สานไหมไทย...จากกี่ชาวบ้านสู่อาภรณ์เจ้า

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

หากจะพูดถึงร้านขายผ้าไหมไทยสักแห่ง หนุ่มสาวยุคใหม่ส่วนใหญ่คงนึกออกแต่ชื่อ "จิมทอมป์สัน" แต่ถ้าลองถามดูกับเหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองวัย 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงสังคมชั้นสูง อีกหนึ่งชื่อที่น่าจะถูกเอ่ยขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน นั่นก็คือ "พันธุ์ทิพไหมไทย" ร้านผ้าไหมเล็กๆ ที่ยังอยู่ยั้งมานานจนครึ่งศตวรรษ...ได้อย่างไร?

ร้านกระจกสองคูหาริมถนนพระสุเมรุ ดูธรรมดาๆ แค่เพียงภายนอก ทว่าภายในร้าน "พันธุ์ทิพไหมไทย" แห่งนี้ กลับดูโดดเด่นและหรูหราด้วยแพรพรรณไหมไทยวับวาวหลากสีสันหลายรูปแบบและลวดลาย

ตั้งแต่อดีตกาล ผ้าไหมถือเป็นสินค้าราคาแพงประดุจทองคำก็ไม่ปาน พ่อค้าบางรายใช้ผ้าไหมสูงค่าเป็นเครื่องบรรณาการให้กับเจ้านายชั้นสูง ขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์ในหลายยุคสมัยก็ใช้ผ้าไหมอย่างดีเป็นบำเหน็จรางวัลแก่ข้าราชบริพาร

ส่วนไหมทองยกดอกผืนที่ประณีตและงดงามที่สุดจะถูกนำไปแปรเปลี่ยนเป็นฉลองพระองค์อันแสนวิจิตรด้วยช่างฝีมือชั้นครู

ในอดีต ผ้าไหมสำหรับคนอีสานไม่เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่ยังเป็นผ้าที่ใช้เป็นเครื่องแต่งกายในงานพิธีกรรมและงานมงคลสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงความรักความศรัทธาที่มีต่อกัน

พับผ้าไหมนับแสนๆ หลา วางเรียงรายเล่นสีอยู่บนชั้น บางผืนถูกแขวนโชว์ราวกับเป็นผลงานศิลปะ ภายในร้านมีทั้งผ้าไหมสีโทนร้อนและเย็น มีทั้งไหมพื้นและมีลาย มีทั้งไหมปักและพิมพ์ลายฯลฯ ทุกผืนดูงดงาม ยิ่งบวกกับศิลปะการทอผ้าของคนไทยที่แฝงอยู่ในทุกลวดลายและโครงสร้างของเส้นไหม ก็ยิ่งทำให้แพรไหมทุกผืนมีมนต์เสน่ห์ต้องใจลูกค้าทุกชนชาติ สมกับที่ทั่วโลกยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งสิ่งทอ"

ขณะที่เส้นไหมไทยก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น "ราชินีแห่งเส้นใย" ด้วยเป็นใยธรรมชาติที่แข็งแรง มีความมันวาว ดูเงางาม สวยสง่าต่างจากเส้นใยชนิดอื่น

ร้านพันธุ์ทิพไหมไทยมีผ้าไหมทอมือหลายรูปแบบและหลากลวดลายให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าพื้น ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าขิต ผ้าพิมพ์ลาย ผ้าปักลาย ผ้ายก ผ้าจก ผ้าบาติก ผ้าลายน้ำไหลและผ้าลายล้วงฯลฯ

ลวดลายของผ้าไหมถือเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความหลากหลายและงดงามแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยที่ผ้าไหมไทยจะมีลักษณะของลวดลายสมบูรณ์แบบได้นั้นต้องอาศัยการค้นคว้าและฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ อีกทั้งยังต้องอาศัยความรักและหวงแหนในการสืบทอดและสานต่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ผ้าไหมทอมือจึงถือเป็นศิลปะพื้นเมืองที่แสดงถึงภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน

ตัวอย่างผ้าไหมแพรวาที่ขึ้นชื่อต้องมาจากชาวภูไทในกาฬสินธุ์ ผ้าไหมมัดหมี่คุณภาพดีต้องมาจากสุรินทร์และขอนแก่น ส่วนผ้าไหมยกที่มีชื่อเสียงก็ต้อง "ผ้ายกเมืองนคร" จากเมืองนครศรีธรรมราช "ผ้ายกพุมเรียง" ของชาวสุราษฎร์ธานี และ "ผ้ายกตานี" แห่งเมืองปัตตานี เป็นต้น

"ที่นี่ เราไม่ได้ทอผ้าเอง เพียงแต่เราไปดูว่าว่าแต่ละแห่ง ชาวบ้านชำนาญทอผ้าลายอะไรรูปแบบไหน แล้วก็เลือกรายที่มีฝีมือและทอไหมได้คุณภาพดีมาเป็นผู้ผลิตให้กับเรา ซึ่งเราจะพิถีพิถันกับตรงนี้มาก เพราะถือว่าผ้าไหมเป็นงานศิลปะที่ต้องอาศัยฝีมือ" วรรณดี เกยุราพันธุ์ เจ้าของร้านรุ่นสองกล่าว
วรรณดีเป็นสะใภ้ของผู้ก่อตั้งร้านแห่งนี้คือ "สมวงษ์ เกยุราพันธุ์" ส่วนสมวงษ์เองก็เป็นสะใภ้ของ "คุณย่าสายทอง" ชาวโคราชผู้เป็นเจ้าของร้านขายผ้าไหมคนสำคัญรายหนึ่งของจังหวัด และเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับ "จิม ทอมป์สัน" ในยุคบุกเบิกกิจการผ้าไหมของ มร.จิม เมื่อหลายสิบปีก่อน

ด้วยเป็นหลานคนแรกของครอบครัวที่มีฐานะดี สมวงษ์มีโอกาสได้ใช้ข้าวของทันสมัยที่นำเข้าจากต่างประเทศ และคลุกคลีอยู่กับของสวยงามที่เป็น "ของดี" มาตลอด กระทั่งแต่งงานก็ยังมาคลุกคลีกับแพรพรรณที่งดงามอย่างไหมไทย และเธอก็ได้เรียนรู้เรื่องการเลือกซื้อผ้าไหมชั้นดีจากคุณย่าสายทอง

จากโคราช สมวงษ์ขนผ้าไหมใส่รถทัวร์เข้ามาขายที่กรุงเทพฯ เริ่มต้นที่เปิดร้านเล็กๆ คูหาเดียวบนที่ดินของญาติแถวโรงเรียนสตรีวิทยา ในปี พ.ศ. 2502 จากนั้นจึงมามีร้านของตัวเอง ณ ทำเลปัจจุบันราว 30 ปีก่อน

ไม่ว่าจะเป็นด้วยความโชคดี หรือวิสัยทัศน์ยาวไกลของสมวงษ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นจังหวะอันดีมากเพราะหลังจากเปิดร้านพันธุ์ทิพไหมไทยเพียงปีเดียว รัฐบาลขณะนั้นก็ประกาศใช้ "นโยบายชาตินิยม" ซึ่งหัวข้อหนึ่งคือการรณรงค์คนไทยใช้ผ้าไทยและใส่ชุดไทย

"เริ่มต้นจากลูกค้าที่เป็นคุณหญิงคุณนาย ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ข้าราชบริพารฝ่ายใน และคณะทูตานุทูต จากนั้นก็ขายกันแบบปากต่อปากมาเรื่อย" วรรณดีเล่าไปพลางก็ขอตัวไปรับรองลูกค้าประจำที่มาจากราชสกุล "กิติยากร" ไปพลาง

อาศัยเครือข่ายความรู้จักของผู้เป็นน้า "คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร" และมีประชาสัมพันธ์ของร้านเป็น "คุณหญิงน้า" ประกอบกับได้รับเชิญไปออกร้านขายผ้าไหมตามงานของเหล่า "ไฮโซ" เป็นประจำ เช่น งานชุมนุมของเหล่าภริยาทูตานุทูตนานาประเทศ, งานประจำปีของโรงเรียนการเรือน และงานกาชาด เป็นต้น

นับแต่เริ่มเปิดร้าน ลูกค้าขาประจำจึงล้วนแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เป็นผู้คนในสังคมชั้นสูง ชนชั้นเจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนชนชั้นสูงจากต่างประเทศ อาทิ เจ้าชายเบิร์นฮาทแห่งเนเธอร์แลนด์, ภริยาของประธานาธิบดีแห่งสิงคโปร์, เจ้าหญิงโมนิคแห่งกัมพูชา และภริยาของนายพลเตียบัน เป็นต้น

เป็นเวลาร่วม 20 ปี ที่วรรณดีรับภาระสานต่อกิจการร้านผ้าไหมต่อจากสมวงษ์ แม้จะไม่ได้จบทางด้านศิลปะ แต่ประสบการณ์สมัยเป็นลูกมือช่วยแม่สามี ผสมกับความชอบแต่งตัวและความคุ้นเคยกับ "ของสวยของดี" มาตลอด เมื่อบวกกับวิชาบริหารที่เธอเรียนมา ก็ทำให้เธอดูแลธุรกิจไหมไทยได้ดี ไม่แพ้รุ่นแรก

"ถ้าจะรักษามาตรฐานของร้านแบบรุ่นแม่ไปเรื่อยๆ เราก็ต้องเลือกมาแต่ผ้าไหมสวยๆ คัดแต่คุณภาพดีๆมาไว้ในร้าน ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาไปด้วย อย่างยุคแรกมีแต่ผ้าไหมแบบเดิมๆ กับผ้าพื้นเป็นส่วนใหญ่ เราก็ต้องไปหาลวดลายมาเพิ่ม หรือเวลาเราไปเห็นเทรนด์อะไรแปลกใหม่กับผ้าไหมในต่างประเทศ เราก็ต้องกลับมาคิดว่าไหมไทยจะทำอะไรให้พัฒนาไปได้อีก" วรรณดีเล่าถึงการปฏิวัติเล็กๆ ในยุคของเธอ

ผ้าไหมพื้นสีเขียวอมเทาถูกนำมาปักด้วยลายผีเสื้อและดอกไม้ ขณะที่ผ้าไหมพื้นสีตะกั่วปักด้วยลายดูคล้ายดอกหญ้าชูช่อมาจากปลายซิ่น เหล่านี้เป็นดีไซน์ที่วรรณดีออกแบบหรือเลือกมาประดับเป็นลายบนผืนผ้าไหม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าพื้นที่สนนราคาเพียงหลาละไม่กี่ร้อยบาทให้ถีบตัวไปถึงหลักพัน และก็ยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับผ้าไหมในร้านอีกด้วย

วรรณดีโชว์ผ้าปักยาว 40 เมตร ที่ใช้ช่างปักมือชั้นเซียนร่วม 10 คน รังสรรค์ขึ้นมา เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าต่างชาติซึ่งจองไว้ไปทำผ้าม่านตกแต่งห้องชุดสุดหรูในต่างประเทศ

อีกทั้งผ้าไหมบาติกที่ต้องเฟ้นหาช่างบาติกฝีมือดีที่เขียนลายลงเส้นและลงสีได้อย่างสวยงาม โดยเธอยังได้โน้มน้าวช่างให้เปลี่ยนจากรูปดอกกล้วยไม้สีสันแสบสดที่ราวกับขนบของบาติก มาเป็นโทนสีที่ดูเหมาะสมกับรสนิยมของร้าน พร้อมกับใช้ดอกไม้หายากกว่า เช่น รองเท้านารี มาเพิ่มคุณค่าให้สมกับประดับบนผืนแพรไหม

ความยากในช่วงแรกของร้านพันธุ์ทิพไหมไทย ไม่ได้อยู่แค่เพียงการเลือกช่างทอฝีมือชั้นครู แต่ยังอยู่ที่การชวนเชื่อให้ชาวบ้านยอมเปลี่ยนรสนิยมและความชื่นชอบสีแบบเดิม ซึ่งส่วนมากเป็นสีสันจัดจ้าน และนิยมผสมสีขั้วตรงข้ามเพื่อความสนุก ให้กลับมาใช้โทนสีที่นุ่มลง และคุมโทนสีให้ดูกลมกลืนกัน ตามเทรนด์แฟชั่นสากลและเหมาะกับสไตล์ของคนเมือง

"เรื่องการทอเราก็ต้องปล่อยให้เขาทำไป เพราะเรารู้ว่าเขาเก่งและชำนาญตรงนี้ เพียงแต่เราไปขอให้เขาปรับเปลี่ยนบางอย่างให้มันดูทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสี เพราะเรารู้ว่าลูกค้าของเราชอบโทนสีแนวไหน ช่วงแรกชาวบ้านที่เป็นช่างทอหลายคนมองว่าไม่สวยก็ไม่อยากทอ นานกว่าจะเสร็จ เพราะเขาไม่ชอบและไม่เชื่อว่าจะขายได้ เราก็ต้องไปรับรองกับเขาว่าขายได้ บางทีก็ต้องให้เงินเขาไปก่อนด้วยซ้ำ" วรรณดีเล่า

ในยุค OTOP ระบาด พิษของนโยบายนี้ส่งผลต่อวรรณดีทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อผ้าไหมถูกเร่งผลิตจนซัปพลายออกมากองราวกับสินค้าอุตสาหกรรม คุณค่าของความเป็นงานหัตถกรรมจึงลดลง ราคาก็ถูกกดให้ต่ำ เมื่อราคาต่ำ ชาวบ้านก็ลดต้นทุนและคุณภาพด้วยการใช้เส้นไหมเทียมมาผสม แล้วก็เสนอขายในราคาถูก

กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ไหมไทยแท้ ก็เมื่อได้ใช้และรู้สึกไม่ดี ไม่ประทับใจกับผ้าไหมไทยไปเสียแล้วโดยเฉพาะลูกค้าที่เพิ่งเคยใช้เป็นครั้งแรก

"ผ้าไหมคุณภาพต่ำเหล่านี้ ไม่เพียงสร้างรสนิยมที่ไม่ดีให้กับผู้ใช้ ยังกระทบเวลาที่ไปหาช่างทอ พอเราจู้จี้เรื่องคุณภาพหน่อย เขาก็ไม่พอใจเพราะเคยชินกับการทอแบบส่งๆ ไม่พิถีพิถัน เราเห็นผ้าไหมที่ทอชุ่ยๆ แล้วก็รู้สึกเสียดายเส้นไหม พอหมดยุคนั้น กว่าจะพัฒนาให้กลับมาสวยแบบเดิมได้ กว่าจะฟื้นฟูภาพพจน์ไหมไทยได้ มันต้องใช้เวลาและใช้พลังไม่น้อย" เธอห่วงใย

ขณะที่ร้านกำลังจะครบ 50 ปีในปีหน้า อีกปัญหาที่วรรณดีต้องเผชิญเรื่อยๆ ก็คือช่างทอฝีมือดีที่คุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยสมวงษ์เริ่มล้มหายตายไป แต่หลายบ้านลูกหลานกลับหนีไปเป็นสาวโรงงานแทนที่จะสืบสานความเป็นช่างทอฝีมือดีต่อจากแม่หรือยาย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอผ้าไหมหลายอย่างที่ตกทอดจากรุ่นบรรพบุรุษจึงตกหล่นหายไประหว่างกงล้อเวลาอย่างน่าเสียดาย

ผ้าไหมแต่ละผืนต้องใช้เวลาทอนานหลายเดือน ผ้าแพรวาหรือผ้ามัดหมี่อย่างดีบางผืนอาจต้องใช้เวลานานเป็นปี ความลำบากอีกประการของการขายผ้าไหมจึงอยู่ที่คาดการณ์เทรนด์สีผ้าไหมล่วงหน้าและผลิตให้เสร็จทันกระแสความนิยม

ข้อมูลเทรนด์ของวรรณดี ส่วนหนึ่งมาจากการถามหาและความนิยมของลูกค้า จากเทรนด์แฟชั่นที่กำลังมา และบ่อยครั้งก็มาจากปฏิทินงานที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์

เช่นปีที่แล้วที่คนไทยนิยมใส่เสื้อเหลืองเพื่อฉลองครบรอบ 80 ปีของในหลวง วรรณดีต้องสั่งทอผ้าไหมสีเหลืองหลายโทนไว้ล่วงหน้าร่วมปี หรือผ้าไหมสีดำสำหรับงานพระราชทานเพลิงศพพระพี่นางฯ เมื่อกลางเดือนที่แล้ว เธอก็ต้องสั่งล่วงหน้านานหลายเดือน เป็นต้น

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าความนิยมผ้าไหมไทยของสังคมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันก็ยังคงเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์อยู่อย่างเหนียวแน่น แม้แต่วัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไหมไทยและการทอผ้าไหมในยุคแรกเริ่มก็ได้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

ในอดีตไหมไทยยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก แม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่นิยมนำผ้าไหมไทยมาตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะผ้าไหมถูกตีกรอบว่าเหมาะกับผู้ใหญ่เท่านั้น จนกระทั่งจิม ทอมป์สันก่อตั้งกิจการค้าผ้าไหมไทยจนเป็นที่รู้จักของโลกภายนอกและคนไทยรุ่นใหม่

ขณะที่ปี พ.ศ.2505 บรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลก 2 พันคนได้ออกเสียงเลือกสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเป็นสตรีที่ทรงแต่งพระองค์งามที่สุดในโลกผู้หนึ่งในจำนวนสุภาพสตรีของโลกทั้ง 10 คน ถือเป็นปีที่สองต่อจากปี พ.ศ.2503 โดยฉลองพระองค์ส่วนใหญ่เป็นผ้าไหมไทยที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับการแต่งกายทั้งแบบไทยและแบบสากล

กลางปี พ.ศ.2519 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงจัดตั้งหน่วยงานด้านผ้าไหมเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษขึ้น เพื่อทำนุบำรุงรักษาผ้าไหมไทยและภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยให้เป็นมรดกและเอกลักษณ์ของชาติต่อไป โดยเฉพาะการอนุรักษ์ลายผ้าโบราณ

ชาวบ้านที่เป็นช่างทอผ้าไหมไทยฝีมือดีของศูนย์ศิลปาชีพฯ เคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ถ้าไม่มีพระองค์ท่านทรงช่วยฟื้นฟู บางทีพวกเขาเองก็คงไม่เคยเล็งเห็นความสำคัญของสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ใกล้ตัวอย่างผ้าไหมก็เป็นได้

"ร้านนี้ได้อานิสงส์ไปด้วยทุกครั้ง พอศูนย์ศิลปาชีพฯ จุดประกายให้คนรู้จักผ้าไหมไทย ก็มีลูกค้ามาซื้อผ้าไหมทางร้านเราเยอะขึ้น พอมีงานพระราชพิธีก็มีคนมาซื้อผ้าที่ร้านมากขึ้น พวกเราจึงรักและผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาก เพราะถือว่าราชวงศ์มีบุญคุณกับเรา การที่เราขายของสูงค่า ของที่มีคุณค่า และเป็นของที่ราชวงศ์ใช้กัน เราก็ยิ่งต้องรักษาคุณภาพผ้าให้ดีที่สุด"

เมื่อเบื้องบนเป็นตัวอย่าง รัฐบาลในหลายยุคสมัยจึงมีนโยบายรณรงค์ให้ข้าราชการและคนไทยใส่ชุดไทยและใช้ผ้าไทย เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ ก็เป็นโชคดีของผ้าไหมไทยที่มักจะได้ "พรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์" เป็นถึงเจ้านายในสถาบันสูงสุดและชนชั้นผู้นำประเทศ

จากระยะแรกที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงหรือข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งต้องใช้ผ้าไหมเพื่อตัดชุดไทยโบราณและชุดพิธีการสำคัญ ในยุคหลังเริ่มมีคนรุ่นใหม่หันมาใช้ผ้าไหมมากขึ้น เพราะผ้าไหมเริ่มมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกมากขึ้นและทันสมัยขึ้น เริ่มจากใช้ในงานแต่งงาน ใช้ตัดชุดทำงานที่ต้องการความคลาสสิก และชุดราตรีที่ดูหรูหราแต่ไม่แก่เกินไปนัก

"ที่คนรุ่นใหม่ไม่กล้าใช้ผ้าไหมเพราะกลัวแก่ เราต้องคอยแนะนำว่าผ้าแบบไหนเหมาะจะตัดชุดสไตล์ไหน บางทีก็แนะนำร้านตัดชุดผ้าไหมที่เราไว้ใจไปให้ด้วย เพราะอยากให้ผ้าไหมสวย จะสวยที่สุดบนตัวลูกค้า เมื่อลูกค้าใส่สวยก็จะกลายเป็นความทรงจำที่ดีต่อผ้าไหมไทย"

แม้จะเคยมีลูกค้ายุให้เปิดบริการตัดเสื้อให้ครบวงจร แต่วรรณดีตระหนักดีถึงขีดจำกัดของตัวเอง ว่าเธอไม่มีความถนัดเรื่องการตัดเย็บ เธอจึงอาศัยไหว้วานเครือข่ายที่เป็นห้องเสื้อที่มีความชำนาญในการตัดชุดผ้าไหมที่เธอเชื่อมั่น แล้วส่งต่อลูกค้าไปให้กับห้องเสื้อเหล่านั้น

บ่อยครั้งที่ผ้าที่ลูกค้าเล็งไว้เป็นลายที่แพงที่สุดของร้าน ราว 2.5 หมื่นบาทต่อหลา แต่วรรณดีกลับแนะนำผ้าไหมผืนที่ถูกที่สุดเพียงหลาละ 490 บาท เพราะเธอพิจารณาจากความเหมาะสม ความสวยงาม และความจำเป็นของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่สักแต่ขาย

"มันก็คงคล้ายกับเพชรพลอย เพราะการขายของสวยงามราคาไม่ถูก ก็ต้องอาศัยความเชื่อใจและเชื่อถือกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันคือขายผ้าไหมอาจไม่รวยเหมือนขายเพชรพลอย แต่ก็มีคุณค่าและมีความสุข ยิ่งเวลาที่มีคนมาบอกว่าผ้าของเราสวย หรือลูกค้ามาเล่าว่าใส่ผ้าของเราแล้วมีคนชม แค่นี้เราก็มีความสุขกับอาชีพของเรา" วรรณดีกล่าวพร้อมรอยยิ้มพิมพ์ใจ

ถึงจะไม่ยอมบอกตรงๆ ว่าวรรณดีขายผ้าไหมได้มากน้อยเท่าไรใน 1 วัน แต่เพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมง "ผู้จัดการฯ" ก็เห็นว่าเธอน่าจะขายผ้าได้แล้วไม่ต่ำกว่า 5 หลา เธอเล่าเพียงว่าไม่เคยมีวันไหนที่ขายผ้าไม่ได้ แม้แต่วันปฏิวัติรัฐประหารก็ยังมีลูกค้ามาซื้อ 1 ราย หรือวันอาทิตย์ที่ร้านปิดก็ยังมีลูกค้า "ไฮโซ" มาเคาะประตูขอซื้อผ้าของที่ร้านอยู่เป็นประจำ

ในวัยไล่เลี่ยกับอายุของร้าน ความคาดหวังสูงสุดของวรรณดี ณ วันนี้ เธอต้องการแค่ทุกครั้งที่ลูกค้านึกถึงผ้าไหม แล้วนึกถึงร้านพันธุ์ทิพไหมไทยของเธอ และทุกครั้งที่ลูกค้าเข้ามาในร้านแล้วออกไปอย่างมีความสุขที่ได้ผ้าไหมไทยที่มีคุณภาพกลับไปใช้

พร้อมกับความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับสถาบันชั้นสูง ในการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยที่เป็นศิลปะสูงค่าและเป็นเอกลักษณ์ของไทยให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดินต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.