ตามหาอัตลักษณ์บนโลกไซเบอร์

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เคยนั่งคิดกันไหมครับว่า เรากำลังเดินหน้าไปสู่อนาคตแบบไหนกัน

ในฉบับเดือนสุดท้ายของปีนี้ ผมขอนำท่านไปสู่โลกอนาคตอันใกล้ ที่เทคโนโลยีที่ทันสมัยกำลังจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปในแบบที่เราอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อน

เราอาจจะกล่าวได้ว่า พวกเราทุกคนกำลังเดินหน้าไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ส่วนตัว หรือที่ฝรั่งเรียกว่า individual identity

ปัจจุบันและที่กำลังเดินหน้าไปสู่อนาคตนั้น มีสามสิ่งที่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ Information Technology หรือไอที, นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) และ ไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) และถือเป็นสามสิ่งที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการสร้างอัตลักษณ์ส่วนตัวให้เกิดขึ้น

สำหรับบทความนี้ จะกล่าวเน้นหนักไปที่ส่วนของไอทีเป็นหลัก สำหรับนาโนเทคโนโลยีและไบโอเทคโนโลยีนั้น ผมคงยกให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะดีกว่า

ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของไซเบอร์ หรือโลกที่เต็มไปด้วยไอทีล้อมรอบตัวมากมาย เทคโนโลยีเหล่านั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเครื่องมือที่มีหน้าจอแสดงผล ไม่ว่าจะเป็น มือถือ, โน้ตบุ้คคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งไอพ็อด โทรทัศน์ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีไซเบอร์นั้น เพียงแต่ทุกวันนี้เรากำลังก้าวไปสู่โลกของโทรทัศน์แบบอินเตอร์แอ็คทีพ ที่ทำให้เราสามารถสื่อสารสองทางผ่านโทรทัศน์นี้ได้

เทคโนโลยีหน้าจอไซเบอร์นี้ทำให้เราสามารถเข้ามามีส่วนในโลกผ่านหน้าจอและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งมากและน้อยได้

สมัยก่อนผู้สนับสนุนรายการหรือสปอนเซอร์จะมีบทบาทผ่านการสนับสนุนรายการละครน้ำเน่าต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการพยายามเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน ปัจจุบัน เรียลลิตี้ทีวีถือเป็นก้าวสำคัญในบทบาทนี้ โดยอาศัยพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติของคนจริง ๆ มิใช่ผ่านนักแสดง ซึ่งทำให้สิ่งที่แสดงออกทางหน้าจอมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าการเป็นละครน้ำเน่าสมัยก่อน

แต่โลกไซเบอร์ก็ได้นำเสนอขั้นสูงสุดของการใช้ชีวิตประจำวันของเราด้วย Second Life ถ้าใครเคยเล่น Second Life จะรู้ว่า นี่ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์ แต่เป็นการสร้างโลกใหม่ โลกเสมือนที่ซ้อนทับโลกที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ โดยเป็นโลกที่แยกออกจากโลกปัจจุบันที่เราอยู่อย่างสมบูรณ์ และสามารถเติบโตเดินทางไปสู่อนาคตของตัวมันเองได้ คุณอาจจะสามารถทำอะไรต่าง ๆ มากมายที่คุณทำไม่ได้หรือไม่มีโอกาสทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่นเดียวกับที่คุณอาจจะโดนอิทธิพลหลาย ๆ อย่างที่หาในชีวิตจริงไม่ได้เช่นกัน

สิ่งที่มีอิทธิพลการการดำเนินชีวิตของเราตลอดมาอาจจะกล่าวได้ว่ามีสองอย่าง คือ เวลา และ สถานที่ ซึ่งเวลาและสถานที่นี้มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ทุกผู้คนอย่างหลีกหนีไม่พ้น เวลาและสถานที่ได้สร้างความเป็นปัจเจกชนขึ้นมา การที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมจึงต้องเลือกใช้พฤติกรรมให้เหมาะกับเวลาและสถานที่ที่เป็นเงื่อนไขบังคับ แต่เวลาและสถานที่ก็ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ให้เราสามารถสร้างความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาได้

ซึ่งเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ เหล่านี้กำลังส่งผลทำให้การสร้างความเป็นอัตลักษณ์มีพลังมากขึ้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานั้น ไม่มีใครตั้งคำถามว่าความสามารถในการบันทึกรายการโทรทัศน์ด้วยเครื่องบันทึกวีดีโอหรือปัจจุบันสามารถบันทึกลงซีดีหรือดีวีดีได้แล้วนั้น รวมถึงการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามาแต่ไม่ได้รับนั้น ได้ส่งผลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราไปอย่างมาก โดยที่เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทำให้เราเป็นอิสระจากการใช้ชีวิตของเราเป็นครั้งแรก ที่สำคัญนี่ นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถควบคุม “เวลา (time)” ของเราได้ ทุกวันนี้ความสามารถของโทรศัพท์มือถือ, ไอพ็อด และโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ก็ได้เพิ่มพลังของปัจเจกบุคคลให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการทำให้เราเป็นอิสระจากเรื่องของ “สถานที่ (space)” ด้วยเช่นกัน

หน้าจอที่สามารถโยกย้ายเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปมาได้ทำให้เราสามารถติดต่อกับใครหรือกลุ่มคนใดๆ ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ติดต่อสื่อสารมีปฏิสัมพันธ์ และควบคุม ด้วยปลายนิ้วมือของเรา เราสามารถเข้าถึงโลกเมื่อใดก็ตามที่ต้องการและเข้าจากที่ไหนๆ ก็ได้เช่นกัน

แต่ไอทีก็กำลังจะมาทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกไซเบอร์กับโลกแห่งความเป็นจริงเลือนรางลงไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

อย่างกรณีที่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หรือเหตุการณ์ 9/11 นั้น หลายๆ คนก็ยังคงไม่เชื่อว่าเครื่องบินบินเข้าชนตึกแฝดจริง ๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเขาเห็นผ่านหน้าจอเกมมาเนิ่นนานและต่อเนื่องจนทำให้พวกเขาไม่สามารถแยกโลกแห่งเกมออกจากโลกแห่งความเป็นจริง

ความไม่ชัดเจนของและพร่ามัวของโลกไซเบอร์และโลกจริงกำลังจะเริ่มส่งผลกระทบต่อแง่มุมต่างๆ ของชีวิตของเรา ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ส่งผลต่อเรื่องสำคัญสองเรื่อง คือ ความรื่นเริงบันเทิงใจ และความเป็นส่วนตัว

สำหรับความบันเทิงนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตของคน ความบันเทิงช่วยหล่อเลี้ยงให้โลกไซเบอร์ดำเนินและเติบโตไปได้ แต่สำหรับเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้นกลับเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ความเป็นส่วนตัวนั้น ก่อนหน้ายุคศตวรรษที่ 20 นั้น การคุกคามความเป็นส่วนตัวยังไม่เป็นระบบและไม่กว้างขวางมากเหมือนในปัจจุบัน เมื่อก่อนอาจจะมีการดักฟังโทรศัพท์ หรือการจ้างนักสืบเอกชน ซึ่งก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เกิดกับเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่ปัจจุบัน โลกไซเบอร์กำลังเข้ามาคุกคามความเป็นส่วนตัวของเราอย่างเกาะติด ในขณะที่เราชอปปิ้งออนไลน์หรือเราหาข้อมูลผ่านทางเสิร์ชเอ็นจิ้นต่างๆ ทุกพฤติกรรมของเรากำลังถูกบันทึกและนำไปใช้ในการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมในการบริโภคของเรา ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลบัตรเครดิตของเราด้วย เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่โตว่าความเป็นส่วนตัวของเรากำลังถูกคุกคามจนไม่เหลือความเป็นส่วนตัวหรือเปล่า

นอกจากนี้ กระแส nostalgia หรือการถวิลหาอดีตที่หอมหวานผ่านเว็บไซต์อย่าง Facebook ก็กำลังมีบทบาทในหมู่วัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยกระเตาะ Facebook เป็นเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมเว็บหนึ่งซึ่งจะเชื่อมโยงเพื่อนๆ และคนแปลกหน้าเพื่อให้มาแลกเปลี่ยนข้อมูล และแบ่งปันภาพ, วีดีโอ รวมถึงเกมและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนี่ก็เป็นการสื่อสารผ่านหน้าจอโดยไม่ต้องขึ้นกับเวลาและสถานที่เช่นกัน ข้อมูลสามารถเอามาวางทิ้งไว้เพื่อให้อีกคนมาเช็คในเวลาใดก็ตาม

อาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีที่เราเห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันจะเป็นเทคโนโลยีที่มีอาศัยหน้าจอเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะอาศัยการมองด้วยตา แต่ในไม่ช้าเทคโนโลยีที่ใช้เสียงในการควบคุมหรือติดต่อสื่อสารผ่านเสียงจะเริ่มมีมากขึ้นๆ ซึ่งอาจจะฝังอยู่ในเสื้อผ้า, เครื่องประดับ หรืออุปกรณ์อะไรก็ตาม

และในอีกไม่ช้าไม่นาน การติดต่อสื่อสารก็จะยกระดับขึ้นไปอีก ระบบประสาทสัมผัสทุกส่วนจะสามารถติดต่อสื่อสารและควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้ หรือกล่าวได้ว่า กำแพงกั้นระหว่างสมองและร่างกายจะเริ่มเบาบางลง

นั่นคือ เรื่องของ “เวลา” และ “สถานที่” จะเริ่มหายไปในที่สุด แต่การไร้เวลาและสถานที่ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ผูกพันพฤติกรรม

เช่นเดียวกับเรื่องนาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องของการเอาอุปกรณ์เล็กจิ๋วมาใส่ในร่างกายของเรา นาโนเทคโนโลยีอาจจะเป็นตั้งแต่เครื่องมือป้องกันอาชญากรรมไปจนถึงอุปกรณ์รักษาพลังงานหรือเครื่องมือเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในโลกของเราได้ แต่มันก็มาแล้ว สิ่งที่เราจะต้องไม่ลืมคือ ทุกวันนี้สมองและร่างกายของเราเปิดรับสิ่งภายนอกมากขึ้นแล้ว นั่นทำให้เราสามารถใส่เครื่องมือที่สร้างด้วยเทคโนโลยีของนาโนเทคโนโลยีที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังโดยสามารถรักษาระดับของฮอร์โมน, ระดับน้ำตาลและโปรตีน และความดันเลือดจะเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ณ เวลานั้นๆ ได้

ไบโอเทคโนโลยีก็กำลังจะมาทำให้สุขภาพของมนุษย์สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและสมอง ในอนาคตอันใกล้ยีนในลักษณะต่างๆ จะถูกดึงออกจากเซลล์ใดๆ ก็ตามในร่างกายของคนคนไหนก็ได้ อายุเท่าไรก็ได้เช่นกัน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว พ่อแม่สามารถเลือกได้ว่าต้องการให้ลูกออกมามีลักษณะเด่นอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงในเชิงจริยธรรมและทางศาสนาอีกมากและยาวนานกว่าที่ทุกฝ่ายจะตกลงกันได้

บทบาทของไอที, นาโนเทคโนโลยี และไบโอเทคโนโลยี กำลังจะมาให้ความหมายใหม่กับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใหม่ เช่นเดียวกับที่ไอที, นาโนเทคโนโลยี และไบโอเทคโนโลยีก็กำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่างวัฒนธรรมในแต่ละสังคมมนุษย์เบาบางลงเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่า ความเป็นอัตลักษณ์จะลดลงไปด้วยหรือเปล่า

อันนี้ยังตอบไม่ได้ครับ


อ่านเพิ่มเติม:
1. Martin, J. (2006), The Meaning of the 21st Century: A vital blueprint for ensuring our future. Eden Project Books
2. Greenfield, S. (2003), Tomorrow’s People. Penquin.
3. Greenfield, S. (2008), The Quest for Identity in the 21st Century, London: Hodder & Stoughton.
4. Green, H. and Hannon, C. (2007), Their Space: Education for a digital generation. Demos.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.