|
ไทยไม่แน่นอน กองโครงสร้างฯ ตปท.ยิลด์ดีกว่า
ผู้จัดการรายวัน(8 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
บลจ.ประเมินแนวคิดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เหมาะกับนักลงทุนส่วนบุคคลมากกว่ากองทุนรวมทั่วไป เหตุขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก อีกทั้งต้องทำการบ้านให้นักลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่เชื่อลงทุนต่างประเทศจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในไทย เพราะความไม่แน่นอนของอัตราการเติบโตผลตอบแทน และการแล้วเสร็จของโครงการมีน้อยกว่า ส่วนกองทุนพลังงานยังเป็นเรื่องอนาคต ชี้ราคาน้ำมันที่ลดลงยิ่งฉุดความน่าสนใจของโครงการ
แหล่งข่าวบริษัทจัดการลงทุนกล่าวให้ความเห็นว่าการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ได้มีขึ้นมาแล้ว 1 โครงการ แต่สำหรับบริษัทจะการส่วนใหญ่ การดำเนินการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้มีความสนใจน้อยมาก เพราะโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังไม่เป็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงและแนวโน้มการเติบโตของผลคตอบแทน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวเช่นนี้ นอกจากนี้ยังต้องดูที่ข้อกำหนดของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเรื่องการอนุมัติให้กองทุนสามารถลงทุนในโครงการต่างๆได้ แต่โครงการนั้นจะต้องแล้วเสร็จถึง 85% อย่างไรก็ตามการลงทุนประเภทนี้มีความน่าสนใจยิ่ง ซึ่งมองว่าหากมีกระแสความต้องการเพิ่มขึ้น น่าจะเป็การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะให้อัตราผลตอบแทนที่มั่นคงและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าในไทย
ด้าน นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด 1 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ โดยขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนกลุ่มนี้อยู่แล้ว และหากบริษัทมีข้อมูลและมีความมั่นใจบลจ.ออกกองทุนที่เน้นลงทุนในกลุ่มนี้ในโดยตรง
"สำหรับการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานนั้น เรามองว่าในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศนั้น จะต้องทำการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับกฏหมายข้อบังคับของประเทศที่กองทุนจะไปร่วมลงทุน อัตราการเสียภาษี ข้อมูลและวิธีการขอสัปทาน อีกทั้ง รัฐบาลของประเทศที่เข้าไปลงทุนมีนโยบายการบริหารอย่างไร กฏระเบียบ และในเรื่องของการรับผลตอบแทน ว่าเมื่อลงทุนไปแล้วเปอร์เซ็นของผลตอบแทนที่ได้รับจะมีความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เข้าไปลงทุนมากน้อยเพียงใด เพราะบ้างครั้งการที่เลือกลงทุนกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศนั้น จะประสบปัญหาการลงทุนไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับกลับคืนมา ซึ่งเราจะต้องศึกษาข้อมูลในการลงทุนให้ละเอียดรอบครอบที่สุด"นายวิโรจน์กล่าว
ส่วน การลงทุนในประเทศบริษัทได้ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปเกี่ยวกับการออกกองทุนประเภทนี้อยู่ โดยคาดว่าความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น เชื่อว่าเมื่อจัดตั้งแล้วนักลงทุนต้องเข้ามาร่วมลงทุน แต่ในเรื่องของผลตอบแทนที่จะได้รับยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่เชื่อว่าจะดีกว่าการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารแน่
ขณะเดียวกัน แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทมองว่าการลงทุนนี้สามารถทำได้ทั้งในรูปแบบของไพรเวต ฟันด์ หรือ กองทุนรวม ซึ่งหากเป็นแบบไพรเวต ฟันด์ จะมีความคล่องตัวในการลงทุนมากกว่าการลงทุนในกองทุนรวม เพราะก่อนที่จะมีการจัดตั้งกองทุนรวม จะต้องมีขั้นตอนและกระบวนการจัดตั้งมากกว่ากองทุนส่วนบุคคล อีกทั้งจะต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างความรู้ให้กับนักลงทุนมากกว่าการลงทุนแบบไพรเวตฟันด์ด้วย
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนบลจ.มองว่า จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังดี โดยแนวโน้มระยะยาวของพลังงานโครงสร้างพื้นฐาน เช่นน้ำมัน จะต้องหมดไปอย่างแน่นอน ดังนั้นการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนจึงมีความน่าสนใจและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของบริษัท ซึ่งเมื่อลองมองย้อนกลับไปเมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ ที่น้ำมันได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นมากว่า100เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปหันไปเลือกใช้ แก๊สโซฮอลล์ หรือแอลพีจี แทนการใช้น้ำมัน แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงความสนใจที่นักลงทุนจะหันไปใช้พลังงานทดแทนยังมีน้อย ดังนันการลงทุนในกลุ่มของพลังงานทดแทนจะต้องอาศัยการสร้างแรงจูงใจและให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารแก่นักลงทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงไม่ออกกองทุนที่เกี่ยวกับกลุ่มพลังงานทดแทนในตอนนี้ แต่หากเป็นในระยะยาวอาจจะมีกองทุนประเภทนี้ออกมาให้นักลงทุนร่วมลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมองว่าการลงทุนในกลุ่มของคอมมอดิตี้ค่อนข้างที่มีความผันผวนมาก ทำให้บลจ.กรุงไทยไม่มีการออกกองทุนที่เกี่ยวกับน้ำมัน หรือทองคำ เพราะราคาสินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างแกว่งตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งหากเลือกลงทุนในกลุ่มของสินค้าโภคภัณฑ์จะต้องทำการศึกษาข้อมูลของตลาดให้ดีแล้วอาศัยการจับจังหวะของตลาดเพื่อเข้าทำกำไร
นาย วรรธนะวงศ์สีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) ฟิลลิป จำกัด กล่าวว่าโดยส่วนตัวมองการลงทุนในกลุ่มของโครงสร้างพื้นฐานนั้นดี เมื่อลงทุนไปแล้วนักลงทุนจะไม่มีขาดทุน อีกทั้งมีรีเทิร์นดีถึงแม้ว่าจะไม่มากนักเหมือนกับการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ แต่มีความมั่นคงในการลงทุนสูง แต่เนื่องจากบริษัท เป็นเพียงรายเล็กการออกกองทุนประเภทนี้ค่อนข้างที่จะได้รับความสนใจจากฐานลูกค้าน้อย บลจ.จึงไม่มีแผนการออกกองทุนจำพวกนี้
ในส่วนของการออกกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มของพลังงานทดแทน ในส่วนนี้บริษัทมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต เนื่องจากขณะนี้กลุ่มของพลังงานทดแทนยังอยู่ในช่วงของการทดลอง อีกทั้งต้นทุนในการลงทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ค่อนข้างที่จะมีราคาสูง หากลงทุนไปจะไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ นอกจากนี้ฐานลูกค้าที่มีความสนใจในเรื่องของพลังงานทดแทนยังมีไม่มากนักที่จะเจาะลงไปในอย่างใดอย่างหนึ่ง การระดมทุนจากนักลงทุนจึงยากตามไปด้วย แต่ในอนาคตหากกองทุนรวมมีฐานลูกค้าที่ชอบลงทุนแบบหลากหลายมากขึ้น บริษัทมองว่าการออกกองทุนประเภทดังกล่าวอาจจะได้รับความสนใจมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|