โรงเรียนนานาชาติถึงเวลาทบทวนกันใหม่

โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อนักลงทุนต่างแดน ยกขบวนเข้ามาปักหลักทำมาหากินในบ้างเรามากขึ้นทุกๆ ปี ไม่เฉพาะสิ่งอำนวย ความสะดวกขั้นพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค เท่านั้นที่ยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับนักลงทุนเหล่านี้ก็คือ ไม่มีโรงเรียนให้ลูก ๆ ได้เรียนหนังสือ

เฉินต้าหลินเป็นคนไต้หวันในวัย 38 ปี เขาเป็นช่างเทคนิคอาวุโสของบริษัทผู้ผลิตและส่ง ออกรองเท้าขนาดกลางแห่งหนึ่งในไทเป กลางปี 2531 บริษัทที่เฉินทำงานอยู่ด้วยเข้ามาลงทุนเปิดโรงงานผลิตรองเท้าในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรป

บริษัทของเฉินก็เช่นเดียวกับธุรกิจส่งออกของไต้หวันในแขนงอื่น ๆ อีกนับร้อยรายที่ เจอ

กับปัญหาค่าเงินเอ็นทีที่สูงขึ้นเกือบ 30% ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นข้อเสียเปรียบสำคัญในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในตลาดโลก จนรัฐบาลไต้หวันต้องผ่อนคลายข้อบังคับในการนำเงินออกนอกประเทศ เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิตออกไปยังต่างประเทศ

ประเทศไทยคือแหล่งลงทุนและการผลิตใหม่ที่นักธุรกิจนับร้อยรายจากเกาะฟอร์โมซาเก็บ

เสื้อผ้าใส่กระเป๋าจากบ้านเกิดมุ่งหน้ามา โดยมีสิทธิพิเศษในการลงทุนที่ได้รับจากบีโอไอเป็นแรงจูงใจเบื้องต้น แรงงานคุณภาพราคาถูกเป็นตัวแปรสำคัญในแผนการลงทุนใหม่ และการสวมรอยใช้สิทธิจีเอสพีที่ยังเหลืออยู่ของไทยเป็นแรงผลัดกันเคลือบแฝงอยู่เบื้องหลัง

เฉินถูกส่งตัวมารับตำแหน่งผู้จัดการโรงงานของโรงงานในต่างประเทศแห่งใหม่นี้เมื่อต้นปี

ที่ผ่านมา ชีวิตในต่างแดน ถึงแม้จะเป็นสภาพแวดล้อมต่างถิ่น แต่ความที่เป็นประเทศเอเชียด้วยกันที่มีวัฒนธรรมสืบทอดจากจีนโพ้นทะเลเจืออยู่ในหลาย ๆ ส่วนช่วยให้ความแปลกแยกมลายหายไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นสภาพการเจราจรติดขัด โทรศัพท์ขัดข้องบ่อย ๆ ความแออัดยัดเยียดและขั้นตอนยืดเยื้อของท่าเรือกรุงเทพ แม้จะก่อให้เกิดความหงุดหงิดในระยะแรก ๆ แต่ก็กลายเป็นความเคยชินและยอมรับในอีก 3-4 เดือนให้หลัง

"เป็นเรื่องธรรมดาของประเทศที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนน

สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขยายตัวรองรับไม่ทัน" เฉินกล่าวอย่างทำใจได้

ปัญหาใหญ่สำหรับเขากลับเป็นเรื่องหาที่เรียนให้ลูกชายวัย 10 ขวบที่ติดตามพ่อมาด้วย

ก่อนมาเมืองไทยเขาติดต่อสอบถามจนแน่ใจว่า มีโรงเรียนสำหรับลูกเขาแน่ ๆ จึงตัดสินใจให้ลูกลาออกจากโรงเรียนชั้นประถมที่ไต้หวันเพื่อมาอยู่กับพ่อและแม่ที่กรุงเทพฯ

เฉินใช้เวลาไม่นานนักค้นพบว่าโรงเรียนสำหรับลูกคนต่างชาติในกรุงเทพฯมีอยู่จริง แต่ไม่

มีที่ว่างให้ลูกของเขา บางแห่งที่พอจะรับได้ก็เก็บค่าเล่าเรียนสูงเสียจนเฉินสู้ไม่ไหว ค่าตอบแทนสำหรับการออกมาทำงานนอกประเทศนอกเหนือจากเงินเดือนประจำแล้ว ก็มีค่าเดินทางไปกลับ และค่าที่พัก แต่ไม่รวมค่าเล่าเรียนสำหรับลูก ๆ

เขาตัดสินใจส่งลูกกลับไปเรียนที่เดิมที่บ้านเกิดพร้อมกับภรรยาที่ต้องตามไปดูแลด้วย

ปัญหาของเฉินเป็นปัญหาร่วมของนักลงทุนนักธุรกิจต่างชาติอีกนับร้อยรายที่เข้ามาลงทุน

ในประเทศไทยขณะนี้แล้วหาโรงเรียนให้ลูกเยนหนังสือไม่ได้ หลาย ๆ รายต้องส่งลูกกลับบ้านเช่นเดียวกับเฉินและอีกไม่น้อยต้องอาศัยโรงเรียนที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

สำหรับเฉินแล้วเรื่องนี้ไม่ถึงกับเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบกระเทือนการลงทุนจากต่าง

ประเทศและแม้เขาจะรู้ล่วงหน้าก่อนว่าไม่มีที่เรียนให้ลูกเขาก็ยังต้องมาทำงานในประเทศไทยอยู่ดี สถานภาพของลูกจ้างที่ต้องไปประจำการนที่ ๆ แล้วแต่บริษัทจะมีคำสั่ง กับโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานทำให้เรื่องโรงเรียนของลูกในประเทศที่ไปอยู่กลายเป็นปัญหารองลงไป

"แต่รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องอำนวยความ

สะดวกให้กับนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วย" เฉินบอกว่าเขาไม่ได้ทวงบุญคุณแลสำคัญผิดคิดว่าตัวเองสำคัญ แต่คิดว่าเรื่องการศึกษาของเด็ก ๆ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ทุกคนต้องวางแผน ในขณะที่ถนนหนทาง ไฟฟ้า โทรศัพท์เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีผลโดยตรงต่อการลงทุน เรื่องโรงเรียนก็เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานทางสังคมที่เป็นตัวเสริมความพร้อมในการรับการลงทุนต่างประเทศ

ปี 2530 บีโอไอให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 1,431 ราย ปี

2531 จำนวน 740 ราย และห้าเดือนแรกของปีนี้จำวน 306 รายถึงแม้โครงการที่เปิดดำเนินการจริง ๆ จะไม่มากเท่าจำนวนจริงที่ได้รับการส่งเสริม และผู้ที่เข้ามาลงทุนรวมทั้งผู้บริหารต่างชาติจะไม่ได้นำครอบครัวเข้ามาทุกคน แต่จากการที่มีการร้องเรียนต่อบีโอไอและคณะกรรมการศึกษาเอกชน ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลโรงเรียนนานาชาติอยู่เสมอว่าโรงเรียนไม่พอก็เป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนถึงการดำรงอยู่ของปัญหาอย่างชัดเจน

นอกจากนักลงทุน นักธุรกิจต่างชาติแล้ว บรรดานักการทูตและผู้เชี่ยวชาญประจำองค์

กรระหว่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยก็เป็นตัวที่ทำให้ความต้องการโรงเรียนเพิ่มขึ้นคือ คนไทยที่ไปอยู่ในต่างประเทศนาน ๆ และคิดจะกลับบ้าน ก็มีปัญหาว่าจะต้องหาโรงเรียนให้ลูก ๆ ซึ่งเกิด เติบโต และเรียนหนังสือในต่างประเทศ การเข้าโรงเรียนไทยปกติเป็นเรื่องยากเพราะปัญหาความไม่สันทัดในภาษาไทยและระบบการศึกษาที่ต่างกัน โรงเรียนนานาชาติจึงเป็นที่เดียวที่จะรองรับลูก ๆ ของคนไทยกลุ่มนี้ได้

ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนชัดเจนของความต้องการและความขาดแคลนที่เรียนในโรงเรียน

นานาชาติ แต่จากการสำรวจจากโรงเรียนนานาชาติที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ในช่วงสองสามปีมานี้ เกือบทุกแห่งมีนักเรียนมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้นประมาณแห่งละ 200 คนต่อปี และสี่ในห้าแห่งที่มีอยู่ในขณะนี้ กำลังเตรียมแผนการโยกย้ายขยายโรงเรียนไปตั้งในที่ใหม่เพื่อให้รองรับนักเรียนได้เพียงพอ

"นักเรียนของเราเพิ่มขึ้นทุกวัน เมื่อ 4-5 ปีก่อนเพิ่มขึ้นแค่ 2-3% ต่อปี แล้วสูงขึ้นเป็น

5-8% ตอนสามปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วนี่เพิ่มสูงถึง 10%" ดร.ปัญญา สมบุรณ์ศิลป์ ผู้อำนวยการสถานศึกษานานาชาติเปิดเผยแนวโน้ม

แนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนโรงเรียนนานาชาติพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้รัฐ

บาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ทบทวนนโยบายการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติใหม่ โดยให้ผ่อนปรนเงื่อนไขมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และอนุญาตให้เปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งในกรณีหลังนี้ ทางองค์การสหประชาชาติได้เสนอต่อ กระทรวงศึกษาธิการขอตั้งโรงเรียนสำหรับลูกของเจ้าหน้าที่องค์การที่ประจำอยู่ในประเทศไทยแล้ว รวมทั้งการสอบถามรายละเอียด เงื่อนไขการเปิดโรงเรียนจากบริษัทเอกชนและนิติบุคคลหลาย ๆ แห่ง

"รัฐบาลควรจะอนุญาตให้เปิดโรงเรียนนานาชาติได้โดยเสรี" เฉินเองก็มีความเห็นว่า กฎ

เกณฑ์ระเบียบของทางราชการเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันใหม่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้

การตั้งโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยนั้นจะต้องขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรีเป็นราย ๆ

ไป ซึ่งสืบเนื่องมาจากกฎหมายควบคุมโรงเรียนราษฎร์ที่ห้ามการเปิดโรงเรียนต่างชาติ

พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับแรกของไทยตราขึ้นใช้เมื่อปี พ.ศ. 2461 ในสมัยรัช

กาลที่ 6 เหตุผลสำคัญในการออกกฎหมายฉบับนี้เป็นเหตุผลในด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การควบคุมโรงเรียนจีนในขณะนั้น

ก่อนที่ดร.ซุนยัดเซ็นจะเคลื่อนไหวทำการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์แมนจูที่ปกครองประเทศจีน

ในระบบกษัตริย์ได้สำเร็จนั้น ประเทศไทยเคยเป็นแหล่งพำนักลี้ภัยทางการเมืองของซุนยัดเซ็นในระยะหนึ่ง ระหว่างที่อยู่ในไทย ซุนยัดเซ็นได้สนับสนุนให้คนจานตั้งโรงเรียนสอนหนังสือจีนขึ้นมาหลายแห่ง

โรงเรียนจีนที่เปิดขึ้นมานั้น นอกจากจะสอนหนังสือแล้ว ยังมีภารกิจหลักในการเผย

แพร่อุดมการณ์ทางการเมืองให้กับลูกหลายจีนที่มาเรียนด้วย โดยมีระบอบกษัตริย์ของราชวงศ์แมนจูเป็นเป้าใหญ่ของการโจมตี

"ตอนนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ 6 เรายังอยู่ในระบบการปกครองที่ขัดกับระบอบ

ประชาธิปไตย" ทำให้ทางราชการไทยเริ่มสอดส่องโรงเรียนจีนมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับออกกฎหมายกันอย่างเป็นทางการ

ซุนยัดเซ็นสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นในเมืองจีนได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2454 คนจีนใน

เมืองไทยที่เคยร่วมงานกับซุนยัดเซ็นเดินทางกลับไปรับตำแหน่งในคณะรัฐบาลใหม่กันหลายคน และตีขลุมเอาว่าโรงเรียนจีนในเมืองไทยนั้นเป็นสาขาของโรงเรียนจีนจากปักกิ่ง

พ.ศ. 2461 จึงต้องมีการออกพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับแรกขึ้นมา เพื่อให้

อำนาจแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการเข้าไปควบคุมดูแลโรงเรียนจีนได้อย่างเต็มที่ เพื่อความปลอดภัยของบ้านเมือง

หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่จีนอยู่ในฐานะผู้ชนะสงคราม ความพยายามในการครอบงำ

โรงเรียนจีนในประเทศไทยก็ยิ่งมีมากขึ้น จนถึงขั้นที่มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งออกมากำหนดให้โรงเรียนจีนโพ้นทะเลทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการของจีน

โรงเรียนจีนในเมืองไทยตอนนั้นต้องใช้หลักสูตร หนังสือ ตำรับตำราที่ส่งตรงมาจาก

เมืองจีนเลยทีเดียว ยิ่งทำให้ความหวาดระแวงทางการเมืองของรัฐบาลไทยมีมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากปี พ.ศ. 2492 ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนสามารถสถาปนาระบอบสังคมนิยมขึ้นในประเทศจีนได้ ความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นตัวเร่งให้เกิดความหวั่นไหวต่อความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น

ปี พ.ศ. 2497 จึงได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ใหม่ กำหนดให้ผู้ที่จะขออนุญาตตั้งโรงเรียนต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และครูก็ต้องมีสัญชาติไทยด้วย รวมทั้งหลักสูตรและตำราก็ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการก่อน

จุดมุ่งหมายนั้นก็เพื่อควบคุมโรงเรียนจีนโดยตรง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาว่าเลือกปฏิบัติ จึงต้องอาศัยนัยของกฎหมายเป็นเงื่อนไขในการควบคุมและกลายเป็นนโยบายที่ยึดถือกันมาตลอดว่า ห้ามตั้งโรงเรียนต่างชาติหรือโรงเรียนนานาชาติขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นเลยแม้แต่แห่งเดียว

การคุมกำเนิดโรงเรียนนานาชาติจึงมีจุดเริ่มต้นมาจากเจตนาสกัดการขยายตัวของโรงเรียนจีนโดยเหตุผลเพื่อความมั่นคงโดยแท้

"โรงเรียนนานาชาติที่มีอยู่ห้าแห่งในตอนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยการวางแผน แต่เดิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีการจัดตั้งกันอย่างถูกต้อง" แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผย

โรงเรียนทั้งห้าแห่งคือ โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติที่ซอยสุขุมวิท 15 โรงเรียนบางกอกพัฒนาที่ถนนเชื้อเพลิง โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา ซอยร่วมฤดี โรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่นที่ถนนพระรามที่ 9 และโรงเรียนนานาชาติที่เชียงใหม่

ในจำนวนห้าแห่งนี้ โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกที่เกิดขึ้น

"เราเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดด้วย" ดร.ปัญญา สมบูรณ์ศิลป์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าว

ก่อนหน้าปี 2500 เล็กน้อยมีชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในไทยริเริ่มตั้งโรงเรียนสอนลูก ๆ ของพวกตนขึ้นมา มีเด็กอเมริกันมาเรียนประมาณ 30 คน โดยใช้สาถนที่ในสถานทูตสหรัฐฯ ต่อมาเมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขยายออกไป จนกระทั่งทางกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้ตั้งให้ถูกต้องแต่เนื่องจากมีกฎหมายห้ามอยู่ การตั้งขึ้นมาเป็นโรงเรียนนานาชาติอย่างเป็นทางการจึงต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเสียก่อน

การตั้งโรงเรียนทุกประเภทในประเทศไทยนั้น ผู้ขอก่อตั้งซึ่งเรียกว่าผู้รับใบอนุญาตต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ดังนั้น กลุ่มผู้กปกครองชาวอเมริกันจึงรวบรวมกันตั้งเป็นสมาคมเพื่อการศึกษานานาชาติขึ้น เพื่อให้นิติบุคคลที่สัญชาติไทย และยื่นขออนุญาตตั้งโรงเรียนนานาชาติขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2500

"ในตอนแรกส่วนใหญ่เป็นเด็กอเมริกัน สมัยสงครามเวียดนามเรามีนักเรียนถึง 3,500 คน เป็นอเมริกันถึง 90%" ดร.ปัญญาเปิดเผย

ปัจจุบันเด็กอเมริกันก็ยังเป็นกลุ่มใหญ่อยู่แต่สัดส่วนลดลงมาเหลือเพียง 30% ของจำนวนนักเรียน 1,681 คน ที่เหลือเป็นเด็กจากยุโรปออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และชาติอื่น ๆ รวมกันแล้ว 50 ชาติ รวมทั้งเด็กไทยประมาณ 20 คน

แต่เดิมนั้นกระทรวงศึกษาห้ามโรงเรียนนานาชาติรับเด็กนักเรียนสัญชาติไทยเข้าเรียน เพราะเกรงว่าจะสูญเสียความเป็นไทยไป แต่ในระยะหลังที่มีคนไทยที่ไปอยู่ในต่างประเทศนาน ๆ เดินทางกลับมาแล้วมีลูกซึ่งเกิดและเรียนหนังสือในต่างประเทศกลับมาด้วย ทำให้เกิดปัญหาไม่มีให้ลูกเรียนต่อ ทางกระทรวงศึกษาฯจึงต้องผ่อนปรนให้โดยมีเงื่อนไขว่า เด็กไทยที่จะเข้าโรงเรียนนานาชาตินั้นต้องเคยไปอยู่และเรียนหนังสือในต่างประเทศมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติให้ระบบการศึกษาและหลักสุตรแบบอเมริกัน โดยแบ่งชั้นเรียนออกเป็น 12 เกรด ได้รับการรับรองมาตรฐานและเป็นสมาชิกของ WESTERN ASSOCIATION ซึ่งเป็นสมาคมของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาที่กำหนดมาตรฐานและคุณภาพในการเรียนการสอน

"โปรแกรมของเรานั้น สำหรับเตรียมคนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเมืองนอกโดยตรง" ดร.ปัญญาเปิดเผยประกอบสถิตินักเรียที่เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศในแต่ละปีว่ามีจำนวน 83% ของจำนวนที่จบเกรด 12 ประมาณ 100 กว่าคนต่อปี

จากจำนวนครูทั้งหมด 152 คน มีครูไทยอยู่เพียง 5 คน สำหรับสอนภาษาไทยตามเงื่อนไขของกระทรวงศึกษาที่ให้มีการสอนภาษาไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ครูที่เหลืออีก 147 คนเป็นชาวต่างประเทศ

"ส่วนใหญ่แล้วเราจะไปว่าจ้าง สรรหากันมาโดยตรงจากต่างประเทศเลย" แต่ก็มีอยู่บางส่วนที่เป็นภรรยาที่ติดตามสามีมาทำงานในประเทศไทยและมีวุฒิครูอยู่ด้วย

โรงเรียนสถานศึกษานานาชาตินี้มีการบริหารงานทางด้านนโยบาย โดยคณะกรรมการโรงเรียนที่เลือกตั้งทุกสองปีจากสมาชิกของสมาคมผู้ปกครองและครู มีผู้อำนวยการซึ่งต้องเป็นคนไทยเป็นผู้บริหารและมีตำแหน่ง SUPERINTENDENT ทำหน้าที่ควบคุมดูแลหลักสูตรอีกคนหนึ่ง

โรงเรียนนานาชาติแห่งที่สองเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันคือ เปิดชั้นเรียนสอนกันเองก่อนโดยไม่ได้ขออนุญาต แล้วจึงมาจัดตั้งอย่างถูกต้องในภายหลัง

ประมาณ พ.ศ. 2500 คณะสงฆ์มหาไถ่ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองไทยเป็นเวลา 10 ปีเศษ ก่อนหน้านั้น ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นในบริเวณโบสถ์มหาไถ่ที่ซอยร่วมฤดี ในระยะแรกนั้นมีทั้งชั้นเรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน

"เราเห็นว่าหลาย ๆ คนไม่มีที่เรียน จึงคิดทำโรงเรียนแบบโรงเรียนประจำวัดขึ้นมา" สาธุคุณทอมกริฟฟิธ ผู้อำนวยการโรงเรียนย้อนความหลังไปเมื่อครั้งตั้งโรงเรียน

เด็กนักเรียนที่มาเรียนชั้นภาษาไทยนั้นคือลูก ๆ ของชาวบ้านในละแวกนั้น ส่วนนักเรียนในชั้นต่างประเทศเป็นลูกของข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่เคยไปประจำในต่างประเทศ และลูกของชาวต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทย

หลังจากเปิดได้เพียงสามปี กระทรวงศึกษาธิการก็มีคำสั่งให้แยกโรงเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกจากกัน และจะอนุญาตให้ชั้นเรียนภาษาอังกฤษตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนนานาชาติได้ก็ต่อเมื่อหาผู้รับใบอนุญาตที่มีสัญชาติไทยได้เท่านั้น

เนื่องจากมีบุตรหลานของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเรียนอยู่หลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ถวิดา บุตรสาวคนโตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงช่วยเหลือโดยรับเป็นผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506

ถวิดาคนนี้ คือครูใหญ่ปัจจุบันของโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษานี่เอง

โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษาในระยะเริ่มแรกมีนักเรียนหกสิบกว่าคน แบ่งเป็นสี่ห้องเรียนและใช้หลักสูตรแบบอังกฤษ ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ระบบอเมริกัน และมีนักเรียน 1,206 คน จาก 33 ประเทศมีนักเรียนสัญชาติไทยในสัดส่วนสูงสุดคือ 25 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือไต้หวัน 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกของนักการทูตและนักธุรกิจ

จำนวนครูที่นี่มี 78 คนจาก 15 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นครูชาวเอเชีย

ที่นี่ยังมีโรงเรียนสวิสอยู่ในสังกัดด้วย เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นสื่อกลางในการสอนซึ่งเคยขอออนุญาตตั้งเป็นโรงเรียนนานาชาติขึ้นมาแต่ไม่ได้รับอนุมัติ เลยต้องเข้ามาอยู่ในสังกัดของโรงเรียนร่วมฤดี มีนักเรียนประมาณ 100 คน

โรงเรียนร่วมฤดีใช้รูปแบบการบริหารโดยมีคณะกรรมการโรงเรียนเป็นผู้กำหนดนโยบายประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ 7 คน และตัวแทนของโรงเรียน 5 คน มีผู้จัดการซึ่งเป็นบาทหลวงคนไทยเป็นผู้บริหาร และถวิดา พิชเยนทรโยธินเป็นครูใหญ่

หนึ่งปีหลังจากโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษาได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ตั้งโรงเรียนนานาชาติขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งในปี 2507 คือโรงเรียนบางกอกพัฒนา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับโรงเรียนนานาชาติสองแห่งข้างต้นคือ ตั้งขึ้นมาก่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แล้วจึงค่อยมาแก้ไขในภายหลัง

ผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียนบางกอกพัฒนาคือกรมวิเทศสหการ การเรียนการสอนใช้หลักสูตรในระบบอังกฤษ แบ่งเป็น PRIMARY SCHOOL ชั้นที่ 1-6 และ MIDDLE SCHOOL ชั้นที่ 1-5 ปัจจุบันมีนักเรียน 500 คน ซึ่งมีสัญชาติต่าง ๆ กัน 35 - 37 สัญชาติ

การกำหนดว่าโรงเรียนใดเป็นโรงเรียนนานาชาตินั้น ใช้บรรทัดฐานในเรื่องภาษาที่ใช้เป็นสื่อกลางในการสอนคือภาษาอังกฤษ และนักเรียนมาจากหลายสัญชาติด้วยกัน แต่โรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่นนั้นเป็นโรงเรียนนานาชาติในลักษณะพิเศษที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น และรับนักเรียนที่มีสัญชาติญี่ป่นุเท่านั้น

"โรงเรียนญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ นี่เป็นโรงเรียนญี่ปุ่นนอกประเทศแห่งแรก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นโรงเรียนนอกประเทศที่เก่าที่สุด" อะริโยชิ คะซึโรครูใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นของโรงเรียนเปิดเผย

จุดเริ่มของโรงเรียนญี่ปุ่นนี้เป็นเพียงชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับบุตรหลายของข้าราชการสถานทูตและอาสาสมัครชาวญี่ปุ่น โดยเริ่มตั้งเมื่อปี 2494 ภายในสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จากการอนุญาตของกระทรวงการต่างประเทศ และทำการสอนในลักษณะนี้เรื่อยมาอีก 23 ปีจนจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก

ปี 2517 กระทรวงศึกษาธิการจึงมีคำสั่งให้ตั้งเป็นโรงเรียนให้ถูกต้อง มีการจัดตั้งสมาคมไทย-ญี่ปุ่นขึ้นเพื่อเป็นผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงเรียนนี้โดยเฉพาะและย้ายสถานที่ออกนอกสถานทูตมาตั้งโรงเรียนที่ริมถนนเพลินจิต จนถึงปี 2526 จึงย้ายอีกครั้งมาอยู่ที่ซอยโรงเรียนญี่ปุ่น ถนนพระราม 9 ในปัจจุบัน

หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนนี้เป็นหลักสูตรเดียวกับที่ใช้ในโรงเรียนที่ญี่ปุ่น และครู 44 คนในจำนวน 52 คนที่มีอยู่ในตอนนี้ที่เป็นข้าราชการที่ส่งตรงมาจากกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น

"เด็กญี่ปุ่นไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลก ต้องเรียนหนังสืออย่างน้อย 9 ปีตามระบบการศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่น" คะซิโรบอกว่า โรงเรียนญี่ปุ่นในไทยนั้นจึงเปรียบเสมือนการยกโรงเรียนจากญี่ปุ่นมาไว้ที่กรุงเทพฯ เพราะหลักสูตรตำราเรียนจะเหมือนกันทุกอย่าง

ปัจจุบันมีนักเรียน 1,367 คน แบ่งการเรียนออกเป็นชั้นประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 99% ของนักเรียนเป็นเด็กญี่ปุ่นแท้ ๆ ที่ติดตามพ่อแม่มาอยู่เมืองไทยเป็นการชั่วคราว ที่เหลือเป็นเด็กที่มีพ่อหรือแม่เป็นคนอีกสัญชาติหนึ่งด้วย

โรงเรียนนานาชาติแห่งสุดท้ายที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งขึ้นคือ โรงเรียนนานาชาติที่เชียงใหม่ ซึ่งหมอสอนศาสนาชาวสวิสเป็นคนตั้งขึ้นก่อน จนกระทั่งสามปีที่แล้วจึงทำการขออนุญาตตั้งเป็นโรงเรียนอย่างถูกต้อง โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับใบอนุญาตแทน

การเกิดขึ้นของโรงเรียนนานาชาติทั้งห้าแห่ง จึงเป็นการเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องมีโรงเรียนให้บุตรหลานของข้าราชการไทย ที่ไปทำงานในต่างประเทศแล้วกลับมาอยู่ในเมืองไทยด้วยเช่นกัน

เสียงเรียกร้องถึงความขาดแคลนในโรงเรียนนานาชาติในช่วงนี้ก็เนื่องมาจากสถานการณ์ที่นักลงทุน นักธุรกิจชาวต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน รวมทั้งคนไทยที่ไปอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน และต้องการกลับมาอยู่ในประเทศไทยอย่างถาวร ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเป็นปัจจัยให้เกิดความต้องการโรงเรียนสำหรับบุตรหลานที่เติบโตขึ้นมาในต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

"ทางแคนาดา เคยขอมา คนอินเดียวก็ขอเปิดแต่เราไม่อนุญาต" เจ้าหน้าที่ระดับบริหารระดับสูงท่านหนึ่งพูดถึงความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ "ถ้าเราอนุมัติให้เปิดไป จะมีโรงเรียนของทุกชาติ ซึ่งจะเป็นปัญหากับความมั่นคงของประเทศเราอีก"

นอกเหนือไปจากเหตุผลทางด้านความมั่นคงซึ่งแม้ในปัจจุบันจะมีน้ำหนักน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีต แต่ก็ยังคงเป็นข้อพิจารณาข้อหนึ่ง เหตุผลหลักที่ทางการยังไม่ยอมให้เปิดโรงเรียนเพิ่มคือโรงเรียนนานาชาติในขณะนี้ยังเพียงพออยู่ ปัญหาคือการกระจายออกไปยังต่างจังหวัดที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมาก โดยเฉพาะในเขตอิสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งทางกระทรวงศึกษากำลังพิจารณาแก้ไขปัญหานี้อยู่

"ที่ร้องเรียนกันมานั้น ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนบางแห่งเก็บค่าเล่าเรียนสูงมากจนผู้ปกครองสู้ไม่ไหว" แหล่งข่าวในคณะกรรมการศึกษาเอกชนมีมุมมองต่างออกไปอีกทัศนะหนึ่ง

โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติที่ซอย 15 นันเป็นโรงเรียนที่เก็บค่าเล่าเรียนสูงที่สุดในประเทศไทยคือ ประมาณ 100,000 - 130,000 บาทต่อปี

"เรายอมรับว่าเราเก็บสูง เพราะว่าต้องการครูที่มีคุณภาพจริง ๆ ซึ่งต้องไปหามาจากเมืองนอกเรื่องนี้เป็นความต้องการของผู้ปกครองเอง เราเก็บน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่ก็จะได้ครูไม่เก่งที่ยอมรับเงินเดือนถูก ๆ ซึ่งผู้ปกครองนักเรียนก็จะต่อว่าในเรื่องคุณภาพอีก" ดร.ปัญญา พูดถึงสาเหตุที่ต้องเก็บค่าเล่าเรียนกันเป็นแสนต่อปี

แต่แม้กระนั้น จำนวนนักเรียนที่มาสมัครเรียนที่นี่ก็ยังเพิ่มสูงขึ้นในอัตรา 8 - 10% ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา

"เพิ่มขึ้นทุกวันครับ ไม่ใช่ทุกปี" ดร.ปัญญาย้ำในโรงเรียนนานาชาติไปในตัว เด็กที่เข้ามาเรียนที่โรงเรียนสถานศึกษานานาชาตินั้นส่วนใหญ่เป็นลูกนักการทูตจากประเทศตะวันตก และนักธุรกิจในบริษัทขนาดใหญ่จากสหรัฐฯหรือประเทศยุโรปที่รับภาระนี้ไหว

ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประเทศกำลังพัฒนาหรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศที่ไม่มีสวัสดิการในเรื่องการศึกษาของบุตร และนักธุรกิจจากประเทศในเอเชียก็ต้องหาโรงเรียนที่ค่าเล่าเรียนต่ำกว่านี้

โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษาเก็บค่าเล่าเรียนประมาณ 40,000 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ถูกกำหนดโดยกระทรวงการต่างประเทศ

"นักเรียนของเรามาจากประเทศที่กำลังพัฒนาถ้าเราให้อัตราเงินเดือนครูเท่ากับต่างประเทศจะต้องเก็บค่าเล่าเรียนสูงกว่าปี คนจะมาเรียนไม่ได้" สาธุคุณ กริฟฟิธ เปิดเผย

อัตราเงินเดือนของครูในโรงเรียนนี้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นครูที่มาจากประเทศในแถบเอเชีย

โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษาจึงเป็นแห่งหนึ่งที่มีเด็กต่างชาติมาสมัครเข้าเรียนมาก เพราะเก็บค่าเล่าเรียนต่ำ "ปีที่แล้วเราต้องปฏิเสธไปถึง 200 กว่าคนเพราะว่าที่ของเราไม่พอ" ถวิดากล่าว

ส่วนโรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่นนั้นเป็นโรงเรียนที่เก็บค่าเล่าเรียนถูกที่สุดคือ ในระดับประมาณเก็บค่าเล่าเรียนเดือนละ 1,300 บาท และเดือนละ 1,600 บาทในระดับมัธยม

"รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นระบุไว้เลยว่า การศึกษาภาคบังคับเป็นการศึกษาแบบให้เปล่า" คะซึโร ครุใหญ่โรงเรียนญี่ปุ่นเปิดเผย กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นจะรับภาระค่าจ้างครูซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงอยู่แล้ว รวมทั้งส่งตำรามาให้เรียนฟรี เงินที่เก็บจากผู้ปกครองนักเรียนเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอาคารสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินเดือนครู พนักงานที่เป็นคนไทยเท่านัน

สถิติการเพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนไทย-ญี่ปุ่นในช่วงสองปีมานี้มีอัตราการเพิ่มปีละ 200 คน

สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นเครื่องชี้ถึงความขดาแคลนที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ดีคือ การโยกย้ายโรงเรียนไปตั้งในที่แห่งใหม่ สาเหตุของการย้ายนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ตั้งโรงเรียนเดิมหมดสัญญาเชา แต่สาเหตุที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจย้ายเป็นอย่างมากคือ ต้องการขยายให้รับนักเรียนได้มากขึ้น

โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติมีโครงการจะย้ายจากซอยสุขุมวิท 15 ไปอยู่ที่ใหม่ที่ปากเกร็ดซึ่งมีเนื้อที่ถึง 80 ไร่ ในปี 2534 นี้

โรงเรียนร่วมฤดีวิทเทศศึกษาก็กำลังหาเงินสร้างโรงเรียนใหม่ที่มีนบุรี ในเนื้อที่ 46 ไร่ ซึ่งมีกำหนดจะสร้างเสร็จในอีกสองปีข้างหน้า เช่นเดียวกับบางกอกพัฒนาที่จะย้ายไปอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 105

ส่วนโรงเรียนญี่ปุ่นนั้น อยู่ในระหว่างการวางแผนก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ที่ดินปัจจุบันที่มีพื้นที่ 12 ไร่ มีกำหนดเสร็จในปี 2534 เช่นเดียวกัน

ประเทศไทยในวันนี้และในทศวรรษใหม่คือศูนย์กลางการลงทุนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกำลังมีบทบาทสำคัญเหนือความเป็นไปในทางการเมืองในการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาประเทศ ปัญหาเรื่องโรงเรียนนานาชาติไม่เพียงพออาจจะยังเป็นแค่เสียงเรียกร้องเล็ก ๆ ที่ยังหาข้อสรุปแน่นอนไม่ได้ว่าขาดแคลนจริงหรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าเริ่มจะมีข้อขัดข้องเกิดขึ้น ปัจจัยในเรื่องโรงเรียนนานาชาติอาจจะไม่ใช่สิ่งชี้ขาดที่มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนจากต่างประเทศ แต่เป็นสิ่งที่แสดงถึงความรับผิดชอบเอาใจใส่ที่เจ้าของบ้านพึงจะมีต่อคนที่เราอยากจะให้เข้ามาอยู่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.