อาร์เอสส่ง 6 ค่ายเพลงกรำศึก หลังรายได้ปีนี้ ติดลบขาดทุน


ผู้จัดการรายวัน(4 ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

อาร์เอส พบจุดบอดค่ายเพลง ปรับทัพวางหมากถล่มงานดนตรีปีหน้า 6 ค่าย หวังกู้ยอดด้วยดิจิตอลโปรดักส์ หลังปีนี้ซีดีและวีซีดี ขายยากขึ้น ส่งผลทำรายได้เพียง 800 ล้านบาท โต 5% จากเดิมที่คาดจะโต 15% ติดลบขาดทุนเล็กน้อย

นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส เปิดเผยว่า จากเดิมที่ธุรกิจเพลงของบริษัทฯ ได้แตกค่ายเพลงออกมามากสุดถึง 12 ค่าย และลดลงเหลือ 8 ค่าย ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางบริษัทฯพบว่า ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละค่ายมีโปรดักส์ที่ไม่แตกต่างกัน จึงได้มีแนวคิดช่วงกลางปีที่ผ่านมา กับ กลยุทธ์ มิวสิค เซกเม้นท์ แชมเปี้ยน โดยลดจำนวนค่ายลง มุ่งสร้างแบรนด์ และจับกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น

ส่งผลให้มีจำนวนค่ายทั้งหมดเหลือ 6 ค่าย เป็นค่ายเดิม 2 ค่าย คือ กามิคาเซ่ จับตลาดวัยรุ่น และ อาร์เอสมิวสิค จับตลาดแมส และเพิ่มค่ายใหม่เข้ามาอีก 4 ค่าย ในกลุ่มเพลงคนรุ่นใหม่ คือ ค่ายเมลโลโทน, เพลนตี้ มิวสิค, 9Richter และ Reggae Villageซึ่งได้เปิดตัวมาได้สักระยะ คาดว่าใน 1 ปี จะมีสัดส่วนรายได้ที่ 15% จากที่ขณะนี้สร้างรายได้ให้ 5-8% ของกลุ่มเพลง ส่วนอีก 2ค่าย มีสัดส่วนได้รวมกว่า 90%

"การที่มีการปรับค่ายเพลงใหม่นี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากพบว่า รายได้จากซีดีและวีซีดีลดลง และที่สำคัญกลุ่ม 4 ค่ายใหม่ จะช่วยสร้างรายได้จากการซีดี วีซีดี, ดิจิตอลโปรดักส์ และโชว์บิซ ได้เป็นอย่างดี เพราะกลุ่มคนฟังกลุ่มนี้ จะเป็นนีชมาร์เก็ต ที่มีการบริโภคในสื่อดังกล่าวค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าจากเดิมทำเพลงเหล่านี้ทำแล้วไม่คุ้มก็ตาม นอกจากนี้บริษัทฯมองว่า การเดินหน้าธุรกิจเพลงต่อไป ควรจะเน้นในเรื่องแบรนด์ของค่ายเพลงมากขึ้น โดยต้องมีความชัดเจนในแต่ละค่ายด้วย"

ทั้งนี้ในภาพรวมรายได้กลุ่มเพลงของอาร์เอส คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้ที่ 800 ล้านบาท โตขึ้นเพียง 5% เทียบจากปีก่อน หรือต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ถึง 10% โดยส่วนที่ต่ำกว่าเป้านี้มาจากรายได้ของกลุ่มซีดีและวีซีดีลดลงเป็นหลัก ขณะที่รายได้จากกลุ่มดิจิตอลค่อนข้างดี ทั้งนี้รายได้ของธุรกิจเพลง มาจาก 3 ส่วนใหญ่ คือ ซีดีและวีซีดี 30%, ดิจิตอล 65% และลิขสิทธ์เพลง 5% โดยรายได้จากธุรกิจเพลงนี้ สร้างรายได้ให้บริษัทฯที่สัดส่วน 35% ตามมาด้วย มีเดียอีก 40% เป็นอันดับ1 และที่เหลือมาจากกลุ่มโชว์บิซอีก 25% ซึ่งในภาพรวมนั้น ปีนี้ยังติดภาวะขาดทุนเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจในปีหน้า กลุ่มเพลงยังไม่มีการลงทุนใดๆ จะมุ่งเน้นโปรดักส์ที่มีอยู่ มุ่งสร้างแบรนด์ดิ้ง จับกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เนื่องจากมองว่าปีหน้าจะต้องทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง เพราะแนวโน้มลูกค้า จะมีการตัดงบโฆษณาลง ดังนั้นกลยุทธ์หนึ่งที่จะนำมาใช้คือ การโควกับพาทเนอร์ทางธุรกิจให้มากขึ้น เช่น โฟร์มด กับการเปิดตัว ชีซ่าซิม ร่วมกับ วันทูคอล คาดว่าในปีหน้า จะได้เห็นกลยุทธ์เหล่านี้กับค่ายเพลงน้องใหม่อีก 4 ค่าย เป็นบายเคสไป

นางพรพรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับคอนเท้นท์ที่บริษัทฯมีอยู่ ปีหน้ามองว่า 1.คอนเท้นท์กลุ่มเพลง ไม่น่าเป็นห่วง เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่ากลุ่มซีดีและวีซีดีจะลดลง แต่กลุ่มดิจิตอลจะโตขึ้นทดแทนไม่ต่ำกว่า 30% จากที่ทำได้ในปีนี้ 2.คอนเท้นท์ภาพยนตร์ ยอมรับว่าลำบาก เพราะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้บริโภค อย่างปีนี้ ภาพยนตร์ไทยถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ แนวโน้มตลาดขึ้นอยู่กับตรีมหนังด้วย

3.โชว์บิซ มองว่าปีหน้าไม่น่าจะมีอะไรมากนัก ผลกระทบน่าจะน้อย เพราะรายได้ส่วนนี้กว่า 40-50% มาจากสปอนเซฮร์ ที่เหลือ คือการขายบัตร ถึงแม้บริษัทฯจะพลาดกับคอนเสิร์ต 100 Rock ไปก็ตาม เพราะมีเหล้า 100 ไปเปอร์เป็นผู้ซัพพรอตอยู่ ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะนำกลับมาทำใหม่ ถึงแม้จะศิลปินที่ตอบรับกลับมาจะไม่ทั้งหมด และ4.คอนเท้นท์มีเดีย มองว่าปีหน้า สื่อทีวี วิทยุ ได้รับผลกระทบแน่ๆ ลูกค้าจะตัดงบลง อย่างไรก็ตามสื่ออินสโตร์ที่บริษัทฯทำอยู่ น่าจะช่วยดึงรายได้ในส่วนนี้ได้ เพราะขณะนี้ได้ขยายจาก 500 สาขาในโมเดิร์นเทรด เป็น 700 สาขาแล้ว ทั้งนี้ในกลุ่มรายการทีวี คาดว่าจะมีเพิ่มอีก 1-2 รายการ เป็นช่วงเวลาไพร์มไทม์ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะทำรายการออกมาในรูปแบบใด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.