แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยแรง1%เรียกความเชื่อมั่นกระตุ้นศก.


ผู้จัดการรายวัน(4 ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.มีมติหั่นเปรี้ยงเดียว 1% ส่งผลดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.75% เป็นการลดดอกเบี้ยที่แรงที่สุดนับตั้งแต่มีการประชุม กนง.มาตั้งแต่ปี 43 หวังช่วยเรียกความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเฉพาะหน้าหลังพบแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปชะลอตัวมาก แย้มมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยอีก หลังการใช้นโยบายการคลังได้ช้าจากปัญหาการเมือง พร้อมทั้งมีโอกาสปรับจีดีพีปี 52 ใหม่เหลือ 1% หลังพบเศรษฐกิจไทยชะลอต่อเนื่องไปยังปีหน้า

น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) ในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ลงอีก 1% จากระดับ 3.75%ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 2.75%ต่อปี ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยมีการประชุมกนง.มาในปี 2543 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบ 16 เดือน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งปัจจัยภายนอกประเทศอย่างวิกฤตการเงินโลกส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจนกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจจริงในหลายประเทศ รวมถึงการส่งออก ขณะเดียวกันปัจจัยภายในประเทศด้านการเมืองมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนกระทบต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวและการลงทุน ประกอบกับปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องตลอดปี 52 จึงมีช่องให้ใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการใช้นโยบายการคลังที่มีความไม่แน่นอนสูงจากโครงการและมาตรการต่างๆ ล่าช้าออกไป

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในครั้งนี้เป็นการเรียกความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นๆ จากแนวโน้มที่ประเมินว่าจะชะลอตัวมาก อีกทั้งต้องการสนับสนุนให้ภาคสถาบันการเงินมีช่องในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจต่อไปได้ แม้ภาคธุรกิจต้องเกิดจากความเชื่อมั่นเป็นสำคัญด้วย ส่วนจะมีผลต่อการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงิน ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละสถาบันการเงินที่จะประเมินทั้งต้นทุนทางการเงินและวิธีการใช้เงินอย่างไรในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังคงเป็นบวก 0.55%

“ธปท.ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เห็นเกิดปัญหาภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงใกล้เคียง 0% เนื่องจากไทยยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ไม่เหมือนกับภาพในต่างประเทศ นอกจากนี้การที่ กนง.เสนอกระทรวงการคลังในการปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อปี 52 ที่ใช้ในการดำเนินโยบายการเงินเป็น 0.5-3% เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ธปท.สามารถดูแลไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อจนติดลบ รวมถึงจะดูแลการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคตด้วย”

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 1% กนง.ได้มีการประเมินความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อเศรษฐกิจจริง รวมถึงการส่งออกของไทย แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อภาคการเงินไทยทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและเงินทุนไหลเข้าออก

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปนั้นยังคงเป็นการผ่อนคลายอยู่ แต่ขึ้นกับการประเมินข้อมูลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประชุมของ กนง.และในอนาคต รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการใช้นโยบายการคลังในขณะนี้อาจจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากนักจากปัญหาการเมืองที่อาจจะเลื่อนออกไป ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอาจมีการนัดประชุมกนง.เร็วกว่าการประชุมปกติก็ได้ เพราะต้องพิจารณาข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ใช้ความรู้สึกเท่านั้น

นอกจากนี้ในการประชุมของ กนง.ครั้งนี้ได้มีการปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 52 ใหม่ โดยมีความเป็นไปได้จะต่ำกว่าเดิมที่ กนง.ประเมินไว้ คือ 3.8-5% แต่อาจจะใกล้เคียงกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ที่ 1% เนื่องจากหากดูแนวโน้มจากข้อมูลจริงในไตรมาส 3 ของปีนี้และล่าสุดในเดือนต.ค. มีโอกาสที่เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆ เติบโตได้น้อยทั้งไตรมาสที่ 4 และชะลอต่อเนื่องไปยังปี 52 ด้วย

ทั้งนี้ ในที่ประชุม กนง.เมื่อวานนี้ไม่ได้นำเหตุการณ์หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศสลายการชุมนุมออกจากสนามบินทั้ง 2 แห่ง และยังไม่ได้ประเมินความเสียหายของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว การลงทุนและการส่งออกบ้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.