สิ่งที่ต้องเรียนรู้

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าจะมีข่าวกลุ่มซี.พี. ยักษ์ใหญ่วงการอาหารโลกทุ่มเงินกว่าแสนล้านบาท หรือกลุ่มอมตะที่ลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมไปทั่วเวียดนาม ทว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังรู้จักเวียดนามเพียงผิวเผิน

นักลงทุนไทยรู้แต่เพียงว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีค่าแรงต่ำหรือถูกว่าไทยกว่าเท่าตัวจนทำให้บริษัทไทยหลายแห่งย้ายไปตั้งโรงงานที่เวียดนามโดยเฉพาะธุรกิจส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า อาหาร

แต่ข้อมูลเหล่านั้นปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย โดยเฉพาะเงินเดือนของบริษัทที่ต้องลงทุนในเมืองใหญ่ อย่างเช่นฮานอย เปรียบเทียบกับค่าแรงในกรุงเทพฯ

ผลงานวิจัยของ JETRO เมื่อมีนาคม 2551 ที่ผ่านมาระบุว่า เงินเดือนที่ต้องจ่ายให้กับพนักงานที่เมืองฮานอยเริ่มตั้งแต่ 87-198 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่กรุงเทพฯ จ่ายให้กับพนักงาน 164 เหรียญสหรัฐ

เหตุผลที่ค่าแรงในเมืองฮานอยสูงเป็นเพราะว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานสมบูรณ์มีน้ำประปา ไฟฟ้า และถนน

จุมพล รังสรรค์ ผู้อำนวยการ การลงทุนต่างประเทศ บริษัทไทยซัมมิท ออโต้พาร์ท จำกัด ให้บริการผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าและฮอนด้า บอกว่าปัจจุบันมีโรงงานอยู่ที่ฮานอยจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 100 เหรียญสหรัฐ เป็นค่าแรงที่ถูกกว่าโฮจิมินห์ และปัจจุบันมีพนักงาน 160 คน

ค่าใช้จ่ายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นเท่าตัวโดยเฉพาะค่าห้องพัก ค่าอาหาร

ส่วนสัญญาว่าจ้างพนักงานเวียดนามจะต้องมีโบนัส รวมถึงจ่ายค่าประกันสังคม 17%

ปัจจุบันคนเวียดนามให้ความสนใจเรื่องการเรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ โดยมีเป้าหมายทำงานในบริษัทต่างชาติที่มีค่าแรงสูงกว่า 400-500 เหรียญสหรัฐ แต่ถ้าทำงานกับบริษัทเวียดนามจะมีค่าจ้าง 100-200 เหรียญสหรัฐ

การเรียนรู้อุปนิสัยของคนเวียดนามมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก คนเวียดนามนิสัยดี อดทน สู้งาน รักษาคำมั่นสัญญา แต่คนเหนือและคนใต้ของเวียดนามมีนิสัยที่แตกต่างกันและสิ่งที่ต้องพึงระวังคือความเข้าใจในการทำงานที่ไม่เหมือนกันระหว่างคนไทยกับคนเวียดนาม

ศศิศ มนต์เสรีนุสรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสุรินทร์ ออมย่า เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำธุรกิจในเวียดนามเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์ให้กับธุรกิจกระดาษ พลาสติก ยาง เล่าประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับคนเวียดนามว่า

ผู้บริหารหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ต้องเป็นคนไทย ส่วนผู้บริหารหมายเลข 3 ให้เป็นคนเวียดนาม เพราะจากการทำงานในช่วงแรกๆ ที่ผ่านมาได้ปล่อยให้พนักงานเวียดนามดูแลทั้งหมด แต่พบปัญหาทำให้คนไทยต้องบริหารเอง

ในระบบการทำงานคนเวียดนามมักจะบอกเสมอว่าไม่มีปัญหา แต่เมื่อทำงานร่วมกันทำให้รู้ว่ามีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ

"เขาไม่ค่อยแสดงออกและที่สำคัญอย่าทำให้เขาเสียหน้าต่อหน้าคนอื่นไม่ได้เด็ดขาด"

ในด้านการทำงานคนเวียดนามมีความตั้งใจสูง แต่ทักษะในการทำธุรกิจยังมีไม่มากจึงต้องมีการจัดระบบการอบรมค่อนข้างมาก

ประเสริฐ สุวิทยะศิริ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปทำธุรกิจตั้งแต่ปี 2538 หรือ 13 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์โทรคมนาคม บอกว่าเวียดนามยังมีโอกาสน่าลงทุนสำหรับนักลงทุนไทย ความต้องการในการพัฒนาประเทศเวียดนามยังมีอีกมาก กฎเกณฑ์ค่อนข้างนิ่งและเมื่อมีปัญหาส่วนของภาครัฐจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

สอดคล้องกับมุมมองของจุมพล ที่มองว่าแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มถึง 26% รวมถึงการเพิ่มของดอกเบี้ยก็ตาม แต่ระบบบัญชีที่ใช้ในการทำงานใช้ระบบสากล

เขามองว่าในระยะยาวตลาดจะโตและน่าสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตลาดจักรยานยนต์เพราะมองว่าประชากร 85 ล้านคน โดยเฉลี่ยควรจะใช้รถ 1 คันต่อ 10-15 คน

ปัจจุบันบริษัทผลิตรถฮอนด้าและยามาฮ่า สามารถผลิตจักรยานยนต์ได้ปีละ 3 ล้านคัน และบริษัทไทยซัมมิทเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานเมื่อปี 2549 เพื่อผลิตชิ้นส่วนด้านปลอกสำเร็จรูป อะลูมิเนียม และพ่นสี

อย่างไรก็ดี จุมพลแนะนำว่ากรณีนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนเอง 100% โดยไม่มีนักลงทุนท้องถิ่นร่วมถือหุ้น ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพราะกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง

แม้เวียดนามจะเป็นเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกันก็ตาม แต่ด้วยความแตกต่างด้านวัฒนธรรมความคิดทำให้นักลงทุนต้องเรียนรู้เวียดนามอีกมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.