ทีเอปลดโซ่ตรวนโทร.พื้นฐาน


ผู้จัดการรายวัน(14 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีเอสนอง "หมอเลี้ยบ" ทันใจ เสนอโครงสร้างบริการตามหลักการ Flex Tariff ยืดหยุ่นทุกรูปแบบ แต่ไม่เกินเพดาน 3 บาททั่วไทยที่กำลังจะทดลองใช้เดือนก.ย. "ศุภชัย" ยันโครงสร้างใหม่จะช่วยแก้ปัญหาโทร.ทางไกลราคาประหยัดหรือ วายเทล 1234 เพื่อให้แข่งกับมือถือได้ หากไม่ได้ผลจะสร้างโครงข่ายไอพีเน็ตเวิร์กเอง พร้อมเสนอทศทพิมพ์ใบแจ้งหนี้และเก็บเงินเองเพื่อให้บริการ Billing Solution หรือรวม ค่าบริการในบิลใบเดียวกัน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่นหรือทีเอผู้ให้บริการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายในกรุงเทพฯ กล่าวถึงโครงสร้างอัตราค่าบริการว่า ปัจจุบัน การปรับอัตราค่าบริการขึ้นอยู่กับบอร์ด บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรืออยู่ที่ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต (ไลเซนส์) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่จะให้ไลเซนส์ การใช้อำนาจดังกล่าวสามารถอยู่ภายใต้การพิจารณาของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี

ทีเอกำลังปลดโซ่ตรวนพันธนาการ ที่ทำให้การประกอบธุรกิจไม่คล่องตัว ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้ โดยเฉพาะประเด็นค่าบริการไม่จูงใจลูกค้าและแพงกว่าเมื่อเทียบกับโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ ทีเอกำลังเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทศท และกระทรวงไอทีซีในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1. เสนอไอซีที ต้องการโครงสร้างค่าบริการที่ยืดหยุ่นหรือ Flexible Tariff โดยไม่สูงเกินกว่าเพดานที่กำหนดในปัจจุบัน เพื่อให้ทีเอสามารถจัดแพกเกจให้บริการได้หลายๆทางเลือก เช่น ช่วงเวลาที่มีการใช้งานหนาแน่น หรือช่วงเวลาที่ใช้งานน้อย หรืออาจทำได้เหมือนโทรศัพท์มือถือคือยิ่งโทร.มากยิ่งถูกลง

"อย่างแพคเกจที่ 2 ที่จะทดลอง ใช้ 1 ก.ย. ค่าบริการรายเดือน 200 บาทโทร.นาทีละ 3 บาททั่วไทย หากให้ทีเอทำ Flex Tariff ได้ เราจะมีหลายแพกเกจ แต่ไม่สูงกว่านาทีละ 3 บาททั่วไทย"

2. บริการโทรศัพท์ทางไกลราคาประหยัดหรือวายเทล 1234 ซึ่งทีเอไม่เข้าร่วมด้วย เพราะทีเอมองว่าหากเข้าร่วมและต้องเสียส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิม ในขณะค่าบริการลดลง ทำให้ทีเอต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพิ่ม ไม่ใช่ 16% แต่ขึ้นไปถึง 30% ซึ่งในมุมมองของทีเอเห็นว่า หากทศทไม่ยอมให้ทีเอเชื่อมต่อโครงข่ายไอพีเน็ตเวิร์กที่ให้บริการวายเทล หรือเชื่อมต่อด้วยอัตราที่ไม่สามารถทำธุรกิจได้ ทีเอก็จะสร้างไอพีเน็ตเวิร์กเองเพื่อให้บริการเช่นกัน

"ทีเอมีไอพีเน็ตเวิร์กในกรุงเทพฯแล้ว ส่วนต่างจังหวัดก็สามารถสร้างโครงข่ายเองได้ ภายใต้ ไลเซนส์ของบริษัท เอเชีย มัลติมีเดีย"

เขาย้ำว่าไม่ต้องการจุดประเด็นการเปลี่ยนโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้ แต่ท้ายสุดแล้ว จุดแตกต่างของโทร.ทางไกลราคาประหยัดวายเทล กับโทรศัพท์ทางไกลทั่วไป คือแค่กด 1234 ก่อนเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีไอพีเน็ตเวิร์ก ทำให้คุณภาพไม่แตกต่างกันมาก

3. ทีเอต้องการให้ทศท เก็บส่วนแบ่งรายได้ตามรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เก็บส่วนแบ่งรายได้จากอัตราค่าบริการ

4. ทีเอเสนอทศท ต้องการพิมพ์บิลหรือใบแจ้งหนี้และเก็บเงินเอง เหมือนอย่างที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทำอยู่ในขณะนี้

ทุกเรื่องผูกพันกันหมด อย่างเรื่องการเสนอ Flex Tariff เกิดขึ้นจากการศึกษาเรื่องค่าเชื่อมโครงข่าย เพราะหากเกิดต้นทุนที่เป็นธรรมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกับโทรศัพท์พื้นฐานแล้ว แต่โครงสร้าง อัตราค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐาน ปรับตัวไม่คล่องตัวเท่าโทรศัพท์มือถือก็แข่งขันยาก และเมื่อโครงสร้างค่าบริการมีความยืดหยุ่นมากแล้ว ส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจ่าย ก็ควรจ่ายจากรายได้ที่เกิดขึ้นจริง จึงจะเป็นธรรมเหมือนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

"ผมคิดว่า Flex Tariff หากกระทรวงไอซีที อนุญาตให้ทีเอทำ จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างหมด ซึ่งอัตราค่าบริการดังกล่าวต้องเป็นอัตราที่แข่งขันกับวายเทลได้ หากเป็นเช่นนี้ปัญหาเรื่องวายเทลก็จะหมดไปด้วย"

สิ่งที่ทีเอทำในขณะนี้คือ ความพยายามสร้างความแตกต่างด้านบริการจากทศท ให้มากที่สุด เพื่อสนองตอบความต้องการลูกค้าทั้งด้านความสะดวกสบาย และจูงใจในการใช้บริการ โดยทีเอเปิดบริการ ใหม่ที่เรียกว่า Billing Solution ภายใต้คอนเซ็ปต์การรวมบิลค่าบริการหลายๆประเภทของทีเอไว้ในบิล เดียวกัน เนื่องจากปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานกับทศท ทำให้ในช่วงแรก ยังต้องมีบิล 2 ใบคือ ใบแรก เป็นบิลโทรศัพท์พื้นฐาน ตามแบบฟอร์มมาตรฐานของทศท และใบที่ 2 เป็นการรวมบิลภายใต้บริการของกลุ่มทีเอ โดยระยะแรกจะรวมบิลโทรศัพท์พื้นฐานและค่าใช้บริการ TA easy click ต่อจากนั้นในเดือนต.ค.จะรวมบิล TA Express และ Cable Modem เดือนพ.ย.รวมบิลค่าบริการของ Click TA ได้ และลูกค้าสามารถเลือกกำหนดการชำระเงินได้ด้วยตนเองในระยะต่อไป เพื่อไม่ต้องเป็นภาระมากหากต้องรวมทุกบิลจ่ายเงินครั้งเดียว

ในอนาคตทีเอยังจะรวมบิลค่าใช้บริการของโทรศัพท์มือถือทีเอ ออเร้นจ์และบริการเคเบิลทีวีของ ยูบีซี ซึ่งทีเอลงทุนระบบบิลลิ่ง 1,200 ล้านบาท ของแอมดอกซ์ ซึ่งต่อไปสามารถรองรับอี-คอมเมิร์ซกับคอนเทนต์โพรวายเดอร์ต่างๆได้

"การติดขัดเรื่องสัญญาสัมปทาน ทำให้การนำเสนอบริการด้วยความหลากหลายเป็นไปได้ยาก ซึ่งเท่ากับทำให้ลูกค้าเสียโอกาส"

ด้านนายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีเอเสนอมา 2 เรื่องคือการพิมพ์ใบแจ้งหนี้เองและเรียกเก็บเงินเอง ซึ่งทศท อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนการรวมบิลต่างๆ จำเป็นต้องมีการคุยในรายละเอียด เพราะบริการบางอย่างของทีเอไม่ใช่เป็นคู่สัญญากับทศท รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องน้ำหนักของซองจดหมายที่เกิดจากการแทรกบิล ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งเพิ่มขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.