Special Report...Eyewitness American Economy in Collapse (No.1)

โดย มานิตา เค.เบนท์ลี่ย์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ตะเข็บเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐอเมริกาเริ่มปริมาตั้งแต่ต้นปี 2007 จากการล่มสลายขององค์กรที่ให้กู้ยืมซับไพร์มที่มีความเสี่ยงสูง ปัญหาสินเชื่อซับไพร์มเปรียบเสมือนน้ำมันที่ราดลงบนกองไฟ ที่โหมกระหน่ำภาคการเงิน และลุกลามไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลก

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่รัฐบาลอเมริกาอ่อนแอที่สุด อ่อนแอในเชิงของการบริหารงานทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจแข็งแกร่ง ในแง่ที่สามารถกระทำการต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ เกิดการคอร์รัปชั่นในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะไม่มีการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัดเหมือนในอดีต พฤติกรรมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก่อให้เกิดความโลภ และความโลภนี้เองนำไปสู่ความหายนะในปัจจุบัน

ปัญหาที่หยั่งรากลึกมาเป็นเวลานานหลายปี ไร้การควบคุม ได้ระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ไปก่อนเป็นอันดับแรก ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมรีเทล และอื่นๆ ที่จะตามมาอีก

วิกฤติการณ์ครั้งนี้ถือเป็น Case Study ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้แก่คนไทย โดยรายงานพิเศษเฉพาะกิจชิ้นนี้ ขอเริ่มต้นด้วยลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียดให้ผู้อ่านเข้าใจว่าวิกฤติการณ์ที่ชาวอเมริกันและชาวโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้มีสาเหตุมาจากอะไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นมีการดำเนินมาตรการอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการปูพื้นเรื่องราวที่ซับซ้อนนี้ให้ง่ายต่อการติดตามต่อไป

Timeline:

กุมภาพันธ์ 2007 : ระหว่างไตรมาสสุดท้ายของปี 2005 และไตรมาสแรกของปี 2006 ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาลดลงเฉลี่ย 3.3% และราคาได้ร่วงอย่างต่อเนื่องในปี 2007 ส่งผลให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ซับไพร์ม หรือการปล่อยสินเชื่อจำนองให้กับลูกค้าด้อยคุณภาพและไม่มีเงินดาวน์ ประกาศล้มละลายเป็นทิวแถว แค่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เพียงเดือนเดียวมีไม่ต่ำกว่า 25 ราย ส่งผลให้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ร่วง 416 จุด หรือ 3.3% เรียกว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11

เมษายน 2007 : วันที่ 2 เมษายน 2007 บริษัทนิว เซนจูรี่ ไฟแนนเชียล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยืมซับไพร์มรายใหญ่ที่สุดในอเมริกา ประกาศล้มละลาย ข่าวนี้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของหนี้เสียจากการปล่อยกู้ซับไพร์มต่อภาคการเงิน เนื่องจากมีสถาบันการเงินทั้งรายเล็กรายใหญ่จำนวนมากลงทุนในหนี้เน่าๆ เหล่านั้น

กรกฎาคม 2007 : วันที่ 19 กรกฎาคม ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดสูงสุดครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ที่ 14,000 จุด

สิงหาคม 2007 : ปัญหาการกู้ยืมซับไพร์มลามไปทั่วโลก เนื่องจากมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และสถาบันการเงินต่างๆ จำนวนมาก มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งในที่นี้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักค้ำประกัน หรือที่เรียกว่า mortgage-backed-securitie เมื่อราคาอสังหาฯ ลดลงกว่าราคาที่เคยประเมินไว้ ลูกหนี้ก็ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ หนี้ก็เน่า ตราสารหนี้ที่คิดว่าจะทำเงินได้ก็พลอยเน่าไปด้วย ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) และธนาคาร BNP Paribas แห่งฝรั่งเศส เป็นรายแรกๆ ที่รายงานการขาดทุนในการลงทุนในตราสารประเภทนี้

10 สิงหาคม 2007 : ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ร่วมมือกันอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

31 สิงหาคม 2007 : จอร์จ บุช เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้อสังหาฯ ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้

13 กันยายน 2007 : ธนาคารนอร์ธเธิร์น ร็อค (Northern Rock Bank) แห่งประเทศอังกฤษ ร้องขอเงินทุนฉุกเฉินจากธนาคารกลางอังกฤษ ผู้คนแตกตื่นแห่ถอนเงิน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 รัฐบาลอังกฤษเข้าควบคุมกิจการของธนาคารนอร์ธเธิร์น ร็อค

18 กันยายน 2007 : ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในวิกฤติการณ์นี้ จาก 6.25% เป็น 5.75%

15-17 ตุลาคม 2007 : สมาคมนายธนาคารสหรัฐฯ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ที่มีซิตี้กรุ๊ป และเจพี มอร์แกนเป็นตัวตั้งตัวตี พยายามตั้งกองทุน "ซูเปอร์ฟันด์" จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อและปลดหนี้ในรูปแบบต่างๆ ด้วยหวังว่าจะสร้างความเชื่อมั่นระหว่างธนาคารให้มีการปล่อยกู้ซึ่งกันและกัน

6 ธันวาคม 2007 : จอร์จ บุช ประกาศแผนตรึงอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้อสังหาฯ บางรายที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ย เริ่มจาก 0% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

1-22 มกราคม 2008 : ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เสียหายกว่า 1,000 จุด มากกว่า 8% ของมูลค่าทั้งอุตสาหกรรม จากการขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินของสหรัฐฯ และการขาดสภาพคล่องในตลาดกู้ยืม

24 มกราคม 2008 : สมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติประกาศตัวเลขประจำปี 2007 แสดงอัตราการลดลงของการซื้อขายบ้าน ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี คนอยากขาย ขายไม่ได้ คนอยากซื้อ ซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีใครปล่อยกู้ ทุกอย่างจึงหยุดนิ่ง คนอยากขายเพราะไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ ก็ขายมาปลดหนี้ไม่ได้ เป็นวัฏจักรที่ยิ่งเน่า

14 มีนาคม 2008 : Bear Stearns ประกาศขาดสภาพคล่องและต้องขอกู้เงินฉุกเฉินจากธนาคารกลางนิวยอร์ก วันที่ 16 มีนาคม เจพี มอร์แกน เข้าซื้อ Bear Stearns ในราคาหุ้นละ 2 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดจาก 2 เดือนก่อนที่อยู่ที่หุ้นละ 172 เหรียญสหรัฐ การล้มของ Bear Stearns ในครั้งนั้นเขย่าขวัญอนาคตภาคการเงินสหรัฐฯ

31 มีนาคม 2008 : เฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เสนอแผนยกเครื่องสถาบันการเงินสหรัฐฯ ทั้งระบบ ด้วยการรวมกิจการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC: The Securities and Exchange Commission) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดอนุพันธ์ (CFTC: The Commodity Futures Trading Commission) เข้าด้วยกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจแก่รัฐบาลที่อาจมีวาระแอบแฝง ปัจจุบันแผนยังไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา และเหลือเวลาเพียงไม่กี่วันก็จะเปลี่ยนรัฐบาล

11 กรกฎาคม 2008 : สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC: The Federal Deposit Insurance Corporation) เข้าคุมกิจการธนาคารอินดี้ แมค

7 กันยายน 2008 : รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เข้าเทกโอเวอร์เฟนนี เม และเฟรดดี แมค สองสถาบันสินเชื่อรายใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันโดมิโนในภาคสถาบันการเงิน การอุ้มครั้งนี้ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนมหาศาล และไม่ได้ช่วยยับยั้งการล่มสลายของสถาบันการเงิน

15 กันยายน 2008 : มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่สั่นสะเทือนวอลล์สตรีท เริ่มจากแบงก์ ออฟ อเมริกา ประกาศซื้อกิจการวาณิชธนกิจของเมอริลล์ ลินช์ ขณะที่เลห์แมน บราเธอร์ สถาบันการเงินเก่าแก่และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ประกาศล้มละลาย ตามมาด้วยการลดอันดับเครดิตของ AIG บริษัทประกันรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีสภาพง่อนแง่น วันที่ 17 กันยายน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปล่อยกู้ AIG จำนวน 85 พันล้านเหรียญฯ พยุงสถานการณ์ไว้

19 กันยายน 2008 : เฮนรี่ พอลสัน เสนอแผนโครงการฟื้นฟูสินทรัพย์ที่มีปัญหา (TARP: The Troubles Asset Relief Program) จากเงินภาษีของประชาชนจำนวน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เบื้องต้นต้องการทำเงินไปซื้อสถาบันการเงินที่มีปัญหา จากนั้นทำการจับมาแต่งตัวใหม่ เพื่อขายทอดตลาดอีกที เขาหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

21 กันยายน 2008 : โกลด์แมน ซาคส์ และมอร์แกน สแตนเลย์ สองวาณิชธนกิจรายใหญ่ประกาศเปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้สองสถาบันนี้สามารถรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ง่ายขึ้น

จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในเดือนนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ แสดงให้เห็นถึงจุดจบของอุตสาหกรรมวาณิชธนกิจ ที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูจนเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของวอลล์สตรีท ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

25 กันยายน 2008 : ธนาคารวอชิงตัน มิวชวล (Washington Mutual) ประกาศล้มละลาย นับเป็นการล่มสลายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การธนาคารของสหรัฐฯ วันต่อมา สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐฯ ขายสินเชื่อบางส่วนของวอชิงตัน มิวชวล ให้แก่เจพี มอร์แกน เชส

29 กันยายน 2008 : ธนาคารวาโคเวีย (Wachovia) ขายกิจการให้เวลล์ส ฟาร์โก (Wells Fargo) ตามด้วยแผนฟื้นฟูฯ ที่ใช้เงินภาษีจำนวน 7 แสนล้านของพอลสัน ไม่ผ่านการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ

2 ตุลาคม 2008 : รัฐบาลไอร์แลนด์ประกาศประกันเงินฝาก

3 ตุลาคม 2008 : แผนฟื้นฟูฯ ของพอลสัน ผ่านการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ

6-10 ตุลาคม 2008 : ในสัปดาห์นี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ดิ่ง 22.1% วันที่ 6 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตกลงที่จะให้เงินกู้เพิ่มอีกจำนวน 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แก่ธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลเดนมาร์กประกาศประกันเงินฝาก ธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศสเทกโอเวอร์ธนาคาร Fortis ทำให้กลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป วันที่ 7 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ อนุมัติงบ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถกู้ยืมได้ วันที่ 8 IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย ตามด้วยรัฐบาลสหรัฐฯ อียู อังกฤษ จีน แคนาดา สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลดดอกเบี้ยอย่างพร้อมเพียงกัน

11 ตุลาคม 2008 : การประชุมกลุ่มผู้นำด้านการเงิน จี 7 ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ไม่สามารถตกลงแผนที่ชัดเจน แต่ขอให้มีการร่วมมือกันระหว่างประเทศ วันที่ 13 ประเทศในยุโรปบางประเทศเข้าเทกโอเวอร์ธนาคารพาณิชย์ พร้อมอัดฉีดสภาพคล่อง

7 พฤศจิกายน 2008 : ตัวเลขคนตกงานในเดือนตุลาคมมีสูงถึง 240,000 คน ทำให้อัตราว่างงานของสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 14 ปี

14 พฤศจิกายน 2008 : ผู้นำทางการเงินจาก 20 ประเทศ (G-20) รวมตัวกันถกกอบกู้วิกฤติ ณ วอชิงตัน ดี.ซี. อีกครั้ง หลังจากอียูประกาศเศรษฐกิจถดถอยจากตัวเลขที่หดลง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 ตามมาด้วยฮ่องกง

17 พฤศจิกายน 2008 : รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการ กรณีเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะถดถอยอีกครั้งในรอบ 20 ปี

20 พฤศจิกายน 2008 : รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะถดถอย นับเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ส่วนที่นิวยอร์ก ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์รูดปิดที่ 7,552.29 จุด ต่ำสุดในเกือบ 6 ปี ในที่สุดภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ปิดแผลที่อักเสบพุพองไว้ไม่ไหว เข้าแถวร้องขอเงินช่วยกู้ชีพจากรัฐบาล นำด้วย GM ที่มีราคาหุ้นร่วง 10% ปิดที่หุ้นละ 2.79 เหรียญสหรัฐ Ford Motor ปิดที่ 1.26 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดๆ ถึง 25% ต่างประกาศชะลอการผลิต ปิดโรงงาน เลย์ออฟพนักงาน...

จากลำดับเหตุการณ์พบว่ามีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดแล้ว และรัฐบาลพยายามหาทางช่วย แต่ก็ไม่ทันการณ์...

โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า ซึ่งน่าจะได้เห็นมาตรการที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และทีมใหม่ที่เข้ามาบริหารงาน นับเป็นการทำงานที่หนักและท้าทายอย่างยิ่ง เพราะต้องทำการล้างบ้านครั้งใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติม : The Council on Foreign Relations (CFR)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.