กานต์ คูนซ์ (KARL KUNZ) ฝรั่งอเมริกันครึ่งหนึ่งไทยครึ่งหนึ่งคนนี้หายหน้าหายตาไปจากวงการคอมพิวเตอร์อยู่นาน
ก่อนหน้านั้นทราบว่าเขาเป็นนักพัฒนาเกษตรที่บริษัทอดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีวันลืมในความสามารถ
โดยเฉพาะผลงานการริเริ่มและพัฒนาโครงการเกษตรใบยาสูบพันธุ์ TURKISH ในภาคอีสานที่มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการมากถึง
40,000 ครอบครัว
และด้วยเหตุที่มีเกษตรกรเข้าร่วมมากถึง 40,000 ครอบครัวนี้เอง ทำให้บัญชีต่างๆ
ในโครงการต้องใช้คอมพิวเตอร์มาช่วย จากจุดนี้เองทำให้เขาหลงใหลกับเจ้าเครื่องสมองกลนี้เอามาก
ๆ จนต้องขอเวลาไปเรียนคอมพิวเตอร์ต่อที่แคลิฟอร์เนียอีก 1 ปี
จบมาก็พอดี บริษัทอดัมส์ อยากเปิดธุรกิจคอมพิวเตอร์ ชื่อบริษัทแอคชั่น
กานต์คูนช์ ก็ได้นั่งบริหารตามประสาคนกำลังร้อนวิชา
ยิ่งได้ขายยี่ห้อ AT&T ด้วยแล้ว กานต์ คูนช์ก็เลยพลอยสนุกไปกับมันอยู่นานถึง
5 ปีเต็ม ก็ออกมาอยู่กับธุรกิจเกษตรเหมือนเดิม
"ผมชอบในนโยบายของบริษัทกลุ่มแอดวาสตาร์ที่ไม่เอาเปรียบเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์นักพัฒนาการที่ผมเคยทำมาก่อน"
กานต์ คูนช์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ถึงที่มาเข้าร่วมกับบริษัทแห่งนี้
กานต์ คูนช์ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทกลุ่มแอดวาสตาร์ ซึ่งทำธุรกิจอุตสาหกรรมสัตว์น้ำพวกกุ้งกุลาดำ
มีฐานผลิตและแปรรูปกุ้งอยู่ที่อำเภอระโนด จ.สงขลา
เมื่อปลายปีที่แล้ว บริษัทแอดวาสตาร์ได้ลงทุนร่วมกับบริษัททราว อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งเนเธอร์แลนด์
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของยุโรป
ในสัดส่วน 60 : 40 เหตุผลเพราะอุตสาหกรรมผาลิตกุ้งกุลาดำหัวใจความสำเร็จอยู่ที่การพยายามลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดบนพื้นฐานคุณภาพกุ้งดีที่สุด
และสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็อยู่ที่การให้อาหารกุ้งที่มีคุณภาพสูง
เพื่อให้ได้เนื้อกุ้งที่มีคุณภาพดีตามความต้องการของตลาด ซึ่งมองจากจุดนี้
บริษัททราว อินเตอร์เนชั่นแนล มีความรู้ความชำนาญและเทคโนโลยีการผลิตอาการกุ้งสูงพอที่จะมาเสริมช่วยให้เป้าหมายการผลิตกุ้งของบริาทบรรลุได้
"เกษตรกรที่ไม่มีความรู้ในการเลี้ยงกุ้งดีพอ ใช้อาหารกุ้งที่ไม่มีคุณภาพและปริมาณอาหารมาก
สัดส่วนอาหารกุ้งต่อเนื้อกุ้งสูงถึง 4-5 : 1 กก. ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งสูงมากเกินไป
แม้หากปัจจัยด้านการตายของกุ้งไม่มาก (ซึ่งนับว่าโชคดี) แต่ราคากุ้งไม่มีความแน่นอน
ความเสี่ยงจากการลงทุนจึงสูงมาก" แหล่งข่าวในกรมประมงให้ข้อสังเกตกับ
"ผู้จัดการ"
บริษัทใหญ่ ๆ ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำครบวงจรอย่างแอดวาสตาร์ ซีพี
และยูนิคอร์ด ต่างรู้ดีว่า การควบคุมต้นทุนการผลิตกุ้งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
มีความเสี่ยงต่ำนั้น สัดส่วนในปริมาณอาหารต่อเนื้อกุ้งที่ได้ควรจะอยู่ใน
1.5-1.8 กก. ต่อ 1 กก.เท่านั้น
กานต์ คูนช์ ได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตกุ้งรุ่นแรกที่เลี้ยงในโครงการของบริษัทแอดควาสตาร์
ปรากฎว่าสามารถทำรายได้ให้เกษตรกรถึงครอบครัวละ 200,000 บาท เทียบจากเมื่อก่อนที่เกษตรกรลงทุนปลูกข้าวมีรายได้ครอบครัวละ
6,000 บาทเท่านั้น
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในโครงการของบริษัทแอควาสตาร์เกือบทั้งหมดเคยเป็นชาวนาปลูกข้าวที่ยากจนมาก่อน
เมื่อแอควาสตาร์เข้าไปขายแนวคิด "เพื่อนร่วมพัฒนา" ในธุรกิจเลี้ยงกุ้งของบริษัทก็มีเกษตรกรละทิ้งจากการทำนาเข้ามาร่วมเลี้ยงกุ้งกับบริษัทร่วม
300 ครอบครัว
คำว่า "เพื่อนร่วมพัฒนา" เป็นแนวคิดทางอุดมการณ์ที่บริษัทถือเป็นนโยบายเลย
คือบริษัทไม่ได้มองเกษตรกรเป็นลูกจ้างที่สามารถเข้าไปสูบเลือดสูบเนื้อเพื่อกำไรสูงสุดในธุรกิจของบริษัท
แต่เป็นการมองเกษตรกรด้วยความหมายด้านการพัฒนาไปกับบริษัท คูนช์ยืนยันกับ
"ผู้จัดการ" ว่าบริษัทไม่ต้องการที่ดิน่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการสักตารางนิ้วเดียว
เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตทุกอย่างจากบริษัทไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนที่บริษัทจัดหามาจากธนาคารเอเชียให้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
11% อาหารกุ้งที่บริษัทผลิตได้ขายให้ราคาถูกกว่าตลาด ลูกกุ้งที่บริษัทเพาะเลี้ยงขึ้นมา
เกษตรกรเพียงทำหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงกุ้งภายใต้การฝึกฝนอบรมและควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท
และเมื่อกุ้งเติบโตเต็มที่แล้ว บริษัทจะเป็นผู้จับกุ้งมาขาย โดยบริษัทรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไปทั้งหมด
และถ้าหากว่ากุ้งที่บริษัทขายออกต่างประเทศมีกำไร บริษัทจะนำมาแบ่งเฉลี่ยนส่วนหนึ่งของกำไรนั้นให้เกษตรกรที่ขายกุ้งให้บริษัทด้วย
ซึ่งวิธีการเช่นนี้เหมือนกับการขายของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตแอปเปิ้ลในรัฐวอชิงตันสหรัฐฯ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง บริษัทได้ตัดคนกลางออกจากตลาดทำให้บริษัทสามารถวางแผนราคารับซื้อได้ล่วงหน้า
และนอกจากนี้ "บริษัทก็จะสามารถคาดการณ์คุณภาพและปริมาณกุ้งที่จะผลิตได้ล่วงหน้า
ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการทำตลาดกุ้งส่งออกของบริษัท" กานต์คูนช์ เลาถึงผลดีอีกจุดหนึ่งในโครงการให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทแอควาสตาร์เก็บเกี่ยวกุ้งได้ 160 ตัน คาดหมายว่าสิ้นปีนี้
คงเก็บเกี่ยวได้อีก 160 ตัน เป็น 320 ตัน ผลผลิตทั้งหมดนี้ส่งออก 100% และเมื่อเทียบกับผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณปีละ
40,000 ตัน ส่วนแบ่งตลาดผลผลิตของบริษัทจะตกราว ๆ 1%
กานต์ คูนช์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เกษตรกรลงทุนเลี้ยงกุ้งในโครงการของบริษัทบ่อละ
800,000 บาท แต่รายได้ที่ได้ปีละ 1,000,000 กว่าบาท มีกำไรตกเฉลี่ยประมาณ
200,000 บาทใน 4 ปี จะคุ้มทุนและปีที่ 5 เป็นต้นไป ไม่ต้องผ่อนชำระค่าบ่อกับธนาคารอีกต่อไป
เมื่อเกษตรกรมีกำไรและรายได้มากขึ้นอย่างมีหลักประกัน บริษัทอะควาสตาร์ซึ่งกล้าคิด
กล้าทำ ธุรกิจเลี้ยงกุ้งครบวงจร โดยใช้ระบบ "เพื่อนร่วมพัฒนา"
อย่างแท้จริง ก็จะเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับเกษตรกรด้วย
วันนี้ กานต์ คูนช์ มีความสุขมากกับงานที่ทำอยู่เขาเคยยืนยันกับ "ผู้จัดการ"
ว่า โดยแท้จริงตัวเขารักงานเกษตร และอยากใช้ชีวิตอยู่กับงานเกษตร เขาทำธุรกิจโดยใช้นโยบายว่า
เมื่อเกษตรกรสมาชิกมีกำไร และสำเร็จในอาชีพบริษัทจะสำเร็จตามไปด้วย
"มันเป็นการลดช่องว่างความรวยความจนที่เป็นรูปธรรมและเป็นไปได้มากที่สุด"
เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงอุดมการณ์และนโยบายที่บริษัทอะควาสตาร์ทำอยู่ว่ามีผลต่อการพัฒนาชนบทไทยอย่างแท้จริง
ไม่ใช่มีแต่ลมปาก