ปัญจพลไฟเบอร์ มาเรียบ และมาแรง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะเป็นผู้ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกรายใหญ่สุดของเมืองไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 50 ปี แต่ปัญจพลไฟเบอร์ หรือเรียกกันในวงการด้วยชื่อเก่าว่า "เฮี่ยงเซ้ง" กลับไม่ค่อยมีข่าวคราวออกมาสู่สาธารณชนมากเท่าไรนัก ห้าเสี่ยแห่งตระกูล เตชะวิบูลย์ พอใจที่จะเก็บเนื้อเก็บตัวทำงานกันเงียบ ๆ ไม่ต้องให้ใครมารับรู้เรื่องราวของตัวเอง

"พวกนี้เป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าคุยกับนักข่าว" คนในปัญจพลไฟเบอร์เย้ากันเล่น ๆ ถึงความเงียบของเฮี่ยงเซ้ง

ถ้าอธิบายกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ความเงียบของเฮี่ยงเซ้งก็เป็นพฤติกรรมปกติของธุรกิจครอบครัวของคนจีนร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ซึ่งไม่สู้จะยินดีนักกับการเป็นข่าว ไม่ว่าข่าวดีหรือข่าวไม่สู้ดีก็ขอเงียบไว้ก่อน อีกประการหนึ่งนั้น การทำกล่องกระดาษลูกฟูกเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในวงกว้างโดยตรงเหมือนสินค้าประเภทอื่น ๆ จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องทำตัวให้เป็นที่รู้จักมาก

การเซ็นสัญญาค้ำประกันและกู้เงินระหว่างปัญจพลไฟเบอร์กับธนาคารพาณิชย์ห้าแห่งเมื่อเดือนที่แล้ว จึงเป็นการเปิดตัวกันเป็นครั้งแรกของกลุ่มนี้และเหมือนเป็นการแง้มประตูให้เห็นกันนิด ๆ หน่อย ๆ ว่าในความเงียบนั้นมีความเคลื่อนไหวอยู่

สัญญาที่ลงนามกันในวันนั้นเป็นสัญญาสนับสนุนทางการเงินที่ธนาคารกสิกรไทย กรุงไทยทหารไทย นครหลวงไทยและศรีนครกับบริษัทปัญจพล พัลพ์อินดัสตรี้ และบริษัทปัญจพลเปเปอร์ อินดัสตรี้ ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้ เป็นบริษัทใหม่ในเครือปัญจพลที่เพิ่งจะตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนแห่งละ 300 ล้านบาท

ปัญจพลพัลพ์ อินดัสตรี้ เป็นบริษัทผลิตเยื่อกระดาษแบบฟอกไม่ขาว ทั้งชนิดใยยาว จึงใช้ชิ้นไม้สับที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศเป็นวัตถุดิบ และชนิดใยสั้นที่ใช้ไม้ไผ่และยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบ มีกำลังผลิตวันละ 250 ตันต่อวันหรือ 90,000 ตันต่อปีสูสีใกล้เคียงกับโรงงานที่น้ำพองของฟินิกซ์ พัลพ์แอนด์เพเพอร์ที่เป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้

เยื่อกระดาษที่ผลิตโดยโรงงานนี้ และเศษกระดาษเก่า จะเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตกระดาษคราฟท์ของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ ซึ่งวางแผนจะผลิตออกมาวันละ 840 ตันหรือปีละ 270,000 ตันกระดาษคราฟท์ที่ได้จะป้อนให้ปัญจพล ไฟเบอร์ คอมเทนเนอร์สำหรับผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก

ปัญจพลนั้นมีโรงงานผลิตกระดาษคราฟท์อยู่แล้วที่สมุทรสาคร ซึ่งมีกำลังการผลิตปีละ 280,000 ตัน การตั้งโรงงานใหม่ขึ้นก็เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อส่งไปขายยังต่าประเทศส่วนหนึ่งด้วย

ทั้งสองโรงงานตั้งอยู่ที่อยุธยาและจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2535 ซึ่งจะทำให้ปัญจพล ไฟเบอร์สร้างเครือข่ายการผลิตที่ครบวงจรได้ตั้งแต่การผลิตเยื่อกระดาษ การผลิตกระดาษคราฟท์ และการทำกล่องกระดาษลูกฟูก ทั้งยังอยู่ในระหว่างการตระเตรียมโครงการปลูกป่ายูคาลิปตัสเพื่อป้อนให้กับโรงงานเยื่อกระดาษด้วย

เรื่องที่ได้รับความสนอกสนใจเป็นพิเศษในวันนั้น เป็นเรื่องของแหล่งเงินทุนที่ทำให้โครงการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษคราฟท์เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

"การกู้เงินครั้งนี้เป็น SYNDICATION ที่มีจำนวนเงินมากที่สุดเท่าเคยทำกันมาในภาคเอกชน มีเงินให้เปล่ามากที่สุดและดอกเบี้ยถูกที่สุดด้วย" กรรณิการ์ เลิศขันติธรรม ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีของปัญจพล ไฟเบอร์เปิดเผยถึงจุดเด่นในการกู้เงินครั้งนี้

วงเงินกู้ที่มีการเซ็นสัญญากันในวันนั้นคือ 5,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินลงทุนของทั้งสองโครงการ โครงการผลิตเยื่อกระดาษของปัญจพล พัลพ์อินดัสตรี้ ใช้เงินลงทุน 2,902 ล้านบาท ส่วนโครงการผลิตกระดาษคราฟท์ของปัญจพลเปเปอร์อินดัสตรี้ใช้เงิน 2,400 ล้านบาท ซึ่งรวมเอาเงินสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าไอน้ำแรดงันสูงมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโครงการและใช้ไอน้ำจากโรงไฟฟ้านี้ในการทำเยี่อกระดาษและอบกระดาษคราฟท์ให้แห้งด้วย

แหล่งเงินกู้ใหญ่มาจากสามแหล่งด้วยกันคือ EXIM BANK ของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลแคนาดาซึ่งปล่อยเงินผ่าน EXPORT DEVELOPMENT CORPORATION หรือ EDC ที่เป็นรายเดียวกับที่ให้เงินกู้กับกลุ่มลาวาลินในโครงการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และธนาคารไทย 5 แห่งที่เข้าร่วมลงนามในวันนั้น

EXIM BANK ให้เงินกู้จำนวน 62 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,581 ล้านบาท สำหรับซื้อเครื่องจักรในโครงการผลิตชำระคืน 15 ปีในอัตราดอกเบี้ย 7.4 เปอร์เซ็นต์

จำนวนเงิน 62 ล้านเหรียญสหรัฐนี้เป็นเงินให้เปล่า 40% หรือ 633 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินเปล่าที่รัฐบาลสหรัฐฯให้กับรัฐบาลไทยจัดสรรเองตามนโยบายสนับสนุนการส่งออก

"ดร.สุพจน์ เป็นคนไปติดต่อกับทางสหรัฐฯก่อน ซึ่งพอดีทาง EXIM BANK มีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อสำหรับการส่งออกอยู่แล้ว" แหล่งข่าวซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารไทยที่ให้กู้เปิดเผย

ดร.สุพจน์ คนนี้ก็คือ สุพจน์ เตชะวิบูลย์ เสี่ยคนสุดท้องในบรรดาห้าเสี่ยของเตชะวิบูลย์ผู้มีดีกรีการศึกษาในระดับปริญญาเอกวิศวอุตสาหกรรมทางด้านป่าไม้จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และเป็นรองกรรมการผู้จัดการของสองบริษัทใหม่ช่วยเหลือพี่ชาย "ซาเสี่ย" สุรพงษ์ เตชะวิบูลย์ กรรมการผูจัดการบริหารงานการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษคราฟท์

นอกเหนือไปจากความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ จนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการปลูกป่าเพื่อป้อนโรงงานเยื่อกระดาษ แล้วสุพจน์คนนี้ยังเป็นมือหนึ่งทางด้านกาเรงินของกลุ่มปัญจพลด้วย

EXIM BANK ปล่อยเงินจำนวนนี้ผ่านกระทรวงการคลังซึ่งใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นกลไกผ่านเงินไปยังกลุ่มปัญจพลอีกทีหนึ่ง โดยที่กรุงไทยก็เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ 62 ล้านเหรียญนี้ด้วย

สำหรับเงินจากแคนาดานั้นมีจำนวน 78 ล้านเหรียญแคนาดาหรือประมาณ 1,794 ล้านบาทดอกเบี้ย 8.3% มีกำหนดชำระคืน 20 ปี โดยเริ่มชำระตั้งแต่ปีที่ 11-20 ระยะเวลาปลอดหนี้ 3 ปี 35 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้นี้คือประมาณ 600 ล้านบาทเป็นเงินกู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ย

เงิน 600 ล้านบาทที่ต้นทุนเท่ากับศูนย์กับระยะเวลา 10 ปีที่ยังไม่ต้องชำระคืน บวกกับเงินส่วนที่นอนอยู่เฉย ๆ หลังหักส่วนที่ต้องคืนในระหว่างปีที่ 11-20แล้ว เป็นโจทก์ที่เชื่อกันวาคนอย่างสุพจน์ที่ว่ากันว่าช่ำชองในการทำให้เงินที่มีอยู่ในกระเป๋าออกดอกออกผลไม่แพ้ความเชี่ยวชาญในการปลูกป่า คงจะมีวิธีหาคำตอบที่จะทำให้เงิน 600 ล้านบาทนี้มีค่าเสมือนหนึ่งเงินได้เปล่าเป็นแน่

เงินกู้จาก EDC นี้เป็นเงินสำหรับซื้อเครื่องจักรในโครงการผลิตเยื่อกระดาษ การติดต่อทาบทามแหล่งเงินกู้รายนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่ทาง EDC ตกลงปล่อยเงินให้ทางกลุ่มปัญจพลเรียบร้อยแล้ว ทาแคนาดารู้เรื่องก็เลยติดต่อโดยตรงมาที่กลุ่มปัญจพล

แน่นอนว่า ประโยชน์และความเป็นไปได้ของโครงการผลิตเยื่อกระดาษเป็นแรงจูงใจให้ EDC เข้ามาสนับสนุนทางด้านการเงิน แต่แรงผลักดันที่สำคัญอีกประการหนึ่งแยกไม่ออกจากความพยายาม เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแคนาดา โดยใช้ EDC เป็นกลไกสำคัญตัวหนึ่ง

เงื่อนไขข้อหนึ่งของ EDC สำหรับการให้กู้เงินครั้งนี้คือต้องให้รัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกัน แต่เนื่องจากเป็นการปล่อยกู้ให้เอกชน รัฐบาลจึงไม่สามารถค้ำประกันให้ได้ EDC เลยเปลี่ยนเงื่อนไขให้กลุ่มปัญจพลมหาธนาคารระหว่างประเทศชั้นนำมาเป็นผู้ค้ำประกันแทน

โดยลำพังกลุ่มปัญจพลเองไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปหาธนาคารที่มีคุณสมบัติที่ว่ามาค้ำประกันได้ ณรงค์ ศรีสอ้าน กรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสธนาคารกสิกรไทยคือผู้มีส่วนสำคัญในการจัดการเรื่องนี้

กสิกรไทยในตอนแรกนั้นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็เพราะรู้ว่าธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ค้ำประกันปัญจพลให้กับ EXIM BANK เลยติดต่อขอเข้าไปร่วมค้ำประกันด้วย พอปัญจพลต้องการผู้ค้ำประกันอีกรายหนึ่งสำหรับเงินกู้จาก EDC ณรงค์ก็เลยอาสาหาให้

ผู้ค้ำประกันเงินกู้ EDC ที่ณรงค์ติดต่อเจรจามาได้สำเร็จก็คือ ธนาคารไดอิชิ คังโย ธนาคารญี่ปุ่นที่มีสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แนบแน่นกับกสิกรไทยมาเป็นเวลานานแล้ว และธนาคารกสิกรไทยก็เป็นคนค้ำประกันปัญจพลให้กับไดอิชิคังโยอีกทีหนึ่ง หลังจากั้นแล้วรรงค์ก็ขยายบทบาทของกิสิกรไทยขึ้นเป็น INVESTMENT BANKER ให้กับโครงการเยื่อกระดาษและกระดาษคราฟท์อย่างเต็มตัวในบทบาทของผู้ประสานงานและผู้จัดการหาเงินกู้สำหรับโครงการ

เงินกู้ที่เป็นเงินบาทของสองโครงการนี้มีเพียง 1909 ล้านบาทเท่านั้น โดยกสิกรไทยและกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้ในสัดส่วนแบงก์ละ 35% ที่เหลืออีก 30% แบ่งเท่า ๆ กันระหวางทหารไทย ศรีนคร่และธนาคารนครหลวงไทย

1,144 ล้านบาทเป็นเงินสำหรับก่อสร้างโรงงานที่อยุธยาอีก 765 ล้านบาทใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานเมื่อโรงงานเสร็จแล้ว โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราโพร์มเรท

แหล่งเงินกู้ที่มีความเป็นไปได้อีกรายหนึ่งคือ LENDER BANK ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาลออสเตรียที่ให้เงินกู้ 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้การผลิตกระแสไฟฟ้า

"ตอนนี้ยังเป็นเพียง OPTION หนึ่งเท่านั้น" กรรณิการ์ เปิดเผยเพราะขึ้นอยู่กับทางกลุ่มปัญจพลว่าจะซื้อเครื่องจักรจากซัพพลายเออร์ประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้มีการเสนอเข้ามาหลายรายด้วยกัน

รวมระยะเวลาในการติดต่อเจรจาหาแหล่งเงินกู้ครั้งนี้เป็นเวลาหนึ่งปีเศษ ๆ นับเป็นความสำเร็จของปัญจพลที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เทียบกันกับการตั้งโรงงานเยื่อกระดาษของฟินิคซ์พัลพ์เมื่อสิบปีที่แล้วที่กว่าจะวิ่งเต้นหาผู้สนับสนุนทางการเงินได้ ผู้ก่อตั้งก็เกือบจะเลิกล้มความตั้งใจแล้ว โครงการของปัญจพลเริ่มต้นด้วยความราบรื่นสดใสกว่าอย่างมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.