ปรียา สีบุญเรือง ชีวิตที่เลือกเอง

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าปรียา สีบุญเรือง จะไม่ได้เลือกเรียนหมอเหมือนเช่นบิดากับมารดา และเธอเลือกที่จะเรียนเศรษฐศาสตร์แสวงหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง แต่ท้ายที่สุดก็ต้องหันมาช่วยธุรกิจของครอบครัว

ปรียาเป็นบุตรสาวของ นพ.เกริก และ พญ.จรูญ ผลนิวาส ผู้ก่อตั้งบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด และในฐานะผู้ถือหุ้นข้างมากจำนวน 51% จึงกลายเป็นผู้บริหารและผู้ก่อตั้งในคราเดียวกัน

ปรียาบอกกับ "ผู้จัดการฯ" ว่า ในตอนแรกเธอไม่ได้ตัดสินใจที่จะมาช่วยธุรกิจที่บ้าน และบิดามารดาก็ไม่ได้บังคับให้เธอมาสืบทอดกิจการของครอบครัว และปล่อยให้เธอเรียนตามที่ต้องการ

เธอจึงสอบชิงทุน Colombo Plan Scholarship จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเรียนต่อปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก University of London, London School of Economics (L.S.E.), UK

ปรียาเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจำโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเวลา 4 ปี (มกราคม 2514-มิถุนายน 2519) สอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นิสิตปริญญาตรี ควบคุมการสัมมนานิสิตปริญญาโท และงานบริหารอื่น

หลังจากนั้นอีก 4 ปีได้เข้าร่วมทำงานกับธนาคารกสิกรไทย ในตำแหน่งหัวหน้าส่วนประจำสำนักบริหาร มีหน้าที่รับผิดชอบสิ่งตีพิมพ์และงานวิจัยทางวิชาการของธนาคาร

เริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทสีลมการแพทย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2523 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ มีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมาย ควบคุมการบริหารงาน จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2550 รับตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดูแลกิจการทั้งหมดของบริษัท

ปรียาบอกว่าเธอไม่ได้กำหนดอนาคตว่าจะต้องทำงานสิ่งใดมากที่สุด แต่ต้องการทำงานให้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย

ช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน เธอยอมรับว่าไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ กระบวนการผลิตยาหรือการตลาดมาก่อน ซึ่งเธอก็หวั่นวิตกเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของแบรนด์จะยังแข็งแรงเหมือนเช่นสมัยบิดาได้อย่างไร

แต่หลังจากที่เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลโรงงานสายการผลิต และพี่ชายดูแลทางด้านการตลาด ปรียาก็เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง สอบถามผู้บริหารรุ่นเก่า และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์

จนกระทั่งเธอเกือบลืมไปแล้วว่า เธอทำงานให้กับบริษัทสีลมการแพทย์มาร่วมกว่า 20 ปี

ปรียาบอกว่าวิธีการทำงานของเธอ คือการก้าวทีละก้าว สิ่งใดขาดก็เพิ่มเสริมเติมให้เต็ม

ปรียาได้เปลี่ยนแปลงระบบการทำงานหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เริ่มจ้างมืออาชีพเข้ามาทำงานเสริมจุดแข็งการผลิต พัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะฝ่ายเภสัชกรจะต้องมีการจัดอบรมประจำทุกเดือน เพราะเป็นส่วนสำคัญในการทำตลาดให้กับบริษัท

ด้านผลิตภัณฑ์ เธอได้พัฒนาผลิตยาให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล และร่วมอบรมตลาดยาและมาตรฐานยาทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่จัดขึ้น

ในส่วนของบุคลากรที่ร่วมงานกับบริษัท 169 คน เธอไม่มีนโยบายที่จะลดพนักงานลง แม้ว่าบางครั้งจะเผชิญกับภาวะยากลำบากทั้งเศรษฐกิจและสภาพการแข่งขัน

ปรียาเลือกที่จะบริหารงานด้วยความรัดกุมและใกล้ชิดกับพนักงานทุกฝ่าย และเดินหน้าสานต่อธุรกิจของครอบครัวต่อไป

ปรียายอมรับว่าการดูแลกิจการธุรกิจยาไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กกำไรจึงมีไม่มาก และการจะออกจากอุตสาหกรรมยาไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะได้ลงทุนไปแล้ว

สิ่งที่ทำได้คือการสานต่อธุรกิจยาต่อไป ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ SMC ภายใต้บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด ต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.