฏิบัติงานด้านกฎหมาย เป็นเสมือน "คนกำกับเส้น" ส่วนบทบาทของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (SET) ยังคงมีเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน"

ทั้งนี้หากจะดูกันให้ชัด ๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าเรื่องมาร์จิ้น กฎหมายยึดกิจการ ผTADE PVER CODE) เรื่องการรตรวจสอบบัญชี เรื่องอินไซเดอร์ เทรดดิ้งหรือการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน ฯลฯ เหล่านี้ควรอยู่ในความรับผิดชอบของ SEC รวมไปถึงการเอาผิดตามกฎหมายในกรณีฉ้อโกงต่าง ๆ ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ด้วย

ปัญหาที่ว่า SEC จะมีบทบาทและอำนาจหน้าที่สักปานใดนั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ และก็มีข้อสรุปที่แตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน อย่างเช่นเรื่องมาร์จิ้น ดร.วีรศักดิ์ให้แง่คิดว่าหากจะมองเรื่องมาร์จิ้นว่าเป็นส่วนหนึ่งในระบบการซื้อขาย ก็ต้องนับว่าอยู่ในหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่หากจะมองว่าเป็นการควบคุมดูแลระบบเงิน ก็ต้องถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของ SEC ซึ่งโดยส่วนตัวของดร.วีรศักด์เองนั้นมองว่าเป็นอย่างแรงมากกว่า ดังนั้นจึงควรอยู่กับ SET

นอกเหนือจากปัญหาองค์ประกอบของ SEC รูปแบบการจัดตั้ง บทบาทและอำนาจหน้าที่แล้วประเด็นอีกอันหนึ่งที่ติดขัดถกเถียงกันในคณะกรรมการพิจารณาร่างฯก็คือ การที่จะรวมเอากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์เอาไว้ด้วยกันดีหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ SEC สามารถใช้กฎระเบียบเหล่านี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

แต่ปัญหาคือกฎหมายเหล่านี้อยู่ปะปนกระจัดกระจายในกฎหมายฉบับต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่นอยู่ในกฎหมายมหาชนก็มี ในพรบ. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และแน่นอนในพรบ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ด้วย

ทั้งนี้ยังไม่นับการที่จะต้องจัดหานักกฎหมายมาศึกษาเพื่อทำการร่างกฎหมายใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีการร่างขึ้น โดยศึกษาจากต้นแบบ SEC ในสหรัฐฯ ซึ่งในโครงสร้างของสหรัฐฯนั้นถึงกับมีฝ่าย ๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่ร่างกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับการพลิกแพลงฉ้อโกงที่กฎหมายฉบับใด ๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถเอาผิดได้

ปัญหาเรื่องการมีอำนาจอันชอบธรรมตามกฎหมายนับเป็นจุดอ่อนสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเท่ากับไม่มีเครื่องมือที่จะจัดการกับกลโกงในหลากหลายรูปแบบได้

แม้ข้ออ่อนประการนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯรุนแรงนักก็ตาม แต่ในส่วนของโบรกเกอร์และซับโบรกเกอร์เริ่มมีบ้างแล้ว การพิจารณาเรื่อง SEC ได้มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยนับเป็นสิ่งที่ดี

และยิ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีเอามาก ๆ เมื่อคนจากกระทรวงการคลังออกมาพูดให้เห็นการแบ่งแยกหน้าที่บทบาทกันอย่างชัดเจนระหว่าง SEC กับ SET

ที่ผ่านมา SET ได้แสดงบทบาทของตนเองอย่างเหมาะสมในการออกมาตรการต่าง ๆ ต่อโบรกเกอร์ นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนรับอนุญาต หรือมาตรการทางด้านวิธีและระบบการซื้อขายหลักทรัพย์บทบาทดี ๆ อย่างนี้ก็ควรปล่อยให้ SET ทำต่อไป

ส่วน SEC ที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูอยู่นั้น "ผู้จัดการ" ฝากกระทุ้งคณะกรรมการพิจารณาร่างฯให้มองเห็นความสำคัญของข้อวิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องฝ่ายอื่น ๆ บ้าง

เพราะนับวันหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ดูแลกำกับธุรกิจทั้งหลายเริ่มถูกภาคเอกชนท้าทายมากขึ้น

ส่วนในเรื่องความล่าช้านั้น แหล่งข่าวให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ก็ทำไมจะต้องเร็วล่ะ มันไม่ได้มีความจำเป็นมาก เพราะว่าในเรื่องการควบคุม เรื่องความถูกต้องมันก็ยังดีอยู่ และมันไม่เห็นจำเป็นต้องรีบเร่ง"

การณ์กลับกลายเป็นเช่นนี้ไป "ผู้จัดการ" ก็เลยต้อง "งง" ว่าที่กระทรวงการคลังออกข่าวปาว ๆ ว่าจะเสนอเข้าสู่สภาฯในสมัยหน้านั้น จะจริงหรือ ในขณะที่ SEC มีความหมายอย่างมากต่ออนาคตการพัฒนาและกำกับตลาดทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจหลักทรัพย์เอามาก ๆ เช่นนี้ แล้วจะเสียเวลาละเลยการรีบตัดสินใจไปทำไม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.