|
'จริยธรรม' คำถามที่ TATA ยังไม่ได้ตอบ
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การประกาศถอนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นาโนของบริษัทตาต้ามอเตอร์สฯ จากพื้นที่โครงการเดิมในรัฐเบงกอลตะวันตก เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนภาคธุรกิจและการเมืองของอินเดีย แต่ก็ยังไม่สร้างความประหลาดใจและคำถาม เท่ากับการประกาศในชั่วเวลา 4 วัน ว่าโครงการดังกล่าวจะย้ายไปปักหลักในรัฐกุจาราต ใต้ปีกผู้ว่าการรัฐนาเรนทรา โมดี้ โดยตาต้าให้เหตุผลถึงการตัดสินใจอันรวดเร็วนี้ ว่ากุจาราตให้ข้อเสนอที่ตอบโจทย์การลงทุนของตนได้ทุกข้อ ทั้งเงื่อนผลประโยชน์และเวลา แต่ในทางกลับกัน ตาต้าดูจะลืมตอบคำถามสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่ควรจะละเลย นั่นคือจริยธรรมในการลงทุน
เดิมนั้นตาต้ามอเตอร์สฯ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 3 ของอินเดีย มีแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ Nano ในเขต Singur รัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งรถยนต์รุ่นล่าสุดนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่ตาต้าฯ วาดให้เป็นรถในฝันของชนชั้นกลางอินเดีย โดยประกาศเปิดตัวพร้อมเป้าหมายการผลิตและการตลาดว่าจะมีราคาเพียง 100,000 รูปี (ราว 80,000 บาท) ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวก็เป็นฝันของรัฐบาลท้องถิ่นพรรคฝ่ายซ้ายของรัฐเบงกอลฯ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและนำร่องให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ตลอดสองปีนับแต่ริเริ่มโครงการ ตาต้าฯ ต้องเผชิญกับมรสุมการประท้วงต่อต้านของกลุ่มเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยมี Mamata Banerjee หัวหน้าพรรคตรีนามุล คองเกรสส์ พรรคฝ่ายค้านท้องถิ่นเป็นแกนนำ ล่าสุดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงได้ปักหลักยึดพื้นที่ด้านนอกของเขตก่อสร้างโรงงานอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักเป็นเวลากว่าเดือน
ความชะงักงันดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจประกาศถอนโครงการของตาต้าฯ ในวันที่ 3 ตุลาคม แม้ว่ามูลค่าความเสียหายทางการลงทุนจะสูงถึง 15,000 ล้านรูปี
นับจากนาทีนั้น ข้อเสนองามๆ จากรัฐอื่นก็ลามไหลเข้าสู่หน้าตักของ Ratan Tata ซีอีโอของตาต้าฯ นับจากรัฐที่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว อาทิ คาร์นาตะกะ ทามิลนาดู ปัญจาบ มหาราชตระ จนถึงรัฐน้องใหม่ที่ยังวุ่นกับการตัดถนนและติดตั้งเสาไฟอย่างอุตรขันธ์ และด้วยเวลาเพียง 4 วัน ตาต้ามอเตอร์ก็ทำการลงนามเซ็นสัญญา (MoU) แบบสายฟ้าแลบ และประกาศเปิดโครงการนาโนอย่างเป็นทางการในเขต Sanand ใกล้กับเมืองอาห์เมดาบัด รัฐกุจาราต
โดยโรงงานของตาต้าฯ จะตั้งอยู่บนที่ดินในกรรมสิทธิ์ของรัฐขนาด 1,100 เอเคอร์ ที่รัฐบาลกุจาราตขายให้กับตาต้าฯ ในขั้นต้นตาต้ามอเตอร์สคาดว่าจะระดมเงินลงทุนในโครงการราว 2 หมื่นล้านรูปี โดยมีเป้าหมายการผลิตรถนาโนที่ 2.5 แสนคันต่อปี ทั้งคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 10,000 ราย
ในการแถลงข่าว ราตัน ตาต้าให้เหตุผลของการตัดสินใจว่า “เราเสียเวลามามาก ความเร่งด่วนจึงเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งผู้ว่าการรัฐกุจาราตขับเคลื่อนทุกอย่างเร็วมาก และให้ความมั่นใจแก่เราได้ในทุกเรื่อง” แม้จะไม่มีการเปิดเผยข้อตกลงในรายละเอียด แต่ตาต้าแย้มว่าข้อเสนอของกุจาราต ‘ดีกว่า’ ที่เขาเคยได้จากเบงกอลฯ เสียอีก ซึ่งในกรณีของรัฐเบงกอลฯ เป็นที่รู้กันว่าโครงการนาโนได้รับการงดเว้นภาษีสรรพสามิต 10 ปี ภาษีรายได้ 5 ปี ที่ดินในราคาที่เหมือนกับขายทิ้ง รวมถึงการลดหย่อนในเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ รวมเป็นตัวเงินราว 8,500 ล้านรูปีหรือกึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการ
แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจยังเชื่ออีกว่า รัฐกุจาราตเสนอให้เงินชดเชย 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงงานของตาต้าฯ จากซินกูร์มายังกุจาราต และนั่นอาจเป็นเหตุผลให้ราตัน ตาต้าสรรเสริญถึงข้อได้เปรียบของกุจาราต ว่าเป็นมิตรกับการลงทุน มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียบพร้อม อยู่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรมมุมไบ-เดลี และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระเบียบและเข้มงวด แต่ภาพที่ดูเชื่องเชื่อเป็นระเบียบของรัฐกุจาราตนั้น เป็นที่รู้กันดีว่าเกิดจากการบริหารแบบกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของนาเรนทรา โมดี้ ที่ขึ้นชื่อในการคุมเข้มบรรดาสหภาพแรงงาน และสั่งซ้ายหันขวาหันได้ทุกหน่วยงานราชการ
“การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” นายใหญ่ของตาต้าฯ ย้ำหนักหนาด้วยน้ำเสียงไร้เดียงสา เสมือนไม่รู้ว่าก้าวย่างของคอร์เปอเรทระดับตาต้าฯ ไม่มีทางไม่ส่งผลต่อแวดวงธุรกิจและการเมือง เช่นที่ Praful Bidwai คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารฟร้อนท์ไลน์ให้ความเห็นว่า ด้วยประวัติของตระกูลตาต้าและอาณาจักรธุรกิจที่ตาต้าถือครองในปัจจุบัน คนทั่วไปมักมองตาต้าว่าเป็นบรรษัทแบบอย่างที่หลักการประกอบการข้ามพ้นเรื่องผลกำไร จนมีคำกล่าวว่า ราตัน ตาต้าไม่มีวันผิดพลาด (Ratan Tata can do no wrong)
เช่นนี้แล้ว ท่าทีของราตัน ตาต้านับจากกลางปีก่อน ที่กล่าวในที่ประชุมนักธุรกิจว่า “ถ้าไม่ไปลงทุนในกุจาราตก็เรียกว่าโง่แล้ว” การเปรียบเปรยว่าเหตุผลการย้ายที่ตั้งโครงการนาโนนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘bad M’ (มามาตา บัญนาจี) ‘good M’ (นาเรนทรา โมดี้) จนถึงการโผเข้าไปลงทุนใต้เงาปีกของโมดี้ ตาต้าปฏิเสธไม่ได้ว่าตนกำลังให้ความชอบธรรม สนับสนุน และช่วยล้างมลทินให้แก่ผู้ว่าการรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่า “วางแผนและสปอนเซอร์” เหตุการณ์สังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในปี 2002 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน และเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดนับแต่อินเดียประกาศเอกราชในปี 1947
เหตุความรุนแรงดังกล่าวปะทุขึ้นหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ในรถไฟขบวน Sabarmati Express ที่สถานี Godhra ในรัฐกุจาราต เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 ทำให้ผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แสวงบุญชาวฮินดูเสียชีวิต 58 คน ในค่ำวันเดียวกันนั้น ขณะที่ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่าง นาเรนทรา โมดี้ ผู้ว่าการรัฐในขณะนั้นแถลงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการก่อการร้ายที่มีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อหวังประทุษร้ายต่อชุมชนชาวฮินดู ยังผลให้ชาวฮินดูที่โกรธแค้นรวมกลุ่มกันเข้าโจมตีร้านค้าและชุมชนชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เหตุความรุนแรงดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 มีนาคม โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้พยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ ซึ่งจากการสืบสวนข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา พบว่านอกจากจะเพิกเฉยแล้วเจ้าหน้าที่ทางการยังมีส่วนเปิดช่องและอำนวยความสะดวกแก่บรรดาม็อบที่โกรธเกรี้ยว
กว่าหกปีที่ผ่านมา เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์นอกจากจะไม่ได้รับความเป็นธรรม การสงเคราะห์หรือการเยียวยาใดๆ ล่าสุด Nanavati Commission คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีเพลิงไหม้ในรถไฟที่สถานีโกดรา ยังคงสรุปผลยืนข้างรัฐบาลกุจาราตว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการสมรู้ร่วมคิดและวางแผนล่วงหน้า ซึ่งจากรายงานข่าวเชิงลึกของทีมนักข่าวนิตยสารเตเฮลกา ที่ลงพื้นที่เก็บตกข้อมูลเป็นเวลา 6 เดือน พบว่ารายงานของคณะกรรมการดังกล่าวเต็มไปด้วยพยานเท็จและการปั้นแต่งข้อมูล เพื่อบิดภาพเหตุวิวาทชุลมุนที่เกิดกะทันหันและบานปลายไปสู่โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ ให้เป็นการก่อการร้ายที่วางแผนสมคบโดยชาวมุสลิมในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้รูปการณ์ทั้งปวงสนับสนุนคำแถลงของโมดี้ และสร้างความชอบธรรมว่า การโจมตีและสังหารชนกลุ่มน้อยที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปฏิกิริยาจากความโกรธแค้นที่เป็นควันหลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ตลอดหกปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนเพียง 3 คนเท่านั้นที่กล้าหาญพอจะตั้งคำถามต่อโมดี้ ถึงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2002 นั่นคือผู้บริหารของเครือธนาคาร HDFC ซีอีโอของ Thermax และผู้บริหารของ Airfreight ซึ่งทั้งสามคนล้วนเป็นชาวกุจาราตีแต่ไม่มีใครอาศัยอยู่ในกุจาราต
แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไป โมดี้ถือเป็นผู้ว่าการรัฐเนื้อหอมเพราะรู้กันดีว่า ในกุจาราตคำสั่งของโมดี้คือกฎหมาย หากสามารถผูกข้อมือกับโมดี้ได้หนทางการลงทุนที่เหลือก็ปูลาดด้วยพรมแดง มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่โมดี้เคยถูกตั้งคำถามในที่ประชุมทางธุรกิจ เมื่อ Jairus Banaji นักสังคมวิทยาจากมุมไบลุกขึ้นถามโมดี้หลังสุนทรพจน์อันสวยหรูว่า “คุณจะพูดถึงเศรษฐกิจที่ฟูเฟื่องได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนในรัฐของคุณที่ถูกฆ่าอย่างเลือดเย็นยังไม่ได้รับความยุติธรรม...มร.โมดี้ ผมคิดว่ามือคุณเปื้อนเลือด”
ท่ามกลางเหตุคุกคามและล่าสังหารชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาที่ปะทุขึ้นในรัฐโอริสสาและคาร์นาตะกะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ ราตัน ตาต้าปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจทางธุรกิจของตน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเมือง
กว่าจะถึงวันที่นาโนรถในฝันวิ่งสู่ท้องถนน ตาต้ายังมีโจทย์อีกมากที่ต้องทำการบ้าน โดยเฉพาะเรื่องปัญหามลพิษและระบบความปลอดภัย เพราะตาต้าไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ง่ายๆ ว่า ในราคาหนึ่งแสนนั่นคือความปลอดภัยที่ชีวิตคุณควรได้รับ
เช่นเดียวกับโจทย์ทางการลงทุน ตาต้าก็มีคำถามอื่นที่ต้องตอบ นั่นคือในเมื่อโมดี้และรัฐบาลกุจาราตยังล้างมลทินไม่ได้ว่าตนมือเปื้อนเลือดหรือไม่ เช่นนั้นการเข้ามาลงทุนใต้ปีกอุปถัมภ์ของรัฐดังกล่าว ย่อมเท่ากับว่าตาต้ายอมรับและยอมตนมีส่วนร่วมสร้างความชอบธรรมแก่นโยบาย วิธีการ และสิ่งที่เกิดขึ้น – ใช่หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|