|

วิกฤติอุตสาหกรรมยานยนต์ในดาวน์อันเดอร์
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เวลาที่พูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ผมคิดว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยถามว่าเมื่อไหร่เราจะมีรถยนต์ยี่ห้อของไทยเอง แต่ถ้าใครได้ชมข่าวเศรษฐกิจในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะพบกับภาพคนงานและวิศวกรราวๆ พันคนเดินคอตกจากประตูโรงงานทอนส์เล่ปาร์ค ฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปโอเชียเนียและยืนยงมากว่า 57 ปี เพราะต้องหางานใหม่กันหมด ซึ่งทั้งหมดได้แสดงถึงความไม่แน่นอนของวงการธุรกิจยานยนต์ในโลก สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีอุตสาหกรรมยานยนต์ในดาวน์อันเดอร์ต้องล้มตามไปอีกไม่น้อย
ถ้าใครได้เดินทางมาเที่ยวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เมื่อ 15 ปีก่อนจะเห็นได้ว่ารถยนต์ที่วิ่งกันทั่วไปบนท้องถนนนั้นมีแต่รถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีขายแต่ในโอเชียเนีย เหตุผลของการที่ชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ในอดีตนิยมรถขนาดใหญ่นั้นเกิดจากระยะทางระหว่างเมืองสำคัญนั้นห่างกันมาก แค่มหานครที่ใกล้กันที่สุดอย่างซิดนีย์กับเมลเบิร์นนั้นก็ห่างกัน 881 กิโลเมตร ยิ่งนครเพิร์ธนั้นห่างกันถึง 4,352 กิโลเมตร แค่เดินทางโดยเครื่องบินยังต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชม. ถ้าขับคงต้องใช้เวลา 50 ชม. เนื่องจากการเดินทางระหว่างเมืองต่างๆ ยังต้องใช้รถยนต์เป็นหลัก และถ้าต้องขับรถระหว่าง 10 ถึง 50 ชั่วโมงในการไปติดต่อธุรกิจ คงไม่มีใครเอารถญี่ปุ่นคันเล็กๆ เครื่อง 1,300 ไปวิ่งแน่นอน ในประเทศนิวซีแลนด์ก็เช่นกันแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดแค่ครึ่งเดียวของประเทศไทย แต่ด้วยประชากรแค่ 4 ล้าน 3 แสนคน ทำให้ระยะทางจากเมืองสำคัญในนิวซีแลนด์ห่างกันมาก
ในอดีตที่ผ่านมา เวลาที่จะซื้อรถยนต์ชาวกีวีและออสซีมักจะเลือกซื้อรถขนาดใหญ่ของโฮลเด้น ฟอร์ด หรือมิตซูบิชิ ที่ต่อในทวีปของตนเอง คนไทยโดยมากอาจจะคิดว่ารถมิตซูบิชิ หรือรถฟอร์ดเป็นรถเล็ก แต่ว่าในดาวน์อันเดอร์นั้นไม่ใช่ รถที่ผลิตในออสซีจะมีขนาดใหญ่มากและใช้เครื่อง 3800-5400 ซีซี ยาว 4.8-5.1 เมตร กว้าง 1.85 เมตร เป็นอย่างต่ำ ในอดีตการมีภาษีนำเข้าทำให้ดีลเลอร์สามารถตั้งราคารถได้สูง ในช่วงนั้นรถออสซีจะมีสนนราคาที่ 42,000 ถึง 65,000 ดอลลาร์ และรุ่นพิเศษราคาสูงถึง 89,000 ดอลลาร์ จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมรถในทวีปนี้ ในปี 1995 ถ้าใครจะซื้อรถใหญ่ ติดออปชั่นพอสมควรต้องจ่ายราวๆ 5,8000 ดอลลาร์
สวรรค์ของอุตสาหกรรมรถในนิวซีแลนด์ก็ล่มในปี 1998 เมื่อรัฐบาลกีวียกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์ แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก แต่ว่าในนิวซีแลนด์มีรถวิ่งอยู่ทั้งหมด 3 ล้าน 4 แสนคัน จากประชากร 4 ล้าน 3 แสนคน เฉลี่ยว่าชาวนิวซีแลนด์ทุกๆ 4 คน จะมีรถ 3 คัน การตัดสินใจนำเข้ารถเสรีโดยไม่มีภาษีนั้นทำให้ราคารถยนต์ในนิวซีแลนด์ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ด้วยค่าแรงที่สูงทำให้โรงงานใหญ่ๆ ในนิวซีแลนด์เหลือทางเลือกเพียงสองทาง โดยมากเลือกที่จะปิดตัวเองลง ส่วนน้อยเลือกที่จะปรับตัวโดยหันมาผลิตอะไหล่หรือรับปรับสภาพรถที่นำเข้าแทน ซึ่งส่งผลให้มีคนตกงานจำนวนมาก
คลื่นลูกต่อมาที่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์คือการเข้ามาของสายการบินราคาถูกในปี 2001 ก่อนหน้านี้การเดินทางในประเทศด้วยเครื่องบินทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นมีราคาที่สูงมาก เที่ยวบินไปกลับ โอ๊กแลนด์กับไครส์เชิร์ช หรือซิดนีย์กับเมลเบิร์นนั้นจะต้องจ่ายประมาณ 380 ถึง 550 ดอลลาร์ ทำให้คนส่วนมากยังไม่นิยมบินและเห็นว่าการขับรถเป็นเรื่องที่ประหยัดกว่า อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลทั้งสองประเทศเปิดเสรีทางการบินทำให้สายการบินราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทำการแข่งขันกับเสือนอนกินในอดีต ทำให้แควนตัสกับแอร์นิวซีแลนด์ต้องทำการแข่งกับบรรดาสายการบินโลว์คอสต์และส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวของราคาในอดีต
คลื่นลูกที่สามคือราคาน้ำมันโลกที่พุ่งไม่หยุดโดยเพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ดำเนินนโยบายตามประเทศในยุโรป คือเก็บภาษีมลพิษ ภาษีการใช้รถใช้ถนนลงไปบนราคาน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันในนิวซีแลนด์สูงถึงลิตรละ 2.16 ดอลลาร์ หรือ 54 บาทต่อลิตร ในช่วงที่น้ำมันในไทยอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท คิดง่ายๆ คือเป็นภาษีถึง 54% ของราคาน้ำมันที่ขายในไทย ในขณะที่ราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศลดลง แต่ราคาน้ำมันกลับแพงขึ้นทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจที่จะบินระหว่างเมืองมากกว่าการขับรถยนต์ที่ทั้งเหนื่อยและแพงกับเสียเวลามากกว่า ปัจจัยนี้ทำให้คนในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หันมาซื้อรถยนต์ที่เครื่องและตัวถังที่เล็กลงแทนรถใหญ่ที่กินน้ำมันมาก
คลื่นลูกสุดท้ายที่ถล่มวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในดาวน์อันเดอร์คือ การที่เงินออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ดอลลาร์มีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้นเมื่อวัดกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลก ในอดีตเงินดอลลาร์สหรัฐมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 เหรียญ = 2 ออสเตรเลีย และ 2.20 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ แต่การที่เงินออสซีและกีวีมีมูลค่าสูงขึ้นในปัจจุบันทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐอยู่ที่ 1.20 ออสเตรเลีย และ 1.30 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ แม้แต่เงินยูโรหรือปอนด์ที่ว่าแข็งก็มีมูลค่าลดลงถ้าเทียบกับเงินทั้ง 2 ประเทศถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อค่าเงินแข็งการส่งออกก็มีปัญหา สินค้าส่งออกราคาแพงเพราะค่าแรงในประเทศลดไม่ได้ แต่ราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศกลับลดลงอย่างผิดหูผิดตา
ผลกระทบของวงการยานยนต์ได้ขยายตัวไปกว้างกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะในอดีตถ้าวัดราคารถที่ต่อเองในทวีปกับรถยุโรปยี่ห้อดีๆ ขนาดกลาง รถยุโรปจะมีสนนราคาที่แพงกว่าประมาณ 2 หมื่นดอลลาร์ แต่การที่ค่าเงินแข็งทำให้ส่วนต่างลดลงเหลือเพียง 2 พันดอลลาร์ในออสเตรเลีย และในนิวซีแลนด์ที่ยกเลิกภาษีนำเข้าส่วนต่างกลายเป็นว่ารถยี่ห้อดีๆ จากยุโรปถูกกว่ารถที่ต่อในทวีปเสียอีกทั้งหมดนี้เองได้ส่งผลให้การบริโภคสินค้าทางยานยนต์ในนิวซีแลนด์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อ 15 ปีก่อน ชาวนิวซีแลนด์จะซื้อรถครอบครัวคือ โฮลเด้น คอมมอดอร์ ฟอร์ด ฟอลค่อน มิตซูบิชิ ไดมันเต (กาแลนต์เครื่อง 3800 ซีซี) หรือ โตโยต้า อวารอน (คัมรี่ เครื่อง 3500) แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา รถครอบครัวที่ต่อในออสเตรเลียกลับโดนรถยุโรปมาแทรก เพราะสนนราคาของบีเอ็ม ซีรีส์ 3 กับ 5 ออดี้ เอ 4 กับ 6 เบนซ์ ซีกับอีคลาส หรือ จากัวร์ เอ็กกับเอสไทป์ ต่างมีราคาเท่ากันหรือถูกกว่ารถครอบครัวในอดีต ยิ่งค่าดูแลรถญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา หรือรถยุโรปในนิวซีแลนด์นั้นไม่ต่างกันเพราะว่าในนิวซีแลนด์มีการประกันเครื่องยนต์เข้ามาคุ้มครองค่าอะไหล่จึงเหลือแต่ค่าแรงของช่างซึ่งแพงพอๆ กัน นอกจากนี้สภาพอากาศในนิวซีแลนด์มีลักษณะเป็นเมืองหนาวแบบยุโรปและรถไม่ติด จึงมีความเหมาะสมกับรถยุโรปเป็นพิเศษ ก็เหมือนกับการไปถามคนไทยว่าถ้าราคารถบีเอ็มกับคัมรี่เท่ากัน ราคาและค่าบริการของรถเบนซ์เท่ากับฮอนด้า คุณจะขับรถยี่ห้อไหน คำตอบจากชาวนิวซีแลนด์ทำให้รถญี่ปุ่นและรถที่ประกอบในทวีปออสเตรเลียต้องมาหลังชนฝา ซึ่งทางฝั่งรถญี่ปุ่นยังหาทางออกโดยการนำเข้ารถเล็กจากไทยและญี่ปุ่นอย่าง แจ๊ซ โคลท์ หรือวิช มาขาย โดยเปลี่ยนการตลาดไปเน้นรถเล็กประหยัดน้ำมัน แต่ที่กระอักคือรถอเมริกากับรถออสซีที่ไม่มีรถเล็ก ไม่มีเครื่องยนต์เล็ก ลดราคาก็ไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในดาวน์อันเดอร์ถึงทางตัน
ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบให้เกิดการหดตัวในตลาดรถใหญ่ถึง 35% ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขณะที่ตลาดรถเล็กและรถยุโรปขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการหดตัวของตลาด และปัจจัยอื่นๆ มิตซูบิชิซึ่งเป็นยักษ์เล็กที่สุดในสามใบเถาบริษัทประกอบรถใหญ่ในออสซีตัดสินใจปิดโรงงานที่ทอนเล่ย์ปาร์ค ซึ่งทำส่วนแบ่งตลาดรถใหญ่ในดาวน์อันเดอร์มานานถึง 57 ปีลงในที่สุด และหันมาเน้นการนำเข้ารถกระบะและรถเล็กจากไทยและญี่ปุ่นแทน ขณะที่ฟอร์ดนั้นได้ประกาศไปแล้วว่าจะยุติการผลิตรถใหญ่พิเศษในปีนี้ เนื่องจากยอดขายตกจากปีละเกือบ 5,000 คันในยุคเฟื่องฟู เหลือแค่ 1,000 คันต่อปีในปัจจุบัน และทางโฮลเด้นเองก็หาทางออกด้วยการปิดโรงงานบางแห่งในประเทศและย้ายฐานการผลิตรถเล็กไปที่โรงงานแดวูเดิมในเกาหลีใต้ และใช้ประโยชน์จาก FTA ระหว่างอเมริกากับออสเตรเลียในการนำเข้ารถคาดิแล็คมาขาย ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองว่าอาจจะเป็นสัญญาณที่โฮลเด้นอาจจะยุติสายการผลิตรถใหญ่และหรูพิเศษในอนาคตเช่นกัน รัฐบาลแรงงานของออสเตรเลียได้หันมาแก้ไขปัญหาในระยะสั้นคือการขึ้นภาษีรถหรูหราจากยุโรปเพื่อช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ส่วนอนาคตของรถออสเตรเลียขนาดใหญ่ในระยะยาว ยังคงเป็นคำถามที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของดาวน์อันเดอร์จำเป็นต้องหาคำตอบกันต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|