เซี่ยงไฮ้กับบทสนทนาของคนแปลกหน้า

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

กลางเดือนพฤศจิกายนที่ท่ารถบัส สนามบินผู่ตง มหานครเซี่ยงไฮ้ ผมนั่งรอรถบัสที่จะออกเดินทางในอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า หลังจากยกหูโทรศัพท์แจ้งข่าวคราวกับที่บ้านว่าผมเดินทางมาถึงเซี่ยงไฮ้อย่างราบรื่นและปลอดภัยดี ชายแปลกหน้าชาวอาหรับวัยสี่สิบต้นๆ ก็รีบเขยิบมาทักทายด้วยคำว่า "สวัสดีครับ ... คนไทยใช่ไหม?"

ผมพยักหน้าและตอบรับด้วยรอยยิ้ม ขณะที่เขายกไม้ยกมือแจ้งว่าที่เขารู้ว่าผมเป็นคนไทยก็เพราะได้ยินผมพูดโทรศัพท์ จากนั้นเขาจึงแนะนำให้ผมรู้จักกับเพื่อนอีกหนึ่งคนที่เดินทางมาด้วยกัน

"กำลังจะไปไหนเหรอครับ?" ผมถามเขาตอบด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อให้การสนทนาราบรื่นขึ้น

"ผมกำลังจะไปอี้อู ผมเป็นชาวเยเมน แต่เคยอยู่เมืองไทยมาหลายปี" เขาตอบด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตร

"ไปซื้อของที่อี้อูหรือครับ" ผมถามต่อ อี้อูเป็นเมืองอุตสาหกรรมและการค้าในประเทศจีนที่มีชื่อเสียงอย่างมากในช่วงหลายปีหลัง

"ใช่ๆ ผมกำลังจะไปหาซื้อกระเป๋าผู้หญิงที่อี้อู กลับไปขายที่บ้าน" หนุ่มเยเมนตอบ แล้วบทสนทนาของหนุ่มไทยกับมิตรใหม่ชาวอาหรับก็เริ่มออกรสออกชาติ

เขาบอกกับผมว่า ตัวเขาเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพประมาณ 3 ปี ในช่วงหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ระหว่าง ค.ศ.1991-1993 โดยทำงานอยู่ย่านสุขุมวิท ซอยนานา เขาเล่าต่อว่าก่อนปี ค.ศ.1995 เมืองไทยเหมือนเป็นสวรรค์สำหรับนักธุรกิจตะวันออกกลางอย่างเขา เขาทำเงินได้มหาศาลจากการซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับ และสินค้าต่างๆ จากย่านโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และโรงงานในแถบปริมณฑลของกรุงเทพฯ กลับไปขายที่เยเมน

"แต่หลังจากปี 1995 แล้วดูเหมือนจีนจะเป็นสวรรค์สำหรับการเลือกซื้อสินค้าราคาถูก หลังจากอยู่ที่เมืองไทย ผมก็ย้ายไปทำธุรกิจที่อินโดนีเซีย และย้ายต่อมาที่กว่างโจว (กวางเจา) ที่นั่นมีทุกอย่างจริงๆ หมวก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับมีทุกอย่างที่ต้องการ" เขาเล่า ก่อนที่จะบอกว่า ตอนนี้อี้อูจุดหมายของเขาในการเดินทางครั้งนี้ก็เริ่มจะพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งสินค้าที่ทัดเทียมกับกว่างโจวแล้ว

"แล้วค่าเงินหยวนจีนที่ตอนนี้แข็งค่าขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ส่งผลอะไรกับธุรกิจของคุณบ้างหรือเปล่า" ผมซักต่อ

"ส่งผลเยอะเลย ราคาสินค้าจีนแพงขึ้นมาก" เขากล่าว ขณะที่ตัวผมก็ขยับมือไปแตะธนบัตรสีแดงลายประธานเหมาในกระเป๋ากางเกงแล้วย้อนนึกไปถึงตัวเลขบนกระดานแลกเปลี่ยนเงินตราที่สนามบินที่ผมเพิ่งแวะไปเยี่ยมเยียนเมื่อเช้านี้ เวลานี้เงินหยวนแพงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยอัตราที่เมืองไทยพุ่งทะลุ 5.15 บาทต่อหยวนแล้ว ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อดอลลาร์ก็อยู่ที่ราว 6.82-6.83 หยวนต่อดอลลาร์ หรือ เท่ากับแข็งขึ้นเกือบหนึ่งหยวนในช่วงระยะเวลาเพียงสองปี

เมื่อกล่าวถึงเรื่องค่าเงินหยวนและอุปสรรคทางการค้าอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก หนุ่มชาวเยเมนบอกผมว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกคราวนี้ประเทศจีนกับตะวันออกกลางคงจะต้องมีบทบาทต่อโลกเพิ่มขึ้น เพราะจีนและกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางมีเงินสดและเงินสำรองหมุนเวียนอยู่ในมือมหาศาล โดยประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนนั้นมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

อาจถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ในวันเดียวกันกับที่ผมและหนุ่มเยเมนพบกันที่ท่ารถบัสสนามบินผู่ตง ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ของจีนก็กำลังเหินฟ้าไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมการประชุม G20 ระหว่างผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่นกัน โดยสมาชิกกลุ่ม G20 ที่เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วย 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เริ่มลุกลามจากภาคการเงินเข้าสู่ภาคการผลิตจริง

"ผมได้ยินมาด้วยว่าโรงงานของชาวฮ่องกง ไต้หวัน จำนวนมากในกว่างตง (กวางตุ้ง) ก็ปิดตัวลงไปเยอะ เพราะต้นทุนหลายๆ ด้านสูงขึ้นมาก" หนุ่มเยเมนตอบ พร้อมเล่าต่อว่า ตัวเขาเองไม่ค่อยมีคอนเนกชันที่เวียดนามมากนักและไม่เคยเดินทางไปซื้อของที่นั่น ทว่า สำหรับอินเดียและบังกลาเทศแล้ว จากประสบการณ์เขาพบว่าพ่อค้าอินเดียไม่ค่อยซื่อนัก

"ผมเคยไปซื้อของจากอินเดีย แต่ไม่ค่อยถูกใจนัก แม้ราคาสินค้าจะถูกจริง แต่คุณภาพไม่ดีนัก ที่สำคัญพ่อค้าที่นั่นลูกเล่นเยอะ ถ้าให้จ่ายเงินก่อนแล้วส่งสินค้าตามไปโอกาสที่จะไม่ได้ของ หรือได้ของไม่ต้องตามที่สั่งก็สูง ส่วนพ่อค้าจีนตอนแรกๆ พวกเขาอาจจะพูดมากหน่อย แต่ถ้าติดต่อกันบ่อยๆ ซื้อขายกันระยะยาวก็ไม่ค่อยมีปัญหา" มิตรใหม่กล่าว

ก่อนหน้าที่การประชุม G20 จะเริ่มขึ้นราวหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลจีนที่เห็นเค้าลางของหายนะเศรษฐกิจโลกได้เริ่มขยับตัวด้วยการฉีดยาแรงเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยนอกจากการธนาคารกลางจีนจะกลับลำด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอย่างต่อเนื่องแล้ว ในส่วนของนโยบายการคลังยังมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจีนมากถึง 4 ล้านล้านหยวน หรือ ฃคำนวณเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็เกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องใช้เงินทั้งหมดภายในปี พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)

ทั้งนี้เงินก้อนแรกที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะถูกใช้ไปกับโครงการภายใต้การดูแลของรัฐวิสาหกิจจีนที่มีการวางแผนไว้ก่อนแล้ว อย่างเช่น โครงการลงทุนเกี่ยวกับโครงข่ายไฟฟ้าของ The State Grid Corporation of China (SGCC) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีน (คล้ายคลึงกับ กฟผ.ของไทย) ซึ่งมีแผนว่าจะใช้เงินมากถึง 1.16 ล้านล้านหยวน (หรือราว 1.7 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วงสองปีข้างหน้า โดยวิธีเดียวกันนี้รัฐบาลจีนก็เคยใช้มาแล้วในช่วงวิกฤติการเงินเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลจีนใช้เงินไป 3 แสนล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ของจีนหลายคนบอกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่งครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี เพื่อพยุงสถานะของเศรษฐกิจโลกไม่ให้ย่ำแย่ไปกว่านี้ โดยเม็ดเงินจำนวน 4 ล้านล้านหยวนนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 2550 เลยทีเดียว นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ใช้กู้ภาคการเงินสหรัฐฯ และระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ใหญ่กว่าจีนหลายเท่าแล้ว เม็ดเงินจำนวนนี้สำหรับจีนแล้วก็เรียกได้ว่ามหาศาล โดยมีการคาดการณ์กันว่าเงินจำนวนนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีหน้า (2552) ได้ราวร้อยละ 2 และแน่นอนว่าระบบเศรษฐกิจโลกก็ย่อมได้รับอานิสงส์จากเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนก้อนนี้ด้วย

"แต่ผมคิดว่าวิกฤติคราวนี้นอกจากช่วยเหลือตัวเองแล้ว จีนคงจะทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะขนาดของเศรษฐกิจจีนยังไม่ใหญ่โตเพียงพอ ถ้าอีกสัก 10-20 ปีข้างหน้าก็ไม่แน่" หนุ่มเยเมนบอก

"ผมก็คิดว่าอย่างนั้นนะ" ผมตอบ ขณะเดียวกันเสียงเรียกผู้โดยสารรถบัสเที่ยว "เซี่ยงไฮ้-อี้อู" ให้ขึ้นรถก็ดังขึ้น

"โชคดีครับ ขอให้การเจรจาธุรกิจสำเร็จ และหวังว่าเราจะได้พบกันอีก" ผมลุกขึ้นจับมือพร้อมกับกล่าวคำอำลา

ต้นฤดูหนาวที่สนามบินผู่ตง ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว อุณหภูมิภายนอกห้องพักผู้โดยสารเริ่มเย็นลงๆ ผมเปิดกระเป๋าเดินทางหยิบเสื้อกันหนาวมาใส่แล้วนั่งลงรอเสียงเรียกให้ขึ้นรถเที่ยวต่อไป

-----------------

อี้อู (Yiwu)

เมืองทางตอนกลางของมณฑลเจ้อเจียง มีพื้นที่ประมาณ 1,100 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราวหนึ่งล้านคน อยู่ห่างจากเมืองหางโจว เมืองเอกของมณฑลไปทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร หรือราว 2 ชั่วโมงรถยนต์ อี้อูมีชื่อเสียงในฐานะเมืองอุตสาหกรรมเบา โดยพ่อค้าทั่วโลกต่างมุ่งมายังเมืองแห่งนี้เพื่อเลือกเหมาซื้อสินค้าราคาถูกไปขายต่อยังที่ต่างๆทั่วโลก ในปี 2550 มูลค่าจีดีพีของอี้อูสูงถึง 42,100 ล้านหยวน ส่วนรายได้ต่อหัวนั้นสูงถึง 59,144 หยวน (ราว 7,778 ดอลลาร์สหรัฐ)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.