จาก Local สู่ International Company

โดย สุภัทธา สุขชู วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

พูดกันมานานหลายปีแล้วว่าเวลานี้ กิจการของคนไทยน่าจะมีโอกาสได้ไปผงาดในต่างประเทศในฐานะผู้เล่นที่แท้จริงเสียที เพราะธุรกิจไทยได้ผ่านประสบการณ์ที่ยาวนานมีพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ การเงิน หรือเทคโนโลยี ทัดเทียมได้กับกิจการระดับยักษ์หลายแห่งของโลก

แต่การออกไปเป็นผู้เล่นในสังเวียนธุรกิจระดับโลก จำเป็นต้องมีกระบวนการที่แตกต่างกัน ในแต่ละธุรกิจ

ในแง่ของการขาย กิจการของไทยได้ส่งสินค้าไปขายในตลาดโลกมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของผู้รับจ้างผลิต หรือการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ก็มีการทำกันมาแล้วระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นการขยายการลงทุนเพื่อหาฐานการผลิตใหม่ ที่มีต้นทุนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการลงทุนเอื้ออำนวยมากกว่าที่จะจำกัดพื้นที่ตั้งโรงงานอยู่เพียงแต่ในประเทศอย่างเดียว ส่วนสินค้าที่ขาย เกือบทั้งหมดก็ยังเป็นการรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์คนอื่น

ขณะที่การออกไปเป็นผู้เล่นเต็มรูปแบบ ทั้งการลงทุน ขายสินค้า และการนำแบรนด์สินค้าออกไปยึดครองพื้นที่ในตลาดของต่างประเทศจริงๆ ยังมีไม่มากนัก

แบรนด์สินค้าไทยที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคต่างประเทศจริงๆ ที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่ราย อาทิ เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง กระทิงแดง หรือการบินไทย ฯลฯ

การเคลื่อนไหวของเครือซิเมนต์ไทยกับเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ที่ได้วางเป้าหมายว่าจะออกไปโลดแล่นในฐานะผู้เล่นที่เป็น International Company ที่แท้จริง ทั้งการขาย การลงทุน และนำแบรนด์ของตนเองไปยึดครองพื้นที่ในใจของผู้บริโภคในตลาดโลก จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ทั้งเครือซิเมนต์ไทยและเจริญโภคภัณฑ์หาร ต่างเป็นผู้ผลิตสินค้าพื้นฐาน (Commodity Products) ที่ไม่มีความสลับซับซ้อน ขอเพียงมีทุน มีพื้นที่ มีเทคโนโลยีพื้นฐาน ใครก็สามารถผลิตได้

การทำ Branding ให้กับสินค้าประเภทนี้ จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกับตลาดที่กว้างใหญ่และซับซ้อนมากกว่า อย่างในตลาดโลก

ทั้งเครือซิเมนต์ไทยและเจริญโภคภัณฑ์อาหาร เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นจะต้องออกไปเป็นผู้เล่นในต่างประเทศ ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยมีแรงบีบคั้นคล้ายคลึงกัน นั่นคือตลาดภายในประเทศไทยเล็กเกินไปเสียแล้วสำหรับทั้ง 2 กิจการนี้

แต่ทั้งคู่ก็มองเห็นถึงข้อจำกัดเดียวกัน นั่นคือ แม้ทั้งคู่จะมีความชำนาญในธุรกิจที่ดำเนินอยู่ แต่เนื่องจากสินค้าที่ขายยังเป็นเพียง Commodity Products การจะออกไปโลดเล่นผลักดันแบรนด์ของตนเองให้ต่างชาติรู้จัก จะต้องทำให้สินค้าที่ขายเป็นอะไรที่มีมูลค่ามากกว่า Commodity

ทั้งเครือซิเมนต์ไทยและเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ได้เริ่มกระบวนการก้าวขึ้นไปสู่การเป็น International Company โดยการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และจัดได้ว่าประสบความสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับตลาดภายในประเทศ

การออกไปต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้บริหารทั้ง 2 องค์กรเป็นอย่างยิ่ง และกระบวนการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าซึ่งเป็นเพียง Commodity ของทั้งเครือซิเมนต์ไทย และเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ที่มีเป้าหมายให้แบรนด์ SCG และ CP เป็นที่รู้จักในระดับโลกจึงเป็นกรณีที่สมควรต้องศึกษา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.