|
กู้คืนวิกฤตศก.ไทย.!คลอดมาตรการกระตุ้นทั้ง‘ใน-นอก’
ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ส.อ.ท.เสนอทางรอดวิกฤตศก.ไทยจี้ฟื้นความเชื่อมั่นต่างชาติโดยด่วน -4กลุ่มส่งออกหลักต้องหาที่ระบายสินค้า ขณะที่หอการค้าฯชูมาตรการ ผ่านงบกลาง-ลดภาษีเงินได้-ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ SMEs ด้านTDRI ระบุรัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้นศก.ภายใน-ทั้งออกมาตรการอุ้ม ‘คนตกงาน’ ในปีหน้า
แม้การปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จะสร้างความเสียให้แก่ประเทศในเรื่องท่องเที่ยวและการส่งออกรวมถึงความเชื่อมั่นในสายตาของชาวต่างชาติก็ตาม แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน เชื่อว่าในที่สุดแล้ววิกฤตใดๆก็ไม่ร้ายแรงเกินกว่าที่จะรับมือไหว.!
เร่งฟื้นเชื่อมั่นลงทุนต่างชาติ
“สันติ วิลาสศักดานนท์” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจาการปิดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ความเสียหายต่อภาคธุรกิจส่งออกนั้น ถือว่าได้รับผลกระทบยังไม่มากเพราะสินค้าส่งออก 90%ขนส่งทางเรือ โดยอุตสาหกรรมที่กระทบมาก คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร ที่ต้องขนส่งทางเครื่องบิน เช่น ผัก ผลไม้ กล้วยไม้ รวมถึงการขนส่งเอกสาร ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศมีไม่มาก
ทว่าการส่งออกเป็น 4 อันดับแรกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในปีหน้าได้แก่ คือ 1.อิเล็กทรอนิกส์ 2.เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.สิ่งทอ และ4.อัญมณี โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีบริษัทแม่ในต่างประเทศกำหนดนโยบาย ส่วนกลุ่มสิ่งทอและอัญมณีเป็นการลงทุนของเอกชนไทยต้องหาตลาดใหม่และช่วยเหลือสภาพคล่อง
ขณะที่การเงินลงทุนจากต่างชาติภาครัฐต้องรีบสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะกว่าที่จะเรียกคืนมาได้โดยใน ขณะนี้ส.อ.ท.พยายามชี้แจงนักธุรกิจต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งต้องใช้เวลา 3- 4 เดือนเป็นอย่างน้อย
มั่นใจการเมืองคลี่คลาย-ท่องเที่ยวฟื้น.!
ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหากเสถียรภาพการเมืองคลี่คลายเชื่อว่าคงจะกลับมาเป็นปรกติอีกครั้งเพราะพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวไทยยังอยู่ในระดับที่สูงมากในสายตาชาวต่างชาติเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในระดับเดียวกัน แต่ปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลคือ ช่วงไฮซี่ซั่นซึ่งเป็นช่วงพีคในแต่ละปีจะเป็นช่วงที่สามารถทำกำไรได้
อย่างไรก็ดีปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวอาจจะได้รับผลกระทบเพราะต่างชาติหลายประเทศประกาศไม่ให้คนในประเทศเขาเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปชี้แจงและทำความเข้าใจหากสถานการณ์คลี่คลายลง
จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้น.!
ด้านความเคลื่อนไหวจากสภาหอการค้าไทย “ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานกรรมการหอการค้าไทยมองสอดคล้องกับส.อ.ท.ว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นที่กินเวลายาวนานส่งผลให้นักธุรกิจไม่กล้าตัดสินใจลงทุนเพิ่ม เพราะยังมองไม่ออกว่าการเมืองจะจบลงอย่างไร และมีความเสี่ยงว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นในขณะนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคตทำให้ความเชื่อมั่นลดลงเข้ามากขึ้นไปอีก ซึ่งหากเสถียรภาพการเมืองไทยยังไม่เรียบร้อยอย่าหวังว่าการลงทุนจากต่างประเทศมากจะเข้ามาและหากเป็นนักลงทุนใหม่ก็จะยากขึ้นเป็นเท่าตัว
นอกจากนี้ภาครัฐต้องหาทางรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีหน้าโดยจะรอให้เศรษฐกิจตกต่ำจนถึงจุดต่ำสุดไม่ได้ โดยต้องตั้งสมมติฐานไว้ก่อนสถานการณ์ขณะนี้เลวร้าย โดยหอการค้าฯเสนอให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้กระเตื้องขึ้นโดยเสนอผ่านงบประมาณกลางปี 100,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ภายใน 6 เดือน - 1 ปีเป็นอย่างช้า และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น นอกจากนี้จะขอให้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทันที 1 ปี เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในสภาพคล่อง และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) อีกด้วย
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประชาชน และอาจทำให้ภาคธุรกิจต้องปิดตัวลงหากสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องจนถึงปลายปี
“เศรษฐกิจในปีหน้าอยู่ในภาวะที่ถดถอย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปและจากสถานการณ์การเมืองภายในทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่น่าจะจบเร็วกว่าปลายปี 2552 และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเดิม”
เสนอ “รัฐ” เร่งเบิกง่ายงบฯกระตุ้นศก.
ขณะที่มุมมองจากนักวิชาการจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) “สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการด้านพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวม อธิบายว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจในต่างประเทศที่หนักมากเช่นนี้จะส่งผลกระทบให้การส่งออกของประเทศไทยอย่างรุนแรงซึ่งเชื่อการส่งออกปีหน้าขยายตัวติดลบสูงถึง -12.1% และการนำเข้าสินค้าและบริการจะขยายตัวติดลบ 8% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 5.3% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัว 2.6% ในปีนี้การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% จาก 4.9% ในปีนี้
หากพิจารณาแต่ปัจจัยการขยายตัวของเอกชนในปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือการขยายตัวติดลบ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้านโยบายการคลังของรัฐบาลจะเป็นพระเอกในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 20.2% และสามารถที่จะเร่งการลงทุนภาครัฐในปีหน้าให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.5% ทีดีอาร์ไอประเมินว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้ 1.9%
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะจากการประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าพบว่าติดลบ 0.6% จากราคาสินค้าที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลงและการใช้จ่ายที่ซบเซาดังนั้นภาครัฐต้องเร่งนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วต้องเร่งคืนความเชื่อมั่นสร้างการลงทุนภาคเอกชนในกลับมาโดยเร็วที่สุดรักษาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ไม่ควรที่จะกดดันในธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยง หรือตั้งกองทุนพยุงตลาดหุ้นในขณะที่การลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้นในช่วงที่เศรษฐกิจไร้ความเชื่อมั่น
เสนอมาตรการอุ้มคน “ตกงาน”
นอกจากนี้ภาครัฐต้องตั้งงบประมาณเพื่อดูแลคนตกงานรวมทั้งให้รัฐจ่ายเงินสมทบประกันสุขภาพและการว่างงานแทนนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะช่วยลดภาระภาคเอกชน และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้อีกทางด้วย นอกจากนั้นควรจะขยายเวลาการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ถูกให้ออกจากงานสูงสุด 6 เดือน เป็น 8 เดือน และเพิ่มให้เป็น 12 เดือนสำหรับผู้ตกงานอายุเกิน 50 ปี
ได้เวลานับถอยหลัง “ปีชวด” 30 วันสุดท้ายก่อนจะขึ้นศักราชใหม่ 2552 แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจปีหน้าจะถูกวิกฤติเศรษฐกิจโลกถล่มเพียงใด หรือวิกฤตการเมืองภายในที่ขย่มไม่เลิก แต่หากทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบร่วมกัน “ภาครัฐ-เอกชน”ประสานงานกันอย่างเป็นระบบเชื่อเถอะว่าวิกฤตครั้งใดๆก็ผ่านพ้นไปได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|