วิริยะประกันภัยฝ่ามรสุมซัพไพร์ม เพิ่มทุนผ่าตัดพอร์ตมุ่งนอนมอเตอร์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

"วิริยะประกันภัย" ทิ้งตำรา "วิชัยยุทธ์ ซุนวู" แข่งขันชิงดีชิงเด่น หลอกลวงคนอื่น ให้ตัวเองได้รับชัยชนะ เชื่อเดินตามยุคสมัย แต่ยึดแนวทางวิถีเอเชีย ยืนยันยังเดินตามแนวคิด ตระกูล "วิริยะพันธุ์" ผู้ก่อตั้ง ยอมรับต้องศึกษาคัมภีร์ "แจ็คเวล" ผู้ยิ่งใหญ่โลโก้ "จีอี" คือต้องเปลี่ยน ก่อนที่จะไม่สามารถเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะวิกฤต "แฮมเบเกอร์" บีบให้ต้องเพิ่มทุนอีก 600 ล้าน พยุงหลักทรัพย์ด้อยค่าจากการลงทุนในตลาดหุ้น ควบคู่ไปกับการขยายพอร์ตนอน-มอเตอร์...

เพื่อคลายความสงสัยว่าเหตุใด?...วิริยะประกันภัย เบอร์หนึ่งธุรกิจประกันภัยรถยนต์ ที่มีวัยล่วงเข้า 61 ปี จึงมีผลประกอบการหน้าตาไม่สู้จะสวยหรู เหมือนกับยืนอยู่บนแท่นผู้นำ แถมกำไรเฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ 200 ล้านบาทเท่านั้นเอง

กฤตวิทย์ ศรีพสุธา กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ วิริยะประกันภัย อธิบายว่า 61 ปีสำหรับวิริยะประกันภัย ไม่มีเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเลย สำคัญกว่านั้นคือ คงไม่มีใครอยากร่วมทุนด้วย เพราะไม่ใช่องค์กรเน้นกำไรเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ

" วิริยะฯเราโตมาได้ยังไงทั้งที่ไม่มีแบงก์ อยู่เบื้องหลังเลย คนเคยสงสัยว่า เราเอากลยุทธ์ไหนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ"

กฤตวิทย์ บอกว่า การเติบโตของวิริยะประกันภัย จะยึดนโยบายผู้ก่อตั้ง ตระกูลวิริยะพันธุ์ คือ ตัวแทน สาขา ศูนย์บริการสินไหม ต้องดูแลลูกค้า ดังนั้น ศูนย์บริการสินไหม หรือ ส่วนจ่ายเงิน จึงมีมากกว่า สาขาที่เป็นส่วนรับเบี้ย พร้อมกับกระจายอำนาจในการตัดสินใจในการให้บริการลูกค้าออกไปจากส่วนกลาง นี่คือ เอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากที่อื่น

" เราก็ศึกษา หนังสือของ แจ็คเวล อยู่เหมือนกัน นั่นคือ ต้องเปลี่ยน ก่อนที่คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนได้ ขณะที่ตำราวิชัยยุทธ์ ซุนวู ในบางตอนคงใช้ไม่ได้กับวิริยะฯ เช่นกลยุทธ์หลอกลวงคนอื่น หรือ แข่งขันเพื่อเอาชนะ"

กฤตวิทย์ ยอมรับว่า วิริยะฯต้องเดินไปตามกระแสโลก แต่ยังยึดแนวทางวิถีเอเชีย ถึงแม้จะล้าหลังเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือ ผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก ไม่ทำให้ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตเพลี่ยงพล้ำมากนัก เพราะกฎเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามกฎหมาย ค่อนข้างเข้มงวด

วิริยะประกันภัย มีอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย 160-170% ขณะที่กฎหมายกำหนด และจะบังคับใช้ในปี 2552 อยู่ที่ 150%

ขณะที่ผลประกอบการ 9 เดือน มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 12,070.25 ล้านบาท เติบโต 8.14% มีเบี้ยประกันภัยรถยนต์ หรือ มอเตอร์ 11,377.32 ล้านบาท แบ่งเป็น เบี้ยภารสมัครใจ 9,524.61 ล้านบาท เบี้ยภาคบังคับ 1,852.71 ล้านบาท

โดยเบี้ยประกันภัยประเภทนอน มอเตอร์ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 692.93 ล้านบาท เป็นประกันอัคคีภัย 151.72 ล้านบาท ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 59.56 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 481.65 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินโลก จากผลพวงของการปล่อยกู้ "ซัพไพร์ม" ก็ทำให้ธุรกิจให้บริการทางการเงินทุกแห่งต้องติดร่างแหไปด้วย แม้แต่วิริยะฯก็หนีไม่พ้น

กฤตวิทย์ บอกว่า วิริยะฯต้องแก้ปัญหาหลักทรัพย์ด้อยค่า จากการลงทุนในตลาดหุ้น ร่วมกับผู้ถือหุ้น โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้มีการเพิ่มทุน 600 ล้านบาท ในปีนี้จะเพิ่มทุน 300 ล้านบาท และปีหน้าอีก 300 ล้านบาท จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท ก็จะเพิ่มมากเป็น 2,000 ล้านบาท

" การเพิ่มทุนจะเป็นการชดเชยมูลค่าเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่หายไป และยังเป็นการรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ที่ 200 ล้านบาท"

ขณะที่พอร์ตลงทุนมูลค่า 12,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 1,000-2,000 ล้านบาท และมีมูลค่าที่ลดลงไปราว 300 ล้านบาท ในช่วงที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐ

อานนท์ โอภาสพิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ วิริยะประกันภัย กล่าวถึงผลประกอบการประกันภัยประเภท นอน-มอเตอร์ ในช่วง 9 เดือน มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 692.93 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันภันอัคคีภัย 151.72 ล้านบาท ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 59.56 ล้านบาท และประกันภัยเบ็ดเตล็ด481.65 ล้านบาท

" 2 ปีมาแล้วที่ วิริยะประกันภัยให้น้ำหนัก ประกันภัยประเภท นอน-มอเตอร์มากขึ้น เพราะเห็นแนวโน้มธุรกิจมีทิศทางเติบโตได้อีกมาก"

อานนท์ บอกว่า เพราะประชาชนมีรายได้ มีความรู้มากกว่าแต่ก่อน ขณะเดียวกันบริษัทก็มีการพัฒนาพื้นฐานการให้บริการดีขึ้น ทั้งส่วนบุคลากร สาขา ศูนย์ให้บริการสินไหมที่เข้มแข็งขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำกับประกันภัยรถยนต์และประสบความสำเร็จมากก่อน

ปีนี้ ได้เน้นไปที่ประกันภัย อัคคีภัยในส่วนของที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 8% อีก 92% ยังไม่ได้ทำประกันภัย ก็จะมีการพัฒนากรมธรรม์แบบประหยัดให้ความคุ้มครองสูงเพื่อเปิดตลาดด้านนี้ด้วย

นอกจากนั้นยังมีการให้บริการความรับผิดของผู้ขนส่ง เพราะมีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มรถบรรทุกเชิงพาณิชย์จำนวนมาก รวมถึงมีประกันภัยรับผิดผู้ขนส่งวัตถุอันตรายในภาคของประกันภัยเบ็ดเตล็ด และการขยายฐานประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ลูกค้าในกลุ่มตลาดใหม่ นอน มอเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นฐานลูกค้าเดิมในกลุ่มลูกค้าประกันภัยรถยนต์ ของวิริยะประกันภัย ที่มีอยู่กว่า 4 ล้านราย...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.