|
สายลมอันสูงค่า
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ผลิตกังหันลมและกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมกำลังมือเป็นระวิงเพื่อเร่งผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น
เหนือขึ้นไป 60 ไมล์จากซานฟรานซิสโก ที่ Solano County กังหันลมอันแล้วอันเล่าผุดขึ้นเป็นทิวแถวสุดลูกหูลูกตา บนภูเขาสูงที่ตั้งตระหง่านง้ำเหนือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Sacramento การก่อสร้าง “ฟาร์ม” กังหันลมแห่งใหม่ล่าสุดซึ่งมีชื่อว่า Shiloh II ที่ Solano เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางปีนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเร่งก่อสร้างโรงสีลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในสหรัฐฯ ซึ่งได้ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีนี้ สหรัฐฯ จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8,000 วัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในบ้านเรือนเกือบ 3 ล้านหลัง นับเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมอย่างก้าวกระโดดถึง 50% จากที่เคยเพิ่มขึ้นถึง 45% มาแล้วเมื่อปีก่อน
สิ่งที่ผลักดันการเติบโตของพลังงานลมคือ การที่รัฐสภาสหรัฐฯ เพิ่งขยายการให้ tax credit เมื่อเดือนตุลาคม และการที่มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ กำหนดให้การผลิตไฟฟ้าต้องมีส่วนของการใช้พลังงานที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ Jeff Immelt CEO ของ General Electric (GE) ผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ชี้ว่า ปัจจัยทั้งสองรวมถึงสาเหตุอื่นๆ ทำให้มีการนำพลังงานลมมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการเติบโตของการใช้พลังงานลมทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 30% ต่อปี แม้ว่าวิกฤตสินเชื่อตึงตัวของโลกอาจจะส่งผลกระทบให้การเติบโตของพลังงานลมชะลอตัวในอนาคตอันใกล้ก็ตาม
นอกจากนี้ มันยังเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่นฟาร์มกังหันลม Shiloh II ข้างต้น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 150 เม็กกะวัตต์แห่งนี้ สร้างโดย enXco บริษัทสหรัฐฯ ที่อยู่ในเครือ EDF บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ส่วนตัวกังหันลมที่จะติดตั้งอยู่ทั่วทั้งฟาร์มหรือโรงสีลมขนาดยักษ์นี้ ผลิตโดย REpower ของเยอรมนี ซึ่งถูกซื้อไปเมื่อปีที่แล้วโดยบริษัท Suzlon ผู้ผลิตกังหันลมของอินเดีย ซึ่งเพิ่งย้ายสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ไปยังเดนมาร์ก Ethan Zindler แห่งบริษัทวิจัยด้านพลังงาน New Energy Finance ในกรุงลอนดอนชี้ว่า หากคุณต้องการลงทุนในพลังงานลม คุณต้องมองไปที่ตลาดหุ้นในต่างประเทศเท่านั้น เพราะมันคือธุรกิจระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมอาจสามารถดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงให้กระโดดเข้าร่วมวงได้ อย่างเช่น GE และ FPL Group แต่ธุรกิจนี้ยังนับว่ามีความสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจทั้งหมดของบริษัทเหล่านี้ ส่วนบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานลมแท้ๆ เพียงอย่างเดียวก็ยิ่งมีขนาดเล็กลงไปอีก และยังคงจะมีความผันผวนอยู่อีกมาก นอกจากนี้ยังมักจะมีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E ratio) สูงอีกด้วย ทั้งๆ ที่ราคาหุ้นบริษัทพลังงานลมเพิ่งร่วงลงเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม มีหุ้นอยู่ 4 ตัวที่น่าสนใจซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ หุ้นทั้งสี่ต่างเป็นที่นิยมเก็งกำไร ดังนั้น นักลงทุนจึงควรจะตรวจสอบหุ้นเหล่านี้อย่างระมัดระวังก่อนที่จะตัดสินใจเอาเงินไปเสี่ยง
หุ้นบริษัทพลังงานลมหลักๆ มีอยู่ 2 ประเภท คือบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ ได้แก่ผลิตกังหันลมและฮาร์ดแวร์อื่นๆ กับบริษัทที่เรียกว่า developer ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในบรรดาบริษัทประเภท developer นี้ หุ้นของ IBERDROLA RENEWABLES (IBR.MC) ซึ่งซื้อขายกันอยู่ในตลาดหุ้นแมดดริดของสเปน เป็นชื่อที่ควรรู้จัก บริษัทนี้แยกตัวออกจาก Iberdrola บริษัทผลิตไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของสเปนเมื่อปีที่แล้ว และขณะนี้เป็นบริษัทสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมรายใหญ่สุดในโลก ด้วยยอดขาย 1.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2007 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้
สหรัฐฯ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกสเปนของ Iberdrola และจะช่วยทำให้บริษัทขยายตัว Terry Hudgens CEO สาขาในอเมริกาเหนือของบริษัท Iberdrola Renewable กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมแห่งใหม่ที่มีกำลังการผลิต 1.000 เม็กกะวัตต์ต่อปีในสหรัฐฯ โดยได้วางแผนเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว ก่อนที่บริษัทอื่นๆ จะตัดสินใจเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เสียอีก บริษัทนี้นับว่าโตเร็วมาก โดยในไตรมาสล่าสุด Iberdrola มียอดขาย 698 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 200% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลกำไรก่อนหักภาษีก็เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 600% เป็น 153 ล้านดอลลาร์ หุ้นของบริษัทมีค่า P/E สูงเกือบ 40 เท่า
Iberdrola ซื้อกังหันลมจากหลายบริษัทมี Suzlon, Mitsubishi, Siemens, Vestas และ GE แต่บริษัทที่ผลิตกังหันลมป้อน Iberdrola มากที่สุดคือบริษัทสเปนที่ชื่อว่า GAMESA (GAM.MC) Iberdrola เพิ่งจะมีคำสั่งซื้อกังหันลมล็อตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยซื้อมาจาก Gamesa ซึ่งขณะนี้เป็นผู้ผลิตกังหันลมใหญ่อันดับ 2 ของโลก แม้ว่าค่า P/E ของ Gamesa ที่ 18 เท่า จะมากกว่าค่า P/E เฉลี่ยของอุตสาหกรรมนี้ถึงหนึ่งเท่าตัว แต่ผลกำไรของบริษัทคาดว่าจะโตถึง 30% ในปีนี้
แต่บริษัทที่ผลิตกังหันลมรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 23% ในตลาดโลกคือ VESTAS (VWS.CO) หุ้นของบริษัทนี้ซื้อขายอยู่ที่ตลาดหุ้นโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก รายได้ของบริษัทโต 26% ในปี 2007 เป็น 7.2 พันล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าตามราคาตลาดเกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์ เสน่ห์ของหุ้นตัวนี้สำหรับนักลงทุนที่สนใจบริษัทพลังงานลม ตามสายตาของนักวิเคราะห์จาก Citigroup คือ การที่บริษัทเป็นผู้นำตลาด ทำให้บริษัทนี้เหมือนเป็นตัวแทนที่สะท้อนความแข็งแกร่งโดยรวมของอุตสาหกรรมนี้
ส่วนหุ้นตัวสุดท้ายที่น่าสนใจคือบริษัทหน้าใหม่ที่น่าจับตามองอย่าง CLIPPER WINDPOWER (CWP) ซึ่งมีฐานอยู่ในแคลิฟอร์เนีย แต่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นลอนดอน ลูกค้าของโรงสีลมที่มีชื่อว่า Liberty ซึ่งมีกำลังการผลิต 2.5 เม็กกะวัตต์ ของ Clipper ได้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง FPL และ BP โดยรายหลังกำลังสร้างโรงสีลมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกร่วมกับ Clipper นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกค้าสูงศักดิ์อย่างสมเด็จพระบรมราชินีนาถ Elizabeth ที่สองแห่งอังกฤษ ซึ่งทรงซื้อต้นแบบโรงสีลมนอกชายฝั่งกำลังการผลิต 10 เม็กกะวัตต์ของบริษัทไป หุ้นของ Clipper ราคาร่วงลงถึง 78% ในปีนี้เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่ CEO Doug Pertz ยืนยันว่า ปัญหาเหล่าได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว แม้ Clipper จะขาดทุนเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะขาดทุนอีกในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์และคนวงในอุตสาหกรรมพลังงานลมเชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมของบริษัท บวกกับความต้องการกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ Clipper เป็นผู้ชนะในระยะยาว
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
เรื่อง ฟอร์จูน 10 พฤศจิกายน 2551
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|