|
พลังเอสเอ็มอี
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการ sme POWER เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส.ส. พรรคชาติไทย เพราะเขามองว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ประดิษฐ์และทีมงานจัดทำเอกสารมากมายเพื่ออ้างอิงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีโครงการเอสเอ็มอี พาวเวอร์ ซึ่งเขาบอกว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.3 ล้านรายที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การเมืองภายในและสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดขึ้น
ประดิษฐ์โชว์ตัวเลขเพื่อให้เห็นความสำคัญของเอสเอ็มอีที่มีต่อเศรษฐกิจไทย เขาบอกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีร้อยละ 40 มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี
รายได้จากการส่งออกมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 30 ของยอดส่งออกรวมของประเทศก็มาจากเอสเอ็มอี
แต่ภาพรวมเศรษฐกิจที่มีภาวะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในปีหน้า 2552 จะทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนักโดยเฉพาะสภาพคล่องทางด้านการเงินโดยเฉพาะธุรกิจส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว
โครงการเอสเอ็มอีพาวเวอร์จึงก่อเกิดขึ้นมาเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเอสเอ็มอี)
ธนาคารเอสเอ็มอีได้กำหนดเงินช่วยก้อนแรกไว้ที่ 10,000 ล้านบาท มีเงื่อนไขให้กู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด คือ อัตรา MLR หรือร้อยละ 7.25 และขยายการชำระหนี้จาก 5 ปีเป็น 7 ปี
ส่วนเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีปัญหาสภาพคล่องขาดเงินทุนแต่ธุรกิจยังพอดำเนินต่อไปได้จะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในวงเงิน 300,000 บาทถึง 10 ล้านบาท
นอกจากการให้บริการด้านสินเชื่อ ธนาคารจะให้บริการเงินร่วมลงทุนที่จัดสรรไว้จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อร่วมทุนกับเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือธุรกิจที่กำลังขยายกิจการและต้องการเงินทุนเพิ่มแต่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อโดยธนาคารเอสเอ็มอีจะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
การให้บริการค้ำประกันสินเชื่อเป็นอีกความช่วยเหลือหนึ่งที่ธนาคารเอสเอ็มอีมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการที่ไปขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้รับความช่วยเหลือง่ายขึ้น
โครงการนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
โครงการเอสเอ็มอีพาวเวอร์มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายนถึง 31 ธันวาคม 2551
โครงการเอสเอ็มอีพาวเวอร์เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประดิษฐ์ได้ปรับเปลี่ยนชุดคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ทั้งหมด
เขาได้แต่งตั้งพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นประธานและแต่งตั้งคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน อาทิ พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเอ็มเอฟซี วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการ สวทช.
การเข้ามาของประดิษฐ์ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับคณะกรรมการไปจนถึงมีนโยบายที่จะให้มีการควบรวมธนาคารเอสเอ็มอีกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
เพราะเขามองว่าการควบรวมของสองหน่วยงานจะทำให้มีเงินกองทุนและสินทรัพย์ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มถึง 30,000 ล้านบาท
โครงการเอสเอ็มอีพาวเวอร์ถือเป็นโครงการในฝันของผู้ประกอบการหากได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ทว่าจะยั่งยืนได้นานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับอายุของรัฐบาลด้วยเหมือนกัน
คนในธนาคารเอสเอ็มอีเคยพูดว่าโครงการของธนาคารมักจะเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|