|

กทพ.รีแบรนด์ดิ้งครั้งใหญ่ย้ำความชัดเจนสร้างทางพิเศษ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
กทพ.เดินเครื่องรีแบรนด์ดิ้งครั้งใหญ่ ลดความสับสนทำงานซ้ำซ้อนกับรฟม. พร้อมเร่งเส้นทางพิเศษ 5 โครงการ คาดทยอยแล้วเสร็จปีหน้า เผยหลังปรับค่าผ่านทางยอดผู้ใช้บริการลดลง 5% แต่รายได้เพิ่มเป็นวันละ 17 ล้านบาท
นับเป็นเวลากว่า 36 ปีที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ให้บริการทางพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาจราจรทั้งในกรุงเทพมหานคร(กทม.)และปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมาได้ก่อสร้างทางพิเศษมาแล้วเป็นระยะทางกว่า198 กม.และจะเพิ่มเส้นทางเดินรถอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้ทางที่เพิ่มขึ้นมากตามปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
ทั้งนี้ กทพ.ก่อตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่290 (ปว.290) เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2515 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจราจรในกทม.และปริมณฑลที่ว่าด้วยการก่อสร้างและบริหารกิจการทางพิเศษซึ่งประกอบด้วย ทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชน แต่ทั้งนี้เนื่องจากบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของกทพ. เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า
ดังนั้น กทพ. จึงได้ตราพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2550 ขึ้น โดยกำหนดให้ กทพ.มีหน้าที่ก่อสร้างทางพิเศษอย่างเดียวและให้ตัดหน้าที่เกี่ยวกับกิจการขนส่งมวลชนพิเศษออก เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างรถไฟฟ้า นอกจากนี้ กทพ. ยังได้เปลี่ยนโลโก้ใหม่ จากเดิมที่เป็นตรา ETA (Expressway and Rapid Transit Authority of Thailand) เป็น EXAT (Expressway Authority of Thailand ) และปรับเปลี่ยนตราเครื่องหมายใหม่ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติใหม่
สำหรับตราเครื่องหมายของ กทพ. มีลักษณะเป็นเส้นโค้ง 2 เส้น เปรียบเสมือนเส้นทางพิเศษ โดยสีน้ำเงินที่ซ้อนอยู่บนเส้นทางธรรมดาของสีแดงทอดยาวออกไปข้างหน้า หมายถึง องค์กรที่ให้บริการทางพิเศษกับประชาชนด้วยความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ด้านขวามีอักษรว่า EXAT ด้านล่างมีอักษรการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
เผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานของกทพ.มีความคล่องตัวและสร้างความชัดเจนในหน้าที่ของกทพ. อีกทั้งเพื่อให้ผู้ใช้ทางไม่สับสนระหว่างการดำเนินงานของ รฟม.และกทพ. ว่าองค์กรไหนก่อสร้างทางพิเศษหรือสร้างรถไฟฟ้า จึงได้แก้พรบ.การทางพิเศษขึ้นใหม่ โดยกทพ.มีหน้าที่ก่อสร้างทางพิเศษเพียงอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่สร้างรถไฟฟ้า และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรฟม. นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ ให้สอดคล้องกับบทบาทของกทพ.ด้วย
สำหรับโครงการก่อสร้างทางพิเศษในปีนี้มี 4 โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โครงการเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ กับทางพิเศษบูรพาวิถี โครงการยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมต่อกับทางพิเศษบุรพาวิถี โครงการติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ ของทางด่วนขั้นที่ 1-2 และทางด่วนฉลองรัช ทุกโครงการจะทยอยแล้วเสร็จในเดือนก.พ.2552 ซึ่งจะทำให้โครงข่ายทางพิเศษมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะทำให้ กทพ. มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 8 ล้านบาท เนื่องจาก กทพ. จะเริ่มเก็บค่าผ่านทางโครงการทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ (วงแหวนรอบนอกด้านใต้) และจะปรับอัตราค่าผ่านทางในโครงการทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อเชื่อมขยายเส้นทางมาจากสายรามอินทรา-อาจณรงค์
นอกจากนี้ในปี 2552 กทพ. มีโครงการก่อสร้างทางพิเศษเพิ่มขึ้น 1 โครงการ คือ โครงการเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม วงเงิน 2,473 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะประกาศขายเอกสารประกวดราคาในเดือนธ.ค.นี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2554 ทั้งนี้เชื่อว่าจะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างให้ความสนใจซื้อเอกสารประกวดราคามากกว่า 5 ราย และปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบันจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการนี้
ส่วนปริมาณจราจรโดยเฉพาะในเส้นทางพิเศษวงแหวนรอบนอกด้านใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 แสนคันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการจราจรโครงการทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ อยู่ที่ 6 หมื่นคันต่อวัน คาดว่าหลังจากปรับค่าผ่านทาง กทพ.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 แสนบาทต่อวัน
สำหรับปรับอัตราค่าผ่านทางโครงการทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 โครงการทางพิเศษบูรพาวิถี ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณจราจรลดลง 5% อยู่ที่ 1.1 ล้านคันต่อวัน แต่รายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 17 ล้านบาท จากเดิม 15 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|