Entrepreneurship


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ข่าวการปลดคนงานตามนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานต่างๆ ที่เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงปลายปี และมีการคาดการณ์กันว่าในปีหน้าจะมีโรงงานที่ต้องปิดกิจการอีกหลายแห่ง และจะมีคนว่างงานอีกหลายแสนคน

กลายเป็นความวิตกกังวลของสังคมไทย ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ที่เป็นผลพวงจากปัญหาการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

หลายคนมองว่าสถานการณ์นี้ กำลังจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังจะประสบ หลังจากผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งมาได้เพียง 10 ปี

คนตกงาน ย่อมก่อให้เกิดปัญหากำลังซื้อ เมื่อตลาดขาดกำลังซื้อ ย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆที่รายได้จากการขายต้องลดลงตาม และเมื่อกิจการร้านค้าต่างๆขายของได้น้อยลง ก็อาจต้องมีการปลดคนงาน และก็จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นมาอีก

เป็นปัญหาเหมือนกับวัวพันหลัก ที่แก้อย่างไร ก็กลับวนมาสู่จุดตั้งต้นเหมือนเดิม

มีความพยายามจากหลายฝ่าย ที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ หวังดูดซับตัวเลขคนว่างงานออกไปจากระบบ เพื่อตัดตอนวงจรปัญหาข้างต้น

ก็ถือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดแนวทางหนึ่ง แม้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพราะการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในบรรยากาศความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคมไทยนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง

ในสถานการณ์เช่นนี้ผมมองว่ายังมีอีกแนวหนึ่งที่น่าจะมีการริเริ่มกันขึ้นมา และอาจจะเป็นทางออกในระยะยาวให้กับสังคมไทยได้

นั่นก็คือความพยายามกระตุ้นความเป็นผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนไทย โดยเฉพาะในหมู่คนที่เคยเป็นคนงาน หรือลูกจ้างบริษัทเอกชน

ระบบการศึกษาของไทยนับจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน ส่วนใหญ่มักจะปลูกฝังให้คนเรียนเพื่อหวังว่าเมื่อจบแล้วจะได้ทำงานในองค์กรหรือบริษัทต่างๆ ในฐานะของลูกจ้าง

แต่ยังไม่มีระบบการศึกษาที่ปลูกฝังหรือชี้นำให้คนเรียน เมื่อเรียนจบออกไปแล้วอยากออกไปเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของกิจการโดยตรง

คนที่ได้มีโอกาสลองทำกิจการอะไรขึ้นมาสักอย่าง ส่วนใหญ่หากไม่ใช่ด้วยแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากภายในตัวตนของคนคนนั้นจริงๆ ก็ต้องมาจากแรงกดดันจากภายนอก ประเภทสถานการณ์บีบบังคับ

หากยังจำกันได้ วิกฤติเศรษฐกิจที่สังคมไทยเผชิญเมื่อ 10 ก่อน ได้ก่อให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ขึ้นมาหลายรายและในจำนวนหลายรายนี้หลายคนก็ประสบกับความสำเร็จ

หากยังจำกันได้มีภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ชิ้นหนึ่งที่ออกมาให้กำลังใจกับคนที่ต้องประสบกับภาวะตกงานเมื่อ 10 ปีก่อน โดยธีมของโฆษณาชิ้นนี้บ่งบอกว่าปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออก ขอเพียงให้ใจสู้เข้าไว้

ตัวอย่างของตัวละครในโฆษณาจากพนักงานส่งเอกสารได้เปลี่ยนไปเป็นคนขับวินมอเตอร์ไซค์ จากพนักงานบริหารระดับกลางได้ออกไปเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารเล็กๆ ฯลฯ

และหากยังจำกันได้ คำว่าเปิดท้ายขายของ เป็นคำฮิตติดตลาดในช่วงหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น และคนที่ตัดสินใจเลือกนำของที่มีอยู่ในบ้านออกมาเปิดท้ายขายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลายคนในวันนี้ได้กลายเป็นเจ้าของร้านกิฟต์ชอป หรือร้านขายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ขายดีมาก

วิกฤติทุกวิกฤติย่อมมีทางออก และวิกฤติทุกวิกฤติล้วนก่อให้เกิดโอกาส

เพียงแต่จะมีใครที่จะออกมานำ กระตุ้นให้คนที่กำลังเผชิญกับปัญหามองเห็นโอกาสนั้น

ความพยายามแก้ปัญหาด้วยการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานใหม่ แม้จะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่ก็สามารถนำพาเหตุการณ์ให้กลับไปเป็นปัญหาเดิมๆ ได้อีกครั้งในอนาคต

เพราะยังเป็นแนวทางที่ปลูกฝังให้คนฝากอนาคตเอาไว้กับการเป็นลูกจ้างเพียงอย่างเดียว

การกระตุ้นหรือดึงความรู้สึกอยากเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ให้กับคนที่กำลังจะต้องเจอกับสภาวะตกงานในช่วงนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีอีกแนวทางหนึ่ง

ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนเริ่มต้นขึ้นมาก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.