ซาฟโคล - คิงฟิชเชอร์


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากที่ยูนิคอร์ดเข้าไปซื้อกิจการของบัมเบิ้ม บี ซีฟู้ดส์ในสหรัฐฯเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารของทะเลของไทยก็คือ การที่ซาฟโคล (ประเทศไทย) เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็นคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

ซาฟโคลเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายแรกของเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2515 ด้วยการลงทุนของกลุ่มซาฟโคล โฮลดิ้งและ SOUTHERN ASSOCIATED FISHERIES จากออสเตรเลีย ซึ่งมีประสบการร์ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่าคนไทยในระยะนั้นซึ่งยังใหม่สำหรับธุรกิจนี้

จากจำนวนคนงานเพียง 40 คน ทำการบรรจุปลาทูน่ากระป๋องในโรงงานเล็ก ๆ แถบยาวนาวาเมื่อ 17 ปีที่แล้ว วันนี้ซาฟโคลมีคนงาน 3,500 คน มีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง และโรงงานทำกระป๋องอีก 2 แห่ง มียอดขายเมื่อปีที่แล้ว 1,378 ล้านบาท

เป็นการเติบโตตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ที่ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกและมาตรฐานการผลิตที่ได้คุณภาพเป็นปัจจัยที่ส่งให้ขึ้นมายืนอยู่หัวแถวได้

ซาฟโคล โฮลดิ้งนอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของทุนจดทะเบียน 1.5 ล้านบาทแล้ว ยังรับผิดชอบการตลาดของซาฟโคล (ประเทศไทย) และมีสัญญาให้ใช้ชื่อซาฟโคลเป็นยี่ห้อสินค้าที่ซาฟโคล (ประเทศไทย) เป็นผู้ผลิตด้วย

การเปลี่ยนชื่อจากซาฟโคลมาเป็นคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งที่ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมนั้น ตามถ้อยแถลงของไนเจล ฮาร์ดี้ กรรมการผู้จัดการคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้ง กล่าวว่า สัญญาทางการตลาดระหว่างซาฟโคล (ประเทศไทย) กับซาฟโคล โฮลดิ้งได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม และไม่มีการต่อสัญญากันอีกซาฟโคล (ประเทศไทย) จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ชื่อเดิมต่อไป

คิงฟิชเชอร์ได้ร่วมกับบริษัทพรีเมียร์ ฟู้ดส์แห่งประเทศอังกฤษซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าของซาฟโคล (ประเทศไทย) มาก่อน ตั้งบริษัทคิงฟิชเชอร์พรีเมียรขึ้นที่ประเทศอังกฤษ เพื่อทำห้าที่ทางการตลาดให้กับคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งแทน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างคิงฟิชเชอร์ให้เป็นยี่ห้อใหม่ที่เป็นที่ยอมรับกันเหมือนเช่น ซาฟโคล

ไนเจล ฮาร์ดี้ยังได้กล่าวอีกว่า ซาฟโคล โฮลดิ้ง มีแผนที่จะขายหุ้นในคิงฟิชเชอร์ทิ้ง เพราะต้องการถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ ก่อนหน้านี้ก็ได้ขายหุ้นกิจการอาหารทะเลในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียไปแล้ว

แต่เพียงสามวันให้หลังซาฟโคล โฮลดิ้งก็ตอบโต้ถ้อยแถลงของฮาร์ดี้ว่า ไม่เคยคิดที่จะถอนตัวออกจากไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลติและส่งออกที่ดีมากในโลก แต่กลับมีแผนที่จะขยายตัวมากกว่านี และการสิ้นสุดสัญญาระหว่างตนกับซาฟโคล (ประเทศไทย) กลับเป็นผลดีที่ทำให้ซาฟโคล โฮลดิ้ง ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้ แทนที่จะต้องซื้อจากซาฟโคล (ประเทศไทย) แต่เพียงรายเดียวเหมือนตลอดเวลาที่ผ่ามา

การเปลี่ยนแปลงจากซาฟโคล (ประเทศไทย) มาเป็นคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้ง รวมถึงคำแถลงของทั้งสองฝ่ายที่ไม่สอดคล้องกันเท่าไรนัก เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความขัดแย้งบางอย่างที่มากไปกว่าการสิ้นสุดสัญญาธรรมดา ๆ อันเป็นที่มาของการแยกทางกันเดินหลังจากร่วมหัวจมท้ายมาถึง 17 ปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.