เตรียมควักกระเป๋าซื้อรถ eco-car


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ญี่ปุ่นก้าวล้ำหน้ากว่าใครในการพัฒนารถที่ใช้พลังงานทางเลือกแทนน้ำมัน และเศรษฐกิจญี่ปุ่นเตรียมรับอานิสงส์จากความรุ่งเรืองครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น

รถรุ่น FCX CLARITY ของฮอนด้ามองดูเหมือนรถธรรมดาทั่วไป แต่นี่แหละที่อาจเป็นคุณสมบัติที่น่าตกตะลึงที่สุดของรถคันนี้ ไม่ว่ารูปลักษณ์หรือการขับขี่ รถรุ่นนี้ดูไม่แตกต่างไปจากรถเก๋ง sedan 4 ประตูทั่วไป ที่คุณสามารถนั่งหลังพวงมาลัย กระแทกเท้าเหยียบคันเร่ง และเร่งความเร็วได้ทันใจ แต่หลังจากที่ขับไปเพียงไม่กี่นาที คุณจะสังเกตเห็นว่า มีบางอย่างที่หายไป เสียงเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวที่คุณจะได้ยินคือเสียงหึ่งเพียงแผ่วเบา ซึ่งเบามากเสียจนทำให้คุณอาจได้ยินเสียงล้อรถของคุณที่กำลังบดถนนแทนเสียงเครื่องยนต์

นั่นเป็นเพราะ Clarity เป็นรถที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเป็นรถยนต์ที่ล้ำยุคที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก เซลล์เชื้อเพลิงซึ่งครั้งหนึ่งเคยใหญ่เทอะทะอันเป็นแหล่งป้อนพลังงานให้แก่เครื่องยนต์ของรถ ได้ถูกพัฒนาจนมีขนาดเล็กลงเพียงครึ่งของเมื่อ 10 ปีก่อน ในขณะที่สามารถผลิตพลังงานได้เพิ่มขึ้น 50% Clarity กำลังจะเป็นรถ eco-car รุ่นแรกที่จะได้รับการรับรองจากหน่วยงานคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency) และจะเป็นรถ eco-car คันแรกที่ได้ส่งมอบถึงมือลูกค้า (แม้ว่าจะเป็นเพียงการให้เช่าก็ตาม) ส่วนปัญหาการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ไอเสียเพียงอย่างเดียวที่จะออกมาจาก Clarity คือน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และบางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรถคันนี้เสียมากกว่า นั่นคือ โรงงานที่ทันสมัยที่สุดของฮอนด้า ซึ่งพร้อมที่จะผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนับพันๆ คัน ในทันทีที่ตลาดมีความพร้อม ในขณะที่บรรดาคู่แข่งส่วนใหญ่ของฮอนด้า ยังคงอยู่เพียงแค่ขั้นของการนำรถ concept car ออกโชว์ตามงานมอเตอร์โชว์เท่านั้นเอง

แต่ Clarity ยังเป็นเพียงรถรุ่นหนึ่งในรถสีเขียวเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่กำลังเริ่มจะทยอยเปิดตัวออกมาในญี่ปุ่น ความจริงแล้วรถยนต์ประเภทนี้ไม่ว่าจะใช้เซลล์เชื้อเพลิงหรือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน หรือจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มานานหลายปีแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมามักเป็นรถที่จงใจออกแบบมาเพียงคันเดียวเพื่อเรียกเสียงฮือฮาจากสื่อมวลชนเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นเพียงรุ่นทดลองเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์สีเขียวของบริษัทรถยนต์ แต่ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังก้าวล้ำหน้าใครๆ ไปอีกระดับ โดยกำลังจะเปิดตัวรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในตลาดระดับ mass market ก่อนหน้าคู่แข่งไปนานหลายปี

นิสสันวางแผนจะเปิดตัวรถยนต์ใช้ไฟฟ้าทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นภายในปี 2010 หรืออีกเพียง 2 ปีข้างหน้า และจะเปิดตัวต่อทั่วโลกในปี 2012 โตโยต้ากำลังทดสอบบนถนนสำหรับรถลูกผสมที่สามารถชาร์จไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่ได้ ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า รถ “เสียบปลั๊ก” plug-in hybrid พร้อมกันทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป และมีแผนจะเปิดตัวจริงๆ ในปีหน้า (นอกจากนี้ยังมีเสียงกระซิบมาจากโตโยต้าด้วยว่า รถลูกผสมรุ่นนี้อาจสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้อีกต่างหาก) ฮอนด้าซึ่งเป็นที่ 2 ตามหลังโตโยต้ามาห่างๆ ในเรื่องการพัฒนารถลูกผสม กำลังเตรียมจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่รอคอยที่จะได้เห็นเทคโนโลยีสีเขียวที่ล้ำสมัย ซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่ที่ทันสมัยที่สุด มาสด้าจะเปิดตัวรถลูกผสมที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกในโลกในญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมปีหน้า

บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งหมดที่กล่าวมานี้กำลังได้รับประโยชน์จากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และบรรดา supplier ซึ่งต่างช่วยกันผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเทคโนโลยีรถ eco-car ได้สำเร็จ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ของ J.D. Power and Associates ในแคลิฟอร์เนียชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นผงาดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในโลกแล้วในขณะนี้ และคาดว่าจะยังคงอยู่ในอันดับหนึ่งต่อไปอีกในอนาคตและข่าวดีนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

สาเหตุที่ญี่ปุ่นสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี eco-car หรือ green car มาจากนิสัยความมัธยัสถ์ของญี่ปุ่นนั่นเอง ญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังอย่างมากกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนที่ทั่วโลกจะเริ่มวิตกถึงปัญหาโลกร้อนเสียอีก เป็นเวลาหลายทศวรรษที่บริษัทญี่ปุ่นพยายามจะจัดการกับค่าใช้จ่ายมหาศาล เกิดจากการต้องนำเข้าน้ำมันเนื่องจากญี่ปุ่นแทบจะไม่มีน้ำมันเลย โดยการให้ความสำคัญกับการคิดค้นเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งกำลังเริ่มจะส่งผลดีแล้วในขณะนี้ แม้กระทั่งโรงงานอุตสาหกรรมรุ่นเก่าในญี่ปุ่นก็ยังมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการลดรายจ่ายด้านพลังงาน

ญี่ปุ่นยังคงไม่หยุดพัฒนาแบตเตอรี่หลังจากคู่แข่งในสหรัฐฯ หยุดไปนานแล้ว จนขณะนี้ญี่ปุ่นสามารถสร้างแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกได้แล้ว ผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นอาจจะสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งจากประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ขายของถูกกว่า แต่ไม่มีใครจะแซงหน้าผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นไปได้ ในเรื่องความสามารถในการผลิตเหล็กกล้าเบาพิเศษที่ใช้สำหรับต่อตัวถังรถยนต์โดยเฉพาะ ความแข็งแกร่งที่แฝงอยู่ในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างสรรค์รถ green car และขณะนี้ความสำเร็จของการพัฒนารถเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็กำลังกลับมาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ผู้ผลิตมอเตอร์อิเล็กทรอนิกส์และผู้ผลิตหน่วยควบคุม ไปจนถึงบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้สำหรับการผลิตรถยนต์ ให้ยิ่งเร่งสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้นไปอีก

แม้ขณะนี้ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะประเมินผลดีที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยตรง จากการแข่งขันกันพัฒนารถ green car แต่ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ตลาดนี้จะใหญ่โตและเติบโตอย่างแน่นอน ขณะนี้ Prius เป็นรถ green car ที่โด่งดังที่สุดในโลกไปแล้ว โตโยต้าเจ้าของรถรุ่นนี้ยังมีแผนจะเพิ่มการผลิต Prius อีก 60 เปอร์เซ็นต์เป็น 450,000 คันภายในปี 2009 Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ตลาดรถลูกผสมซึ่งรวมถึง plug-in hybrid จะโตเป็น 2.5 ล้านคันภายในปี 2015 จากครึ่งล้านคันในปี 2007 โดยโตโยต้าและฮอนด้าจะเป็นเจ้าตลาด นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า plug-in hybrid ซึ่งสามารถวิ่งโดยใช้แบตเตอรี่อย่างเดียวในระยะทางสั้นๆ จะเป็นรถยนต์ที่จะช่วยให้เราค่อยๆ ก้าวออกจากยุคที่รถต้องใช้น้ำมันเพียงอย่างเดียว เข้าสู่ยุคใหม่ที่รถใช้พลังงานไฟฟ้า นักวิเคราะห์ของ Goldman ชี้ว่า รถลูกผสมจะสร้างรายได้เป็นสัดส่วน 5-10% ของผลกำไรทั้งหมดของฮอนด้าและโตโยต้าในปี 2010 ตลาดรถลูกผสมยิ่งดูมีศักยภาพที่จะโตมากขึ้น เมื่อราคาน้ำมันยังคงแพงทำสถิติสูงสุดอยู่เรื่อยๆ แถมกฎเกณฑ์ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมก็มีแต่จะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น

การมุ่งพัฒนารถ green car ยังเผยให้เห็นวิสัยทัศน์ที่เหนือชั้นของญี่ปุ่น ซึ่งคนอื่นๆ เคยคิดว่าญี่ปุ่นไม่มีและทำให้ญี่ปุ่นถูกตำหนิมานานหลายทศวรรษ โตโยต้าเริ่มโครงการ G21 Project ซึ่งสุดท้ายแล้วนำไปสู่การผลิตรถ Prius มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันยังถูกมากและคนอเมริกันยังหลงใหลในรถขนาดใหญ่อย่าง SUV จุดประสงค์ของโปรเจ็กต์ G21 คือความคิดที่จะสร้างรถสำหรับศตวรรษที่ 21 และเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ของโตโยต้าที่ถูกตำหนิว่าสร้างแต่รถที่ “น่าเบื่อ” นักวิเคราะห์จาก Nikko Citigroup ในโตเกียวชี้ว่า เวลาได้พิสูจน์แล้วว่า โตโยต้ามีสายตาที่ยาวไกลกว่าคนอื่นๆ ที่มองเห็นว่า เศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันจะไม่คงอยู่ตลอดไปด้วยเหตุผลหลายประการทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

โตโยต้ายังสามารถลดต้นทุนการผลิตรถ Prius ด้วยการประหยัดจากขนาดเมื่อสามารถผลิตรถรุ่นนี้ได้เป็นจำนวนมาก และถึงจุดคุ้มทุนไปแล้วสำหรับการขายรถลูกผสม ตรงกันข้ามกับคู่แข่งต่างชาติของโตโยต้าอย่าง GM ที่ยังคงจะต้องเลือดไหลซิบๆ จากการขาดทุนต่อไปอีกนานหลายปี โตโยต้ายังบอกด้วยว่า ชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับการผลิตรถลูกผสมรุ่นต่อไปของตน ซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวในปีหน้าจะมีต้นทุนที่ถูกลงอีกครึ่งหนึ่งจากในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้โตโยต้าสามารถลดราคารถรุ่นใหม่ลงมา ในขณะที่สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้

ในอดีตโตโยต้าเคยต้องขาดทุนถึง 10,000 ดอลลาร์ต่อคัน เมื่อครั้งที่เพิ่งเปิดตัวรถเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปี 1997 แต่นักวิเคราะห์จาก Nikko ชี้ว่า Prius รุ่นใหม่ที่กำลังจะออกมาตีตลาดนี้จะนำผลกำไรมหาศาลมาสู่โตโยต้าจากกำไรต่อคันหลายพันดอลลาร์ และโตโยต้ายังมีแผนจะลดต้นทุนการผลิตรถลูกผสมลงอีกภายในทศวรรษหน้า ด้วยประสบการณ์การผลิตรถเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีมากกว่าคู่แข่ง ยังจะทำให้โตโยต้าเป็น “ผู้นำในการกำหนดราคา” สำหรับรถยนต์ลูกผสมรุ่นใหม่

ขณะนี้บริษัทรถยนต์เกือบทุกแห่งในโลกนี้ต่างก็กำลังเร่งออกโครงการ green car แม้กระทั่งบริษัทที่เชื่องช้าอย่าง GM ก็ยังมีแผนจะเปิดตัวรถ plug-in hybrid ที่มีชื่อว่า Volt ในปี 2010 แต่คนที่ GM ต้องแข่งด้วยอย่างที่ตัวเองต้องอยู่ในฐานะที่ตกเป็นรอง คือคู่แข่งจากญี่ปุ่น ซึ่งเหมือนกับมีเครือข่ายของบริษัทพันธมิตรที่ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่างๆ ระดับชาติ คอยหนุนหลังอย่างเข้มแข็งมานานหลายทศวรรษ

ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นตั้งเป้าจะปกป้องความได้เปรียบของตน ด้วยการผนึกกำลังกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของรถไฮเทครุ่นใหม่ โตโยต้ามีบริษัทร่วมทุนกับ Panasonic (ซึ่งโตโยต้าถือหุ้นใหญ่อยู่) ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลก เช่นเดียวกัน นิสสันเพิ่งจะซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัทร่วมทุนผลิตแบตเตอรี่กับ NEC และลงทุนสร้างโรงงานใหญ่แห่งใหม่ โดยหวังจะทำตลาดแบตเตอรี่แบบ lithium ion ของตนต่อผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ บริษัทแบตเตอรี่ของญี่ปุ่นก้าวล้ำหน้ากว่าใครทั้งในด้านการออกแบบและการผลิตเพื่อตลาดระดับ mass ซึ่งจะทำให้คู่แข่งยากจะแข่งขันในด้านราคาได้ A.T. Kearney ชี้ว่า ถึงแม้หากว่าญี่ปุ่นอาจจะไม่สามารถออกแบบแบตเตอรี่ที่ล้ำหน้าได้สำเร็จอีก แต่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ในระดับ mass ก็น่าจะตกเป็นของญี่ปุ่น

รถใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของมิตซูบิชิ ซึ่งมีชื่อว่า i MiEV เป็นหลักฐานอีกอย่างที่แสดงให้เห็นปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความเป็นผู้นำในด้านรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ รถใช้ไฟฟ้าโดยมากมักมีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง เร่งความเร็วได้น้อย และใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่นาน แต่ i MiEV สามารถแล่นได้ไกลถึง 160 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง (เทียบกับเพียง 40 กิโลเมตรของ Volt ของ GM) และจากการทดสอบขับขี่รอบกรุงโตเกียวเมื่อไม่นานมานี้พบว่า การเร่งความเร็วสำหรับการขับขี่ภายในเมืองของรถรุ่นนี้ แทบไม่แตกต่างจากรถที่ใช้น้ำมันแบบเก่า รถใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่อื่นๆ อย่างเช่นที่ใช้แบตเตอรี่ของ Tesla บริษัทแบตเตอรี่หน้าใหม่รายเล็กซึ่งชูจุดขายด้านนวัตกรรม อาจจะมีประสิทธิภาพดีกว่า แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับ Tesla คือ มิตซูบิชิเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการผูกสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของญี่ปุ่นคือ GS Yuasa และทั้งสองบริษัทกำลังเตรียมจะผลิตแบตเตอรี่ที่ทันสมัยที่สุดในระดับ mass ภายในสิ้นปี 2009

แบตเตอรี่ของ i MiEV มีน้ำหนักเพียง 204 กิโลกรัม (เทียบกับของ Tesla ซึ่งหนัก 454 กิโลกรัม) ซึ่งมีผลต่อราคาอย่างชัดเจน มิตซูบิชิมีแผนจะเริ่มขาย i MiEV ในญี่ปุ่นภายในสิ้นปีหน้าในราคาประมาณ 28.000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาหลังจากการอุดหนุนเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์ เทียบกับ Tesla ที่มีแผนจะอุดหนุนถึง 100,000 ดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ผลจากการทำงานร่วมกับบริษัทแบตเตอรี่อย่างใกล้ชิด ทำให้มิตซูบิชิบอกว่า ใกล้จะเสร็จสิ้นการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยชาร์จแบตเตอรี่อย่างรวดเร็วได้แล้ว ซึ่งจะสามารถชาร์จแบตฯ ได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ซึ่งทำให้คุณอาจชาร์จแบตฯ ใหม่ได้อีกครั้ง ในระหว่างที่คุณจอดรถทิ้งไว้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและลงไปจับจ่ายซื้อของ พอกลับมาที่รถแบตฯ ก็เต็มพอดี

บริษัทญี่ปุ่นมุมานะในการพัฒนารถ green car มานานหลายปีอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่ฝังอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ก็ทุ่มลงทุนใน R&D เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อนหลังของผู้ผลิตสหรัฐฯ นั้นแตกต่างจากญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ ยังคงทุ่มลงทุนไปกับการพัฒนารถขนาดใหญ่อย่าง SUV ในขณะที่ญี่ปุ่นเดินเข้าสู่เส้นทางรถลูกผสมนานแล้ว ญี่ปุ่นยังทุ่มเงินไปกับส่วนอื่นๆ ของอุตสาหกรรมด้วย และส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นักวิเคราะห์จาก Fuji Chimera Research Institute ชี้ว่า มีบริษัทจำนวนมากของญี่ปุ่นได้มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อสนองความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ผลผลแห่งความพยายามนั้นก็เห็นผลแล้ว

ความลับของการที่ญี่ปุ่นสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ดีกว่าใครๆ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากแต่เป็นการค่อยๆ ต่อยอดนวัตกรรมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นทักษะที่ญี่ปุ่นถนัดเป็นพิเศษ ทั้งผู้ผลิตแบตเตอรี่และผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นได้จับมือกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายต่างใช้คำว่า suriawase ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลว่า การประสานและร่วมแรง ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปีที่แล้วในงานมอเตอร์โชว์ที่ดีทรอยต์ว่า Katsuaki Watanabe ประธานโตโยต้า ได้ตกแต่งเวทีของโตโยต้าด้วยป้ายยี่ห้อขนาดใหญ่ของ Panasonic เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บริษัทดังกล่าว (Panasonic เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ป้อน Prius ของโตโยต้า) การที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและ supplier มีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกันอย่างมากเช่นนั้น ได้ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถทดลองและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์จาก UBS Securities ชี้ว่า การผลิตรถยนต์ไม่เหมือนกับการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และไม่ใช่เพียงการนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะได้รถยนต์ที่ดีที่สุด แต่รถยนต์แต่ละคันต้องสร้างขึ้นด้วยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นตามคำสั่งอย่างเหมาะเจาะพอดี

สัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก นิสสันกำลังพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่โดยจับมือกับ NEC และจะเริ่มผลิตในระดับ mass ในปีหน้า A.T. Kearney ชี้ว่า เทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่นเป็นความลับสุดยอดของความลับสุดยอด แม้ว่า Ford กับ GM จะพยายามประโคมความดีของรถลูกผสมของตน แต่คาดว่าคงจะมีราคาแพงกว่ารถของญี่ปุ่นอย่างมาก และผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ อาจจะต้องหันไปซื้อแบตเตอรี่ที่ล้ำหน้ากว่าและเก็บพลังงานได้นานกว่าจากญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

เนื่องจากแบตเตอรี่ที่เป็นพลังงานในรถยนต์ อาจจะขยายไปสู่การใช้งานในบ้านได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ทำให้การเป็นผู้นำในตลาดนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นด้วย Automotive Energy Supply Corp. (AESC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนิสสันกับ NEC กำลังพัฒนาแบตเตอรี่แบบ lithium ion ด้วยการใช้ส่วนประกอบของแมงกานีส ซึ่งเป็นสิ่งที่ NEC ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 1990 Nobuaki Yoshioka ผู้บริหารระดับสูงของ AESC ชี้ว่า เราต่างรู้ว่าน้ำมันจะต้องหมดไปจากโลก จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีเก็บพลังงานที่เราสร้างขึ้น แต่ตอนนี้เรายังเน้นที่การเก็บพลังงานในรถยนต์ แต่ต่อไปในอนาคตแน่นอนว่า เทคโนโลยีการเก็บพลังงานจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกมากมายรวมถึงการใช้งานในบ้าน

ยกตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงพิเศษในอนาคตอาจสามารถเก็บกระแสไฟฟ้าที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ เพื่อเก็บไว้ใช้ในเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้ แบตเตอรี่ยังอาจนำไปใช้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลังงานไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นแต่ทั่วทั้งเอเชีย นักวิเคราะห์จาก Nomura Research Institute เชื่อว่า การรวมแบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆ เข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ จะปฏิวัติระบบพลังงานที่ใช้ในบ้านเรือนไปโดยสิ้นเชิงในอีกไม่นานนี้ โดยที่ราคาของระบบนี้จะมีราคาที่สมเหตุสมผล

แบตเตอรี่ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังรวมไปถึงมอเตอร์ไฟฟ้า inverter และอื่นๆ ซึ่งญี่ปุ่นล้วนแต่ครอบครองความเป็นหนึ่งอยู่ นักวิเคราะห์ประเมินว่า ตลาดชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ลูกผสมเพียงอย่างเดียว อาจโตขึ้น 3 เท่าเป็น 5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2012 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 9 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2015 Yozo Hasegawa ผู้ประพันธ์หนังสือ Clean Car Wars ชี้ว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นมีศักยภาพสูงมากที่จะผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก หนังสือของเขาให้รายละเอียดของการแข่งขันเทคโนโลยีรถสีเขียวในหมู่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและผู้ผลิตรถยนต์คู่แข่งในต่างชาติ

ความพยายามผลักดันการสร้างสุดยอดรถสีเขียวของญี่ปุ่น ได้ล้นไปถึงธุรกิจภาควัตถุดิบด้วย อย่างเช่นอุตสาหกรรมเหล็กกล้า (เหล็กกล้าเป็นส่วนประกอบสำคัญของตัวถังรถยนต์) ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่เข้มข้นและการควบรวมกิจการทั่วโลก แต่ผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นยังคงสามารถรักษาความได้เปรียบ ด้วยการเน้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับสูงป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ (ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นเพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งสร้างส่วนต่างกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ผลิตเหล็กกล้า) ศาสตราจารย์ Yasuhiro Daisho แห่ง Waseda University ชี้ว่า ผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการผลิตเหล็กกล้าเบาพิเศษและทนทานสูงมานานหลายปีแล้ว โดย Nippon Steel และ JFE Steel มีเทคโนโลยีล้ำหน้าชนิดที่คู่แข่งต่างชาติอย่าง Arcelor-Mittal กระสันต์อยากได้ ผู้ผลิตในเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ก็กำลังพยายามจะไล่ตามญี่ปุ่นให้ทันในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตเหล็กกล้า

ส่วนผู้ผลิตวัตถุดิบอื่นๆ ต่างก็กำลังเร่งรีบที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อป้อนให้แก่การผลิตรถยนต์ไฮเทคของญี่ปุ่น Toray ผู้บุกเบิกวัตถุดิบไฮเทคหลายอย่างเช่นเส้นใยคาร์บอน ซึ่งใช้กับปีกเครื่องบินและลำตัวเครื่องบินของเครื่อง Boeing Dreamliner ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล่านั้น Toray เพิ่งตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่สำหรับการผลิตวัตถุดิบที่ล้ำหน้าสำหรับรถยนต์โดยเฉพาะที่ Nagoya Toray ครองส่วนแบ่ง 34% ในตลาดเส้นใยคาร์บอนของโลก และหวังจะพัฒนาเส้นใยคาร์บอนที่มีราคาถูกพอที่จะใช้กับตัวถังรถยนต์ได้ และหวังจะดันยอดขายสินค้าที่ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเป็น 3.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2015

Teijin ผู้ผลิตวัตถุดิบไฮเทคอีกรายของญี่ปุ่น หวังจะลดน้ำหนักของรถยนต์ลงครึ่งหนึ่ง ด้วยการใช้วัสดุใหม่ๆ หลายอย่าง อย่างเช่น polycarbonate resin และได้นำต้นแบบของ resin ดังกล่าวซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนฟองสบู่ แสดงในโชว์รูมของบริษัทในกรุงโตเกียว ขณะเดียวกัน รถ sports car น้ำหนักเบาพิเศษ ซึ่งผลิตโดย Ken Okuyama Design ก็เตรียมจะออกจำหน่ายปลายปีนี้ในญี่ปุ่น การใช้เส้นใยคาร์บอนและอะลูมิเนียมทำให้รถรุ่นดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงแค่ 750 กิโลกรัม

อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพจะเติบโตอีกอย่างคือ bioplastics ซึ่งได้ดูดเงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาไปจากมาสด้าและโตโยต้า รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ไปมากพอดู เนื่องจากวัสดุนี้ทำมาจากพืชมากกว่าจากปิโตรเลียม (พลาสติกส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากปิโตรเลียม) ทำให้ bioplastics ปลอดจากคาร์บอนและใช้พลังงานน้อยกว่ามากในการผลิต บริษัทหลายแห่งในอุตสาหกรรมนี้กำลังทดลองนำ bioplastics ไปผลิตเป็นส่วนประกอบหลายๆ อย่างที่ใช้กับการผลิตรถยนต์ ซึ่งรวมถึงแผงหน้าปัดและผ้าปูพื้นรถ

การมุมานะพยายามอย่างหนักในการพัฒนาเทคโนโลยีทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับ green car ทำให้บางครั้งญี่ปุ่นต้องก้าวพลาดอย่างง่ายๆ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น บริษัทมือถือของญี่ปุ่นต้องถึงคราวจบเห่ เมื่อสนับสนุนมาตรฐานแบบผิดทางในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้พลาดโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ในยุคมือถือครองโลกในช่วงนั้น แบตเตอรี่ lithium ion ที่บริษัทญี่ปุ่นทุ่มลงทุน จนถึงบัดนี้ก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย และดูเหมือนจะเป็นไปได้ว่า อาจมีผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นที่คล่องแคล่วกว่า สะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดนี้ที่ดีกว่าขึ้นมาได้

ในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า เทคโนโลยี green car ชนิดไหนจะได้ชัยชนะในการแข่งขันผลิตรถที่แล่นได้นานที่สุด รถที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานอย่างเช่น Clarity ของฮอนด้า ยังคงมีปัญหาใหญ่หากต้องการตีตลาดให้ได้ เช่นราคาที่ยังคงแพง สถานีเติมเชื้อเพลิงและโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเติมเชื้อเพลิงให้แก่รถรุ่นนี้ ยังต้องสร้างขึ้นใหม่หมดจากศูนย์ ส่วนรถยนต์ใช้ไฟฟ้าแม้จะมีความได้เปรียบมหาศาลที่สามารถใช้ระบบไฟฟ้าที่มีอยู่ได้ แต่รถประเภทนี้ก็ยังคงมีราคาแพง และแม้แต่แบตเตอรี่ที่ดีที่สุด ก็ยังไม่อาจจะทำให้รถแล่นได้ระยะทางไกลเท่ากับเติมน้ำมันเต็มถัง ส่วนแบตเตอรี่แบบ lithium ion ก็มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เพราะมักจะร้อนเกินไปและอาจทำให้ไฟไหม้ ผู้ผลิตบางรายต้องเรียกคืนแบตเตอรี่ lithium ion ที่ใช้ในเครื่อง laptop เพราะปัญหานี้ Don Hillebrand ผู้อำนวยการและนักวิจัยชั้นนำของ Argonne National Labs ในชิคาโกเคยให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ โดยเตือนว่า ผู้นำในการพัฒนาแบตเตอรี่ในวันนี้อาจไม่ได้เป็นผู้นำตลอดไป เพราะว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แม้กระทั่งรถลูกผสมที่นิยมกันมากที่สุดก็ยังคงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มหรือ niche เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น รถใช้น้ำมันไม่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขาอีกต่อไป Hillebrand เชื่อว่า เทคโนโลยีสีเขียวกำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หาก Ford คือผู้คิดค้นเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ทันสมัยอย่างที่เราใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อครั้งที่ Ford ได้สร้างสายการประกอบรถยนต์ขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับรถรุ่น Model T ถ้าเช่นนั้น Hillebrand ก็ชี้ว่า เทคโนโลยีรถยนต์สีเขียวที่กำลังเกิดขึ้นใหม่นี้ ก็จะนับเป็น “การประดิษฐ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งที่ 2” ของอุตสาหกรรมรถยนต์ และญี่ปุ่นกำลังเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว

บัดนี้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังแล่นออกจากงานแสดงรถยนต์เข้าสู่ถนนที่แท้จริงแล้ว ฮอนด้าได้เริ่มให้เช่ารถ FCX Clarity แก่ลูกค้าชั้นสูงบางคนในแคลิฟอร์เนีย Jean Harris นักแสดงฮอลลีวูด หนึ่งในลูกค้าชั้นสูงที่ได้รับการเลือกสรรจากฮอนด้าให้เป็นผู้ใช้รถ Clarity บอกว่า เธอชอบที่ Clarity ไม่ได้แตกต่างไปจากรถยนต์ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นรถธรรมดาในยุคอวกาศ หากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นทำสำเร็จ คำชมง่ายๆ ข้างต้นก็อาจเป็นกุญแจไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของญี่ปุ่นได้

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 15 กันยายน 2551


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.