|
โอกาสในเวียดนามยังเปิดกว้าง
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เวียดนามเป็นประเทศอันดับที่ 6 ของโลกที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในปัจจุบัน และทวีความมีเสน่ห์ดึงดูดมากขึ้นเมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO
ภาพประเทศเวียดนามที่ประสพความยากจนจากภาวะสงครามกับสหรัฐอเมริกาดูเหมือนว่าได้กลายเป็นอดีต ที่จะเล่าขานกันบ้างก็อยู่เพียงบนจอภาพยนตร์
แต่เวียดนามในปัจจุบันกำลังก่อร่างสร้างเมืองใหม่ให้ก้าวทันโลกและเริ่มพิสูจน์ให้เห็นด้วยอัตราการเติบโตจีดีพีในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา จากจีดีพีเริ่มที่ 6.75% ในปี 2543 ไต่ระดับไปเป็น 7.7% ในปี 2547 และคงระดับจีดีพี 3 ปีให้หลังอยู่ระดับที่ร้อยละ 8
สิ่งที่ตอกย้ำความเจริญก้าวหน้าของเวียดนามได้เป็นอย่างดีเมื่อล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับเวียดนามให้เป็นสมาชิกเมื่อเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า โลกทั้งโลกกำลังอ้าแขนรับเวียดนาม
เวียดนามเป็นเสือเศรษฐกิจที่มีธุรกิจส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งในแต่ละปีมีการส่งออกร้อยละ 20 มีสินค้าหลัก ข้าว กาแฟ มะม่วงหิมพานต์ อิเล็กทรอนิกส์
เท่านั้นยังไม่พอเวียดนามได้สร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุนอีกมากมายจึงทำให้หลายประเทศหลั่งไหลเข้าไปเวียดนามและทำให้มีเงินเข้าไปลงทุน17,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบันเวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีนักลงทุนสนใจลงทุนเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 อาเซียน
เม็ดเงินของต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจหลากหลาย อาทิ ก่อสร้าง โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานกลั่นน้ำมัน ที่อยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Agency : FIA) กระทรวงการลงทุนและแผนประเทศเวียดนาม
Tran Hoa Binh เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายความร่วมมือสนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศ สำนักงาน FIA ในฐานะตัวแทนเดินทางเข้ามาให้ข้อมูลนักลงทุนไทยเพื่อลงทุนในเวียดนามหลายครั้ง และเขาก็คาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศหลักๆ ที่ลงทุนในเวียดนาม
ล่าสุดเขาได้มาร่วมในงานสัมมนา "เปิดโลกการลงทุนเวียดนาม 360 องศา" ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทยและสมาคมสโมสรนักลงทุนและบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน)
จักก์ชัย พานิชพัฒน์ นายกสมาคมสโมสรนักลงทุน บอกว่าเขาได้เดินทางไปเวียดนามหลายครั้งหลายคราว ได้เห็นการเจริญเติบโตของเวียดนามอย่างน่าอิจฉาและยังหวาดวิตกว่าเวียดนามจะเจริญเติบโตกว่าประเทศไทยในไม่ช้าเหมือนกับประเทศจีนที่แซงประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าเวียดนามจะเป็นคู่แข่งของไทยอยู่ในที ทว่าเวียดนามยังต้องพัฒนาประเทศอีกมากเพราะเป็นประเทศใหม่ที่ยังต้องการการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศเกือบทุกด้านโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่เป็นประเทศ 1 ใน 10 ที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเข้าไปลงทุนจำนวน 182 โครงการ แบ่งเป็นธุรกิจอุตสาหกรรม 117 โครงการ ธุรกิจบริการ 36 โครงการ และธุรกิจเกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง 26 โครงการ
ประเทศไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามมูลค่า 1,560 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีโอกาสของนักลงทุนไทยยังมีอีกหลายภาคธุรกิจที่สามารถลงทุนในเวียดนาม อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ท่องเที่ยว โรงแรม
แต่สิ่งที่นักลงทุนไทยต้องเรียนรู้คือข้อมูลทางด้านธุรกิจ การตลาด การเงิน เพิ่มมากขึ้นเพราะนักลงทุนไทยยังเรียนรู้ตลาดเวียดนามน้อยมากเมื่อเทียบกับไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ลงทุนในเวียดนามในปัจจุบัน
นอกเหนือจากภาพการตลาดโดยรวมที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดถ่องแท้ สิ่งที่ต้องคำนึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธุรกิจคือการเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีการดำเนินชีวิตของเวียดนามเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการของประชากรเวียดนามอย่างแท้จริง
สิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนส่วนหนึ่งมาจากประชากร 85 ล้านคน และประชากร 45 ล้านคนมีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นรุ่นใหม่วัยทำงานที่ต้องการเปลี่ยนแปลง
ระบบการเมืองที่ดูแลโดยพรรคเดียว ทำให้เวียดนามมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นเพราะกฎระเบียบสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเงื่อนไขการลงทุนที่มีให้กับต่างชาติ
และแม้ว่าเวียดนามจะประสบภาวะเงินเฟ้อกว่า 26% รวมทั้งเกิดเหตุการณ์วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา แต่เวียดนามได้รับผลกระทบน้อยเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจภายในมีขนาดใหญ่มีเงินลงทุนสูงจากต่างประเทศทำให้รอดพ้นวิกฤติไปได้
ข้อตกลงกับองค์การการค้าโลกจะส่งผลให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามและมีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น โดยสามารถถือหุ้นได้ 100% และจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ในต้นปี 2552
ภาษีเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นการลงทุนให้กับต่างชาติ ซึ่งเวียดนามเตรียมลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 25% จากเดิม 28% โดยมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 และยังจูงใจลดภาษีให้อีกกรณีที่มีการลงทุน 15 ปี ลดภาษี 10% แต่ถ้าลงทุน12 ปี ลดภาษี 15% หรือลงทุน 10 ปี ลดภาษี 20% แต่เงื่อนไขเหล่านี้ขึ้นอยู่กับธุรกิจและพื้นที่ที่ลงทุน
ซึ่งพื้นที่จะแบ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Zone) และพื้นที่อุตสาหกรรม (Industrial Parks)
พื้นที่เศรษฐกิจจะกระจายไปอยู่ตามเมืองและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมีทั้งหมด 11 แห่ง เช่น Chu Lai Dung Quat Nhon Hoi Van Don เป็นต้น
ปัจจุบันพื้นที่เศรษฐกิจมีนักลงทุนต่างชาติลงทุน 62 โครงการ มีเงินลงทุน 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมมีทั้งหมด 183 แห่ง มีโครงการลงทุนต่างประเทศมากกว่า 3,020 โครงการ มูลค่าการลงทุน 29.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กฎระเบียบเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตดำเนินกิจการหรือนำเงินมาลงทุนประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทราบผลภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นระเบียบที่เวียดนามได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขของ WTO
และภายใต้เงื่อนไขของ WTO เวียดนามได้กำหนดเป้าหมายหลักว่าจะรักษาการเติบโตจีดีพี 8% ในระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ 2549-2553) และจีดีพีต่อประชากรหนึ่งคนจะอยู่ระหว่าง 1,050-1,100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศเวียดนาม จึงเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากประเทศหนึ่งในทศวรรษนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครมองโอกาสได้ทะลุมากกว่ากัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|